|
คลังตีปี๊บจีดีพีปีจอขยายตัวเกิน5% เหตุส่งออกเพิ่ม-ราคาน้ำมันชะลอ
ผู้จัดการรายวัน(31 มกราคม 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
กระทรวงการคลังยันจีดีพีปี 49 โตอย่างต่ำ 5% ระบุราคา น้ำมันเพิ่มขึ้นจากปีก่อนเพียง 8% เทียบ กับปี 48 ที่เพิ่มจากปี 47 เกือบ 50% ขณะที่สินค้าทุนประเภทเครื่องจักรไฟฟ้า ธ.ค. ปี 48 ขยายตัวถึง 89% เชื่อดันส่งออก ปีนี้เติบโตดีกว่าปีก่อนแน่ ส่วน ภาวะเศรษฐกิจปี 48 ยังขยายตัวดีทั้งด้านอุปสงค์-อุปทาน คาดทั้งปีโตไม่ต่ำกว่า 4.3% แน่นอน
นายสมชัย สัจจพงษ์ รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจในปี 2549 นี้ จะขยายตัวได้ดีกว่าในปีที่ผ่านมา โดย สศค.ยังยืนยันประมาณการเดิม คือ อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ(จีดีพี) อยู่ที่ 5% เป็นอย่างต่ำ โดยปัจจัยที่สนับสนุนประมาณการดังกล่าว มี 3 ปัจจัยหลัก ได้แก่
1.ราคาน้ำมันดิบใน ตลาดโลกขยายตัวในอัตราที่ชะลอตัวลง โดยคาดว่าจะอยู่ที่ 58 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่อยู่ที่ 50 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ไม่ถึง 10% เมื่อ เทียบกับการขยายตัวของราคาน้ำมัน ในปี 2548 ที่เพิ่มขึ้นจากปี 2547 เกือบ 50% ทั้งนี้การเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมัน 1 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล จะส่งให้เศรษฐกิจขยายตัวลดลง 0.17%
2. แนวโน้ม อัตราดอกเบี้ยขาขึ้น ซึ่งสศค. ประเมินว่า ไม่น่าจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญ
และ 3. สถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่คาดว่าไม่น่า จะขยายตัวออกไปยังพื้นที่อื่น ดังนั้นจึงไม่น่าจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศมากนัก
นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยบวกอื่นๆ เช่น การลงทุนโครงการโครงสร้างพื้น-ฐานทางเศรษฐกิจขนาดใหญ่ (เมกะโปรเจกต์) ที่คาดว่าจะมีเม็ดเงินเข้าระบบประมาณ 2.9 แสนล้านบาทในปี 2549 นี้ โดยหากสามารถผลักดันให้มีการใช้เม็ดเงินได้อย่างน้อยประมาณ 70-80% ของวงเงินดังกล่าว ก็จะมีผล กระตุ้นเศรษฐกิจได้มาก และการนำเข้า สินค้าทุน โดยเฉพาะเครื่องจักรไฟฟ้า และอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ที่ขยายตัวสูงถึง 89% และ 79% ตามลำดับ ในเดือนธันวาคม 2548 ที่ผ่านมา ก็จะส่งผลให้การส่งออกในปีนี้ขยายตัวได้มากขึ้น เพราะโดยส่วนใหญ่เป็นการนำเข้ามาผลิตเพื่อส่งออก อย่างไรก็ตาม สศค.จะประกาศประมาณการตัวเลข การขยายตัวของภาคการส่งออก รวมถึง ประมาณการเศรษฐกิจในปี 2549 อีก ครั้งในเดือน กุมภาพันธ์ 2549 นี้
สำหรับในปี 2548 สศค.ยังยืนยัน ประมาณการเดิมเช่นกันว่า จีดีพีจะโต 4.3% เป็นอย่างต่ำ ซึ่งจากตัวเลขจีดีพีในช่วง 9 เดือน หรือ 3 ไตรมาสแรก อยู่ที่ 4.4% ขณะที่ในไตมาสที่ 4 คาดว่า จะโตใกล้เคียงกับไตรมาส 3 คือ 5.3% ดังนั้น ทั้งปี จึงไม่น่าจะโตต่ำกว่า 4.3% อย่างแน่นอน
นายสมชัย กล่าวว่า ภาวะเศรษฐกิจ ในเดือน ธันวาคม 2548 โดยรวมยังขยายตัวได้ดี เห็นได้จากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการคลัง ซึ่งพบว่าภาษีที่ เก็บจากฐานรายได้ที่จัดเก็บจากภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและนิติบุคคลขยายตัวดีในระดับสูงที่ 13.1% ต่อปี ซึ่ง สะท้อนถึงทิศทางการประกอบการของ ธุรกิจ และการจ้างงานที่อยู่ในเกณฑ์ดี ในขณะที่ภาษีที่เก็บจากฐานการบริโภคขยายตัวดีขึ้นที่ 3.7% เพิ่มขึ้นจากที่หดตัว 6.1% ในเดือนพฤศจิกายน ซึ่งสะท้อนถึงการบริโภคภาคเอกชนที่ยังขยายตัวได้ดี
สำหรับเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปทาน บ่งชี้ว่าภาคการเกษตรขยายตัวดีขึ้น จากราคาสินค้าเกษตรที่ยังคง ขยายตัวอยู่ในระดับสูงที่ 24.4% ต่อปี และการจ้างงานภาคการเกษตรที่ขยาย ตัวดีขึ้นที่ 3.1% ต่อปี เพิ่มขึ้นจากที่ขยายตัว 1.6% ต่อปีในเดือนพฤศจิกายน ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมในเดือนพฤศจิกายนยังขยายตัวได้ดีโดยเฉพาะ จากการผลิตเพื่อการส่งออก แม้ว่าการ ผลิตเพื่อการใช้จ่ายภายในประเทศในบางอุตสาหกรรมขยายตัวในอัตราที่ชะลอตัวลง สำหรับภาคบริการเริ่มปรับตัวดีขึ้นจากการท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มปรับตัวเข้าสู่ภาวะปกติและการจ้างงานในภาคบริการที่ขยายตัวดีขึ้นที่ 0.5% ต่อปี หลังจากที่หดตัว 1.0% ในเดือนพฤศจิกายน
ส่วนเครื่องชี้เศรษฐกิจด้าน อุปสงค์พบว่า การบริโภคภาคเอกชนยังขยายตัวได้ดีเช่นกัน ซึ่งสะท้อนได้จากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากการใช้จ่ายในประเทศที่ขยายตัวสูงขึ้น 22.2% ต่อปี และมูลค่าการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคขยายตัวดี 26.9% ต่อปี นอกจากนี้ การที่ดัชนีความ เชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้นอย่าง ต่อเนื่องได้แสดงถึงความมั่นใจของ ผู้บริโภคในอนาคต สำหรับการลงทุนภาคเอกชนในเครื่อง มือเครื่องจักรจาก การนำเข้าสินค้าทุนขยายตัวในอัตราเร่งถึง 41.3% ซึ่งสะท้อนการลงทุนภาค เอกชนที่เริ่มมีการลงทุนใหม่มากขึ้น ขณะที่การลงทุนในหมวดก่อสร้างชะลอตัวลงตามการชะลอตัวของธุรกิจ อสังหาริมทรัพย์ อย่างไรก็ตาม การ นำเข้าสินค้าทุนรวมทั้งสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูปมีการขยายตัวในอัตรา เร่งส่งผลให้มูลค่าการนำเข้าขยายตัวในอัตราสูงถึง 41.3% ต่อปีเมื่อเทียบกับมูลค่าการส่งออกที่ขยายตัว 11.6% ต่อปี ทำให้ดุลการค้ากลับมาขาดดุล 142.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
สำหรับ เสถียรภาพเศรษฐกิจใน ประเทศยังอยู่ในเกณฑ์ดี ตามอัตราการว่างงานที่อยู่ในระดับต่ำเพียง 1.4% และอัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่ขยายตัวในอัตราชะลอตัวลง แม้ว่าจะขยายตัวในระดับสูงที่ 5.8% ต่อปี ส่วนเสถียรภาพ เศรษฐกิจภายนอกประเทศยังอยู่ในระดับแข็งแกร่งจากทุนสำรองระหว่าง ประเทศที่เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 52.1 พันล้าน ดอลลาร์สหรัฐ ณ สิ้นเดือนธันวาคม
สำหรับเศรษฐกิจไทยโดยรวมในปี 2548 ขยายตัวชะลอตัวลงจากปี 2547 เนื่องจากในช่วงต้นปีเศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบจากปัจจัยภายนอก ค่อนข้างมาก แต่เศรษฐกิจไทยได้กลับมาฟื้นตัวอย่างรวดเร็วในช่วงครึ่ง ปีหลัง ภาษีจากฐานรายได้ที่จัดเก็บจากบุคคลธรรมดา และนิติบุคคลของ ทั้งปี 2548 ยังขยายตัวดีตามภาวะธุรกิจ และการจ้างงานที่ขยายตัว ต่อเนื่อง ขณะที่ภาษีจากฐานการบริโภคในปี 2548 ขยายตัวในอัตราที่ชะลอตัว ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลของการปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตและมาตรการปรับลดอัตราภาษีน้ำมันดีเซล สำหรับภาษีจากฐานการค้าระหว่างประเทศในปี 2548 ปรับตัวดีขึ้นจากปี 2547 ตามมูลค่าการค้าระหว่างประเทศ ของไทยที่เพิ่มขึ้น
โดยเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปทานสะท้อนภาคการผลิตในปี 48 ขยายตัวอยู่ในเกณฑ์ดีแม้ว่าในช่วงต้นปีจะได้รับผลกระทบจากปัจจัยภายนอกค่อนข้างมาก โดยการจ้างงาน ในภาคเกษตรหดตัวจากปัญหาภัยแล้ง ในช่วงครึ่งปีแรก แต่การที่ราคาสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนต่อเนื่องได้ ส่งผลให้รายได้เกษตรกรขยายตัวดีอย่างต่อเนื่องในปี 2548 สำหรับภาคอุตสาหกรรมยังคงใช้กำลังการผลิตอยู่ ในระดับที่สูงจากปีก่อน โดยเฉพาะ จากการผลิตเพื่อการส่งออกที่ปรับตัว ดีขึ้นจากอุปสงค์ต่างประเทศเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงครึ่งปีหลัง สำหรับ ภาคบริการชะลอตัวจากปีก่อนตามการชะลอตัวของการท่องเที่ยวจากผลกระทบจากคลื่นยักษ์สึนามิในช่วงครึ่งปีแรก และเริ่มปรับตัวดีขึ้นและเข้าสู่ภาวะปกติในช่วงครึ่งปีหลัง
ขณะที่เครื่องชี้เศรษฐกิจด้าน อุปสงค์ของทั้งปี 2548 พบว่าการบริโภค ภาคเอกชนขยายตัว ในอัตราที่ชะลอตัวจากปีก่อน เนื่องจากได้รับแรงกดดันกำลังซื้อจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้น สำหรับการลงทุนภาคเอกชนพบว่า การลงทุนในหมวดก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ชะลอตัวลง ขณะที่การลงทุน ในเครื่องมือเครื่องจักรขยายตัวเร่งขึ้น หลังจากใช้กำลังการผลิตในระดับที่สูง มาอย่างต่อเนื่อง
ด้านภาคการค้าต่างประเทศ ใน ปี 2548 มูลค่าการนำเข้าขยายตัวสูงเมื่อ เทียบกับมูลค่าการส่งออกเนื่องจากการ ขยายตัวที่เร่งขึ้นของสินค้าทุน วัตถุดิบ และน้ำมันดิบ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผล ของการเพิ่มขึ้นด้านราคา ส่งผลให้ดุล การค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลในปี 2548
เสถียรภาพเศรษฐกิจในประเทศ ยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดี โดยอัตราการว่างงานในปี 2548 ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ 1.9% ต่อปีจาก 2.1% ต่อปีในปีก่อน อย่างไรก็ตาม อัตราเงินเฟ้อปรับตัวสูง ขึ้น 4.5% ในปี 2548ตามราคาน้ำมันดิบ ที่ขยายตัวในระดับสูง แม้ว่าดุลบัญชีเดินสะพัดในปี 2548 จะกลับมาขาดดุล ตามการขาดดุลการค้า แต่เสถียรภาพ เศรษฐกิจภายนอกประเทศยังอยู่ในระดับมั่นคงจากทุนสำรองระหว่างประเทศได้ปรับเพิ่มขึ้นจาก 49.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ณ สิ้นปี 2547 มาอยู่ที่ 52.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ณ เดือนธันวาคม 2548
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|