หวั่นทำองค์กรเสื่อม จี้ก.ล.ต.แจงเงื่อนงำ "แอมเพิลริช" ขายหุ้น


ผู้จัดการรายวัน(30 มกราคม 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

"ชวน" เรียกร้องให้ก.ล.ต.พูดความจริงดีลขายหุ้นชินคอร์ป โดยเฉพาะเงื่อนงำ "แอมเพิล ริช" ขายหุ้น "โอ๊ค-เอม" หวั่นทำองค์กรขาดความน่าเชื่อถือ ด้าน ครป. จวกหน่วยงานตรวจสอบของรัฐทำตัวรับใช้การเมือง มีธงในใจอยู่ข้าง "ทักษิณ" ปกปิดประชาชน ขู่ ก.ล.ต. ตอบคำถามจำนวนหุ้นที่เพิ่มขึ้นมาให้กระจ่าง ไม่งั้นเจอยื่นฟ้องฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่แน่ อัดพวกนิติกู เปิดช่องให้ต่างชาติเข้ามายึดทรัพยากรประเทศ หวั่นต่างชาติทะลักเข้ามาแปรรูป กฟผ. กปน. คุมทิศทางเศรษฐกิจไทย

กรณีตระกูลชินวัตร และ ดามาพงศ์ ขายหุ้นบมจ.ชินคอร์ปอเรชั่น หรือชินคอร์ป ให้กับกองทุนเทมาเส็ก จากสิงคโปร์ มูลค่ากว่า 7.33 ล้านบาท มีหลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตถึงธุรกรรมที่เกิดขึ้นว่าน่าสงสัยหลายประการ โดยเฉพาะการทำหน้าที่ของคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)

นายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวมีข้อสังเกตว่าการซื้อขายหุ้นประชาชนไม่ค่อยรู้เรื่อง เป็นปัญหาแวดวงธุรกิจ ซึ่งเห็นว่าไม่ว่าใครหรือฝ่ายไหนก็ตามถ้ามีความรู้ โดยเฉพาะคณะกรรมการ ก.ล.ต. กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ควรจะออกมาพูดความจริงโดยไม่ต้องห่วงใยกับผลประโยชน์ของนักธุรกิจที่เกี่ยวข้อง เพราะถ้าองค์กรไม่วางตัวอยู่บนความถูกต้อง จะกระทบความน่าเชื่อถือ ดังนั้นต้องพูดความจริง

ส่วนกรณีที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ปฏิเสธที่จะตอบข้อซักถามเรื่องดังกล่าวโดยอ้างว่ามีการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์อย่างถูกต้องตามกฎหมายนั้น ประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ขอให้องค์กรอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ออกมาให้ข้อมูลหรือตอบคำถามที่ชัดเจน เพราะที่ผ่านมามีแต่นายกรัฐมนตรีออกมาพูด นอกจากเรื่องภาษี ตนยังเห็นว่าเรื่องของการตั้งบริษัท แอมเพิล ริช อินเวสเมนต์ จำกัด ที่หมู่เกาะบริติช เวอร์จิน ก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจว่าเป็นอย่างไร เพราะเรื่องนี้คนไม่ค่อยรู้ และนายกรัฐมนตรีเองก็เคยตำหนินักธุรกิจที่ไปตั้งบริษัทในลักษณะเช่นนี้ว่าเป็นคนไม่ดี ไม่รักชาติ ส่วนจะเข้าข่ายซุกหุ้นหรือไม่ ตนไม่ทราบ เรื่องดังกล่าวต้องให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องและมีความรู้ออกมาชี้แจง

ส่วนในเรื่องความมั่นคงจะได้รับผลกระทบจากกรณีการขายหุ้นบริษัท ซึ่งเกี่ยวข้องกับดาวเทียมหรือไม่ นายชวนกล่าวว่า ที่ผ่านมาเวลาตั้งหน่วยงานเหล่านี้ ก็อ้างว่ามีความจำเป็น ซึ่งก็ยอมรับว่าไม่รู้เรื่องทางเทคนิค แต่ที่ผ่านมา เคยมีคนท้วงติงกรณีการส่งเสริมการลงทุน หรือให้สิทธิพิเศษกับธุรกิจด้านดาวเทียมและโทรคมนาคมว่าไม่ควรทำ เพราะมีคนจะทำอยู่แล้ว ไม่ควรต้องไปจูงใจ หรือให้สิทธิพิเศษ เรื่องการลงทุน แต่เมื่อได้ไปแล้ว และต่อมาสิทธิดังกล่าวกลายเป็นของต่างชาติไป ก็เป็นเรื่องที่ต้องคิดเหมือนกันว่าจะทำอย่างไร รวมทั้งผู้ที่ขายไปด้วยก็ต้องคิดย้อนกลับมาว่าที่ได้ไป แต่ผลประโยชน์ของประเทศเสีย

"กรณีส่งเสริมการลงทุนคือว่าให้สิทธิพิเศษในการลดภาษี เพราะฉะนั้นส่วนที่ลดประเทศก็ไม่ได้ ก็ได้กับเฉพาะผู้ลงทุน วันหนึ่งผู้ลงทุนไปให้ต่างชาติ อันนี้ต้องเป็นการบ้านให้ผู้ทำกิจการไปคิดว่าจะแก้ไขได้ไหม สายไปหรือยัง หากแก้ไขได้ ต้องทบทวน เพราะวันที่รัฐบาลให้สิทธิการลงทุน ไม่ได้คิดว่าจะโอนเป็นของคนอื่น คิดเพียงว่าจะให้กับผู้ลงทุนคือคนไทย" นายชวน กล่าว

ต่อข้อถามว่า ควรมีกฎหมายป้องกันนักธุรกิจหาผลประโยชน์ทางการเมืองหรือไม่ นายชวน กล่าวว่า เรื่องนี้ต้องดูกฎเกณฑ์ว่ามีช่องโหว่ให้ละเมิดผลประโยชน์ส่วนรวมหรือไม่ อีกประเด็นหนึ่งคือต้องดูพฤติกรรมของบุคคล บางทีมีกฎเกณฑ์ ซึ่งก็เหมือนกฎหมาย ใช้กับคนดีก็ไม่มีปัญหา แต่ถ้าใช้กับคนไม่ดีก็มีปัญหา ขึ้นอยู่กับบุคคลเป็นสำคัญ ยิ่งถ้าสมคบกับผู้ที่มีความรู้ที่คอยหาช่องทางที่เป็นจุดอ่อน เอาเปรียบบ้านเมือง อาศัยช่องโหว่หาผลประโยชน์ ซึ่งคนดีๆ ไม่ทำกัน ก็จะทำให้ประเทศชาติส่วนรวมได้รับผลกระทบ

คปร.เตรียมฟ้องม. 157 ก.ล.ต.

ด้านนายพิทยา ว่องกุล ประธานคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) กล่าวว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งของภาครัฐและองค์กรอิสระ อย่างสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาด หลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ผู้ตรวจการแผ่นดินรัฐสภา ฯลฯ ควรจะเข้ามาตรวจสอบ และประกาศเจตนารมณ์ให้ชัดเจนว่าจะเดินหน้าสืบสวนสอบสวนตรวจสอบถึงความไม่ชอบมาพากล อย่าปล่อยให้สังคมคิดว่าหน่วยงานที่กล่าวมากลายเป็นบริษัทหนึ่งที่ตกอยู่ภายใต้การควบคุมของนายกรัฐมนตรีไปแล้ว อีกทั้งการขายหุ้นชินคอร์ป ยังจะส่งผลไปถึงหน่วยงานที่จะมีการแปรรูปกิจการในอนาคต เช่น ทศท กฟผ. กปน. ว่าจะเป็นการยกสัมปทานไปให้ต่างชาติเข้ามาซื้อหุ้นและมีอำนาจบริหารจัดการ ซึ่งจะส่งผลต่อความมั่นคงของรัฐ ทั้งที่หน่วยงานดังกล่าวควรจะถูกบริหารโดยคนไทยและเพื่อคนไทยแทนที่จะตกอยู่ในมือต่างชาติ และเป็นไปได้หรือไม่ว่ารัฐบาลจะไปซื้อหุ้นกลับคืนมา

"บทเรียนจากการขายหุ้นบริษัทชินคอร์ปไปยังต่างชาติสะท้อนให้เห็นถึงความพยายามที่จะยกเอกราชประชาชนไปให้ต่างชาติดังนั้นสังคมไทยควรถึงตระหนักในเรื่องนี้ รวมทั้งจะเป็นการขยายวงกว้างให้บริษัทที่ต่างชาติเข้ามามีบทบาท อำนาจ จะสามารถกำหนดทิศทางเศรษฐกิจไทยได้" นายพิทยากล่าว

นายสุริยะใส กตะศิลา เลขา ครป. กล่าวว่า การชี้แจงของกรมสรรพากร ก.ล.ต. ตลาดหลักทัพย์ ได้สะท้อนว่ามีธงอยู่ในใจว่าการซื้อขายหุ้นครั้งนี้เป็นไปอย่างชอบธรรมและไม่ต้องเสียภาษี แต่สังคมไทยยังฉลาดพอและรู้ว่าการกระทำดังกล่าวเป็นอวิชชา ดังนั้น พ.ต.ท.ทักษิณ ควรจะใช้สมอง ทั้ง 2 ซีก อย่าใช้แต่อารมณ์ในการแก้ปัญหา อย่าบอกว่าอิจฉาล่ะสิ เห็นเงินเยอะ นายกรัฐมนตรีควรจะใช้สมองทั้ง 2 ซีกบ้าง ซึ่งสังคมขณะนี้ต้องการ คำตอบว่ามีการซุกหุ้นไว้ที่บริษัทแอมเพิลริช จริงหรือไม่ อย่าพยายามสร้างประเด็นใหม่ขึ้นมาเพื่อกลบเรื่องดังกล่าว

นายสุริยะใส กล่าวว่า ภายในสัปดาห์หน้าทั้ง 3 หน่วยงาน ควรจะอธิบายให้ชัดเจนว่าเป็นอย่างไร ซึ่งที่ผ่านมา ก.ล.ต. ได้ระบุว่าการซื้อขายหุ้นไม่มีการใช้ข้อมูลภายใน (Insider Trade) แต่ก็ตอบไม่ได้ว่าจำนวนหุ้นที่บริษัทชินคอร์ปฯ แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ ว่ามี 38% แต่ต่อมากลับเพิ่มเป็น 49% นั้นมาจากไหน หากยังอธิบายไม่ได้แสดงว่าทรัพยากรแผ่นดินในนามของรัฐวิสาหกิจที่จะกำลังเข้าตลาด หลักทรัพย์กำลังจะตกไปอยู่ในมือโจร

ดังนั้น หากภายในสัปดาห์หน้ายังไม่มีความชัดเจน ครป.คงจะเดินทางไปยื่นหนังสือและแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษ ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 รวมทั้งสำนักปลัดนายกรัฐมนตรี ก็ควรประชุมและหาความชัดเจนว่าจะรักษาผลประโยชน์ของชาติ อย่างสถานีโทรทัศน์ไอทีวีไว้ได้หรือไม่ กรณีให้ต่างชาติมาถึงหุ้นเกิน 49% เป็นการกระทำผิดเจตนารมย์กฎหมาย โทรคมนาคม ควรชี้แจงให้ชัดเจน และคณะกรรมการกิจการโทรทัศน์โทรคมนาคมแห่งชาติ

นายพิภพ ธงไชย ที่ปรึกษา ครป. กล่าวว่า จำนวนเงิน 7.3 หมื่นล้าน ที่มาจากการขายหุ้นโดยไม่ต้องเสียภาษีสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาทางจริยธรรม อย่างชัดเจน การที่หน่วยงานที่ได้สัมปทานโทรศัพท์ เคลื่อนที่ไปเป็นของตนเองและมีการแสวงหาผลกำไร แทนที่จะเป็นของคนไทยทุกคน ก็ผิดเจตนารมณ์แล้วและต่อไปจะตกไปอยู่ในมือของต่างชาติเข้ามาหาผลประโยชน์อีก

นอกจากนี้ การให้สัญญาณดาวเทียมต่างชาติบริหารจัดการ เท่ากับเป็นการยกสิทธิสภาพ นอกอาณาเขตให้คนต่างชาติเข้ามาจัดการโดยเป็นการเปิดประตูให้ต่างชาติเข้ามาโดยฝ่ายนิติบัญญัติในประเทศไทยที่ไปแก้กฎหมาย

"ทางออกคือนายกฯควรจะยอมเสียภาษีและนำสัมปทานเหล่านั้นกลับคืนมาให้คนไทย และไม่อยากให้ใช้เรื่องนี้เป็นการเปิดช่องให้หน่วยงานที่จะแปรรูปอย่าง กฟผ. นั้นใช้ช่องทางเดียวกันให้ต่างชาติเข้ามาถือหุ้นและบริหารทรัพยากรของชาติ และหากท่านนายกรัฐมนตรีไม่อยากถูกตราหน้าในประวัติศาสตร์ว่า เอื้อต่อ ต่างชาติ ให้เข้ามายึดทรัพย์สมบัติของชาติ ก็ควรจะแก้ไขอย่าไปบอกว่าได้ทำถูกต้องตามกฎหมายแล้ว เพราะประชาชนรู้ว่าความถูกต้องตามกฎหมาย ถูกสร้างกฎหมายโดยรัฐบาลชุดนี้ให้เอื้อต่อการกระทำดังกล่าว"


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.