โออิชิประชุมบอร์ดชุดใหม่ก.พ.คู่แข่งมาร์เกตแชร์ต่ำ 5% ไม่รอด


ผู้จัดการรายวัน(30 มกราคม 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

โออิชิ ยื่นเปลี่ยนแปลงบอร์ดต่อกระทรวงพาณิชย์ เตรียมเรียกประชุมภายในเดือนก.พ. กำหนดนโยบายหลังเปลี่ยนมือผู้ถือหุ้นใหญ่ "ตัน" ลุ้นอนุมัติจ่ายเงินปันผลให้ผู้ถือหุ้น ระบุให้เป็นหน้าที่ของบอร์ด เผยโรงงานใหม่เตรียมเดินหน้าผลิตชาเขียวเพิ่ม ชี้ลดต้นทุนได้กว่า 20% หวังใช้เครือข่ายพันธมิตรต่อยอดธุรกิจในต่างประเทศ เชื่อสุดท้ายคู่แข่งที่มาร์เกตแชร์ต่ำกว่า 5% ต้องปิดตัวลง พร้อมอ้อนนักลงทุน ถือลงทุนระยะยาว

นายตัน ภาสกรนที ประธานกรรมการ บริษัท โออิซิ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ OISHI กล่าวถึงขั้นตอนต่อไปหลังจากการขายหุ้นของบริษัทให้กลุ่มพันธมิตรใหม่ทั้งกลุ่มนายเจริญ สิริวัฒนภักดี และกลุ่มทุนจากสิงคโปร์ว่า ขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างการยื่นเพื่อขอเปลี่ยนแปลงกรรมการของบริษัทกับกระทรวงพาณิชย์ ก่อนจะมีการร่วมประชุมระหว่างคณะกรรมการเก่าและคณะกรรมการใหม่ที่เป็นตัวแทนของกลุ่มพันธมิตรในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2549

ทั้งนี้ การปรับเปลี่ยนในระดับของกรรมการจะส่งผลให้มีการปรับเปลี่ยนในส่วนของตำแหน่งกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่ด้านการเงินหรือ CFO แต่ในตำแหน่งประธานกรรมการ หรือ CEO ตนเองจะยังรั้งตำแหน่งเดิม โดยบริษัทจะยังมุ่งเน้นการพัฒนาและขยายการลงทุนในธุรกิจชาเขียวที่ยังมีแนวโน้มการเติบโตในอนาคตอีกมาก แม้ว่าอัตราการเติบโตจะไม่โดดเด่นเท่าในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา

สำหรับการหารือในครั้งแรกของคณะกรรมการชุดใหม่จะมีการกำหนดนโยบายของบริษัท เพื่อให้สอดคล้องและรองรับกับเครือข่ายและ การประสานประโยชน์ของกลุ่มในอนาคต และจะมีการหารือเกี่ยวกับการจ่ายเงินปันผลของบริษัทสำหรับงวดปี 2548 ซึ่งในระยะสั้นบริษัทยังไม่มีแผนการลงทุนเพิ่ม เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมาบริษัทได้มีการลงทุนเพิ่มสร้างโรงงานใหม่ประมาณ 400 ล้านบาท ซึ่งจะพร้อมเปิดได้ในช่วงเดือนมีนาคม 2549 นี้ โดยอาจจะทำให้บริษัทสามารถจ่ายเงินปันผลได้

ในส่วนของโรงงานใหม่ของบริษัทได้มีการนำเทคโนโลยีใหม่เข้ามา ประกอบกับการวางแผนในการสร้างโรงงานเป็นอย่างดี ซึ่งจะทำให้ค่าใช้จ่ายในรูปของต้นทุนการผลิตชาเขียวจากโรงงานใหม่ต่ำกว่าโรงงานเก่าประมาณ 20% โดยกำลังการผลิตในส่วนของโรงงานเก่าอยู่ที่ 30 ล้านขวดต่อเดือนต่อเครื่องจักร 4 เครื่อง ขณะที่กำลังการผลิตในโรงงานใหม่อยู่ที่ประมาณ 20 ล้านกว่าขวดต่อเดือน ต่อเครื่องจักร 2 เครื่อง โดยจะเริ่มรับรู้รายได้ได้ทันทีเมื่อมีการเปิดใช้

นายตันกล่าวอีกว่า การร่วมทำธุรกิจกับกลุ่มพันธมิตรในครั้งนี้จะส่งผลประโยชน์ในเรื่องช่องทางการขาย ตลอดจนการขยายธุรกิจของบริษัท โดยประโยชน์ที่ชัดเจนในเรื่องความเชี่ยวชาญในส่วนของโรงงานผลิตสินค้า เนื่องจากกลุ่มพันธมิตรมีการดำเนินธุรกิจในหลายประเทศและมีความชำนาญในเรื่องดังกล่าวค่อนข้างสูง

นอกจากนี้ในแง่ของต้นทุนสินค้าบริษัทจะมีการเข้ามาดูรายละเอียดในส่วนของรายการที่เป็นรายจ่ายในอันดับต้นๆ เพื่อต่อรองในส่วนของการสั่งซื้อสินค้าบางรายการให้ถูกลง เพราะบริษัทในกลุ่มของพันธมิตรถือว่าเป็นกลุ่มที่ใช้สินค้าบางรายการที่ค่อนข้างสูงทำให้ราคาซื้อสินค้าบางรายการต่ำกว่าบริษัท

"เราคงต้องใช้ประโยชน์ที่จะส่งผลต่อการขยายธุรกิจ ซึ่งในอนาคตเราอาจจะเห็นน้ำดื่มที่เป็นยี่ห้อโออิชิก็ได้ ในเรื่องของโรงงานเราก็ไม่ต้องสร้างใหม่แต่กลับสามารถเพิ่มสินค้าประเภทใหม่ๆ ตอนแรกๆ เราก็ต้องดูเรื่องที่ง่ายๆ ก่อนและค่อยขยายทีหลัง" นายตันกล่าว

ด้านการขยายตลาดไปยังต่างประเทศ เครือข่ายของบริษัทในเครือของกลุ่มพันธมิตร คือช่องทางที่สำคัญที่จะต่อยอดการทำธุรกิจชาเขียวของบริษัท โดยเครือข่ายในต่างประเทศไม่ว่าจะเป็นโรงแรม ร้านอาหาร จะเป็นกลุ่มที่เปิดโอกาสให้กลุ่มผู้บริโภคต่างชาติรู้จักสินค้าภายใต้แบรนด์ โออิชิมากขึ้น

นายตัน กล่าวอีกว่า สำหรับแนวโน้มของธุรกิจชาเชียวในอนาคต กลุ่มที่มีมาร์เกตแชร์ต่ำกว่า 5% จะต้องปิดตัวลงไป เนื่องจากค่าใช้จ่ายทั้งในเรื่องต้นทุนสินค้ารวมถึงค่าทำการตลาด ซึ่งจะทำให้ไม่คุ้มทุน โดยสุดท้ายจะทำให้ผู้ประกอบการในธุรกิจเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ โดยเฉพาะชาเชียวเหลือแข่งขันกันเพียง 4-5 บริษัทเท่านั้น

ในส่วนของนักลงทุนที่จะยังลงทุนในหุ้นของบริษัทโออิชิ หรือกลุ่มที่ถือหุ้นของบริษัทโออิชิอยู่แล้ว คงต้องให้เวลาว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง หลังจากได้เปลี่ยนแปลงในส่วนของผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัท โดยสิ่งที่ต้องการจะย้ำให้ชัดเจนกลุ่มพันธมิตรที่นำโดยนายเจริญ สิริวัฒนภักดี มีบริษัทที่ประกอบธุรกิจในกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ จำนวนมาก ซึ่งการบริหารงานในธุรกิจชาเขียวจึงไม่น่าจะมีการปรับเปลี่ยน ทั้งนี้ต้องการให้ผู้ถือหุ้นของบริษัทเป็นกลุ่มนักลงทุนที่ถือลงทุนในระยะยาว


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.