|

คลังขายฝันเมกะโปรเจกต์ดึงนักลงทุนเยอรมันลงขัน
ผู้จัดการรายวัน(30 มกราคม 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
คลัง-ตลาดหลักทรัพย์ฯ เดินหน้า โรดโชว์ขายฝันเมกะโปรเจกต์ระบบราง ดึงนักลงทุน เยอรมันร่วมลงทุน
นายพิชิต อัคราทิตย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน) (MFC) ในฐานะคณะกรรมการอำนวยการระบบขนส่งมวลชน เปิดเผยว่า กระทรวงการคลัง และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จะเดินทางไปนำเสนอข้อมูล (โรดโชว์) เกี่ยวกับโครงการลงทุนขนาดใหญ่ (เมกะโปรเจกต์) ของรัฐบาล ที่ประเทศเยอรมนีระหว่างวันที่ 1-7 กุมภาพันธ์นี้ โดยเนื้อหาหลักของการโรดโชว์จะเน้นไปที่โครงการรถไฟฟ้าใต้ดิน 7 สาย ซึ่งมีการให้ข้อมูลรายละเอียดในเชิงลึกว่าจะต้องมีการลงทุนอะไรและอย่างไรบ้างรวมทั้งจะอธิบายถึงแหล่งที่มาของเงินทุนด้วย
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของแหล่งที่มาของเงินทุนนั้น ขณะนี้ยังไม่มีการสรุปที่ชัดเจนว่าจะมาจากช่องทางใดบ้าง โดยอยู่ระหว่างการเก็บข้อมูลจากนักลงทุนต่างประเทศ ซึ่งจะมีการสรุปข้อมูลตรงนี้อีกครั้งหนึ่งว่าแหล่งที่มาควรมาจากช่องทางใดบ้าง
"ทางเราเป็นผู้ดูแลในเรื่องการให้คำแนะนำถึงแหล่งที่มาของเงินทุนว่าจะใช้หลักในการคัดเลือกอย่างไร ซึ่งการคัดเลือกหลักๆ จะดูจาก 3 ข้อ คือ 1.ด้านวิศวกรรมว่าจะมีการก่อสร้างอะไรยังไงบ้าง 2.ดูว่าจะเอาเงินมาจากไหน และ 3.การบริหารจัดการ ซึ่งปัจจุบันยังอยู่ในช่องเฟสแรกคือขั้นตอนของการคัดเลือกผู้มาดำเนินงานและรูปแบบของการก่อสร้างเท่านั้น" นายพิชิตกล่าว
สำหรับในเรื่องของการบริหารจัดการ ตอนนี้ถือเป็นเรื่องยังไม่ได้มีการพูดคุยกันมากเท่าไร ซึ่งในระยะยาวคงต้องหารือกันอีกว่าใครจะมาเป็นผู้ดูแลตรงนี้ โดยเฉพาะคนที่จะเข้ามาทำหน้าที่เป็นผู้ให้บริการ (เร็กกูเรเตอร์) และผู้กำกับดูแล (โอเปอเรเตอร์) ซึ่งในส่วนของผู้กำกับดูแลนั้นขณะนี้อยู่ในช่วงที่กฤษฎีกากำลังร่างกฎหมายอยู่ โดยอาจให้เอกชนไปทำหรือให้รัฐบาลเข้ามากำกับดูแลก็ได้
ส่วนในเรื่องของแหล่งเงินทุนนั้นอาจไม่จำเป็นต้องใช้แหล่งเงินทุนจากรัฐบาลทั้งหมด เพราะอาจเปิดให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมตรงนี้มากขึ้น ซึ่งแนวทางดังกล่าวเป็นที่นิยมกันมากในต่างประเทศอยู่แล้ว ทั้งนี้เงินลงทุนสำหรับโครงการรถไฟฟ้า 7 สาย ปัจจุบันมีมูลค่ารวมทั้งหมดประมาณ 4.2 แสนล้านบาท โดยแบ่งเป็นในส่วนของโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 2.8 แสนล้านบาท และระบบราง อีก 1.4 แสนล้านบาท
นายพิชิต กล่าวว่า การเดินทางไปโรดโชว์ที่เยอรมนีในครั้งนี้ เป้าหมายหลักคือการเข้าไปพบนักลงทุนในประเทศมากกว่า แต่อย่างไรก็ตาม อาจมีผู้สนใจเข้ามาร่วมประมูลเพื่อขอร่วมให้บริการในรถไฟฟ้าทั้ง 7 สายนี้ก็ได้ ซึ่งในประเทศเยอรมนีเอง ถือเป็นประเทศที่มีนักลงทุนรายใหญ่ๆ ค่อนข้างมาก
ทั้งนี้ ในช่วงก่อนหน้า บลจ.เอ็มเอฟซี ในฐานะหน่วยงานที่ทำหน้าที่ศึกษาแนวทางการระดมทุนโครงการรถไฟฟ้า 7 เส้นทาง ซึ่งประกอบด้วย 1. สีเขียวอ่อน ระหว่างพรานนก-สมุทรปราการ 2. สีเขียวเข้ม ระหว่างบางว่า-สะพานใหม่ 3. สีน้ำเงิน วงแหวน-จรัญสนิทวงศ์ 4. สีม่วง บางใหญ่ ราษฎร์-บูรณะ 5. สีส้ม บางกระปิ-บางบำหรุ 6. สายสีแดงเหนือ-ใต้ ระหว่าง รังสิต-มหาชัย และ 7. สายสีแดง ตะวันตก-ตะวันออก ระหว่าง ตลิ่งชัน-สุวรรณภูมิ ได้เสนอแนวคิดในการระดมทุนโดยแบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือ การลงทุนโดยรัฐบาล และการเปิดสัมปทานให้กับภาคเอกชน
สำหรับวงเงินลงทุนในส่วนของระบบราง 2.8 แสนล้านบาท ส่วนแรกจะเปิดสัมปทานให้กับภาคเอกชน ซึ่งจะเป็นค่าเซ้งพื้นที่จะเปิด Open Bid คิดเป็นเงินประมาณ 4-5 หมื่นล้านบาท ส่วนที่สองจะออก Revenue Bond ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากการเก็บภาษีเฉพาะคนที่ได้รับผลประโยชน์จากระบบขนส่งราง เช่น ภาษีป้ายรถยนต์ในกรุงเทพฯ คาดว่าจะมีเงินเข้ามาประมาณ 4-5 หมื่นล้านบาท
ส่วนที่สาม เป็นรายได้ที่เกิดจากการพัฒนาพื้นที่ของกรมธนารักษ์ ในส่วนใกล้เคียงกับบริเวณสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินทั้ง 7 สาย ซึ่งจะออกกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ (พร็อพเพอร์ตี้ฟันด์) ให้กับนักลงทุนที่สนใจ คาดว่าจะมีเม็ดเงินเข้ามาเพิ่มเติมประมาณ 8 หมื่นล้านบาทถึง 1 แสนล้านบาท
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|