|
ปรับตัวรอด ปรับตัวโลด (1)
โดย
พันธ์ศักดิ์ ลีลาวรรณกุลศิริ
ผู้จัดการรายวัน(30 มกราคม 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
นับแต่กลางปี คศ.1997 หรือ พศ.2540 หลังจากที่ประเทศไทยได้ประกาศลอยค่าเงินบาทรายได้ประชาชาติติดลบมากกว่าร้อยละ 10 อัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่เคยสูงได้ลดลงเหลือร้อยละ 1 ต่อปี อัตราเงินเฟ้อ การลงทุนอยู่ในอัตราที่ต่ำมาก รัฐบาลต้องใช้มาตรการส่งเสริม กระตุ้นการลงทุนทุกด้าน ทั้งจากภาครัฐ ผู้ลงทุนต่างประเทศ และในประเทศ ผ่านคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) มาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการให้ประหยัดเงินจ่ายค่าภาษีในปีแรกที่ลงทุนในสินทรัพย์ถาวร เช่น ให้คิดค่าเสื่อมราคา การลงทุนในคอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์เร็วขึ้น เป็นเวลา 3 ปี โดยเฉพาะปีแรกให้หักค่าเสื่อมราคาได้ถึงร้อยละ 60 เป็นค่าใช้จ่ายลดภาษีเงินได้นิติบุคคลจากกำไร เป็นต้น ทำให้ประเทศไทยสามารถฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศได้เร็วกว่าที่คิด
อาจกล่าวได้ว่า หลังจากประเทศลอยค่าเงินบาท จนถึงปี คศ.2003 นับเป็นปีที่ดีที่สุดปีหนึ่ง ที่เศรษฐกิจฟื้นตัวกระเตื้องขึ้นอย่างเห็นเด่นชัดทั้งจากเงินทุนสำรองเงินตราต่างประเทศ ดุลบัญชีการค้า ดุลบัญชีเดินสะพัด ที่เป็นบวก จนกระทั่ง ปี คศ.2005 ได้เกิดสถิติใหม่ขึ้นที่ส่งผลกระทบทางลบที่มีผลต่อผู้ประกอบการ
* ดุลบัญชีการค้า ดุลบัญชีเดินสะพัด จากที่ประเทศไทยเคยเป็นบวกติดต่อกันมาหลายปี เริ่มเป็นลบ และทางการคาดว่ายังคงขาดดุลต่อเนื่องไปอีกระยะหนึ่ง
* ราคาน้ำมัน ได้ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องนับแต่ คศ.2004 และราคาได้ขึ้นสูงสุดทำลายสถิติในปี คศ.2005 ผู้เชี่ยวชาญยังคงคาดการณ์ว่าราคาน้ำมันยังคงมีราคาสูง และราคาไม่น่าจะต่ำลงอย่างที่เคยเป็นได้โดยง่าย
* อัตราเงินเฟ้อ ทุกท่านคงทราบดีว่า ทุกครั้งที่เกิดวิกฤตการณ์น้ำมันขึ้นราคาผลที่ตามมาทำให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มสูงขึ้น ผลักดันให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้นในประเทศบางเดือนมากกว่าร้อยละ 5
* ราคาทองคำ ก็ได้ทำลายสถิติประเทศไทยแตะ 10,000 บาท ต่อทองคำหนัก 1 บาท อย่างที่ไม่เคยปรากฎมาก่อน
* อัตราดอกเบี้ย เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่มีผลกระทบต่อผู้ประกอบการโดยตรง เริ่มขยับสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว และหลายครั้ง และผู้รู้ทางการเงินคาดว่าคงจะขยับขึ้นต่อและไม่ลดลงโดยง่าย
นอกจากนี้ประเทศไทยยังประสบภัยธรรมชาติ ภัยจากผู้ก่อการร้ายภาคใต้ ภัยจากไข้หวัดนกที่กระทบต่อผู้ประกอบการอย่างต่อเนื่อง ผู้ประกอบการจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเร่ง ปรับตัวรอด ปรับตัวโลด ผมใคร่ขอเสนอให้ท่านรับมือกับสถานการณ์ที่ยังคงผันผวน เพื่อให้ธุรกิจไปรอด ไปโลด อย่างยั่งยืนต่อไปได้
หยุดเก็งกำไร
การเก็งกำไรปกติทั่วไป ผู้ประกอบการจะกระทำได้เมื่อทราบข้อมูลล่วงหน้า เช่น สต๊อคพืชผลเพิ่มขึ้นไว้สำหรับขายนอกฤดูกาลในราคาที่สูงขึ้น เป็นต้น การเก็งกำไรสำหรับผู้ประกอบการจะกระทำได้เมื่อคาดว่าความต้องการในสินค้านั้นมีมากกว่าของที่มี
ในสถานการณ์ที่เราท่านได้พบเห็น คือ มีการฮั้วหรือรวมตัวกันเพื่อกักตุนสินค้าให้ผู้บริโภคสำคัญผิดคิดว่าสินค้าขาดตลาด แย่งกันซื้อในราคาที่สูงขึ้น กรณีที่เป็นสินค้าที่ทางการควบคุม ผู้ประกอบการที่กระทำเช่นนั้นจะมีความผิดทางกฎหมาย จึงมิพึงคิด พึงปฏิบัติ จะไม่คุ้มกับกำไรที่หวังจะได้เพิ่มขึ้น และผิดหลักจริยธรรม คุณธรรม
ในสถานการณ์ที่อุปทานสินค้า หรือคู่แข่งที่มีมากเฉกเช่นปัจจุบัน และยังถูกกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้าที่คู่แข่งมีต้นทุนที่ต่ำกว่าควบคู่กับปัจจัยต่างๆ ที่เกิดขึ้นดังกล่าวข้างต้น เพื่อให้ธุรกิจท่าน ไปรอด ไปโลด ท่านคงต้องรู้จักปรับตัวในเรื่องแรก คือ หยุดเก็งกำไร
เลิกงานขาดทุน
ผู้ประกอบการทั่วไปที่ประสบความสำเร็จ และขยายประเภทธุรกิจทั้งแนวดิ่ง (Vertical) เช่น ธุรกิจตัดเย็บเสื้อผ้า สู่ ธุรกิจฟอกย้อม ธุรกิจทอผ้า ธุรกิจปั่นด้าย ธุรกิจปลูกฝ้าย เป็นต้น และขยายแนวราบ (Horizontal) โดยผู้ประกอบการลงทุนหลากหลายประเภทธุรกิจ เพื่อกระจายความเสี่ยง หรือเห็นว่าเป็นธุรกิจที่ดีมีอนาคต มีกำไร
ในข้อเท็จจริงผู้ประกอบการที่ขยายธุรกิจออกไปเป็น 10 หรือ 20 หรือ 30 ธุรกิจ ใช่ว่าผู้ประกอบการจะได้กำไรจากทุกธุรกิจที่ทำ
จากประสบการณ์ที่ผมได้ประสบผู้ประกอบการที่มีกลุ่มธุรกิจมากมายดั่งว่า ถ้านำงบการเงิน 3 ปีย้อนหลังมาวิเคราะห์ จะสามารถแบ่งธุรกิจได้เป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มธุรกิจที่มีอนาคตกำไรดีต่อเนื่อง กลุ่มธุรกิจที่มีผลประกอบการทรงตัวพออยู่ได้ กลุ่มธุรกิจที่ไร้อนาคตมีผลขาดทุนติดต่อกันหลายปี
ดังนั้น ผู้ประกอบการที่ประกอบธุรกิจหลักประสบความสำเร็จแล้วขยายเพิ่มประเภทธุรกิจ หรือชนิดของสินค้าเพื่อหวังจับลูกค้าหลายกลุ่ม ควรได้ทำการเช็คสอบว่ามีประเภทธุรกิจ หรือชนิดของสินค้าใดบ้างที่ทำแล้วขาดทุนต่อเนื่อง ยากที่จะพลิกฟื้นคืนมาเป็นกำไรก็ให้เลิกงานขาดทุนนั้น
คุมและเพิ่มเงินสด
ในทุกช่วงสถานการณ์ที่มีความผันผวน ผู้ประกอบการต้องให้ความสำคัญในเรื่องการคุมเงินสด และการเพิ่มเงินสด การคุมเงินสด ผู้ประกอบการพึงยึดหลัก ตราบใดที่ยังไม่จ่ายเงิน ยังมีเงินและเหลือเงิน ดังนั้น การใช้จ่ายเงินในการลงทุนทุกครั้ง ผู้ประกอบการพึงต้องทราบว่าจ่ายเงินไปทำอะไร เพื่ออะไร และหวังได้อะไร ถ้าเป็นการลงทุนที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือเกิดประโยชน์ หรือไม่คุ้มค่าการลงทุน ก็ควรชะลอการลงทุน
นอกจากการคุมเงินสดแล้ว ผู้ประกอบการยังคงต้องคิดหาวิธีเพิ่มเงินสด โดยพิจารณา
* ขายสินทรัพย์ที่ไม่ใช้แล้ว หรือที่ใช้แล้วไม่คุ้มค่า
* เพิ่มมาตรการส่งเสริม กระตุ้น เรื่องการเรียกเก็บหนี้ที่ต่ำกว่ามาตรฐาน หนี้ที่สงสัยว่าจะมีปัญหา หนี้มีปัญหาค้างนาน สำหรับลูกหนี้ปกติผู้ประกอบการก็อาจเพิ่มเงินสดโดยขายบิล หรือเช็คลงวันที่ล่วงหน้าได้
* เพิ่มมาตรการ เรื่องการระบายสต๊อคสินค้าที่ค้างนาน ที่จะล้าสมัย หรือจะหลุดแฟชั่น หรือจะหมดอายุ
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|