|
พิษโลกาภิวัฒน์ทำธุรกิจป่วน "3บิ๊ก"ชี้ทางรอดก่อนสูญพันธ์
ผู้จัดการรายสัปดาห์(30 มกราคม 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
"3 บิ๊ก" วงการธุรกิจการค้า-การลงทุน ชี้นักธุรกิจไทยต้องเร่งปรับตัวก่อนสูญพันธ์จากกระแสโลกาภิวัฒน์ เจ้าพ่อเหล็ก "สวัสดิ์ หอรุ่งเรือง" ระบุ จีน- อินเดียเตรียมบุกอุตสาหกรรมเหล็กไทย ด้านอุตสาหกรรมส่งออกอาหารต้องแกร่งและใหญ่เท่านั้นถึงอยู่รอด
นอกจากปัจจัยเศรษฐกิจหลักอย่าง ดอกเบี้ย อัตราเงินเฟ้อ และราคาน้ำมัน จะส่งผลกระทบหลักต่อการทำธุรกิจในปี 2549 แล้ว ปัจจัยหนึ่งที่เหล่ากูรูต่างส่งสัญญาณเตือนให้ผู้ประกอบการเตรียมรับมือก็คือ กระแสการค้าโลก และภาวะธุรกิจข้ามชาติที่จะส่งผลต่อการทำธุรกิจภายในประเทศมากยิ่งขึ้น เมื่อไทยต้องอยู่ภายใต้กฎ WTO และเขตการค้าเสรีด้วยแล้ว นักธุรกิจไทย คงต้องคอยจับตาผลกระบวนการโลกาภิวัฒน์ทางการค้าที่จะเข้ามามีบทบาทในการทำธุรกิจในไม่ช้านี้
โลกาภิวัฒน์สร้างการแข่งขันสูงขึ้น
โฆษิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ประธานกรรมการบริหารธนาคารกรุงเทพ มองว่ากระบวนการโลกาภิวัฒน์ทำให้เกิดโอกาสการค้ามากขึ้น ขณะเดียวกัน ทำให้นักธุรกิจต้องตื่นตัวอยู่ตลอดเวลาและต้องมีความสามารถในการบริหารจัดการมากขึ้น ซึ่งปัจจัยหลักที่ผู้ประกอบการต้องจับตามองในภาวะโลกาภิวัฒน์ คือ อำนาจผู้ซื้อจะเพิ่มขึ้นกว่าในอดีตอย่างมโหฬาร เพราะผู้ซื้อมีความรู้มากขึ้น เข้าถึงข้อมูลของสินค้าได้ง่ายและมากขึ้น ทำให้เกิดการแข่งขันสูงขึ้นด้วย
อีกทั้งสถานการณ์ผู้ประกอบการเองก็อยู่ในสถานการณ์ที่เรียกว่า ไม่มีแต้มต่ออีกต่อไป หรือที่เรียกว่า NO MERCY คือจะไม่มีข้อแม้ในการทำธุรกิจ เช่น อ้างว่าเป็นประเทศที่เล็กกว่า ซึ่งโฆษิตมองว่าสถานการณ์โลกาภิวัฒน์ เพิ่งจะเป็นการเริ่มต้นเท่านั้น จะต้องเห็นการแข่งขันที่รุนแรงกว่านี้ในอนาคต
"จีน- อินเดีย"บุกอุตสาหกรรมเหล็กไทย
สอดคล้องกับสวัสดิ์ หอรุ่งเรือง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทนครไทยสติปมิลล์กล่าวว่า การค้าในปี 2549 จะเป็นในรูปแบบตาต่อตา ฟันต่อฟัน จะไม่สนใจว่าเราเป็นประเทศที่ด้อยกว่าหรือไม่ เช่นเดียวกับในอุตสาหกรรมเหล็ก ปัจจุบันนี้มีต่างชาติ เช่น จีน และอินเดียเข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้น ล่าสุดทางบริษัทเหล็กจากอินเดียอย่าง บริษัทTATA ก็เข้ามาทาบทามซื้อกิจการของนครไทยสตริปมิล ซึ่งคาดว่าในอนาคตอุตสาหกรรมเหล็กการแข่งขันจากต่างประเทศจะแรงขึ้น เพราะไทยจะก้าวขึ้นมาเป็นฮับโลจิสติกส์ ซึ่งจะทำให้การกระจายเหล็กไปยังประเทศในภูมิภาคเป็นไปได้อย่างง่ายดายและต้นทุนราคาถูก
คาดส่งออกอาหารเหลือแต่พี่บิ๊ก
ขณะเดียวกันอุตสาหกรรมอาหารก็มีการแข่งขันมากขึ้น ธีรพงศ์ จันทศิริ ประธานบริษัท ไทย ยูเนี่ยนฟรอสเซ็น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า อาหารทะเลเป็นที่ต้องการของตลาดโลกมาตลอด ผู้ประกอบการต้องคอยจับกระแสให้ดี ควรมีการปรับตัวเกี่ยวกับความเป็นไปของโลกมากขึ้น คาดว่าผู้เล่นในอุตสาหกรรมส่งออกอาหารจะลดลงไป เพราะจะเกิดการควบรวมระหว่างบริษัทมากยิ่งขึ้น จะเหลือแค่บริษัทใหญ่ๆเท่านั้นที่จะเล่นบนเวทีนี้ได้ จึงคาดว่าเทรนด์รูปแบบการแข่งขันของอุตสาหกรรมอาหารส่งออกในอนาคตจะแข่งขันกันอย่างเป็นสากลมากยิ่งขึ้น
ดังนั้นผู้ประกอบการควรปรับตัวเองให้ทันกับกระแสโลกาภิวัฒน์ให้ได้ พร้อมทั้งมีการบริหารจัดการที่ดีโดยเฉพาะอัตราแลกเปลี่ยน อัตราดอกเบี้ย ต้นทุนการผลิตซึ่งต้นทุนด้านพลังงานมีแนวโน้มปรับราคาสูงขึ้น ผู้ประกอบการต้องบริหารต้นทุนอย่างไรก็ได้ให้คุ้มที่สุด อาจจะใช้พลังงานน้อยลง หรือใช้พลังงานเท่าเดิมแต่มีศักยภาพมากขึ้น แม้แต่ภาคอุตสาหกรรมอาหารต้องปรับตัวตามให้ทันกระแสโลกาภิวัฒน์ อย่างเช่น กฎตามข้อตกลงการค้าโลก และ FTA ซึ่งจะส่งผลประโยชน์ให้กับอุตสาหกรรมอาหาร โดยเฉพาะ FTA ไทย-ญี่ปุ่น และ FTA ไทย-สหรัฐ เพราะอุตสาหกรรมอาหารนั้นถูกข้อกีดกันทางภาษีโดยตลอด ซึ่งคาดว่าการส่งออก จะกระเตื้องเพิ่มมากขึ้นจากการเจรจา FTA ครั้งนี้
แนะแนวขยายกิจการโกอินเตอร์
นอกจากนั้นเขามองว่า การเข้าไปซื้อกิจการบริษัทในต่างประเทศเป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะเป็นการสร้างตลาดได้ง่ายกว่า ซี่งบริษัทยูเนียนฟรอสเซ็นเองเล็งเห็นว่า จุดแข็งของบริษัทคือ ต้นทุนการผลิตที่ถูก แต่ยังขาด Brand name ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญในเรื่องการยอมรับตราสินค้าในตลาดโลก เพราะปลาทูน่ากระป๋องมีอยู่ในประเทศตะวันตกมากว่า 100 ปี จึงเป็นการยากที่ผู้บริโภคจะยอมรับสินค้าจากประเทศตะวันออก บริษัทฯจึงเข้าไปเทคโอเวอร์แบรนด์เก่าในตลาดที่เป็นที่ยอมรับอยู่แล้ว เพื่อสร้างฐานตลาดและได้รับการยอมรับ อีกทั้งใน ไทยยูเนี่ยน ฟรอสเซ็นถือว่ามีต้นทุนการผลิตที่ต่ำที่สุด
เขาบอกอีกว่า อย่าลงทุนหรือมองตลาดแค่ในสหรัฐอเมริกาเท่านั้น ต้องหันไปมองประเทศอื่นๆเช่น อเมริกาใต้ ก็น่าสนใจ เพราะจะทำให้ผู้ประกอบการล้ำหน้าเหนือคู่แข่ง ซึ่งการแข่งขันจะไม่ใช่แค่กับบริษัทภายในประเทศเท่านั้น แต่ยังต้องแข่งขันกับบริษัทต่างประเทศด้วย
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|