แบงก์กรุงไทยเล็งปันผลเกิน50%สำรองเพิ่ม2.8พันล้าน-สิ้นปีลดNPLเหลือ8%


ผู้จัดการรายวัน(27 มกราคม 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

บิ๊กกรุงไทยเล็งจ่ายปันผลปี 48 มากกว่า 50% ของกำไรสุทธิ 13,000 ล้าน พร้อมตั้งสำรองเพิ่มเติมพิเศษ 2.8 พันล้าน เสริมศักยภาพและความแข็งแกร่ง ดันเงินตั้งสำรองแบงก์สิ้นปีพุ่งเกิน 40 %ตามที่ธปท.กำหนด ระบุไตรมาสแรกขายเอ็นพีแอลบิ๊กล็อตให้ต่างชาติ 8-9 พันล้าน ลดเอ็นพีแอลเหลือ 10 % ส่วนสิ้นปีจะเหลือ 8 %

นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกรุงไทย (KTB) เปิดเผยว่า ในปีนี้ธนาคารจะสามารถจ่ายเงินปันผลได้สูงกว่างวดปี 2547 โดยธนาคารสามารถจ่ายเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้นมากกว่า 50% ของกำไรสุทธิ เนื่องจากในปี 2548 การดำเนินธุรกิจของธนาคารมีอัตราการเติบโตที่ดี สามารถสร้างกำไรสุทธิได้เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 17.48 % หรือ 13,000 ล้านบาท ดังนั้นคาดว่าในปีนี้ธนาคารจะจ่ายเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้นได้สูงกว่าปีก่อนแน่นอน

“แบงก์มีนโนบายที่จะจ่ายเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้นในอัตราไม่ต่ำกว่า 40 %ของกำไรสุทธิทุกๆ ปี ส่วนจะจ่ายเพิ่มขึ้นมากน้อยแค่ไหน ขึ้นอยู่กับผลกำไรที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งนโยบายที่จะตั้งสำรองเพื่อเสริมความแข็งแกร่งให้กับแบงก์ ในการขยายธุรกิจในอนาคตต่อไป” นายอภิศักดิ์ กล่าว

จากกำไรสุทธิที่เพิ่มขึ้นในปีนี้ ธนาคารจึงมีนโยบายที่จะเพิ่มความแข็งแกร่ง ดูแลความเสี่ยงของสินเชื่อธนาคารจึงได้ตัดสินใจตั้งสำรองหนี้เป็นกรณีพิเศษอีก 2,800 ล้านบาท ซึ่งเป็นการตั้งสำรองนอกเหนือจากการตั้งสำรองปกติตามเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)กำหนด จากปัจจุบันมีการตั้งสำรองไว้เกินกว่าที่ธปท.กำหนดประมาณ 40 % และโดยปกติธนาคารมีนโยบายที่จะตั้งสำรองเฉลี่ยเดือนละ 300 ล้านบาท ส่งผลให้ทั้งปีมีการตั้งสำรองปกติกว่า 3,600 ล้านบาท และสิ้นปี 2549 นี้ ธนาคารจะมีการตั้งสำรองสูงถึง 6,400 ล้านบาท ทำให้ธนาคารมีความมั่นคงและมีผลตอบแทนให้ผู้ถือหุ้นได้เฉลี่ย 15-16 %

ทั้งนี้ ในสิ้นปี2549 ธนาคารมีเป้าหมายที่จะลดหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(เอ็นพีแอล) ให้เหลือ 8% จากปัจจุบันที่ 10.3 % หรือ 100,000 ล้านบาท โดยภายในไตรมาสแรกปีนี้ คาดว่าธนาคารจะสามารถจำหน่ายเอ็นพีแอลให้กับลูกค้าต่างชาติได้ 8,000-9,000 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการเจรจา และถ้าหากสามารถจำหน่ายเอ็นพีแอล ส่วนนี้ออกไปได้จะทำให้เอ็นพีแอลลดลงเหลือ 10% ตามเป้าที่ตั้งไว้

“ธนาคารมีแผนที่จะคัดเอ็นพีแอล ที่มีลักษณะประเภทเดียวกันนำมารวมเป็นกองเดียวกัน เพื่อขายเป็นล็อตเพื่อให้ได้ราคาดี ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจากับผู้รับซื้อหนี้ดังกล่าว ซึ่งจะทำให้ปีนี้ธนาคารจะสามารถลดเอ็นพีแอล เหลือ 8%” กรรมการผู้จัดการกล่าว

สำหรับในปีนี้ การดำเนินธุรกิจมีการแข็งขันที่รุนแรงมากยิ่งขึ้น ทำให้ธนาคารต้องปรับตัวเพื่อสามารถแข็งขันในตลาดได้ โดยต้องการที่จะก้าวเป็น Convenience Bank ที่ให้บริการลูกค้าได้ครบทุกอย่างในจุดเดียว หรือเป็นธนาคารอเนกประสงค์ โดยกำลังศึกษาแนวทางเพื่อจัดองค์กร ปรับโครงสร้างของบริษัทในเครือ เพื่อให้การดำเนินธุรกิจเอื้อประโยชน์หรือสนับสนุนธนาคารมากที่สุด คาดว่าภายในสิ้นปีนี้จะสรุปได้

โดยปัจจุบันกำลังศึกษาถึงแนวทางที่เหมาะสมระหว่างการลงทุนเพิ่มในธุรกิจหลักทรัพย์ที่ธนาคารถืออยู่กับการซื้อใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ เพื่อให้มีอำนาจในการบริหารมากขึ้น ซึ่งเชื่อว่าในปีนี้จะได้ข้อสรุปดังกล่าว จากปัจจุบันที่ธนาคารได้ถือหุ้นอยู่ในบริษัทหลักทรัพย์ทรีนิตี้ ประมาณ 10 % หากต้องการที่จะลงทุนเพิ่มน่าจะถือในสัดส่วนประมาณ 40 % ซึ่งหลักการในการถือหุ้นในบริษัทต่างๆนั้น หากเป็นธุรกิจที่สนับสนุนธนาคารจะถือ 100 % เช่น บริษัทขนเงิน คอมพิวเตอร์ หากธุรกิจใดที่ที่ต้องการรายได้จากที่อื่น นอกเหนือจากธนาคาร ก็จะถือหุ้นให้ไม่เกิน 50 % เพื่อให้องค์กรเป็นเอกชน สามารถแข่งขันกับตลาดได้ เช่น บริษัทบัตรกรุงไทย

เร่งหาตลาดสินเชื่อสวัสดิการภาครัฐ

นายปรีชา ภูขำ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการอาวุโส ผู้บริหารสายงาน สายงานธุรกิจภาครัฐ ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ธนาคารได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงการให้สินเชื่อสวัสดิการแก่ข้าราชการ ลูกจ้างประจำ และพนักงานสำนักงานประกันสังคม ซึ่งมีเจ้าหน้าที่ของสำนักงานฯ ทั้งส่วนกลางและภูมิภาครวมจำนวน 5,592 คน ในวงเงินรวม 300 ล้านบาท โดยธนาคารคิดดอกเบี้ยเงินกู้ในอัตราพิเศษเพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ให้กับข้าราชการของสำนักงานประกันสังคม

โดยสินเชื่อสวัสดิการเจ้าหน้าที่สำนักงานประกันสังคม ประกอบด้วย สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย ให้กู้ 100% ของราคาประเมิน กรณีวงเงินไม่เกิน 10 ล้านบาท สินเชื่อเพื่อการอุปโภค สำหรับซื้อรถยนต์ รถจักรยานยนต์ และคอมพิวเตอร์ สินเชื่อเพื่อการศึกษาต่อในประเทศ และสินเชื่อสวัสดิการทั่วไป ให้กู้รวมกันสูงสุดถึง 5 ล้านบาท ในกรณีจำนองหลักทรัพย์ ทั้งนี้ ธนาคารจะทำการตลาดสินเชื่อพนักงานของรัฐอย่างจริงจัง โดยตั้งเป้าเพิ่มหน่วยงานราชการให้มาใช้สินเชื่อเพื่อเป็นสวัสดิการกับธนาคารในปีนี้ไม่ต่ำกว่า 15 แห่ง วงเงินกู้รวม 3,300 ล้านบาท


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.