โมเดิร์นไนซ์สไตล์แม้ว วงในแฉแบ่งเค้กลงตัว


ผู้จัดการรายวัน(27 มกราคม 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

"ทักษิณ" ฟุ้งต่างชาติสนใจโมเดิร์ไนซ์ ขณะที่เอกชนหวั่นประมูลไร้กรอบเปิดกว้างเสนอทุกรูปแบบยิ่งทำให้ล็อคง่ายขึ้น ถามรายละเอียดการประเมินข้อเสนอที่ดีเป็นอย่างไร ชี้ 3 เดือนทำข้อเสนอไม่ทัน "พงษ์ศักดิ์" ยันไม่ขยายเพิ่ม วงในเผยจับตาซิโน-ไทยร่วมซีเมนส์ เล็งสีแดง ช.การช่างจับกับบิลฟิงเกอร์ฯ และมิตซูบิชิ ส่วนอิตาเลียนไทยฯ จะร่วมกับซีติกและกลุ่มฝรั่งเศส

วานนี้ (26 ม.ค.) เวลา 09.00 น. ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานกล่าวเปิดการประชุม Conference of Interested Parties, Thailand: Partnership for Development ว่า รัฐบาลไทยตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงของโลกที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว หากเชื่องช้าไม่ปรับตัวก็จะล้าหลัง ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลจึงดำเนินการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างกว้างขวาง และเร่งพัฒนาประเทศไทยสู่กระบวนทัศน์ของโลกที่เปลี่ยนแปลงไป พร้อมทั้งรักษาศักยภาพการแข่งขันในโลกโลกาภิวัตน์

การพัฒนาประเทศไทยให้เป็นเศรษฐกิจฐานความรู้ที่ทันสมัยและแข่งขันได้ ดังนั้น ความรู้ความเชี่ยวชาญระดับโลกจึงเป็นสิ่งจำเป็นในการดำเนินการ รัฐบาลมีความตั้งใจที่จะสรรหาเทคโนโลยีที่เหมาะสมและสามารถจัดหาได้ การบริหารจัดการที่ดีที่สุดในการดำเนินการและบำรุงรักษา และเลือกข้อเสนอทางการเงินที่ดีที่สุด ที่เหมาะสมกับวินัยทางการเงินการคลังของไทย ไม่ว่าจะเป็น เงินสด สินค้าเกษตร หรือการเงินรูปแบบอื่นๆ

ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าว เรียกว่า กรอบการดำเนินการเพื่อประเทศไทยที่ทันสมัย (The Kingdom of Thailand Modernization Framework) หรือ KTMF มีความหมายแอบแฝง คือ K หมายถึง ความรู้ T คือเทคโนโลยี M คือ การบริหารจัดการ และ F คือการเงิน และทั้งหมดนี้เป็นส่วนประกอบสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ความทันสมัย

พ.ต.ท.ทักษิณ กล่าวว่า ขอบข่ายความร่วมมือนั้นไม่มีขอบเขตจำกัด มีรูปแบบ เปิดกว้างและยืดหยุ่น โดยมีการแบ่งกรอบความร่วมมือออกเป็น 5 สาขากว้างๆ คือ

1. เกี่ยวข้องกับก่อสร้างและสาธารณูปโภค ซึ่งจะเน้นในด้านระบบการขนส่งมวลชน ในกรุงเทพมหานคร และการบูรณาการการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ

2.เกี่ยวข้องกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งรวมถึงระบบการแปลงของเสียเป็นพลังงาน และการสร้างข้อมูลพื้นฐานความหลากหลายทางชีวภาพ และแผนที่ดิจิตอลของทรัพยากรธรรมชาติ

3. ด้านเทคโนโลยีสื่อสารและสารสนเทศ ซึ่งครอบคลุมการพัฒนาระบบพื้นฐานในการจัดตั้งเครือข่ายของรัฐบาลในการบริการประชาชน ทุกกระทรวงต้องใช้การให้บริการข้อมูลแบบ on-line และระบบโปรแกรมคอมพิวเตอร์แบบเบ็ดเสร็จ เพื่อรองรับบริการสาธารณะและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

4. ด้านความมั่นคงแห่งชาติ ซึ่งต้องปรับไปสู่ความทันสมัย ถือเป็นความจำเป็นต่อภาพลักษณ์ของชาติด้านความมั่นคง

และ 5.จะประกอบด้วยสาขาต่างๆ ทั้งเกษตรกรรม วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วัฒนธรรม และการให้บริการด้านสาธารณสุข

ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจสามารถยื่นข้อเสนอทางเทคนิคได้ ถึงวันที่ 28 เมษายน 2549 โดยส่งถึงเลขาธิการนายกรัฐมนตรี สำนักนายกรัฐมนตรีได้โดยตรง เมื่อพิจารณาเสร็จสิ้นแล้ว ก็จะให้ยื่นข้อเสนอทางการเงินที่เป็นไปตามเงื่อนไขที่กระทรวงการคลังได้กำหนดไว้ได้

พ.ต.ท. ทักษิณ กล่าวภายหลังการประชุม Conference of Interested Parties, Thailand : partnership for Development ว่า เอกชนจำนวนมากที่สนใจเข้าร่วมประมูลในโครงการต่างๆ ทำให้รัฐมีโอกาสเลือก และได้รับข้อเสนอที่ดีที่สุด โดยกฎและข้อระเบียบต่าง ๆ ไม่ใช่ข้อจำกัดในการยื่นข้อเสนอ ทำให้ไทยได้ของดี เหมาะสมกับราคา และสามารถชำระค่าใช้จ่ายได้

" กลุ่มแรกที่สนใจมากที่สุดเป็นกลุ่มของรถไฟฟ้า กับกลุ่มเรื่องน้ำ จะมีคนสนใจมาก เพราะเป็นเรื่องของการก่อสร้างส่วนใหญ่ ปรากฎว่ามาขอผู้รับเหมาไทยเข้ามาเป็นคนยื่น เขาบอกว่าเขาขนมาไม่ไหว เขาขนมาแต่ความรู้และขนคนหลักๆมาไม่กี่คน นอกนั้นใช้ไทยหมดเท่ากับเอาเงินต่างประเทศมาทำ เงินจะไหลเข้าประเทศไทยเยอะ "

สำหรับบรรยากาศการประชุมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้ มีนักธุรกิจจากหลายประเทศให้ความสนใจ โดยเฉพาะประเทศฝรั่งเศส มีนักธุรกิจเข้าร่วมงานกว่า 100 คน นอกจากนี้จากสังเกต พบว่ามีผู้บริหารระดับสูง (ซีอีโอ) กว่า 10 บริษัททั้งไทยและต่างประเทศ ให้ความสนใจเช่นกัน ซีอีโอบริษัท ซีเมนต์ ซีอีโอบริษัทอิตาเลียนไทย เป็นต้น

นอกจากนี้เป็นที่น่าสังเกตว่า นักธุรกิจบางประเทศ เป็นเพียงแค่ตัวแทนบริษัท จากต่างประเทศหรือ ตัวแทนบริษัทภายในประเทศไทย รวมทั้ง Subcontract โดยเฉพาะบางรายมีการส่งตัวแทนเพียง 1 คนเพื่อเข้าฟังการนำเสนอกลุ่มย่อย 2 - 3 กลุ่ม ทั้งนี้ยังมีการแสดงนิทรรศการจากกระทรวงต่าง ๆที่เป็นเจ้าของเมกกะโปรเจกต์ด้วย

**เอกชนเข้าร่วมกว่า 400 คน

แหล่งข่าวนักลงทุนรายหนึ่งให้ความเห็นว่าในส่วนของนักลงทุนที่เข้าร่วมสัมมนาในกลุ่มโครงสร้างพื้นฐานและการก่อสร้างการพัฒนาระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน (Mass Transit Development) และ การพัฒนาระบบ Logistics และ Integrated Transport) นั้นมีประมาณ 400 ราย โดยนักลงทุนส่วนใหญ่ให้ความสนใจแต่ยังคงกังวลเรื่องขั้นตอนการทำข้อเสนอการลงทุน หลักเกณฑ์การพิจารณาของภาครัฐและระยะเวลาในการจัดทำข้อเสนอ 3 เดือนที่น้อยเกินไป

นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รมว.คมนาคม กล่าวว่า จะไม่มีการขยายเวลายื่นข้อเสนอให้นักลงทุน และเห็นว่า 3 เดือนเพียงพอ แต่นักลงทุนอาจไม่ต้องการมีค่าใช้จ่ายในการทำข้อเสนอมากจึงอยากให้ขยายเวลา ซึ่งหลังจากเสนอเทคนิคทั้งหมดมาแล้วหลังวันที่ 28 เม.ย.2549 หากต้องการเสนอเพิ่มเติมก็ยังสามารถเสนอได้ในช่วงที่คณะกรรมการพิจารณาข้อเสนอด้านเทคนิค และตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการดำเนินโครงการลงทุนพิเศษของรัฐเพื่อการพัฒนาประเทศ พ.ศ. 2549 ที่ครม.เห็นชอบนั้นจะครอบคลุมให้การประมูลเมกะโปรเจ็กต์นี้ไม่ต้องขอยกเว้นเรื่องพ.ร.บ.ฮั้ว แต่จะหารือกันอีกครั้งว่าจะขัดกับกฎหมายอะไรบ้างหรือไม่

นักลงทุนส่วนใหญ่สอบถามเกี่ยวกับโครงการรถไฟฟ้า เรื่องรายละเอียดของการพิจารณาวิธีการประเมินข้อเสนอ ซึ่งยืนยันว่าข้อเสนอทางเทคนิคจะต้องมีทั้งเส้นทาง การเดินรถพร้อมทั้งวิเคราะห์ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ การบำรุงรักษาและการบริหารจัดการด้วย เพราะทั้งหมดจะเป็นส่วนประกอบว่าข้อเสนอทางเทคนิคมีประสิทธิภาพหรือไม่

"ผมเชื่อว่านักลงทุนจะเสนอแผนขยายระบบรางได้ครอบคลุมทุกเส้นทาง โดยข้อเสนอของนักลงทุนต้องสอดคล้องกับความต้องการของรัฐบาลในการพัฒนาระบบขนส่งมวลชน โดยใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย และช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการเดินทางอันจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาการจราจรแออัด จึงเปิดกว้างให้นักลงทุนสามารถยื่นข้อเสนอได้อย่างไม่จำกัดรูปแบบ เส้นทางและการลงทุน แต่รัฐบาลจะเป็นผู้กำหนดอัตราค่าโดยสาร"

**โยนเอกชนคุย BTS เชื่อมสายสีเขียวเอง

นอกจากนี้ นักลงทุนยังมีข้อสงสัยกรณีการลงทุนโครงการส่วนต่อขยายสายสีเขียวและสีน้ำเงิน โดยสายสีเขียวนั้นหากนักลงทุนสนใจจะลงทุนจะต้องไปเจรจากับบริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอสซีผู้รับสัมปทานก่อนเพื่อแก้ปัญหาที่เกิดกับบีทีเอสเพราะรัฐให้ความเคารพในสัมปทานที่ทำกับเอกชน ซึ่งเงื่อนไขในสัมปทานที่ปรับปรุงมาจะเป็นส่วนหนึ่งในการนำเสนอการลงทุนด้วยซึ่งจะต้องทำให้ตรงกับความต้องการของรัฐบาล หรือหากไม่ต้องการเจรจากับบีทีเอสก็สามารถเสนอแนวเส้นทางใหม่ ที่ไม่ต้องเชื่อมกับสายสีเขียว เช่ย เชื่อมกับสายสีแดงแทนก็ได้

ส่วนกรณีส่วนต่อขยายสายสีน้ำเงิน ซึ่งมีบริษัท รถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีเอ็มซีแอล รับสัมปทานการเดินรถอยู่นั้น เอกชนจะต้องดูเรื่องIRR เพราะปัจจุบัน IRR ของสายสีน้ำเงินที่ให้บริการแล้วอยู่ที่ 12% หากเส้นทางขยายเพิ่มผู้โดยสารจะมากขึ้น ค่าโดยสารจะลดลง

**ไม่เชื่อโปร่งใส-เอื้อบางกลุ่ม

แหล่งข่าวจากวงการรับเหมาก่อสร้างยอมรับว่า การที่รัฐบาลเปิดกว้างให้เอกชนยื่นข้อเสนอได้อย่างเต็มที่นั้น อาจมีข้อครหาในกระบวนการพิจารณาคัดเลือกได้ ซึ่งสามารถใช้เป็นช่องทางในการเอื้อประโยชน์ให้กับเอกชนบางกลุ่มได้ ซึ่งในส่วนนี้ทางนักลงทุนหลายรายได้มีการซักถามผู้ที่รับผิดชอบเกี่ยวกับกระบวนการพิจารณา เพราะการไม่กำหนดกรอบหลักเกณฑ์ ทำให้การพิจารณาไม่มีกรอบที่ชัดเจน การทำให้การเปรียบเทียบคุณสมบัติอาจทำได้ยากกว่า

โดยนายชอง ปิแอร์ โกโร่ รองประธาน บริษัท อัลสตรอม ด้านการขนส่ง ภาคพื้นเอเชีย แปซิฟิค กล่าวว่า ค่อนข้างลำบากใจกับเงื่อนไขของรัฐบาลไทยที่ต้องการให้นักลงทุนทำให้ทุกอย่าง ทั้งออกแบบ เงินทุน ก่อสร้าง รวมทั้งกรอบการพิจารณาคัดเลือก เพราะประมูลปกติการตัดสินก็ยากอยู่แล้ว และจะนำไปสู่การได้งานที่ยากขึ้น ซึ่งอัลสตรอมสนใจรถไฟฟ้าทั้ง 10 สาย แต่ก็เชื่อว่าคงไม่มีเอกชนรายใดได้รถไฟฟ้าทั้ง 10 สายไปทั้งหมด คงต้องมีหลายราย

**ติงให้เวลาทำข้อเสนอน้อยไป

นายโลธ่า เฮอร์แมน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซีเมนส์ จำกัด กล่าวว่า รูปแบบการประมูลดังกล่าวเคย จีน และฟิลิปปินส์เคยใช้ แต่ไทยมีมูลค่ามากกว่า ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีการตกลงว่าจะร่วมทุนกับใครบ้าง ซีเมนส์มองทั้งบริษัทต่างชาติและบริษัทไทย เพราะต้องพึ่งพาเรื่องแรงงาน อย่างไรก็ตาม ต้องนำข้อมูลไปศึกษาก่อน และเห็นว่า เวลา 3 เดือนอาจไม่เพียงพอสำหรับการทำข้อเสนอการลงทุน และในเดือนก.ย. 2549 ไม่น่าจะพิจารณาตัดสินเสร็จเนื่องจากขั้นตอนของภาครัฐค่อนข้างมาก มีคณะกรรมการหลายชุดและต้องเข้าคณะรัฐมนตรีด้วย นอกจากนี้ รายละเอียด ของข้อกำหนดยังไม่ชัดเจน และรัฐควรจะบอกต้นทุนของโครงการด้วย

**วงในเผยพันธมิตรเก่าจับมือแล้ว 4 กลุ่ม

รายงานข่าวแจ้งว่า การรวมกลุ่มของนักลงทุนเริ่มมีความชัดเจนแล้ว แต่ส่วนใหญ่ยังไม่ต้องการเปิดเผย ขณะนี้มีประมาณ 4 กลุ่มใหญ่ เช่น บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) คาดว่าจะจับกับ บริษัท ซีเมนส์ ซึ่งเป็นกลุ่มเดิมที่ร่วมทุนก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าเชื่อมสนามบิน (แอร์พอร์ตลิงค์) ในขณะนี้ โดยให้ความสนใจในรถไฟฟ้าสายสีแดง (รังสิต-มหาชัย) และ(มักกะสัน-ตลิ่งชัน) บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) คาดว่าจะร่วมกับบริษัท บิลฟิงเกอร์ฯ และมิตซูบิชิ บริษัท อิตาเลียนไทยฯ จะร่วมกับบริษัท ซีติก ซึ่งค่อนข้างน่าจับตาเพราะจีนค่อนข้างได้เปรียบเรื่องต้นทุน และกลุ่มนักลงทุนจากฝรั่งเศส ที่มีความพร้อมทั้งบริษัท ออกแบบ ก่อสร้าง ผลิตรถไฟฟ้า

**อิตัลฯ ร่วมซีติก

นายเปรมชัย กรรณสูต ประธานกรรมการบริหาร บริษัท อิตาเลียนไทย ดิเวล๊อปเมนท์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า อิตัลไทยจะร่วมกับบริษัท ซีติกของประเทศจีนเข้ามาลงทุนโครงการเมกะโปรเจ็กต์ ซึ่งซีติกมีศักยภาพ ทั้งเทคโนโลยี การเงิน โดยบริษัทจะเน้นเรื่องการก่อสร้างและแรงงาน ซึ่งขณะนี้ อิตัลไทยฯได้จับมือกับซีติกเพื่อทำรถไฟฟ้าในประเทศอิหร่าน มูลค่า 700-800 ล้านเหรียญสหรัฐด้วย

**อารียายันร่วมชิงหวังบูมพัฒนาที่ดิน

นายมนัส ศุภศิริลักษณ์ ผู้ประสานงานโครงการ บริษัทอารียาพร็อพเพอร์ตี้ กล่าวว่า จะจับมือกับไชน่า เรลเวย์ แต่ยังไม่สามารถกำหนดเส้นทางที่สนใจ แต่เชี่อมั่นว่าเป็นโครงการที่มีความเป็นไปได้ เพราะมีการกำหนดแผนในการพัฒนาพื้นที่ในแต่ละเส้นทางด้วย โดยสิ่งที่เป็นห่วงคือการกำหนดเวลายื่นข้อเสนอ 3 เดือน อาจไม่พอ

**บีกริม-ซีเมนส์สนสีแดง

นายหริณ เลธนะสมิทธิ์ ผู้จัดการห.ส.น.บี.กริม แอนโก (หนึ่งในกลุ่มผู้ก่อสร้างแอร์พอร์ตลิงค์) กล่าวว่า บี.กริมจะร่วมกับซีเมนส์ ที่ทำแอร์พอร์ตลิงค์ด้วยกันและสนใจรถไฟฟ้าสายสีแดง เพราะจะต่อกับแอร์พอร์ตลิงค์ รวมทั้งสนใจสายสีน้ำเงินและสีเขียวด้วย และหลังจากฟังการนำเสนอวิธีการของรัฐก็เห็นว่าค่อนข้างชัดเจนทั้งขั้นตอนวิธีการนำเสนอเอกสาร ซึ่งการเปิดกว้างเป็นเรื่องที่ดีเพราะนักลงทุนจะสามารถคิดได้อย่างเต็มที่

ด้านนายไมตรี ศรีนราวัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กล่าวว่า สาเหตุสำคัญที่โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายได้รับความสนใจจากนักลงทุน เนื่องจากเส้นทางดังกล่าว ในส่วนของเส้นทางเดิมในโครงการรถไฟฟ้าใต้ดินสายเฉลิมรัชมงคลช่วงหัวลำโพง-บางซื่อ มีปริมาณผู้โดยสารใช้บริการประมาณ 200,000 คนต่อวัน แต่หากมีการก่อสร้างส่วนต่อขยายแล้วเสร็จจะทำให้เส้นทางเป็นโครงข่ายครบวงกลมสามารถมีปริมาณผู้โดยสารเพิ่มขึ้นเป็น 600,000 คนต่อวัน

สำหรับโครงการรถไฟฟ้าประกอบด้วย 10 สาย ส่วนลอจิสติกส์มี 7 โครงการคือ โครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารา โครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกสงขลา โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ โครงการปรับปรุงทางรถไฟ โครงการก่อสร้างมอเตอร์เวย์สายบางปะอิน-นครราชสีมา โครงการก่อสร้างถนนวงแหวนรอบนอกชั้น 3 และโครงการก่อสร้างทางด่วนสายศรีนครินทร์-บางนา-สมุทรปราการ


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.