|
ทุนไร้สัญชาติชี้นำเศรษฐกิจโลก คลังตั้งป้อมดึงเงินระยะยาว
ผู้จัดการรายสัปดาห์(30 มกราคม 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
ทุนจำนวนมหาศาลที่สะสมภายใต้โลกที่มีขอบเขตและพรหมแดนเล็กลงนั้น จะมีบทบาทสำคัญอย่างมากในการกำหนดทิศทางเศรษฐกิจโลกในอนาคต ด้วยจำนวนทุนมหาศาลที่เข้าออกและเปลี่ยนที่ไปมาอย่างรวดเร็วจนยากจะควบคุม ทำให้ประเทศที่ไม่เตรียมพร้อมรับมือได้รับผลกระทบอย่างแรง เพราะทุนที่ไหลเวียนไปมาทุกวันนี้มีทั้งเข้ามาเพื่อเก็งกำไรในระยะสั้น และเข้ามาลงทุนในระยะยาว และทุนระยะยาวคือสิ่งสำคัญที่มีประโยชน์ต่อการพัฒนาชาติ คัลในบทบาทสมองชาติต้องคิดอย่างผู้นำว่าทำอย่างไรจึงดึงทุนระยะยาวมาได้
แต่การรั้งทุนเพื่อให้เข้ามาลงทุนในระยะยาวนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายหากยังไม่มีการปรับโครงสร้างซึ่งไม่ใช่แค่ตลาดทุนเท่านั้น แต่ยังรวมถึงโครงสร้างของประเทศในส่วนของประชาชนและรัฐบาลที่ต้องแข็งแกร่งและมีเสถียรภาพเพื่อเป็นกลไกดึงประโยชน์จากการเคลื่อนย้ายทุน
คณิศ แสงสุพรรณ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลังบอกว่า ทุกวันนี้เงินทุนที่ไหลเวียนเปลี่ยนที่ไปมาสูงถึง 120 ล้านล้านบาทต่อปี ซึ่งเป็นการขับเคลื่อนจากทุนของภาคเอกชนที่สำคัญคือการเคลื่อนย้ายทุนระหว่างประเทศในอนาคตนั้นจะมีบทบาทสำคัญมากต่อการกำหนดทิศทางและขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก
"เอกชนมีการสะสมทุนเพิ่มขึ้นมีละประมาณ 3 ล้านล้านบาท และทุนเอกชนจะเป็นตัวนำการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก ควบคุมธุรกิจ และมีการเคลื่อนย้ายเปลี่ยนแปลงรวดเร็วมากแต่ก็ใช่ว่าทุนที่เข้ามาจะไร้ประโยชน์ เพราะทุนจำนวนมากที่เข้ามานั้นจะเข้ามาสนับสนุนพัฒนาธุรกิจ"
คณิศ เล่าถึง สถานการณ์หนึ่งที่แสดงให้เห็นเมื่อเร็ว ๆ นี้ คือ การเปลี่ยนตัวประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จาก อลัน กรีนสแปน ที่หมดวาระลงในสิ้นเดือนม.ค.49 เป็น เบน เบอร์นานดี
คาดกันว่านโยบายของเบอร์นานดี จะแตกต่างจากประธานคนเดิมที่มีแนวคิดที่จะให้ธนาคารกลางตั้งเป้าเงินเฟ้อเป็นเกณฑ์ เพื่อลดการคาดหวังเกี่ยวกับตัวเลขเงินเฟ้อของประชาชน ต่างจาก กรีนสแปน ที่ปล่อยให้ตลาดคาดเดากันเอง ซึ่งทำให้คาดเดากันว่านโยบายอัตราดอกเบี้ยที่ กรีนสแปน ใช้จะถึงจุดสิ้นสุดลงในไม่ช้า เนื่องจากเมื่อพิจารณาแล้วเห็นว่าอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐนั้นกำลังไต่ขึ้นสูงกว่าประเทศอื่นโดยเฉพาะประเทศเศรษฐกิจยักษ์ใหญ่หลายรายของโลก การเพิ่มดอกเบี้ยอีกรังแต่จะเป็นผลเสียต่อสหรัฐ
เมื่อนักลงทุนเดาสถนการณ์ออกมาเป็นเช่น ในปลายปีที่ผ่านมาจึงปรับพอร์ตการลงทุนเป็นการใหญ่ และเงินส่วนหนึ่งก็ไหลเข้ามาสู่ทวีปเอเชีย ซึ่งแน่นอนว่าไทยนั้นได้รับผลประโยชน์จากตรงนี้ด้วย แต่กระนั้นก็ตามเงินที่เข้ามาก็ไม่อาจคาดเดาได้ว่าเป็นเงินร้อนหรือเงินเย็น ไหลเข้ามาเพื่อเก็งกำไรเมื่อได้ผลตอบแทนที่น่าพอใจแล้วก็ถอนออกไป
นี่คือความน่ากลัวของการเคลื่อนย้ายเงินทุนเพราะการไหลเข้าออกอย่างรวดเร็วโดยไม่รู้ว่าเมื่อไรไปเมื่อไรมาได้ส่งผลต่อค่าเงินบาท ซึ่งเห็นได้ว่าค่าเงินบาทมีความผันผวนและแข็งค่าขึ้น แต่นับว่ายังโชคดีที่การแข็งค่าในครั้งนี้ในแทบภูมิภาคเอเชียก็ดำเนินรอยตามไปในทิศทางเดียว จึงไม่เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบบทบาทตลาดทุนและตาดตราสารหนี้จะมีมากขึ้นเพราะเป็นแหล่งของการไหลเข้าออกของเงินทุน และในอนาคตไม่เกิน 10-15 ปีข้างหน้า ทุนระหว่างประเทศจะกว้าเข้าสู่ระบบทุนนิยมเต็มรูปแบบ และบทบาทของกงอทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ)และธนาคารโลก ในการรักษาเสถียรภาพระบบการเงินและอัตราแลกเปลี่ยนโลกจะถูกจำกัด และบทบาทลดลง
คณิศ บอกว่า การปรับตัวของประเทศไทยต่อการไหลเข้าของทุนระยะสั้นคือการรับมือสร้างเสถียรภาพภายในประเทศและออกมาตรการเพื่อกันทุนระยะสั้นเข้ามาป่วนโดยเฉพาะในตลาดทุน ซึ่งก็ต้องมีระบบและกฎเกณฑ์ในการเคลื่อนย้ายทุนขณะที่ทุนระยะยาวที่จะเป็นผลดีมากกว่าก็ต้องหามาตรการส่งเสริมเช่นกันเพื่อไว้ใช้ประโยชน์ต่อประเทศชาติ
นอกจากนี้ หากไทยมีความพร้อมในด้านทุนก็ควรใช้โอกาสนี้ผลักดันทุนไทยให้ออกไปลงทุนในต่างประเทศด้วย
สำหรับแนวทางการวางกลไกเพื่อรองรับการเคลื่อนย้ายทุนมีเป้าหมายเพื่อรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจสำหรับในระยะสั้นนั้นจะต้องดุลบัญชีเดินสะพัดจะต้องขาดดุลไม่เกิน 2.5%ของจีดีพี เงินสำรองระหว่างประเทศมากว่า 3.5เท่าของหนี้ต่างประเทศระยะสั้น ต้องรักษาเครดิตของประเทศไม่ให้ลดลง และดุลการคลังสมดุล
ทนง พิทยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้นโยบายเพื่อเตรียมพร้อมรับกระแสการเคลื่อนย้ายทุนโลกว่า การปรับตัวไม่เพียงแค่การพัฒนาตลาดทุนและตลาดตราสารหนี้ไทย เท่านั้นแต่ต้องเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันในธุรกิจ ควบคู่ไปกับการพัฒนาประชาชนในระดับฐานราก
เพราะจะว่าไปการปรับโครงสร้างในทุกด้านคือภาพสะท้อนความเป็นไปในประเทศ ที่เป็นส่วนหนึ่งในการพิจารณาเข้ามาลงทุนของนักลงทุน
"ดังนั้นสิ่งที่เราต้องเปลี่ยนแปลงคือการเป็นผู้นำทางความคิดไม่ใช่เป็นแต่ผู้ตาม ไม่ใช่คิดว่าตัวเองทำดีแล้ว เก่งแล้วไม่ต้องทำอะไรเพิ่ม แบบนี้ก็ไม่เกิดการพัฒนา ต้องวิ่งตามเขาอย่างเดียว และตามอย่างเดียวอีกหน่อยเขาก็ทิ้งห่างเรา ในขณะที่เป็นผู้นำ ไม่มีวันที่เขาจะทันเรา เขาก็ตองวิ่งไล่"
ถามว่าทุกวันนี้ถ้าการเคลื่อนย้ายของทุนที่เข้ามาเอเชีย 3 ประเทศที่น่าลงทุนนั้นมีที่ใดบ้าง แน่นอน ประเทศแรกคงหนีไม่พ้นจีน ที่ตามมาก็เป็นอินเดีย ส่วนอันดับ 3 ถ้าคิดว่าเป็นประเทศไทยก็เป็นคำตอบที่ผิด เพราะทุกวันนี้ นักลงทุนต่างประเทศกำลังโฟกัสไปที่เวียดนามแทน ด้วยศักยภาพการขยายตัวเป็นที่น่าจับตามาก
และเป็นอีกหนึ่งประเทศที่กำลังวิ่งไล่ตามประเทศไทยอย่างกระชั้นชิด ก็กลัวว่าจะเหมือนเกาหลีที่ 30 ปีที่แล้วยังวิ่งไล่ไทยอยู่ตั้งไกล แต่ถึงวันนี้ไม่ต้องพูดถึงนำหนาไปหลายขุมแล้ว
กระแสโลกที่เปลี่ยนแปลงไปไม่อาจทำให้นิ่งเฉยมองดูทิศทางการเปลี่ยนแปลงเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ต้องเตรียมตัวให้พร้อมที่จะรับกับสิ่งที่ไม่มีวันเลี่ยงได้ ต้องปรับตัวทั้งในเชิงรับและรุก ซึ่งหมายถึงการคิดหาแนวทาง ไม่ใช่ดูคนอื่นแล้วทำตาม
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|