|

"ทนง"แขวะเศรษฐกิจไทยเรื่องหมาๆต้องช่วงชิงตำแหน่งจ่าฝูงจัดการปัญหา
ผู้จัดการรายสัปดาห์(30 มกราคม 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
เศรษฐกิจปีจอจะดูหรือไม่ดูเป็นเรื่องที่ไม่อาจฟันธงได้เพราะจากบทเรียนสอนให้เห็นแล้วว่าความไม่แน่นอนมักเกิดขึ้นเสมอทั้งเป็นผลจากภายในและภายนอกประเทศ แต่กระนั้นก็ตามเศรษฐกิจปีจอที่เปรียบเสมือนสุนัขไทย มีความต้องการจ่าฝูงที่แข็งแกร่ง แม้ในภาวะของการแก่งแย่งความเป็นจ่าฝูงจะมีอยู่ตลอดเวลาก็ตาม แต่ตัวที่แข็งแกร่งสุดเท่านั้นที่จะเป็นผู้นำ
การออกมาประเมินภาวะเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีแรกนี้ ดูเหมือนว่ารัฐต้องการสร้างขวัญและกำลังใจให้ภาคธุรกิจและประชาชนได้รับรู้ว่าสถานการทางการเมืองและเศรษฐกิจ ณ ปัจจุบันนี้ยังไม่น่าห่วง แม้จะอยู่ภายใต้แรงกดดันของกลุ่มคนจำนวนหนึ่งก็ตาม แต่รัฐก็ยึดมั่นไม่หนี ไม่ท้อ ไม่ลาออก พร้อมดำเนินการสานนโยบายที่วางไว้อย่างต่อเนื่อง เพื่อผลักดันให้เศรษฐกิจขยายตัวตามเป้า
ในงานสัมมนา โค้งแรกเศรษฐกิจปี 49 ที่จัดขึ้นเพื่อแรกเปลี่ยนมุมมองความคิดเห็นต่อภาวะเศรษฐกิจครึ่งแรกระหว่างรัฐและเอกชนนั้น เห็นพ้องต้องกันไปในทิศทางเดียวว่า ครึ่งปีแรกเศรษฐกิจไทยยังขยายตัวได้ดี ซึ่งเป็นผลดีที่ได้รับต่อเนื่องมาจากปลายปี 2548 ที่อาการไข้เศรษฐกิจเริ่มบรรเทาลง
ทนง พิทยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง บอกว่า เศรษฐกิจประเทศไทยได้ผ่านช่วงมรสุมหนักไปแล้วในปี 2548 แต่ที่ผ่านมาได้เป็นเพราะว่ารัฐบาลมีความแข็งแกร่ง ขณะเดียวกันภาคธุรกิจก็ไม่ย่อท้อต่อภาวะปัญหาที่เข้ามารุมเร้า จึงทำให้ปีที่ผ่านมาประเทศไทยสามารถฝ่าฝันอุปสรรคนานัปการไปได้ด้วยดี ซึ่งถ้าวัดเป็นอัตราการเติบโตของจีดีพีนั้นอยู่ที่ 4.5%
ส่วนในปีนี้มรสุมที่รุมเร้าคงมีรุนแรงเช่นปีที่ผ่านมา แต่ความกังวลต่อภาคการเมืองก็เป็นอีกประเด็นที่ทำให้ภาคธุรกิจและประชาชนเกิดความกังวล ซึ่ง ทนง บอกว่า "สำหรับผมมองว่าการเมืองไม่ใช่ปัญหาใหญ่ที่ประทบต่อเศรษฐกิจและประเทศในปีนี้ แต่อยู่ที่ความร่วมมือร่วมใจจากภาครัฐและเอกชนต่างหากที่จะประสานและเดินไปด้วยกันซึ่งจะเป็นผลให้เศรษฐกิจเกิดการขับเคลื่อน"
แม้ว่าขุนคลังจะออกมายืนยันถึงสถานการทางการเมืองที่ไม่น่าเป็นห่วงก็ตาม แต่ในภาพของความเป็นจริงนั้นไม่อาจฟันธงได้ว่าปัญหาดังกล่าวไม่ใช่เรื่องน่ากังวล เพราะผลพวงจากม็อบและเสียงขัดค้านรัฐบาลจากคนกลุ่มหนึ่งได้เริ่มทวีจำนวนคนมากขึ้น และภาพที่เกิดขึ้นนี้ก็ยังไม่อาจสรุปได้ถึงตอนจบของเรื่อง
แต่กระนั้นก็ตาม ไม่เพียง ขุนคลังเท่านั้นที่ออกมายืนยันว่าปัญหาการเมืองไม่น่าห่วง สวัสดิ์ หอรุ่งเรือง ประทานเจ้าหน้าที่บริหาร นครไทยสตริปมิล ก็เป็นอีกท่านที่ออกมากล่าวว่าปัญหาการเมืองขณะนี้น่าเป็นห่วง
เพราะสิ่งที่เป็นห่วงนั้นคือเรื่องของมิติสหประชาชาติคว่ำบาตรอิหร่านในอีก 6 เดือนข้างหน้า ซึ่งเมื่อถึงจุดนั้นราคาน้ำมันอาจขึ้นไปถึง 80 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาเรลได้ และจะกลายเป็นปัญหากับทั่วโลก
ย้อนกลับมาที่คำกล่าวจากขุนคลัง เมื่อตัดปัญหาเรื่องการเมืองออกไป ท่านว่าสิ่งสำคัญนอกจากการขับเคลื่อนภาคธุรกิจให้เจริญก้าวหน้าไปด้วยนโยบายสนับสนุนจากภาครัฐ และการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของประเทศแล้ว สิ่งที่มองข้ามไม่ได้เพราะเป็นฐานหลักของการเติบโตของประเทศอย่างยั่งยืนและมั่นคงถาวรคือการขจัดปัญหาความยากจน
เป็นปัญหายากสำหรับการแก้ไข ทนง บอกว่า การที่นายกรัฐมนตรีไปอาจสามารถไม่ได้หมายถึงว่าจะแก้ปัญหาความยากจนได้ในทันที แต่เป็นการเข้าไปดูและรับรู้ถึงปัญหาที่เกิดขึ้นเพื่อนำมาสู่แนวทางในการจัดการแก้ไข
"อย่างงานของ 1 ตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ที่สร้างรายได้เข้าสู่ชุมชนในต่างประเทศก็ทำ แต่ใช่ว่าจะสำเร็จได้ภายในระยะเวลาอันรวดเร็ว เขาก็ใช้เวลาเป็น 5-10ปี รัฐต้องเข้าไปช่วยเหลือไปดูแลจัดระบบ ไม่เพียงแต่ใส่เงินเข้าไปแต่ต้องสอนให้รู้จักการออม ฉะนั้นสิ่งที่ทำในวันนี้จะยังไม่เห็นผลในทันที แต่จะเห็นผลในวันหน้า"
ทุกวันนี้การขยายตัวก็เกิดเฉพาะที่เมืองหลวงเพียงอย่างเดียว และเป็นเช่นนี้มาเรื่อยทำให้พื้นที่ชนบทในต่างจังหวัดไม่มีโอกาสได้เติบโตหรือขยายตัว เป็นปัญหาที่ทำให้เกิดช่องว่างระหว่างคนรวยและคนจนเพิ่มขึ้น ดังนั้นต่อไปนโยบายใหม่ที่รัฐจะส่งเสริมคือ การให้1อำเภอมี 1โรงปุ๋ยอินทรีย์ 1 จังหวัดมี 1 โรงงาน 1 ภาคมี1อุตสาหกรรม ซึ่งในแต่ละโรงงานหรือแต่ละอุตสาหกรรมก็จะเข้าไปสำรวจว่าประชาชนพื้นที่ดังกล่าวมีความถนัดในเรื่องใด
โดยท้าย ทนงได้บอกว่า ในครึ่งปีแรกเศรษฐกิจไทยไม่น่าเป็นห่วง อัตราการขยายตัวปีนี้ไม่น้อยกว่า 4.5%แต่ถ้าได้รับความร่วมมือจากภาคเอกชนอีกเชื่อว่าจีดีพีที่ 5.5 % คงได้เห็นแน่นอน
แต่กระนั้นก็ตาม ขุนคลัง มองว่า ในช่วง 6 เดือนแรกเศรษฐกิจจะขับเคลื่อนได้ดี แต่ในช่วง 6 เดือนหลังเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอนและทำนายได้ยากแต่เชื่อว่าอาจมีการชะลอตัวลง ซึ่งรัฐก็จะพยายามวางแผนและออกนโยบายมาเพื่อกระตุ้นให้ภาคเอกชนให้เศรษฐกิจเกิดการขับเคลื่อน
อีกด้าน โฆษิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ประธานกรรมการบริหารธนาคารกรุงเทพ เองก็เชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจในครึ่งปีแรกจะขยายตัวได้ดี และทั้งปีจะขยายตัวได้ 4.5-5%
โฆษิต บอกว่าสิ่งที่น่ากังวลสำหรับปีนี้คงเป็นเรื่องของการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเรื่องของการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด อัตราเงินเฟ้อ นโยบายการเงินและอัตราดอกเบี้ย ฉะนั้นรัฐบาลจะวางนโยบายให้ชัดเจนซึ่งจะช่วยภาคธุรกิจให้วางแผนดำเนินงานได้อย่างถูกต้อง
"การทำธุรกิจต้องมองเสถียรภาพเพราะมีความหมายและส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจมาก อย่างนโยบายการเงินที่ทำอยู่ในปัจจุบันส่วนหนึ่งก็เป็นผลมาจากการรักษาเสถียรภาพนั่นเองเพราะฉะนั้นเรื่อวงนี้สำคัญมากสำหรับภาคธุรกิจ"
แต่กระนั้นก็ตามสำหรับภาคธุรกิจในปีนี้มองว่าจะต้องมีการขยายธุรกิจเพื่อรองรับกับกระแสโลกาภิวัฒน์ และการเปิดเสรีทางการค้ามากขึ้น การเตรียมตัวไม่ใช่การจับจ้องมองผลกระทบเพียงอย่างเดียว แต่หมายถึงการสร้างฐานและความแข็งแกร่งให้กับภาคธุรกิจ
"กระแสโลกที่เป็นเช่นนี้เราไม่มีทางหลีกเลี่ยงมันได้ไม่ว่าอย่างไรมันก็ต้องเข้ามากระทบแน่นอน และจากนี้ไปมุมมองต่อโลกก็ต้องเปลี่ยนไปด้วยไม่ใช่มองโลกด้านเดียว"
โฆษิต กล่าวในตอนท้ายว่า 2 แนวทางสำหรับการต่อสู้กระแสโลกาภิวัฒน์ และการเปิดเสรี คือการสร้างภูมคุ้มกันให้แก่ภาคธุรกิจหมายถึงการสร้างฐานเศรษฐกิจและธุรกิจให้มีความแข็งแกร่ง และอีกแนวทางคือ การบริหารความเสี่ยง ต้นทุนเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการดำเนินธุรกิจ และถ้าสามารถทำต้นทุนได้ถูกกว่าคู่แข่งย่อมเป็นความได้เปรียบ แต่ทั้งนี้ในเรื่องของความเสี่ยงในแต่ละธุรกิจก็จะแตกต่างกันอออกไป ซึ่งก็อยู่ที่แต่ละแห่งจะจัดการอย่างไร
"แต่ในส่วนของผมในฐานะภาคการเงิน การลดต้นทุนนั้นคือการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยซึ่งในระยะยาวทำให้เกิดการประหยัด เพราะในความหมายของการลดต้นทุนของผมนั้นไม่ได้หมายความว่าไม่ลงทุนอะไรเลย"
ปีจอครานี้ไม่ว่าจะเป็นสุนัขดุหรือไม่ดุ สุนัขไทยหรือสุนัขเทศก็ตามแต่ ขุนคลังก็ยังบอกว่าเศรษฐกิจไทยสามารถฝ่าฝันไปได้ ซ้ำยังเปรียบด้วยว่าเศรษฐกิจปีนี้เป็นเหมือนสุนัขไทยที่ต้องการจ่าฝูงในการนำ และถ้าจ่าฝูงแข็งแกร่งก็ย่อมนำพาลูกฝูงผ่านวิกฤติไปได้
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|