|
JRFU : Another try another goal
โดย
สมศักดิ์ ดำรงสุนทรชัย
นิตยสารผู้จัดการ( กุมภาพันธ์ 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
วงการกีฬารักบี้ฟุตบอลของญี่ปุ่น กำลังถูกปลุกและกระตุ้นให้แสดงบทบาทนำในระดับสากลอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ท่ามกลางแรงเสียดทานและความท้าทาย ที่สะท้อนให้เห็นมิติของการพัฒนาทั้งในบริบทของเศรษฐกิจและสังคมด้วย
แม้ว่ารักบี้ทีมชาติของญี่ปุ่น จะได้รับการยอมรับว่าเป็นทีมชั้นนำในระดับ power house ของภูมิภาคเอเชียมาอย่างยาวนานและผูกขาดการเป็นตัวแทนของชาติเอเชียเพียงหนึ่งเดียวที่ผ่านการคัดเลือกในการเข้าร่วมแข่งขัน Rugby Union World Cup (RWC) มาโดยตลอด นับตั้งแต่เริ่มมีการจัดการแข่งขันในปี 1987 (รวม 5 ครั้ง : 1987, 1991, 1995, 1999 และ 2003)
แต่ผลการแข่งขันของทีมญี่ปุ่นใน RWC ทุกครั้งที่ผ่านมา ซึ่งไม่เคยสัมผัสกับคำว่าชัยชนะเลย และมีสถิติพ่ายแพ้อย่างหมดรูปให้กับนิวซีแลนด์ ด้วยผลคะแนนที่มากถึง 145-17 ในการแข่งขัน RWC 1995 ที่ประเทศแอฟริกาใต้ ส่งผลให้ชื่อเสียงของ The Cherry Blossoms ในระดับสากล เป็นเพียงทีมชั้นสอง (Tier 2) ของ International Rugby Board (IRB) ที่ด้อยบทบาทและมีค่าเป็นเพียงไม้ประดับของการแข่งขันในระดับนานาชาติเท่านั้น ก่อนที่ญี่ปุ่นจะเอาชนะไต้หวัน 155-3 ในการแข่งขันรอบคัดเลือกโซนเอเชีย สำหรับ RWC 2003 เมื่อเดือนกรกฎาคม 2002 ซึ่งช่วยกอบกู้ชื่อเสียงของญี่ปุ่นในฐานะทีมชั้นนำแห่งเอเชียให้ฟื้นคืนกลับมาบ้าง
กีฬารักบี้เข้าสู่การรับรู้ของสังคมญี่ปุ่นมาตั้งแต่ปี 1899 เมื่อศาสตราจารย์ Edward Bramwell Clarke (1875-1934) ได้ร่วมกับ Tanaka Ginnosuke (1873-1933) ซึ่งต่างเป็นนักเรียนเก่าจากมหาวิทยาลัย Cambridge ประเทศอังกฤษ แนะนำกีฬานี้ให้นักศึกษาในมหาวิทยาลัย Keio เพื่อเป็นกิจกรรมสันทนาการสำหรับฤดูใบไม้ร่วง โดยก่อนหน้านี้การเล่นกีฬารักบี้ฟุตบอลจำกัดอยู่เฉพาะในหมู่ลูกเรือเดินสมุทรจากยุโรป และชาวต่างชาติที่มีถิ่นพำนักอยู่ในเขตท่าเรือเมือง Kobe และ Yokohama
ความสนใจในกีฬารักบี้เริ่มขยายตัวขึ้นในหมู่นักศึกษาระดับมหาวิทยาลัยชั้นนำของญี่ปุ่นอย่างต่อเนื่อง และกลายเป็นกิจกรรมที่ได้รับความนิยมมากขึ้นเป็นลำดับ ซึ่งแม้พัฒนาการของกีฬารักบี้ในลักษณะดังกล่าวจะแตกต่างจากพัฒนาการของเบสบอล ที่ผลิดอกออกผลมาจากเมล็ดพันธุ์ที่บ่มเพาะในระดับโรงเรียนมัธยม หากแต่กรณีดังกล่าวได้เชื่อมโยงวิธีคิดและปรัชญาในเชิงสังคมวิทยาของญี่ปุ่นไว้อย่างน่าสนใจ
เพราะขณะที่เบสบอลเป็นประหนึ่งปฐมบทของการเรียนรู้บทบาทและความรับผิดชอบ เพื่อเข้าสู่สังคมที่กว้างใหญ่ในอนาคต ด้วยการเน้นหน้าที่และความรับผิดชอบของผู้เล่นแต่ละรายในตำแหน่งที่ได้รับมอบหมายเมื่ออยู่ในทีมรับ (defensive) พร้อมกับเปิดโอกาสให้ผู้เล่นแต่ละคนแสดงออกซึ่งศักยภาพ ในเชิงปัจเจกอย่างเด่นชัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อผู้เล่นอยู่ในตำแหน่ง batter ในฐานะทีมบุก (offensive) โดยที่การรุกและรับในกีฬาเบสบอลดำเนินไปอย่างแยกส่วน
กีฬารักบี้ได้ส่งผ่านค่านิยมชุดใหม่อีกชุดหนึ่ง ที่แม้จะมีการจัดวางหน้าที่และความรับผิดชอบให้ผู้เล่นแต่ละตำแหน่งแล้ว รักบี้ยังมีลักษณะพลวัตแบบ chain reaction ที่สะท้อนและจำลองภาพความเป็นไปของพัฒนาการทางสังคมได้อย่างใกล้เคียงยิ่งขึ้นอีก
"One for all and all for one" กลายเป็นวลีที่นอกจากจะบ่งบอกลักษณะเด่นของกีฬารักบี้แล้ว กรณีดังกล่าวยังเข้ากันได้ดีกับวิถีปฏิบัติในองค์กรธุรกิจและสังคมของญี่ปุ่น ที่เน้นความรับผิดชอบร่วมกัน (collective responsibility) ภายใต้บทบาทและหน้าที่ที่แต่ละส่วนได้รับมอบหมาย ซึ่งดำเนินไปอย่างสอดประสานเป็นหนึ่งเดียวกัน ตลอดทั้งในกระบวนการรุกและรับ
ความนิยมในกีฬารักบี้ในหมู่นักศึกษาระดับมหาวิทยาลัย กลายเป็นจักรกลสำคัญที่ช่วยพยุงสถานะของกีฬารักบี้ให้มีที่อยู่ที่ยืนในสังคมญี่ปุ่น โดยการแข่งขันรักบี้ระดับมหาวิทยาลัยชิงชนะเลิศแห่งชาติ (University Championship) ซึ่งดำเนินต่อเนื่องมาเป็นครั้งที่ 42 กลายเป็นการแข่งขันรักบี้ที่มีผู้เข้าชมมากที่สุดรายการหนึ่ง
ขณะที่ผลการแข่งขันกระชับมิตร (test match) ระหว่างมหาวิทยาลัยชั้นนำของญี่ปุ่น ไม่ว่าจะเป็น Kanto Gakuin, Hosei และ Waseda กับมหาวิทยาลัย Cambridge จากอังกฤษ ในช่วงปีที่ผ่านมา ปรากฏว่าทีมของมหาวิทยาลัยจากญี่ปุ่นเป็นฝ่ายกำชัยชนะทั้งสามนัด ด้วยผลต่างของคะแนนที่มากพอสมควร
อย่างไรก็ดี การพึ่งพิงอยู่เฉพาะพัฒนาการของทีมในระดับมหาวิทยาลัย ทำให้กีฬารักบี้ในญี่ปุ่นมีฐานะเป็นเพียงกีฬาประเภททีมที่ได้รับความนิยมมากเป็นอันดับสามรองจากเบสบอลและฟุตบอล ในระดับที่ห่างไกลพอสมควร และไม่มีทีท่าว่าจะสามารถสร้างแรงกระตุ้นเพื่อดึงดูดความสนใจของสังคมวงกว้างได้มากนัก
แม้ว่าจะมีการแข่งขันรักบี้ระดับสโมสร ชิงชนะเลิศแห่งชาติ (Japan Championship) ที่ดำเนินต่อเนื่องมานานกว่า 4 ทศวรรษ รวมถึงความพยายามผลักดันให้เกิดการแข่งขันรักบี้ระดับอาชีพในระบบ Top League ที่มีองค์กรธุรกิจเอกชนเป็นผู้สนับสนุน แต่การแข่งขันรักบี้ Top League ดังกล่าวเพิ่งเริ่มต้นอย่างจริงจังเมื่อปี 2003 ที่ผ่านมาเท่านั้น
ผลพวงจากความสำเร็จของสมาคมฟุตบอลญี่ปุ่น (JFA : Japan Football Association) ที่ผลักดันให้เกิดการแข่งขันฟุตบอลอาชีพ J.League เมื่อปี 1992 และการได้รับเลือกให้เป็นสถานที่จัดการแข่งขันฟุตบอลโลก FIFA World Cup 2002 ในฐานะ เจ้าภาพร่วม (co-host) กับเกาหลีใต้ ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่มีการจัดมหกรรมการแข่งขันกีฬาฟุตบอลระดับโลกขึ้นในพื้นที่ของภูมิภาคเอเชีย กลายเป็น benchmark และตัวอย่างของการพัฒนาไปสู่ความเป็นสากลของวงการกีฬาญี่ปุ่นที่มีนัยสำคัญไม่น้อย
การก้าวเข้ามาของ Yoshiro Mori อดีตนายกรัฐมนตรี (เมษายน 2000-เมษายน 2001) เพื่อดำรงตำแหน่งนายกสมาคมกีฬารักบี้ฟุตบอลแห่งประเทศญี่ปุ่น (Japan Rugby Football Union : JRFU) เมื่อเดือนมิถุนายน 2005 ได้สะท้อนภาพความพยายามของญี่ปุ่น ในการแสวงหาโอกาสเพื่อผลิตซ้ำพัฒนาการแห่งความสำเร็จอย่างก้าวกระโดดดังกล่าวอีกครั้ง
เป้าหมายเบื้องต้นและเร่งด่วนของ Yoshiro Mori ในบทบาทของนายกสมาคมรักบี้ JRFU อยู่ที่การเสนอตัวขอเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน Rugby Union World Cup ในปี 2011 (RWC 2011) ภายใต้ภูมิหลังที่เขาเป็นอดีตนักกีฬารักบี้เมื่อครั้งศึกษาที่มหาวิทยาลัย Waseda และเป็นอดีตนายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่น ทำให้หลายฝ่ายตั้งความหวังว่ากรณีดังกล่าวจะเป็นส่วนเสริมให้ IRB มีมติเลือกญี่ปุ่นเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันดังกล่าว ซึ่งจะเป็นครั้งแรกที่ RWC มิได้จัดขึ้นในประเทศ Tier 1 ของ IRB และเป็นครั้งแรกของเอเชียไปในคราวเดียวกัน
ประเด็นหลักที่ JRFU ได้หยิบยกขึ้นมาเป็นจุดเด่นในการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน นอกจากจะอยู่ที่ความพร้อมของระบบ สาธารณูปโภค และสนามจัดการแข่งขัน ซึ่งเป็นมรดกจากการเป็นเจ้าภาพจัดฟุตบอลโลก เมื่อปี 2002 แล้ว ข้อเท็จจริงของการเป็นชาติ เอเชียเพียงหนึ่งเดียวที่ได้เข้าร่วมการแข่งขันอย่างต่อเนื่องทุกครั้งและจำนวนนักกีฬารักบี้ของญี่ปุ่น ที่ได้ขึ้นทะเบียนกับ JRFU รวมกว่า 125,000 ราย ซึ่งนับเป็นจำนวนที่มากเป็นอันดับ 4 ของโลก รองจากอังกฤษ แอฟริกาใต้ และฝรั่งเศส ทำให้ข้อเสนอของญี่ปุ่นมีความน่าสนใจอย่างยิ่ง
ความแหลมคมในข้อเสนอของญี่ปุ่นซึ่งถือเป็น highlight สำคัญอยู่ที่วาทกรรมว่าด้วยการขยายความนิยมของกีฬารักบี้ในระดับสากลด้วยวลี "Making Rugby a Truly Global Sport" ซึ่งสอดรับและเติมเต็มต่อเป้าหมายของ IRB โดยตรง ขณะเดียวกันข้อเสนอของญี่ปุ่น ยังได้กล่าวถึง commercial opportunities จากสายสัมพันธ์ที่แนบแน่นกับบรรษัทและองค์กรชั้นนำของญี่ปุ่น ซึ่งบางส่วนได้ให้การสนับสนุนทีมรักบี้ใน Top League อยู่ในปัจจุบัน
ความพรั่งพร้อมตามข้อเสนอดังกล่าวน่าจะทำให้ญี่ปุ่นได้รับการพิจารณาและถูกเลือกให้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน RWC 2011 อย่างไม่ยากเย็นนัก หากไม่ปรากฏชื่อของแอฟริกาใต้ ที่ได้รับสิทธิให้เป็นเจ้าภาพจัดการ แข่งขันฟุตบอลโลกในปี 2010 (FIFA World Cup 2010) และนิวซีแลนด์ ที่กีฬารักบี้ ถือเป็นประหนึ่งกีฬาประจำชาติ ซึ่งต่างมีฐานะเป็น World Power House ในกีฬาประเภทนี้อย่างไม่มีใครกล้าปฏิเสธ
แม้ญี่ปุ่นจะพยายามแสวงหาการสนับสนุนอย่างกว้างขวาง พร้อมกับการระบุว่า การเลือกให้ญี่ปุ่นเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน คือการเลือกอนาคต (A vote for Japan is a vote for future) แต่ในการประชุมของ IRB ที่กรุง Dublin สาธารณรัฐไอร์แลนด์ เพื่อลงมติเลือกเจ้าภาพจากข้อเสนอของทั้งสามประเทศ เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2005 ที่ผ่านมา ที่ประชุมของ IRB ได้ตัดสินใจเลือกให้นิวซีแลนด์ ได้รับสิทธิเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน WRC 2011 โดยชนะญี่ปุ่นไปด้วยคะแนนเสียงที่คาดว่าน่าจะเป็น 13-8 พร้อมกับข้อกังขาเกี่ยวกับความโปร่งใสในการลงมติ ครั้งนี้ด้วย
นอกจากนี้ ผลของการลงมติดังกล่าว ได้ก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์อย่างกว้างขวางว่าเป็นการตัดสินใจบนฐานของ tradition over innovation โดยบางส่วนก้าวไปไกลด้วยการระบุถึงการตัดสินใจดังกล่าวว่าเป็น the most shortsighted decision of the year เลยทีเดียว
ข้อเท็จจริงที่น่าสนใจอย่างยิ่งประการหนึ่งก็คือ ข้อเสนอของแอฟริกาใต้ถูกตัดออก จากผลของการลงคะแนนเสียงรอบแรก โดยมีเพียงญี่ปุ่นและนิวซีแลนด์ เหลือเป็นตัวเลือก ในการตัดสินเท่านั้น และทำให้เสียงสนับสนุน ที่ให้กับแอฟริกาใต้ในรอบแรกกลายเป็นตัวแปรสำคัญในการลงคะแนนรอบสุดท้ายนี้
นิวซีแลนด์เคยได้รับเลือกให้เป็นเจ้าภาพร่วมกับออสเตรเลียในการจัด RWC ครั้งแรกในปี 1987 และได้รับเลือกให้เป็นเจ้าภาพร่วมกับออสเตรเลียอีกครั้งในปี 2003 ก่อนที่จะเกิดปัญหาเรื่องสิทธิประโยชน์ จนทำให้นิวซีแลนด์ต้องสละสิทธิการเป็นเจ้าภาพ ร่วมครั้งนั้นไปโดยปริยาย โดยที่ยังไม่มีโอกาส ได้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันเต็มตัวอย่างแท้จริงเลย แม้จะเป็นผู้ริเริ่มเสนอให้มีการจัดการแข่งขันชิงชนะเลิศในระดับโลกนี้ก็ตาม
จำนวนของสนามแข่งขันและปริมาณของโรงแรมที่พักที่มีอยู่อย่างจำกัด อาจเป็นข้อด้อยสำหรับนิวซีแลนด์ แต่นั่นอาจเป็นเพียงปัญหาในเชิงกายภาพของระบบสาธารณูปโภค ที่สามารถแก้ไขและปรับปรุงได้ไม่ยาก เมื่อเทียบกับข้อด้อยในกรณีของญี่ปุ่น ที่นอกจากจะไม่เคยมีประสบการณ์ในการจัดการแข่งขัน รักบี้ระดับนานาชาติมาก่อนแล้ว ยังมีปัญหาในเชิงคุณภาพ ว่าด้วยระดับการพัฒนาและความนิยมในกีฬาประเภทนี้ ที่อยู่ในระดับต่ำ ซึ่งอาจต้องใช้เวลาและปัจจัยแวดล้อมในการผลักดันไม่น้อย
กรณีดังกล่าว แม้จะมีลักษณะเป็นประหนึ่งคำถามเรื่องไก่กับไข่ แต่บางทีการเลือกให้นิวซีแลนด์ได้รับเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน RWC 2011 อาจเข้ากันได้ดีกับบริบทของเกม ที่ต้องรุกไปข้างหน้าด้วยการส่งลูกรักบี้ไปข้างหลัง และดูเหมือนว่าบทบาทในการพัฒนากีฬารักบี้ให้เป็นกีฬาของโลก (global sport) จะถูกส่งต่อให้เป็นหน้าที่ของ JRFU ที่ต้องทำงานอย่างหนัก เพื่อผลักดันให้กีฬารักบี้เป็นกีฬาที่ได้รับความนิยมทั้งระดับประเทศ และในระดับภูมิภาคเอเชีย ก่อนที่ญี่ปุ่นจะเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันครั้งต่อไปในปี 2015 หรือแม้กระทั่งในปี 2019
แต่นั่นย่อมไม่ใช่สิ่งที่ Yoshiro Mori ประสงค์ให้เป็น เพราะเขาเชื่อว่า "ในเมื่อทุกฝ่ายต้องการให้รักบี้เป็นกีฬาระดับโลก แล้วทำไมญี่ปุ่นต้องรออีก 5 หรือ 10 ปี ในการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันด้วย"
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|