|

สถาปัตยกรรมเพื่อชีวิตสีเขียว
นิตยสารผู้จัดการ( กุมภาพันธ์ 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
Mizan Residence เป็นอพาร์ตเมนต์ 5 ชั้น ตั้งอยู่ในเมืองต้นแบบ Gulshan กรุง Dhaka นครหลวงของบังกลาเทศที่ได้ชื่อว่าเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วมีอพาร์ตเมนต์ใหม่ๆ ผุดขึ้นทุกวัน และเป็นเรื่องธรรมดาที่อพาร์ตเมนต์ในเมืองใหญ่ส่วนใหญ่จะให้ความสำคัญกับธรรมชาติรองลงมา หรือที่เลวร้ายกว่านั้นก็ละเลยจนธรรมชาติหายไปจากชีวิตของผู้คน
นั่นเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ Mizan Residence พยายามสวมบทบาทเชื่อมสายสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติให้อุบัติขึ้นมาใหม่อีกครั้งหนึ่ง ท่ามกลางสภาพแวดล้อมของนครใหญ่อย่าง Dhaka
สถาปนิก Rafig Azam ผู้ออกแบบตัวอาคารขนาด 5 ชั้นนี้ยึดถือหลักง่ายๆ คือ ใช้ประโยชน์สูงสุดจากธรรมชาติที่แวดล้อม ที่ตั้งของตัวอาคารเพื่อให้เกิดพื้นที่สีเขียวสำหรับพักอาศัยในเมืองใหญ่อย่างมีประสิทธิผลและยั่งยืน
Mizan Residence จึงเป็นอาคารที่มีความไวต่อความเปลี่ยนแปลงของฤดูกาล ทิศทางลม และการโคจรของดวงอาทิตย์ ที่เป็นอย่างนี้เพราะข้อได้เปรียบซึ่งหาได้ยากยิ่งใน Dhaka คือตั้งอยู่ในทำเลทองริมทะเลสาบสวยงามที่ทำให้องค์ประกอบของธรรมชาติหลายประการเข้ามามีบทบาทสำคัญ อาทิ การมีถนนเข้าถึงทั้งจากทางทิศใต้และตะวันตก แถมยังมีทะเลสาบล้อมรอบทางทิศตะวันออก ทำให้สามารถดื่มด่ำกับความงดงามของทิวทัศน์ยามอาทิตย์ขึ้นจากขอบทะเลสาบ เคล้าเสียงคลื่นกระทบฝั่งเบาๆ ที่ทำให้ได้เห็นปลาใหญ่น้อยยามถูกคลื่นซัดขึ้นฝั่งพยายามกระเสือกกระสนลงน้ำอย่างไม่รู้เหน็ดเหนื่อย... ขณะนั่งกลางสายลมที่พัดโชยจากทิศตะวันออกเฉียงใต้ แล้วมองขึ้นไปบนท้องฟ้าอันเวิ้งว้างไกลสุดลูกหูลูกตา นอกจากจะได้ชื่นชมฝูงนกโฉบเฉี่ยวไปมาแล้ว ยังได้ยินเสียงเหมือนเพลงเพราะเสนาะหูจากนกตัวเล็กตัวน้อยเหล่านั้นอีกต่างหาก ส่วนสีแดงเข้มของภูมิทัศน์โดยรอบนั้นเล่าเป็นผลจากการระบายสีสันของป่ากฤษณาน่ะเอง
แบบแปลน free-flowing ที่สถาปนิกเน้นออกแบบเป็นพิเศษนั้น ก็เพื่อให้อพาร์ตเมนต์แห่งนี้สามารถแทรกตัวเข้าไปในสภาพแวดล้อมที่แลดูเป็นธรรมชาติแล้วก่อให้เกิดความงามแบบบูรณาการโดยสมบูรณ์ นอกจากนี้ความสามารถในการจัดโครงสร้างของที่ว่างยังก่อให้เกิดสภาวะเปิดโล่งที่ช่วยปลดปล่อยจิตใจของผู้อยู่อาศัยจากความรู้สึกเหมือนอุดอู้อยู่ในกรงแคบๆ ของอพาร์ตเมนต์แบบเดิมๆ ได้โดยสิ้นเชิง
ก่อนงานออกแบบจะเริ่มต้น สถาปนิก Azam ยังศึกษาวงโคจรของดวงอาทิตย์อย่างถี่ถ้วนเพื่อให้ตัวอพาร์ตเมนต์ได้รับแสงแดดมากที่สุดตลอดทั้งปี จากนั้นจึงออกแบบระเบียง หน้าต่าง และตำแหน่งการติดตั้งชายคากันแดดเพื่อให้สามารถรับลมที่พัดจากทางทิศใต้ได้เต็มที่ เป็นการช่วยประหยัดพลังงานได้อย่างฉมัง เพราะลดความจำเป็นในการใช้เครื่องปรับอากาศลงได้อีกโข
อพาร์ตเมนต์กลางนครหลวงยังเน้นพื้นที่สีเขียวเป็นพิเศษด้วยการออกแบบให้มีสวนหย่อมแบบเล่นระดับสวยงาม
โดยส่วนตัวแล้วสถาปนิก Azam เชื่อว่า "เวลาที่มองเห็นและเวลาที่มองไม่เห็น" (seen and unseen time) มีส่วนสัมพันธ์อย่างลึกซึ้งกับชีวิตมนุษย์ "เวลา" จึงมีบทบาทสำคัญอย่างเห็นได้ชัดในงานออกแบบ เมื่อเข้ารับผิดชอบโครงการนี้ Azam เน้นแสงจากธรรมชาติในหลากมิติและลงไปในรายละเอียดหลายๆ จุดอย่างจริงจังตั้งใจ อาทิ การออกแบบหน้าต่างและหลังคาทรงแบนหรือทรงตัดเพื่อให้สามารถรับประโยชน์อันเป็นผลจากความลึกลับของเวลาในแต่ละช่วงของวันได้เต็มที่
ในเวลาเดียวกัน ธรรมชาติยังมีบทบาทสำคัญต่อความลึกลับทั้งที่มองเห็นและมองไม่เห็น (seen and unseen mysteries) ด้วย เรื่องราวแห่งธรรมชาติอันอุดมด้วยสีสันนี้มีฤดูกาลทั้ง 6 ฤดูของคาบสมุทรเบงกอลเป็นผู้สร้างสรรค์ร่วมกับสีสัน อารมณ์ กลิ่นหอม และรสชาติที่แวดล้อมแต่ละฤดู
จึงไม่น่าแปลกที่อพาร์ตเมนต์ซึ่งตั้งใจออกแบบก่อสร้างให้มีความไวต่อการเปลี่ยนแปลงจะมีลุค (look) ใหม่ทันทีที่ถึงเวลาเปลี่ยนฤดูกาล เมื่อลมเปลี่ยนทิศทาง และดวงอาทิตย์โคจรเคลื่อนคล้อยทางทิศตะวันออกสู่ตะวันตก
สำหรับชาวบังกลาเทศแล้ว น้ำเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่มีอิทธิพลสำคัญต่อจิตใจของพวกเขา โดยเฉพาะในฤดูฝนผู้คนชอบนั่งดูสายฝนเป็นชีวิตจิตใจ ทำให้ Azam ออกแบบ "ระเบียงฝน" (open-to-sky Bristi-Veranda หรือ rain veranda) เพื่อให้ชาวอพาร์ตเมนต์ Mizan Residence ได้เพลิดเพลินและสุขใจกับการได้นั่งมองสายฝนรวมทั้งพิศวงกับความลึกลับแห่งฤดูฝนกันจนเต็มอิ่ม
หน้าต่างของอพาร์ตเมนต์ทุกบานมีโอกาสทำอีกหน้าที่หนึ่งคือ เป็นเหมือนภาพวาดทิวทัศน์ของธรรมชาติได้วิเศษสุดขอบหน้าต่างเปรียบเสมือนกรอบภาพวาดล้อมรอบวิวที่ประกอบด้วยท้องฟ้า เส้นขอบฟ้าไกลลิบสุดสายตา ต้นไม้ และไม้ประดับงดงามเจริญตาเจริญใจ
ความมหัศจรรย์ของงานออกแบบ Mizan Residence ที่ทำให้ผู้พักอาศัยสัมผัสได้ถึงความแตกต่างจากอพาร์ตเมนต์ทั่วไปจึงอยู่ที่ความสามารถในการวางแปลนให้พื้นที่ว่างแทบทุกตารางนิ้วได้สัมผัสกับองค์ประกอบแห่งธรรมชาติอันหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นท้องฟ้าทั้งยามปกติและแปรปรวน ท้องน้ำยามสงบและมรสุมกระหน่ำ สีเขียวและความอุดมสมบูรณ์ของต้นไม้ แสงสว่างและภาวะอับแสง เหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยในการสรรค์สร้างแหล่งพำนักที่อิงแอบแนบชิดกับธรรมชาติได้อย่างน่าอัศจรรย์ใจ
แปลและเรียบเรียงโดย ดรุณี แซ่ลิ่ว
จากนิตยสาร Architecture Asia
(September-November 2005)
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|