An Oak by the window โพสต์กูเกิ้ล

โดย ธวัชชัย อนุพงศ์อนันต์
นิตยสารผู้จัดการ( กุมภาพันธ์ 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

โพสต์โมเดิร์น เป็นคำที่ใช้โดยเหล่านักปรัชญา, นักสังคมวิทยา, นักวิจารณ์ศิลปะ และนักวิจารณ์สังคม เพื่ออ้างถึงบางแง่มุมสภาวะของศิลปะร่วมสมัย, วัฒนธรรม, เศรษฐกิจและสังคม ที่เป็นผลมาจากชีวิตในปลายศตวรรษที่ 20 ต่อเนื่องถึงต้นศตวรรษที่ 21 ที่มีความพิเศษในตัวของมันเอง คุณลักษณะเหล่านี้รวมถึงโลกาภิวัตน์, บริโภคนิยม และการกระจายอำนาจด้วย

ในทางเศรษฐกิจเอง โพสต์โมเดิร์นแสดงถึงการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการผลิตเป็นจำนวนมากและสื่อสารมวลชนที่มีอยู่อย่างดาษดื่น, การรวมกันของระบบเศรษฐกิจของแต่ละประเทศที่เป็นการรวมในแง่มุมต่างๆ ของการผลิต, การจัดระเบียบทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นทั่วโลก และการเคลื่อนย้ายจากระบบเศรษฐกิจแบบเน้นการผลิตไปสู่ระบบเศรษฐกิจที่มุ่งเน้นการบริการ

ในแง่การติดต่อสื่อสารด้วยระบบดิจิตอลแล้ว เทคโนโลยีถูกมองว่าเป็นคุณลักษณะสำคัญของประวัติศาสตร์ความก้าวหน้าของชาติตะวันตกมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 1700 นับแต่เมื่อ อดัม สมิธ ชี้ว่า ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีเป็นสาเหตุสำคัญของความมั่งคั่งของประเทศ

สิ่งบ่งชี้ของโพสต์โมเดิร์นในเรื่องการติดต่อสื่อสาร เกิดขึ้นครั้งแรกผ่านการเติบโตอย่างรวดเร็วของการกระจายสัญญาณภาพและเสียงทางโทรทัศน์ ในขณะที่คลื่นลูกที่สองคือ แนวความคิดโพสต์โมเดิร์นที่มาพร้อมกับการถือกำเนิดของการติดต่อสื่อสารด้วยระบบดิจิตอล ซึ่งทำให้แต่ละปัจเจกบุคคลสามารถสร้างสิ่งแวดล้อมและเรื่องราวของตนเองขึ้นมาได้

โพสต์โมเดิร์นจึงเกี่ยวพันกับในหลายๆ แง่มุมทั้งทางเศรษฐกิจ, สังคม และวัฒนธรรม

แต่ตอนนี้ผมกำลังสนใจสิ่งที่ผมขอเรียกว่า โพสต์กูเกิ้ล

โพสต์กูเกิ้ลในความหมายของผม หมายถึงยุคหลังซึ่งเป็นผลต่อเนื่องมาจากการเติบโตอย่างเต็มที่ของกูเกิ้ลในปัจจุบัน ซึ่งแสดงถึงการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ, สังคมและวัฒนธรรมหลังการก้าวเข้ามามีอิทธิพลอย่างเต็มรูปแบบของกูเกิ้ล

ทำไมผมถึงสนใจประเด็นนี้หรือครับ

ถ้าเราติดตามความเคลื่อนไหวอย่างโดดเด่นของกูเกิ้ลซึ่งมีฐานบัญชาการอยู่ที่ "กูเกิ้ล เพล็กซ์" ในแคลิฟอร์เนีย จะเห็นการเติบโตอย่างต่อเนื่อง จนถึงระดับที่ผมกลัวว่าจะเป็น การคุกคาม

นับจากการปฏิวัติระบบการเสิร์ชเอ็นจิ้น หรือระบบการค้นหาข้อมูลที่ทำให้กูเกิ้ลขึ้นมาแซงหน้ายักษ์ใหญ่ในวงการขณะนั้น ไม่ว่าจะเป็น ยาฮู (http://www.yahoo.com), อัลตา วิสต้า (http://www.altavista.com) และเสิร์ชเอ็นจิ้นอีกหลายราย ขึ้นมาเป็นหมายเลขหนึ่งในวงการ ด้วยประสิทธิภาพการค้นหาข้อมูลในระดับที่สร้างความพึงพอใจให้คนเกือบค่อนโลก

หลังจากนั้นเรื่องราวของกูเกิ้ลก็เข้ามาอยู่ในความรับรู้ของเราเกือบทุกวัน

การสร้างซูเปอร์คอมพิวเตอร์ด้วยการนำพีซีราคาถูกมาจัดระบบทำงานร่วมกัน บวกกับการออกแบบซอฟต์แวร์เพื่อสร้างระบบการค้นหาข้อมูลที่มีประสิทธิภาพถือเป็นพื้นฐานที่สำคัญของกูเกิ้ล

การประกาศสงครามฟรีอีเมลด้วยการมอบพื้นที่เก็บอีเมลมากถึง 1 กิกะไบต์บนจีเมล (http://gmail.com) ซึ่งเป็นฟรีอีเมล์ของกูเกิ้ลเอง พร้อมกับประสิทธิภาพในการใช้งานซึ่งผสานจุดแข็งในการค้นหาข้อมูลของกูเกิ้ลเข้ากับระบบการจัดการอีเมล ซึ่งส่งผลให้ยักษ์ใหญ่อย่าง ฮอตเมล (http://www.hotmail.com) และ ยาฮูเมล (http://mail.yahoo.com) ต้องให้พื้นที่แก่ผู้ใช้เพิ่มขึ้นอีกหลายร้อยเท่าด้วยเช่นกัน และต้องปรับปรุงระบบการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

การเปิดตัวอย่างยิ่งใหญ่ของกูเกิ้ลเอิร์ธซึ่งสร้างความอกสั่นขวัญแขวนให้กับระบบการรักษาความปลอดภัยทั่วโลก ที่ทำให้กระทรวงกลาโหมและหน่วยงานเกี่ยวกับความมั่นคงของประเทศต่างๆ ต้องออกมาประท้วงและมองหาวิธีการป้องกันภัยการคุกคามเพิ่มขึ้น และทำให้เรื่องเล่าหลายๆ เรื่องเกี่ยวกับระบบดาวเทียมจารกรรมของประเทศยักษ์ใหญ่อย่างสหรัฐอเมริกา ที่ว่าสามารถมองเห็นแม้กระทั่งหน้าของเหรียญบาทที่ตกอยู่บนพื้นถนน ไม่ใช่เรื่องล้อเล่นอีกต่อไป แม้ว่ากูเกิ้ลเอิร์ธจะยังไม่ได้แสดงให้เห็นถึงการประยุกต์ใช้งานที่ชัดเจน รวมถึงผลิตภัณฑ์ประกอบการใช้งานก็ตาม

ในช่วงปลายปีต่อเนื่องถึงปีใหม่ที่ผ่านมา ก็มีข่าวที่สร้างความสั่นสะเทือนวงการคอมพิวเตอร์และวงการบันเทิงโดยรวม โดยเริ่มต้นเมื่อกูเกิ้ลทุ่มเงินหนึ่งพันล้านเหรียญสหรัฐ เข้าซื้อหุ้น 5 เปอร์เซ็นต์ ของบริษัทอเมริกาออนไลน์ (http: //www.aol.com) ในเครือไทม์ วอร์เนอร์ โดย มีเป้าหมายที่จะจับมือกันเป็นพันธมิตรทางยุทธศาสตร์เพื่อแข่งขันกับไมโครซอฟท์ การเคลื่อนไหวครั้งนี้สำคัญยิ่ง เพราะทำให้กูเกิ้ลมีช่องทางในการเติบโตอย่างน้อยๆ สองช่องทาง ใหญ่ๆ คือ การเติบโตเข้าสู่ตลาดโฆษณาผ่านอินเทอร์เน็ตผ่านช่องทางของอเมริกาออนไลน์ และเมื่อรวมกับตลาดโฆษณาออนไลน์ของกูเกิ้ลเอง ก็ทำให้กูเกิ้ลมีส่วนแบ่งในตลาดโฆษณาผ่านอินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว ส่วนช่องทางที่สอง คือ การย่างเท้าเข้าสู่ตลาดธุรกิจบันเทิงผ่านไทม์ วอร์เนอร์ ยักษ์ใหญ่วงการบันเทิงของสหรัฐฯ ที่มีเครือข่ายทั่วโลก

การพยายามเข้าสู่วงการบันเทิง เห็นได้จากข่าวลือที่ว่า กูเกิ้ลกำลังซุ่มสร้าง "กูเกิ้ลคิวบ์" (Google Cube) ซึ่งสามารถเชื่อมโยงพีซี, ทีวี, เซตท็อปบ็อกซ์ และโทรศัพท์มือถือเข้าด้วยกันได้ (ด้วยวิธีง่ายๆ เหมือนการหาข้อมูลจากกูเกิ้ล) โดยมีข่าวว่า กูเกิ้ลให้ความใส่ใจกับกูเกิ้ล คิวบ์นี้มาก แม้กูเกิ้ลจะยังคงปฏิเสธเรื่องนี้อยู่ก็ตามที

กูเกิ้ลคิวบ์นี้นักวิเคราะห์คนหนึ่งชี้ว่า เปรียบเสมือนช่องทางออกสู่อินเทอร์เน็ตของแต่ละบ้านนั่นเอง แต่เหตุที่ต้องมีกูเกิ้ลคิวบ์ก็เพราะปัจจุบันเวลาเราดาวน์โหลดหนังสักเรื่องจากอินเทอร์เน็ตมาทำอย่างที่จะทำให้เราสามารถฉายมันออกจอทีวีได้เลยโดยไม่ต้องมานั่งโหลดใส่แผ่นซีดีแล้วใช้เครื่องเล่นวีซีดีเล่น กูเกิ้ลคิวบ์จึงเข้ามาเป็นตัวอะแดปเตอร์ที่เชื่อมทีวีสู่อินเทอร์เน็ต (อย่างง่ายๆ)

นอกจากนี้ยังมีข่าวว่า กูเกิ้ลกำลังทำพีซีราคาถูก หรือ "กูเกิ้ลพีซี" ในราคาเพียง 200 เหรียญสหรัฐ (ประมาณ 8 พันกว่าบาท) โดยจะเน้นการทำตลาดในประเทศจีนและอินเดียซึ่งยังมีความต้องการพีซีอยู่มากและยังมีรายงานอีกว่า กูเกิ้ลจะสร้างระบบปฏิบัติการหรือโอเอส (OS) ของตัวเองขึ้นมาเพื่อให้ราคาพีซีไม่สูงมากนัก

นี่เท่ากับเป็นการประกาศสงครามกับไมโครซอฟท์ตรงๆ เพราะเป็นการทุบหม้อข้าวของไมโครซอฟท์ในเรื่องโอเอสโดยตรง

หลังจากที่กูเกิ้ล (และบริษัทที่ทำธุรกิจบนอินเทอร์เน็ตอีกหลายๆ เจ้า) ทำสิ่งที่ Rich Karlgaard จากนิตยสารฟอร์บเรียกว่า การปฏิวัติในเรื่องราคาในแง่ที่ทำให้ราคาถูกลง ซึ่งทำให้ไมโครซอฟท์ต้องปรับโครงสร้างธุรกิจโดยเน้นการสร้างรายได้จากการสมัครสมาชิกและโฆษณาออนไลน์แทนรายได้หลักจากลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ นั่นคือ ผลการปฏิวัตินำไปสู่การปรับโครงสร้างการหารายได้ของบริษัทที่เกี่ยวข้องกับคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ต และคนใช้ก็มีแนวโน้มจะได้ใช้ของฟรีมากขึ้นเรื่อยๆ

ความเคลื่อนไหวที่โดดเด่นในช่วงปีกลายต่อเนื่องถึงต้นปีนี้ของกูเกิ้ล ทำให้เราเห็นภาพสองภาพทับซ้อนกัน ภาพหนึ่งคือ การก้าวเข้ามามีบทบาทของผู้เล่นหน้าใหม่อย่างกูเกิ้ลที่กำลังทำให้ความฝันของหลายๆ คนเป็นจริงในการสร้างเทคโนโลยีราคาถูก (หรือฟรี) ในการทำอะไรก็ตามที่เราต้องการ ไม่ว่าจะเป็นค้นหาทุกสิ่งทุกอย่างที่ต้องการผ่านเสิร์จเอ็นจิ้น, การติดตามความเคลื่อนไหวจากมุมสูงผ่านกูเกิ้ล เอิร์ธ, การเชื่อมระบบอินเทอร์เน็ตเข้ากับโทรทัศน์, วิทยุ, เครื่องเล่นเพลง และเซตท็อปบ็อกซ์ และอื่นๆ และอีกภาพคือ การเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของคนเรามากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะถ้าทุกสิ่งทุกอย่างที่กูเกิ้ลทำไป (ซึ่งดูดีมากในสายตาหลายๆ คน หรืออย่างน้อยก็ในสายตาของผม) ประสบความสำเร็จหมด และถ้าวันหนึ่งกูเกิ้ลเข้าไปมีบทบาทในเรื่องที่นอกเหนือจากคอมพิวเตอร์ และอินเทอร์เน็ต ชีวิตผมอาจจะเป็นอย่างนี้

ตอนเช้า ผมตื่นมาบนเตียงนอนกูเกิ้ล เข้าห้องน้ำบีบยาสีฟันกูเกิ้ล บนแปรงสีฟันกูเกิ้ล อาบน้ำฟอกตัวด้วยสบู่กูเกิ้ล ลงมาจิบเอสเพรสโซ่กูเกิ้ลบนโต๊ะรับประทานอาหารกูเกิ้ล พร้อมขนมปังแผ่นกูเกิ้ลซึ่งทาด้วยแยมกูเกิ้ลรสส้มกูเกิ้ล จากนั้นขับรถไปทำงานด้วยรถยนต์กูเกิ้ล...

และถ้าหนักขึ้นเรื่อยๆ เมื่อกูเกิ้ลเข้ามามีอิทธิพลในทุกเรื่อง แม้แต่ภาษาก็อาจจะเป็นว่า

ตอนกูเกิ้ลเช้ากูเกิ้ล ผมกูเกิ้ลตื่นกูเกิ้ล มากูเกิ้ลบนกูเกิ้ลเตียงกูเกิ้ลนอนกูเกิ้ลกูเกิ้ลกูเกิ้ลกูเกิ้ลกูเกิ้ลกูเกิ้ลกูเกิ้ล...

ผมคิดว่า การคุกคามของกูเกิ้ลในชีวิตผมคงจะไม่เลวร้ายอย่างเหตุการณ์ข้างต้น โพสต์กูเกิ้ลของผมจึงอยากจะเห็นโลกอินเทอร์เน็ตและคอมพิวเตอร์ที่เปลี่ยนแปลงไปในแง่ที่รักษาสิทธิของผู้บริโภคอย่างเราๆ มากขึ้น การใช้เทคโนโลยีจะต้องไม่เป็นในลักษณะ ถูกยัดเยียด และพวกเรามีทางเลือกในการใช้บริการและซื้อหาสินค้าที่หลากหลาย และมีคุณภาพใกล้เคียงกัน การค้าเสรีจะต้องไม่เป็นภาพลวงตาอย่างที่กูเกิ้ลกำลังจะทำ และโลกกำลังจะเป็นระบบการค้าที่มีการแข่งขันอย่างสมบูรณ์จึงเป็นความฝัน สำหรับโพสต์กูเกิ้ล มิใช่ระบบผูกขาดอย่างยุคกูเกิ้ลในทุกวันนี้

อ่านเพิ่มเติม

1. Google denied Google PC reports', Jan 3, 2006, http://news.com.com/2061-10812_3-6016821.html

2. Postmodernity', http://en.wikipedia.org/ wiki/Postmodernity

3. Postmodernism', http://en.wikipedia.org/ wiki/Postmodernism

4. Karlgaard, R. (2005), 'Cheap Revolution, Part Six', นิตยสาร Forbes วันที่ 10 ตุลาคม 2005

5. Vise, D. A. และ Malseed, M. (2005), The Google Story, New York: Delacorte Press.

6. Udell, J. (2004), The Google PC generation, InfoWorld, http://www.info world.com


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.