|
วันนี้คุณมีหนังสือเดินทางอิเล็กทรอนิกส์หรือยัง?
โดย
น้ำค้าง ไชยพุฒ
นิตยสารผู้จัดการ( กุมภาพันธ์ 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
นับตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2548 ที่ผ่านมา คนไทยทุกคนที่เดินทางไปทำหนังสือเดินทางเล่มใหม่หรือต่ออายุเล่มเดิม ล้วนได้รับหนังสือเดินทางที่ติดชิปสมาร์ทการ์ดไว้ที่ปกหลัง หัวใจสำคัญของหนังสือเดินทางอิเล็กทรอนิกส์คืออะไร แล้วคนไทยได้อะไรบ้างจากหนังสือเดินทางอิเล็กทรอนิกส์เล่มนี้
ทุกวันนี้สำนักงานให้บริการจัดทำและต่อหนังสือเดินทางของกระทรวงการต่างประเทศ ได้เปลี่ยนรูปแบบไปอย่างสิ้นเชิง จากเดิมที่ให้ประชาชนต้องเดินต่อแถวไปตามจุดต่างๆ และใช้เวลาในแต่ละจุดแตกต่างกันออกไปตามการให้บริการนั้นๆ มาเป็นการให้บริการแบบเสร็จสิ้นในจุดเดียวหรือ one stop service
เหตุผลหนึ่งที่ทำให้รูปแบบของการให้บริการแบบนี้เกิดขึ้น เนื่องมาจากการเริ่มใช้หนังสือเดินทางแบบใหม่ที่เรียกว่า หนังสือเดินทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ E-Passport มาตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา การให้บริการในจุดเดียวตั้งแต่ยื่นเอกสาร ถ่ายภาพ พิมพ์ลายนิ้วมือ จึงจำเป็นพอๆ กับการย่นระยะเวลาในการใช้บริการให้กับประชาชนด้วยในเวลาเดียวกัน
E-Passport นั้นเริ่มคุ้นหูคนไทยตั้งแต่สองปีที่แล้วในสมัยของทักษิณ 1 ซึ่งมีแนวคิดในการพัฒนาหนังสือเดินทางแบบใหม่ที่ติดชิปสมาร์ทการ์ดไว้ด้านหลังของปกหนังสือเพื่อป้องกันการปลอมแปลงดังเช่นที่มีการร้องเรียนมาจากประเทศต่างๆ
แนวความคิดการพัฒนา E-Passport เกิดขึ้นพร้อมๆ กับแนวความคิดการพัฒนาบัตรประชาชนอิเล็กทรอนิกส์ หรือบัตรสมาร์ท การ์ด แต่ต้องยอมรับว่าวันนี้ E-Passport นั้นจับต้องได้ง่ายกว่า เพราะจำนวนคนที่เดินทางไปยังต่างประเทศมีเพียงไม่กี่เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั้งหมดในประเทศ เมื่อเทียบกับบัตรสมาร์ทการ์ดที่ประชาชนทุกคนต้องมี เนื่องจากเป็นหลักฐานชิ้นสำคัญในการระบุตัวตนมาแต่ไหนแต่ไร
โดยทั่วไปรูปร่างของหนังสือเดินทางอิเล็กทรอนิกส์นั้นแทบไม่ต่างอะไรกับหนังสือเดินทางแบบเดิม ทั้งรูปเล่ม สีสัน และขนาดของตัวเล่ม แต่กลับจะต่างกันที่จำนวนหน้า รายละเอียดทางเทคนิคในการผลิต และนำไปใช้งานในอนาคต
"หนังสือเดินทางแบบใหม่จะเพิ่มหน้าเป็น 50 หน้า เมื่อเทียบกับของเดิมที่มีอยู่ 32 หน้า ขณะที่หน้าที่สองของหนังสือเดินทาง ซึ่งเป็นหน้าสำคัญที่ระบุทั้งภาพของเจ้าของหนังสือเดินทาง ข้อมูลส่วนตัวทั้งชื่อ สกุล อายุ วันเดือนปีเกิด และอื่นๆ นั้น ได้เปลี่ยนจากการพิมพ์ภาพปกติมาใช้การยิงเลเซอร์ให้เป็นภาพและตัวอักษรทั้งหน้า รวมถึงรหัสบาร์โค้ดที่ใช้ในการตรวจสอบตัวหนังสือขณะเดินทางออกนอกประเทศด้วย" อนุชา โอสถานนท์ อธิบดีกรมการกงสุล กล่าวกับ "ผู้จัดการ" ในระหว่างที่ขอเข้าเยี่ยมชมการจัดทำหนังสือ เดินทางแบบใหม่เมื่อเดือนที่ผ่านมา
อนุชายังบอกด้วยว่า ด้านหลังของหนังสือเดินทางอิเล็กทรอนิกส์ มีชิปขนาดเล็ก แบบ Contactless Integrated Circuit ไว้ด้านในตัวปก ในตัวชิปจะบรรจุข้อมูลชีวภาพ (biometric data) ของเจ้าตัว ได้แก่ ลายนิ้วมือนิ้วชี้และขวา รูปใบหน้า โดยตัวชิปจะสามารถอ่านได้ด้วยเครื่อง Automatic Gate ณ จุดผ่านแดนระหว่างประเทศ โดยมีการตรวจพิสูจน์โดยอัตโนมัติเพื่อเปรียบเทียบข้อมูลในหนังสือเดินทางกับผู้ถือหนังสือเดินทาง
หัวใจสำคัญของการฝังชิปเอาไว้ในตัวเล่มอยู่ที่การป้องกันการปลอมแปลงหนังสือเดินทางออกนอกประเทศและเดินทางไปยังประเทศจุดหมายปลายทาง โดยเฉพาะปัญหาอาชญากรข้ามชาติและผู้ก่อการร้าย ซึ่งกำลังเป็นปัญหาระดับโลก
ปัจจุบันผู้ที่ทำหนังสือเดินทางเล่มใหม่ จะได้หนังสือเดินทางอิเล็กทรอนิกส์มาใช้งานทุกคน เช่นเดียวกันกับผู้ที่เดินทางไปต่ออายุหนังสือเดินทางใหม่ หนังสือเดินทางเล่มเก่าจะถูกยกเลิกไป และได้หนังสือเดินทางแบบใหม่มาใช้แทน โดยหนังสือเดินทางแต่ละเล่มจะมีอายุใช้งาน 5 ปี ผู้ใช้จะได้รับหนังสือเล่มใหม่ทุกครั้งที่มีการต่ออายุ
แม้หนังสือเดินทางอิเล็กทรอนิกส์ยังไม่มีผลในเชิงปฏิบัติ เนื่องจากในโลกนี้มีประเทศที่ใช้หนังสือเดินทางอิเล็กทรอนิกส์เพียง 2 ประเทศเท่านั้น คือเบลเยียมและประเทศไทย ขณะที่การทดลองการใช้เครื่อง Automatic Gate ณ จุดตรวจคนเข้าเมืองในสนามบินดอนเมือง ยังไม่เสร็จสิ้น
อย่างไรก็ตาม มีการกำหนดเอาไว้ล่วงหน้าค่อนข้างชัดเจนว่า เครื่อง Automatic Gate หลายสิบเครื่องจะถูกติดตั้งเอาไว้ ณ จุดตรวจคนเข้าเมือง ในสนามบินสุวรรณภูมิ เพื่ออำนวยความสะดวกในการตรวจสอบผู้คนที่จะเดินทางออกนอกประเทศ โดยจะมีเจ้าหน้าที่คอยนั่งอยู่ใกล้ๆ ตัวเครื่อง เพื่อประทับตราหรือติดสติ๊กเกอร์ E-Passport ในหน้าหนังสือเดินทางด้วยอีกชั้น
วันนี้คนไทย 7 ล้านคนถือหนังสือเดินทางไปต่างประเทศกันแล้ว เชื่อกันว่าไม่เกินปี 2550 คนไทยที่ถือหนังสือเดินทางจะถูกเปลี่ยนมาถือหนังสือเดินทางอิเล็กทรอนิกส์กันทุกคน ขณะที่ตามการคาดการณ์แล้ว อีกไม่เกิน 5 ปี หลายสิบประเทศทั่วโลกจะเริ่มใช้ E-Passport และเมื่อถึงเวลานั้นต้องมีการเซ็นลงนามความร่วมมือในการตรวจสอบคนเข้าเมืองระหว่างกันและกลายเป็นมาตรฐานการเดินทางระหว่างประเทศไปในที่สุด
เมื่อถึงเวลานั้น คนไทยอาจคุ้นเคยกับการใช้หนังสือเดินทางแบบใหม่ในทางปฏิบัติมากกว่าทฤษฎี หรือเพียงแค่มีไว้โดยไม่รู้ว่ามันมีความหมายอย่างไรบ้างเช่นในปัจจุบัน แม้อาจจะต้องใช้เวลารอคอยกันสักนิดก็ตามที
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|