|
The Style by Toyota
โดย
น้ำค้าง ไชยพุฒ
นิตยสารผู้จัดการ( กุมภาพันธ์ 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
ความสมบูรณ์แบบของการดีไซน์ตกแต่งภายใน การเลือกใช้วัสดุคุณภาพดีไปจนถึงผนวกความทันสมัยด้านไอทีอย่างครบครันของ The Style by Toyota ถูกแฝงเอาไว้ภายใต้ความต้องการที่แท้จริงอย่างการเข้าถึงกลุ่มลูกค้าคนสำคัญอย่างวัยรุ่น ที่กลายเป็นกำลังสำคัญของกำลังซื้อในอนาคตของบริษัทนั่นเอง
อาคาร 3 ชั้น ย่านสยามสแควร์ซอย 7 ที่ถูกล้อมรั้วเอาไว้เสียนานหลายเดือน เนื่องจากกระบวนการก่อสร้างยังไม่เสร็จสิ้น ณ เวลานั้น เพิ่งจะมีโอกาสเปิดตัวอาคารสู่สายตาเด็กวัยรุ่นและคนที่เดินไปมาแถวนั้นอย่างเป็นทางการเมื่อกลางเดือนมกราคมที่ผ่านมา
"The Style by Toyota" ชื่อของตัวอาคารที่เพิ่งจะสร้างเสร็จ ชวนให้ผู้คนได้หันมามองได้ไม่น้อย เพราะแบรนด์ Toyota ที่รู้จักกันดีว่าคือชื่อยี่ห้อรถยนต์ชื่อดังจากญี่ปุ่น มาเกี่ยวข้องได้อย่างไรกับสถานที่อย่างสยามสแควร์ ที่ซึ่งเป็นศูนย์รวมของแหล่งบันเทิงและสินค้าสำหรับวัยรุ่นเสียเป็นส่วนใหญ่
อาจจะด้วยเหตุผลที่กลุ่มวัยรุ่น เริ่มกลายเป็นลูกค้าหลักของ Toyota นอกเหนือจากกลุ่มคนทำงาน หรือกลุ่มผู้ใหญ่ ที่ล้วนแล้วแต่ผ่านช่วงของการเป็นวัยรุ่นมาแทบทั้งสิ้น The Style by Toyota จึงเกิดขึ้นได้ในย่านใจกลางเมืองที่พลุกพล่านไปด้วยวัยรุ่นเช่นที่เห็น
ด้วยความที่กำหนดเอาไว้ตั้งแต่แรกว่า จะใช้เป็นสถานที่แสดงเทคโนโลยีทันสมัย และให้เป็นศูนย์กลางแห่งใหม่ของเด็กวัยรุ่นที่มาเดินย่านนี้ มากกว่าการวางขายรถยนต์รุ่นใหม่ของบริษัท ทำให้ The Style by Toyota จึงดูโดดเด่นด้วยการตกแต่งภายในให้เข้ากับความตั้งใจเริ่มแรกและโดดเด่นด้วยคอนเซ็ปต์ ของการนำเสนอเทคโนโลยีทุกรูปแบบ
ตัวอาคารที่โล่งโปร่งด้วยการเลือกใช้กระจกแทนการฉาบด้วยอิฐหรือปูนทับ ทำให้ผู้คนที่เดินไปมามองทะลุเข้าไปยังตัวอาคาร ที่กินพื้นที่ใช้สอยกว่า 1,000 ตารางเมตร ได้เป็นอย่างดี
ชั้นหนึ่งของตัวอาคารไม่ต่างกับสถานที่อื่นๆ ที่มักออกแบบให้เป็นชั้นของการต้อนรับแขกที่มาเยือน หน้าสุดของอาคารมีเคาน์เตอร์เล็กๆ ที่วางคอมพิวเตอร์สีขาวขุ่นจากค่ายแอปเปิลเอาไว้ สำหรับใช้เป็นสถานที่ลงทะเบียนให้กับผู้ที่สนใจ
รถยนต์ไฮบริดรุ่นสำคัญอย่าง Prius ที่เลือกใช้พลังงานได้ทั้งไฮโดรเจนและน้ำมัน ซึ่งน้อยคนนักจะมีโอกาสได้ยลโฉม ถูกยกหลังคาและฝากระโปรง ด้านหน้าออกเผยให้เห็นเบาะที่นั่งด้านใน และเครื่องยนต์ของตัวรถอย่างชัดเจน พร้อมทั้งติดตั้งจอแสดงผลระบุตำแหน่งของเครื่องยนต์ และอุปกรณ์ในรถยนต์ที่สำคัญๆ ประกอบความเข้าใจให้กับผู้ที่เข้ามาชม นำมาวางไว้กลางลานของบริเวณชั้น 1 ของอาคาร
ซ้ายมือของรถยนต์ ติดตั้งจอแบบสัมผัสแบบพิเศษที่เรียกว่า Ubiq window ที่บางเสียจนหากมองจากด้านหลังจอจะเห็นคนที่ยืนอยู่ด้านหน้าของตัวจอ
จอดังกล่าวถูกใช้เป็นที่ที่แสดงโปรแกรมแบบ interactive หรือโปรแกรมการสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนใช้และคอมพิวเตอร์อาทิ โปรแกรมการแสดงภาพทั้งสีและขาวดำสลับกันไปมา เพื่อให้ผู้ที่สนใจเลือกภาพดังกล่าวมาปะติดปะต่อเป็นภาพตามจินตนาการของตนเอง ด้วยมือเปล่าผ่านการลากบนหน้าจอโดยตรง เน้นให้เห็นจินตนาการของการออกแบบและดีไซน์ที่ไม่สิ้นสุด เช่นเดียวกันกับรถยนต์ของค่ายนี้ที่ผู้บริหารก็คงจะเน้นย้ำว่ามีจินตนาการในการออกแบบที่ไม่สิ้นสุดด้วยเช่นกัน
ภาพที่แต่ละคนละเลงเอาไว้ สามารถนำติดตัวกลับบ้านไปได้ด้วยทุกครั้ง เพียงแต่แจ้งพนักงานสาวสวยที่เรียกตัวเองว่า "host" หรือเจ้าบ้าน 4 คนที่ทำหน้าที่ดูแลและให้ความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีทั้งหมดในอาคารแก่ผู้ที่สนใจ
host สาวจะสั่งพิมพ์ภาพโดยตรงจากจอ สั่งเครื่องพิมพ์หน้าเคาน์เตอร์ให้กับเจ้าของภาพ โดยไม่คิดราคาค่าบริการแต่อย่างใด
สถาปนิกชาวญี่ปุ่นที่มีส่วนร่วมในการคัดสรรเทคโนโลยีมาติดตั้งในอาคารแห่งนี้ ยังจงใจที่จะเลือกติดตั้งจอแอลซีดี พร้อมหูฟังคีย์บอร์ดอย่างดีแบบฝังเอาไว้กับผนังตัวอาคารระหว่างตรงกลางของตัวโต๊ะและเก้าอี้ที่วางไว้ตามจุดต่างๆ ของบริเวณชั้นหนึ่งและชั้นสองอีกด้วย
จอแอลซีดีแบบสัมผัสทั้ง 18 จุดที่วางอยู่กับตัวโต๊ะ ไม่เพียงแต่ทำหน้าที่ให้ความบันเทิงในเนื้อหาที่ Toyota พัฒนาขึ้นมาเป็นพิเศษ ทั้งข้อมูลเกี่ยวกับเทคโนโลยีของรถไฮบริด, เกมที่พัฒนาขึ้นมาสำหรับการเปิดตัวรถยนต์รุ่น Yaris ที่เพิ่งจะผ่านพ้นไป ข้อมูลเกี่ยวกับแฟชั่น กีฬา ศิลปวัฒนธรรม หรือแม้แต่การติดตั้งโปรแกรมวาดภาพรถยนต์ที่ให้ผู้ใช้เลือกสี และใช้มือลากเป็นตัวรถขึ้นมา ตามเส้นร่าง และระบบจะทำการสร้างเพลงขึ้นมาตามจังหวะของการลากเส้นเอาไว้แล้ว
จอดังกล่าว ยังทำหน้าที่เป็นเครื่องมือที่ช่วยให้วัยรุ่นได้สั่งเครื่องดื่มและขนมหวานมารับประทานระหว่างเลือกชมความบันเทิงต่างๆ ในตัวศูนย์ แห่งนี้ด้วย
ผู้ใช้เพียงแต่สั่งการด้วยการใช้มือสัมผัสที่เมนูสั่งเครื่องดื่มบนหน้าจอ และเลือกประเภทเครื่องดื่มหรือขนมหวาน ก่อนเลือกขนาดและยืนยันการจ่ายตามราคาของค่าเครื่องดื่มดังกล่าว
ระบบจะให้ตัวเลขรหัสของการสั่งเครื่องดื่ม และบอกระยะเวลาของการเดินไปรับที่เคาน์เตอร์เครื่องดื่มที่ชั้นหนึ่งได้ทันที สร้างความสะดวกสบายแทนการต่อคิวหรือสั่งอาหารจากตัวพนักงานโดยตรง
นอกจากนี้บริเวณชั้นสองยังมีมุมห้องสมุดขนาดย่อม ที่ล้อมรอบไปด้วยไหมญี่ปุ่นสีขาวสะอาดตา พ่วงด้วยการวางเบาะนั่งแบบพิเศษโทนสีเดียวกันคอยให้บริการสำหรับคนที่ต้องการหามุมอ่านหนังสือส่วนตัว โดย Toyota คัดเลือกหนังสือที่เน้นการออกแบบและดีไซน์ทั่วทุกมุมโลกมาวางไว้ในห้องสมุดเล็กๆ นี้ด้วยในเวลาเดียวกัน
ที่ชั้นสาม ออกแบบให้เป็นห้องสัมมนา จัดกิจกรรมและแสดงผลงานของวัยรุ่น โดยกินพื้นที่เกือบทั้งชั้นของตัวอาคารกันเลยทีเดียว
ด้านนอกของตัวอาคารยังติดตั้งจอ LED ขนาด 200 เมตรใหญ่ที่สุดในเอเชียคอยแสดงภาพกราฟิก ภาพวิดีโอและข้อความ ให้ปรากฏต่อสายตาคนย่านนั้น
Wireless Community กลายเป็นหนึ่งหัวข้อไอทีที่ Toyota ไม่พลาดที่จะใส่เข้า ไปในอาคารแห่งนี้ พื้นที่ทั้งหมดของสถานที่ ถูกเชื่อมโยงเข้าด้วยกันด้วยการติดตั้งอินเทอร์ เน็ตไร้สายหรือ Wi-Fi และ Bluetooth เปิดโอกาสให้ทั้งคนมาเยือนและวัยรุ่นเข้าถึงโลกแห่งข้อมูลบนโลกอินเทอร์เน็ตได้ทันทีที่ต้องการ
เนื่องจากสถานที่แสดงเทคโนโลยีแบบนี้ Toyota เพิ่งจะตัดสินใจสร้างขึ้นเป็นครั้งแรกในเมืองไทย และภูมิภาคเอเชีย แถมรูปแบบยังแตกต่างไปจากการเป็นโชว์รูมบวกเป็นแหล่งนัดพบดังเช่นกับ Mega Web ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งหลายคนรู้จักดี
ทำให้วันเปิดตัวอย่างเป็นทางการ Toyota ต้องอาศัยออแกไนเซอร์ เพื่อเตรียมการให้งานราบรื่นไปด้วยดีกว่า 20 บริษัท โดยแต่ละที่ได้รับมอบหมายดูแลงานหรือเทคโนโลยีในตัวอาคารที่แตกต่างกันออกไป
วันนี้ไม่เพียงแต่ The Style by Toyota จะกลายเป็นสัญลักษณ์ใหม่ของการเข้าถึงกลุ่มวัยรุ่นของค่ายรถยนต์สัญชาติญี่ปุ่นรายนี้ เท่านั้น แต่ยังน่าจะเป็นสถานที่แห่งใหม่ที่คนทั่วไป หรือวัยรุ่นจะมีโอกาสได้ยลโฉมความทันสมัยของเทคโนโลยีและคอนเทนต์หลากหลายในเวลาเดียวกันด้วย
รูปแบบของการตกแต่ง และการจัดแสดงเทคโนโลยีบางอย่างอาจจะเปลี่ยนไปในทุกไตรมาส หรือสองไตรมาส ดังนั้นหากว่าคุณไปเยี่ยมเยือน The Style by Toyota แล้วไม่เป็นดังเช่นที่กล่าวมา นั่นเป็นเพราะว่าไม่เพียงเทคโนโลยีเปลี่ยนไป แต่คอนเซ็ปต์ที่ Toyota ต้องการสื่อให้คุณได้เห็นนั้นถึงเวลาเปลี่ยนแปลงไปแล้วตามฤดูกาลนั่นเอง
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|