ความหวังของเล้าเป้งง้วน

โดย ณัฐวัฒน์ หอมจิตต์
นิตยสารผู้จัดการ( กุมภาพันธ์ 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

ปัจจัยลบทั้งในเรื่องของภาวะเศรษฐกิจและตลาดหุ้น ทำให้แอลพีเอ็น เพลทมิล ชะลอการเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ จากเดิมที่กำหนดไว้ในช่วงปลายปีที่แล้วมาเป็นไตรมาส 3 ปีนี้ นับเป็นความสำเร็จครั้งสำคัญหลังจากที่ใช้เวลาปรับโครงสร้างหนี้อยู่ถึง 6 ปีเต็ม

การลดค่าเงินบาทในปี 2540 ส่งผลกระทบโดยตรงกับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมในประเทศไทย ที่ส่วนใหญ่ใช้เงินกู้จากต่างประเทศ ภาระหนี้ที่เพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวในชั่วเวลาเพียงข้ามคืนทำให้แทบทุกรายต้องเข้าสู่กระบวนการปรับโครงสร้างหนี้เพื่อรักษาธุรกิจให้อยู่รอด แอลพีเอ็น เพลทมิล ผู้ผลิตเหล็กแผ่นรีดร้อนในกลุ่มเล้าเป้งง้วนก็เป็นอีกรายหนึ่ง ที่โดนผลกระทบจากการลดค่าเงินบาทในครั้งนั้นจนต้องเข้าสู่กระบวนการปรับโครงสร้างหนี้เช่นกัน

หลังจากใช้เวลาเจรจากับกลุ่มเจ้าหนี้และดำเนินการขั้นตอนทางกฎหมายเป็นเวลารวม 6 ปี การปรับโครงสร้างหนี้ของแอลพีเอ็น เพลทมิลแล้วเสร็จในช่วงกลางปีที่ผ่านมา คงเหลือภาระหนี้เพียง 2,865 ล้านบาทจากเดิมที่มีอยู่ 13,560 ล้านบาท โดยยอดหนี้ที่ลดลงเป็นผลมาจากการแปลงหนี้เป็นทุนและการตัดลดยอดหนี้ของกลุ่มเจ้าหนี้ ทำให้ในปีที่ผ่านมา บริษัทมีกำไรถึง 12,100 ล้านบาท โดยเป็นกำไรจากการปรับโครงสร้างหนี้จำนวน 9,979 ล้านบาท และมียอดขายรวม 3,310 ล้านบาท ส่วนในปีนี้คาดว่าจะ มียอดขาย 5,400 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 17 ล้านบาท

เมื่อเคลียร์ภาระหนี้สินได้สำเร็จ กลุ่มผู้ถือหุ้นเดิมและเจ้าหนี้ได้เตรียมนำแอลพีเอ็น เพลทมิลเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยในขั้นแรกกำหนดที่จะเข้าทำการซื้อขายในช่วงเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ในช่วงดังกล่าวมีปัจจัยลบหลายประการ เข้ามากระทบเศรษฐกิจและตลาดหุ้น ทั้งราคาเหล็กที่เริ่มปรับลดลง การปรับตัวสูงขึ้นของราคาน้ำมันและภาวะเศรษฐกิจที่ยังมีแนวโน้มไม่ดีนัก ทำให้บริษัทตัดสินใจเลื่อนการเข้าจดทะเบียนออกไปเป็นช่วงไตรมาส 3 ปีนี้แทน

"บริษัท จีสตีล ก็กำลังจะเข้าตลาดหุ้นอยู่พอดี เราอยากจะรอดูผลการตอบรับของจีสตีลก่อนว่าเป็นอย่างไร ถ้าไม่ดีนักเราก็ยังชะลอออกไปอีกได้" พิพัฒน์ ปรีดาวิภาต ประธานกรรมการบริหาร แอลพีเอ็น เพลทมิล ให้เหตุผล

ตามแผนงานที่วางไว้ การเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ของแอลพีเอ็น เพลทมิล จะมีการขายหุ้นจำนวน 296 ล้านหุ้น แบ่งเป็นนักลงทุนทั่วไปจำนวน 269.1 ล้านหุ้น และออกหุ้นให้กับพนักงานอีก 26.9 ล้านหุ้น เงินที่ได้จากการระดมทุนครั้งนี้จะนำมาใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจเพื่อขยายกำลังการผลิตให้มากขึ้น โดยคาดว่าจะสามารถเพิ่มกำลังการผลิตได้เป็นปีละ 360,000 ตันใน 2 ปีข้างหน้าจากปีที่ผ่านมาที่ทำการผลิตรวม 144,000 ตัน

"เงินที่ได้เราเอาไปขยายกำลังการผลิตทั้งหมด ไม่ได้เอาไปใช้หนี้ เพราะหลังจากการปรับโครงสร้างหนี้ ธุรกิจสามารถใช้หนี้ได้อยู่แล้ว" สุเนตร วุฒิศักดิ์ กรรมการผู้จัดการกล่าว

อย่างไรก็ตาม บริษัทอาจพิจารณาการรีไฟแนนซ์ยอดหนี้ที่มีอยู่เพื่อลดภาระดอกเบี้ยจ่ายที่ต้องเสียประมาณปีละ 189 ล้านบาท

หลังจากเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ สัดส่วนผู้ถือหุ้นจะเปลี่ยนไปจากเดิมที่มีเจ้าหนี้ถือหุ้น 68% กลุ่มผู้ถือหุ้นเดิม 32% เป็นเจ้าหนี้ 53% ผู้ถือหุ้นเดิม 25% นักลงทุนทั่วไป 20% และกลุ่มพนักงาน 2%

นอกจากการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ แล้ว ในปีนี้แอลพี เอ็น เพลทมิล วางแผนรุกตลาดแผ่นเหล็กรีดร้อนเกรดพิเศษที่มีความกว้างและความหนาเกินกว่าขนาดมาตรฐานทั่วไป โดยเฉพาะเหล็กรีดร้อนที่มีขนาดความกว้าง 8-10 ฟุต ซึ่งบริษัทเป็นผู้ผลิตในประเทศเพียงรายเดียวในขณะนี้ และเน้นทำตลาดในกลุ่มลูกค้าที่มีความต้องการเหล็กเกรดพิเศษขนาดใหญ่ ที่เดิมจะต้องนำเข้าเท่านั้น เช่น การก่อสร้างสะพาน แท่นขุดเจาะน้ำมันในทะเล ถังเก็บน้ำมันขนาดใหญ่และท่อส่งน้ำขนาดใหญ่ โดยที่ผ่านมา โครงการที่ใช้เหล็กแผ่นเกรดพิเศษของบริษัท ได้แก่ สะพานพระราม 8 และอาคารผู้โดยสารสนามบินสุวรรณภูมิ

การวางนโยบายรุกในตลาดเหล็กรีดร้อนเกรดพิเศษดังกล่าวนอกจากจะช่วยให้แอลพีเอ็น เพลทมิลหนีการแข่งขันกับเหล็กราคาถูกจากประเทศจีนได้แล้ว การผลิตเหล็กรีดร้อนเกรดพิเศษยังให้ผลกำไรสูงกว่าเหล็กเกรดธรรมดาอีกด้วย โดยเหล็กรีดร้อนเกรดธรรมดาจะมีมาร์จิ้นราว 13% ขณะที่เหล็กเกรด พิเศษมีมาร์จิ้นอยู่ระหว่าง 20-25%

ในปีที่ผ่านมา แอลพีเอ็น เพลทมิลทำการผลิตเหล็กแผ่น รีดร้อนรวม 144,000 ตัน จากกำลังการผลิตรวม 400,000 ตันต่อปี แต่ในปีนี้ได้ตั้งเป้าหมายที่จะเพิ่มการผลิตขึ้นเป็น 230,000 ตัน แบ่งเป็นแผ่นเหล็กรีดร้อนชนิดแผ่น จำนวน 170,000 ตันและเหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดม้วนอีก 60,000 ตัน โดยการผลิตทั้งหมดนี้จะเป็นเหล็กแผ่นชนิดเกรดพิเศษในสัดส่วน 57% ส่วน ที่เหลือจะเป็นเหล็กเกรดธรรมดา ขณะเดียวกันยังตั้งเป้าในการ ส่งออกในปีนี้จำนวน 60,000 ตัน โดยจะส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น อินเดีย ออสเตรเลีย ปากีสถาน และบังกลาเทศ

สำหรับแผนการลงทุนเพิ่มเติมในอนาคตนอกเหนือจากการขยายกำลังการผลิต พิพัฒน์เล่าว่า โครงการที่มีความเป็นไปได้จะเป็นการผลิตเหล็กบางที่มีความหนาประมาณ 1 มิลลิเมตร เพื่อนำไปใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตตัวถังรถยนต์และเฟอร์นิเจอร์ ซึ่งต้องใช้เงินลงทุนเกินกว่า 1,000 ล้านบาท

"แต่โครงการนี้เรายังไม่กล้าคิดในช่วง 1-2 ปีนี้ เพราะเราเจ็บมาจากช่วงวิกฤติ ปี 2540 ตอนนี้ต้องเอาความแน่นอนก่อน"


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.