บล.ไทยพาณิชย์ลุยธุรกิจอนุพันธ์

โดย ณัฐวัฒน์ หอมจิตต์
นิตยสารผู้จัดการ( กุมภาพันธ์ 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

ตลาดอนุพันธ์ที่กำลังจะเปิดซื้อขายปลายเดือนเมษายนที่จะถึงนี้กำลังจะกลายเป็นโอกาสทางธุรกิจแหล่งใหม่ของโบรกเกอร์ที่เร่งเตรียมความพร้อมอย่างเต็มที่

"ผมมั่นใจว่าตลาดนี้จะเป็นไปตามแพทเทิร์นของต่างประเทศ นั่นคือสุดท้ายแล้วตลาดอนุพันธ์จะ ใหญ่กว่า SET แต่น่าจะใช้เวลาอย่างน้อย 5 ปีขึ้นไป"

กฤษณ์ เกษมศานติ์ กรรมการผู้จัดการ บล. ไทยพาณิชย์ (SCBS) กล่าวประโยคข้างต้นในระหว่างการสนทนากับ "ผู้จัดการ" สะท้อนความคาดหวังที่มีต่อตลาดอนุพันธ์ (TFEX) ซึ่งเป็นสาเหตุให้บล.ไทยพาณิชย์ใช้เวลาเตรียมความพร้อมก่อนที่จะเปิดบริการธุรกิจด้านนี้นานร่วมปีครึ่ง

ตามกำหนดการล่าสุดที่มีการประกาศออกมา ตลาดอนุพันธ์ฯ จะเริ่มเปิดทำการซื้อขายสินค้าตัวแรกคือ ฟิวเจอร์สของดัชนี SET50 (SET50 Index Futures) ในวันที่ 28 เมษายนที่จะถึงนี้เป็นวันแรก เลื่อนมาจากเดิมที่กำหนดไว้ในช่วงปลายปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม บล.ไทย พาณิชย์ได้มีการเตรียมตัวในธุรกิจนี้มาตั้งแต่กลางปี 2547 เริ่มจากการดึง ตัวปริทรรศน์ เหลืองอุทัย ซึ่งมีประสบการณ์ด้านอนุพันธ์โดยตรงจากสถาบัน การเงินทั้งไทยและต่างประเทศมาร่วมทีม มีการจัดตั้ง บลจ.เอสซีบีควอนท์ เพื่อทำงานร่วมกับ บล.ไทยพาณิชย์ในการออกโปรดักต์อนุพันธ์จำหน่ายให้กับนักลงทุนที่สนใจ รวมทั้งการเตรียมระบบรองรับการเทรดและการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่มาร์เก็ตติ้งอีกกว่า 100 คน

ขณะเดียวกันก็เริ่มทำตลาดไปยังกลุ่มนักลงทุน ทั้งที่เป็นสถาบันไทยและต่างประเทศ รวมทั้งกลุ่มนักลงทุนรายย่อย โดยเฉพาะการจัดสัมมนาให้ความความรู้กับนักลงทุนรายย่อยที่มีต่อเนื่องตลอดปีที่ผ่านมา

"การสัมมนาของเราแต่ละครั้งมีลูกค้าเข้าฟังอย่างน้อยๆ เกือบ 50 คน แล้วทุกคนกระตือรือร้นที่จะมาฟัง ไม่เหมือนตอนจัดสัมมนาเรื่องหุ้นที่บางคนมาก็เพราะความเกรงใจ"

อย่างไรก็ตาม กฤษณ์เชื่อว่าหลังจากที่ตลาดอนุพันธ์เริ่มเปิดทำการแล้ว ธุรกิจส่วนใหญ่จะมาจากกลุ่มนักลงทุนสถาบันต่างประเทศ เนื่องจาก เป็นกลุ่มที่มีความคุ้นเคยกับอนุพันธ์อยู่แล้วจากตลาดต่างประเทศ ส่วนนักลงทุนสถาบันไทยและนักลงทุนรายย่อยคงต้องใช้เวลาทำความเข้าใจสักพักก่อนที่จะตัดสินใจเข้าลงทุน โดยคาดว่าในระยะแรกตลาดอนุพันธ์ฯ น่าจะมีปริมาณการซื้อขายราววันละ 1,000 สัญญาและ บล.ไทยพาณิชย์ตั้งเป้าที่จะครองส่วนแบ่งการตลาดอย่างน้อยไม่ต่ำกว่าส่วนแบ่งการตลาด ในธุรกิจโบรกเกอร์หุ้นในปีนี้คือ 6% คิดเป็นรายได้ประมาณ 5-10 ล้านบาท

"ปีที่แล้วเราตั้งเป้ามาร์เก็ตแชร์ตลาดหุ้นเอาไว้ที่ 5% เราก็ทำได้ที่ 5.15% ปีนี้ตั้งไว้ที่ 6% เราคิดว่าอย่างน้อยตลาดอนุพันธ์ต้องได้เท่าตลาดหุ้น เพราะเรามีการเตรียมตัวมาอย่างดี"

เป้าหมายในธุรกิจอนุพันธ์ของ บล.ไทยพาณิชย์ไม่จำกัดอยู่เพียงธุรกิจโบรกเกอร์เท่านั้น แต่ยังครอบคลุมไปถึงอนุพันธ์ในตลาดโอทีซีอีกด้วย โดยร่วมกับ บลจ.เอสซีบีควอนท์ ซึ่งเป็นบริษัทในเครือทำการพัฒนาโปรดักต์ อนุพันธ์ขายให้กับนักลงทุน มุ่งเป้าไปที่นักลงทุนบุคคลที่มีวงเงินลงทุนตั้งแต่ 50 ล้านบาทขึ้นไปที่ต้องการผลตอบแทนแน่นอนในระดับหนึ่ง โดยใช้เครื่องมือการลงทุนที่ไม่มีในตลาดปัจจุบัน

"ลูกค้าของเราเป็นกลุ่มที่ต้องการผลตอบแทนที่สามารถจำกัดความเสี่ยงได้ มีความต้องการที่ซับซ้อนกว่านักลงทุนทั่วไป ถ้าเป็นกลุ่มที่เก็งกำไรหุ้นแล้วต้องการจะใช้อนุพันธ์เพื่อเก็งกำไรให้ได้ผลตอบแทนสูงๆ อันนี้ไม่ใช่ลูกค้าของเรา" ปริทรรศน์ เหลืองอุทัย กรรมการผู้จัดการ บลจ.เอสซีบีควอนท์ กล่าวกับ "ผู้จัดการ"

โปรดักต์ที่ บลจ.เอสซีบีควอนท์พัฒนา ขายให้กับนักลงทุนในปีที่ผ่านมามีหลายตัวด้วยกัน อาทิ SUPER และ COSEY ซึ่งเป็นอนุพันธ์ที่อ้างอิงกับราคาหุ้น ปตท. โดยอนุพันธ์ SUPER มีอายุ 3 เดือน รับประกันเงินต้น 100% และให้ผลตอบแทนในรูปดอกเบี้ยที่อิงกับราคาหุ้น ปตท. โดยมีขั้นต่ำที่ 2% ขณะที่ COSEY มีอายุ 6 เดือน ไม่รับประกันเงินต้น แต่ให้ดอกเบี้ย 6%

รวมทั้งอนุพันธ์ SUNRISE/SUNSET อายุ 9 เดือน รับประกันคืนเงินต้นเต็มจำนวนและให้ผลตอบแทนขั้นต่ำ 2% นอกจากนี้นักลงทุนยังมีโอกาสรับผลตอบแทนพิเศษระหว่าง 1.25-2.0% เพิ่มเติมโดยอ้างอิงกับการเปลี่ยนแปลงของดัชนีตลาดหลักทรัพย์ฯ

ปริทรรศน์เล่าว่า แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นในปัจจุบัน เป็นโอกาสให้พัฒนาโปรดักต์ที่เป็นอนุพันธ์ดอกเบี้ยได้มากขึ้น เช่น อนุพันธ์อายุ 1 เดือนให้ดอกเบี้ย 3% ซึ่งกลุ่มลูกค้าให้ความสนใจ เพราะความเสี่ยงต่ำและให้ผลตอบแทนสูง


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.