บทสรุปบนเส้นทาง แอล.พี.เอ็น.


นิตยสารผู้จัดการ( กุมภาพันธ์ 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

ปีนี้บริษัท แอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเม้นท์ ขนทีมงานและนักข่าวเกือบ 60 ชีวิต ไปร่วมฉลองยอดขายที่โกยไปได้ 7 พันกว่าล้านบาท โตกว่าปีที่แล้วกว่า 60 เปอร์เซ็นต์ และแถลงแผนงานปี 2549 ไกลถึงยอดดอยอ่างขาง

แอล.พี.เอ็น. เป็นตัวอย่างของบริษัทอสังหาริมทรัพย์อีกบริษัทหนึ่ง ที่สามารถวาง Positioning ของตนเองไว้ชัดเจนและสามารถเดินเกมตลาดได้อย่างน่าสนใจตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา

แบรนด์ของ แอล.พี.เอ็น.เป็นทางเลือกหนึ่งของคนระดับกลาง ที่เริ่มสร้างครอบครัวใหม่หรือผู้ที่ต้องการอยู่ใกล้สถานศึกษา สถานที่ทำงาน เพราะระดับราคาไม่แพงมากนัก ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 900,000-2,000,000 บาทต่อยูนิต (ขนาด 30-60 ตารางเมตร)

ในปีที่ผ่านมาบริษัทได้เปิดโครงการใหม่อีก 4 โครงการ ในเขตชุมชนรอบนอกที่มีความเจริญสูงคือ ย่านแฮปปี้แลนด์ ปิ่นเกล้า ศูนย์วัฒนธรรมฯ ถนนนราธิวาส-เจ้าพระยา โดยโฟกัสไปยังกลุ่มลูกค้าระดับเดิมคือ บี และบีบวกเป็นหลัก ซึ่งทุกโครงการก็ยังคงสามารถสร้างยอดขายได้ดีเหมือนเคย

ดังนั้นเมื่อทิฆัมพร เปล่งศรีสุข ประธานกรรมการบริหารบริษัท แถลงถึงยุทธวิธีใหม่ในปี 2549 ที่จะเริ่มเจาะฐานลูกค้ากลุ่มใหม่ คือตลาดคอนโดระดับซีบวก ที่มีราคาเพียง 500,000 บาทต่อยูนิต ผ่อนชำระต่อเดือนเพียง 3-4 พันบาท จึงเกิดคำถามคาใจนักข่าวอย่างมาก เช่น ในเรื่องของแบรนด์ ซึ่งเป็นที่ยอมรับของคนชั้นกลาง แล้วทำไมต้องไปเล่นระดับล่าง จะเกิดปัญหาในเรื่องการทำงานหรือเปล่า กำไรที่ได้มาจะคุ้มกับความยุ่งยากหรือไม่

ทิฆัมพรเลยต้องร่ายยาวและเอ่ยสำนวนคุ้นๆ หูว่า ไม่มีปัญหา เพราะเคยมีประสบการณ์การทำคอนโดระดับราคานี้มาแล้วเมื่อปี 2542 ที่แฮปปี้แลนด์ และพบว่าเป็นกลุ่มที่มีปัญหาในการผ่อนส่งน้อยมาก ทั้งๆ ที่มีรายได้ไม่แน่นอน แต่เมื่อเป็นบ้านหลังแรกที่เขารัก และเสียค่าผ่อนพอๆ กับค่าเช่าบ้าน ดังนั้นทุกคนต้องหาทางรักษาไว้ให้ได้

เหตุผลข้อต่อไปก็คือ ในปี 2549 มีแนวโน้มว่าผู้ประกอบการ หลายรายจะลงมาทำคอนโดระดับปานกลางมากขึ้น แอล.พี.เอ็น. เลยจำเป็นต้องหากลุ่มฐานลูกค้าใหม่เพื่อกระจายความเสี่ยง แต่จะไม่กระโดดไปเล่นกลุ่มราคาสูงเพราะมีเจ้าตลาดอยู่หลายรายแล้วเช่นกัน ในขณะที่ตลาดล่าง ยังมีความต้องการสูงแต่ผู้ประกอบการที่ลงมาทำยังน้อยมาก และแม้จะทำกำไรไม่มาก แต่หากเพิ่มจำนวนยูนิตให้มากขึ้น สัดส่วนกำไรต่อโครงการก็ไม่น่าจะหนีจาก 30%ที่เคยวางไว้แน่นอน

เป้าหมายอย่างหนึ่งที่ผู้บริหาร แอล.พี.เอ็น.คาดหวังไว้ก็คือการเป็นนักพัฒนาที่ดินเจ้าของชุมชนขนาดใหญ่เป็นเมืองย่อยๆ เช่นเดียวกับโมเดลของบริษัทพัฒนาที่ดินยักษ์ใหญ่ในต่างประเทศ โดยหวังว่าจะใช้ประสบการณ์ในการบริหารอาคารชุดและชุมชนที่กลุ่มของตนเองเป็นเจ้าของอยู่แล้วประมาณ 1.5 หมื่นยูนิต เป็นฐานสำคัญในการเตรียมพร้อม

"บางครั้งเวลาทำธุรกิจ เราไม่จำเป็นต้องมองกำไรที่เป็นตัวเลขในระยะสั้นเท่านั้น แต่ควรมองไกลไปกว่านั้น เมื่อเราพัฒนาเมืองได้ สร้างชุมชนที่ดีขึ้นมาได้ โอกาสการทำธุรกิจอย่างอื่นในเมืองนี้ก็จะตามมาเอง" ทิฆัมพรอธิบายถึงวิธีคิดท่ามกลางความหนาวเหน็บของลมหนาวบนยอดดอยก่อนทิ้งท้ายว่า

ไม่น่าเกินไตรมาส 3 โครงการสร้างเมืองของแอล.พี.เอ็น. คงเป็นรูปเป็นร่างขึ้น


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.