|

TCDC ถอดรหัสญี่ปุ่น เจาะ DNA of Japanese Design
นิตยสารผู้จัดการ( กุมภาพันธ์ 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
ชั่วขณะหนึ่งที่ มร.คุโรตะ อัทสุโอะ ประธาน JETRO ประจำประเทศไทย ลงมือสาธิตการห่อผ้าบรรจุของอย่างประณีตบรรจงให้ชม ขณะร่วมกับ TCDC (ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ) แถลงข่าวการจัดงานนิทรรศการ "ถอดรหัสญี่ปุ่น (DNA of Japanese Design)" (4 ก.พ.-15 มี.ค.2549) ถือเป็นภาพสะท้อนถึงภูมิปัญญาตะวันออกภายใน DNA ที่มีลักษณะเฉพาะของคนญี่ปุ่น
กล่าวกันว่า วิธีคิดเชิงสร้างสรรค์ที่มีโครงสร้างเหมือนสายพันธุกรรมดีเอ็นเอ 15 สาย สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนในผลงานการออกแบบ 3 ยุค-ยุคแห่งงานหัตถกรรม ยุคแห่งการออกแบบอุตสาหกรรมและยุคปัจจุบัน แม้ลักษณะการใช้งานและรูปทรงจะแตกต่างกันออกไป แต่งานออกแบบทุกยุคกลับมี DNA หรือวิธีคิดอย่างเดียวกัน
หากจะตีความว่า D คือ Domestic ของดีไซน์ผลิตภัณฑ์กับบริการเพื่อตลาดญี่ปุ่น, N คือ Nature ที่มีแนวคิดมุมมองว่าด้วยธรรมชาติของภูมิทัศน์แบบเกาะญี่ปุ่น และ A คือ Artistic สุนทรียศาสตร์ ที่ประณีตละเมียดละไม ที่ปลูกฝังอยู่ในวิถีชีวิต, วัฒนธรรม และจิตวิญญาณของคนญี่ปุ่น ที่สร้างภาพความขยัน อดออม ประณีต และผูกพันกับธรรมชาติ ภายใต้กรอบวินัยสังคมที่ขึงตึงเรียบ เป็นเหรียญสองด้านของชีวิตที่ซับซ้อนของคนญี่ปุ่นที่ต้องสร้างสมดุลบนความขัดแย้งอย่างเข้มข้น และสามารถสร้างสรรค์ผลงานออกแบบให้โลกยอมรับได้
เมื่อสามปีที่แล้วเมื่อก่อตั้ง TCDC ภายใต้การนำของพันศักดิ์ วิญญรัตน์ ได้ลงนามในบันทึกความจำ (MOU) กับ JETRO ที่ญี่ปุ่น เพื่อร่วมกันจัดงานนิทรรศการ "DNA of Japaneses Design" ที่กรุงเทพฯ
ทันทีที่ TCDC เริ่มเปิดดำเนินการ 14 พ.ย.2548 และประสบความสำเร็จจากนิทรรศการแรก "ISAN Retrospective กันดารคือ สินทรัพย์อีสาน" มีผู้เข้าชมกว่า 32,000 คนในระยะเวลา 1 เดือนครึ่ง งานใหญ่ต่อมาคือนิทรรศการ "ถอดรหัสญี่ปุ่น" โดยมี Mr.Akiomi Hirano ซึ่งเป็น President of Institue of Esthetic Research เป็น Executive Producer และ Mr.Kyo Toyoguchi ประธาน Nagaoka Institue of Design กับ ศ.Hiromu Ozawa ซึ่งเป็น Director of Office of Urban History, Edo-Tokyo Museum ขณะที่ฝ่ายไทยก็มีคีย์แมนหลักคือ ภารวี วงศ์จิรชัย Knowledge Management Director ของ TCDC เป็น curator ตัวจริงร่วมทำงานด้วย
จากคอนเซ็ปต์แรกที่นำเสนอ Forest of Image ที่น่าตื่นตาตื่นใจด้วยแสงสีกับแถบภาพ 15 เส้นสาย DNA อันเป็นคุณลักษณะพิเศษของญี่ปุ่น ที่นำเสนอทัศนียภาพธรรมชาติอันงดงามต่างฤดูกาล, craftmanship ตลอดจนวิถีประเพณีของชาวญี่ปุ่นที่อยู่เบื้องหลังภาพเท่าตัวจริงของนักออกแบบชั้นนำ 5 คน ที่จะเล่าให้ฟังถึงปรัชญาการออกแบบของเขา ก่อนจะพาผู้ชมก้าวไปสู่เนื้อหาหลักของนิทรรศการที่เรียกว่า Forest of DNA
ในป่าดีเอ็นเอนี้ นำเสนอด้วยโครงสร้างคล้ายเสา ทำหน้าที่บอกเล่าคุณสมบัติอันโดดเด่นของงานออกแบบญี่ปุ่น เช่น เล็กลง-บางลง-เบาขึ้น, สารพัดประโยชน์, ใช้วัสดุคุ้มค่า ซึ่งคุณค่าเหล่านี้ปรากฏในงานออกแบบ 3 ชิ้นต่างยุคสมัย เช่น นิทรรศการแสดงกลักใส่ยาหรือ "อินโร" ในยุคฟิวดัลของญี่ปุ่น มาสู่วิทยุทรานซิสเตอร์ สมัยทศวรรษ 1960 และกล้องดิจิตอลยุคปัจจุบัน นี่คือตัวอย่างหนึ่ง ที่แสดงความรู้ที่อยู่เบื้องหลังงานออกแบบของญี่ปุ่น
ทั้งหมดจะมาถึงจุดสรุปที่เชื่อมโยงกับ "งานออกแบบของญี่ปุ่นในปัจจุบัน" ที่คัดเลือกมาแสดงโดยสมาคมออกแบบอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น (JIDA : Japan Industrial Design Association) ได้แก่ผลงานของคนรุ่นใหม่คือ เท็ตสึทาโร นากาบายาชิ เจ้าของรางวัล G Mark จากผลงานออกแบบฐานรองคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ก, ฟุมิเอะ ชิบาตะ นักออกแบบสาวเจ้าของดีไซน์ สตูดิโอเอส ที่เคยได้รับรางวัล Good design award ถึง 5 ครั้ง, นาโอโกะ ฮิโรตะ หนึ่งในนักออกแบบสตรีญี่ปุ่นที่ได้แสดงผลงานใน Tokyo Designers Block อันมีชื่อเสียง และทากุ ซาโตะ กับผลงานออกแบบผลิตภัณฑ์มากมาย เช่น Nikka Pure Malt, หมากฝรั่งลอตเต้ รสมินต์, หมากฝรั่งไซลิทอล, โทรศัพท์มือถือ NTT DoCoMo
ผลงานทุกชิ้น ทางญี่ปุ่นเขาจะส่งมา แล้วนำมาประกอบที่นี่ ไม่ได้ทำให้เราดูทั้งหมด ทุกชิ้นงานเขาต้องการการดูแลรักษาอย่างดี ซึ่ง TCDC สามารถสร้างระบบได้มาตรฐานโลกจริงๆ ไชยยง รัตนอังกูร ผู้อำนวยการ TCDC เล่าให้ฟังขณะนำชมเบื้องหลังการเตรียม งานที่ยังเต็มไปด้วยกล่องไม้ใหญ่เล็กวางกระจายไปทั่วพื้นที่ห้องนิทรรศการ 2
Japanization หรืออาทิตยานุวัตร ที่เข้ามาสัมพันธ์กับสังคมไทยอย่างเป็นมิตรและสร้างสรรค์ครั้งนี้ TCDC ได้พยายามนำเสนอกระบวนการสร้างสรรค์ความคิดที่ออกมาเป็นผลงานที่มีคุณลักษณะเฉพาะของญี่ปุ่นที่เป็นรหัสลับที่น่าค้นหาความหมายที่ลึกกว่าที่เคยเห็นและเป็นอยู่
นิทรรศการถอดรหัสญี่ปุ่นนี้ มุ่งวิเคราะห์งานออกแบบอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นในระดับโครงสร้าง และค้นหาดีเอ็นเอที่ให้แรงบันดาลใจและส่งอิทธิพลต่องานออกแบบญี่ปุ่นจนถึงปัจจุบัน
นอกจากนี้ตลอดนิทรรศการ ยังมีความรู้จากนักออกแบบระดับโลกของญี่ปุ่นที่จะมาเล่าให้ฟังถึงที่นี่ ได้แก่ ดร.ฮิโรมุ โอซาวา และเคียว โทโยกูจิ บรรยายเรื่อง "วัฒนธรรม สร้างสรรค์แบบญี่ปุ่น (Japan Creativity)" ดร.โอซาวา เป็นศาสตราจารย์และผู้อำนวยการสำนักงานประวัติศาสตร์เมืองประจำพิพิธภัณฑ์เอโดะ-โตเกียว ส่วน มร.โทโยกูจิ เป็นประธานสถาบันการออกแบบนากาโอกะ ที่เชี่ยวชาญด้านศิลปะการออกแบบที่มีผลงานระดับโลก
ทั้งหมดของนิทรรศการ DNA of Japanese Design จะสามารถกระตุกต่อมคิดของผู้ชมได้มากน้อยเพียงใด ขึ้นอยู่กับทัศนคติการเรียนรู้ต่ออาทิตยานุวัตรนั้นจะเข้มข้นและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับปัญญาตนเองมากหรือน้อยเพียงใด
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|