|

ETFกองแรกได้มาร์เก็ตเมกเกอร์เตรียมเปิดขายไอพีโอ15-21ก.พ.นี้
ผู้จัดการรายวัน(26 มกราคม 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
กองทุน ETF กองแรกคืบ บลจ.กสิกรไทย จับมือแบงก์ไทย-เทศ 4 ราย ตั้งเป็นมาร์เก็ตเมกเกอร์และผู้ร่วมค้าหน่วยลงทุน ดัน "กองทุนเปิดดัชนีพันธบัตรไทยเอบีเอฟ" เข้าจดทะเบียนซื้อขายในตลาดตราสารหนี้ภายในไตรมาสแรกของปี พร้อมเปิดไอพีโอครั้งแรก 15-21 ก.พ.นี้
นางดัยนา บุนนาค กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) กสิกรไทย จำกัด เปิดเผยถึงความคืบหน้าการจัดตั้งกองทุนเปิดดัชนีพันธบัตรไทยเอบีเอฟ (ABFTH) ว่า บริษัทได้แต่งตั้งผู้ดูแลสภาพคล่อง (มาร์เก็ตเมกเกอร์) และผู้จัดจำหน่ายหน่วยลงทุนสำหรับกองทุนดังกล่าวเรียบร้อยแล้ว ซึ่งมาร์เก็ตเมกเกอร์นั้นประกอบด้วย ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารไทยพาณิชย์และธนาคารดอยซ์แบงก์ สาขากรุงเทพฯ โดยมีธนาคารฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้แบงก์กิ้งคอร์ปอเรชั่น จำกัด ทำหน้าที่เป็นผู้ร่วมค้าหน่วยลงทุน
ทั้งนี้ กองทุนเปิดดัชนีพันธบัตรไทยเอบีเอฟ จะเปิดเสนอขายหน่วยลงทุนครั้งแรก (ไอพีโอ) ระหว่างวันที่ 15-21 ก.พ.นี้ หลังจากนั้นอีกประมาณ 1 เดือนก็จะสามารถนำเข้าจดทะเบียนซื้อขายในตลาดตราสารหนี้ (Bond Electronic Exchange - BEX) ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ได้ โดยการจดทะเบียนซื้อขายนั้น กองทุนจะจด 2 กระดาน ทั้งกระดานสำหรับนักลงทุนสถาบันและนักลงทุนรายย่อย เพื่อเพิ่มความสะดวกในการซื้อขายหน่วยลงทุนให้แก่ผู้ลงทุน ซึ่งจะอ้างอิงกับดัชนี IBOXX ที่จัดตั้งขึ้นโดย International Index Company ซึ่งเป็นดัชนีที่กองทุนประเภทนี้ในต่างประเทศใช้เป็๋นตัวอ้างอิง
นางดัยนากล่าวว่า รูปแบบการเสนอขายหน่วยลงทุนในช่วงไอพีโอของกองทุนนี้ ผู้ลงทุนสามารถขอซื้อได้ที่ตัวแทนผู้จัดจำหน่ายหน่วยลงทุนทั้งหมด โดยไม่มีการกำหนดวงเงินลงทุนขั้นต่ำ และผู้ลงทุนสามารถซื้อหน่วยลงทุนได้ตามจำนวนเงินที่ต้องการ ทั้งนี้ การเสนอขายหน่วยลงทุนของกองทุนดังกล่าวจะต่างกับกองทุนรวมทั่วไป โดยผู้จัดการกองทุนจะเสนอขายหน่วยลงทุนให้แก่ผู้ร่วมค้าหน่วยลงทุนและผู้ดูแลสภาพคล่องในตลาดรองในอัตราขั้นต่ำ 10 ล้านบาท หลังจากนั้น ก็ให้ผู้ร่วมค้าหน่วยลงทุนและผู้ดูแลสภาพคล่องนั้น กำหนดราคาขายให้แก่ผู้ลงทุนในช่วงไอพีโอ โดยที่ไม่ต้องผ่านบลจ. ซึ่งวิธีดังกล่าวจะสามารถช่วยลดต้นทุนในการบริหารจัดการได้
นอกจากนี้ นักลงทุนยังสามารถซื้อขายหน่วยลงทุนในตลาดตราสารหนี้ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (BEX) ซึ่งจะได้รับความสะดวกในการตัดสินใจลงทุน เนื่องจากสามารถทราบข้อมูลและกำหนดราคาซื้อขายได้เลยในขณะนั้น โดยไม่ต้องรอการคำนวณมูลค่าหน่วยลงทุน (NAV) ที่เดิมจะต้องรู้ผล ณ สิ้นวัน
สำหรับผลตอบแทนของกองทุนดังกล่าว ณ ปัจจุบันที่กองทุนลงทุนอยู่แล้ว ให้ผลตอบแทนประมาณ 5.25% จากการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลหรือพันธบัตรขององค์กรระหว่างประเทศที่ออกเป็นเงินบาท ซึ่งเฉลี่ยแล้วอายุของตราสารที่กองทุนเข้าไปลงทุนจะอยู่ที่ประมาณ 5 ปี แต่ทั้งนี้ ก็จะขึ้นอยู่กับการเปลี่ยนแปลงของอัตราดอกเบี้ยด้วย ซึ่งจะมีผลทำให้มีผลต่อการดำหนดราคาได้ นอกจากนี้ กองทุนยังมีนโยบายจ่ายเงินปันผลปีละ 2 ครั้งด้วย
อย่างไรก็ตาม ในเรื่องความเสี่ยงนั้น กองทุนดังกล่าวจะลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลเป็นหลัก ซึ่งมีเครดิตระดับสากลและมีความเสี่ยงต่ำอยู่แล้ว ในขณะที่สภาพคล่องของกองทุน หลังจากจดทะเบียนในตลาด BEX แล้ว บลจ.จะไม่รับซื้อคืน แต่จะมีผู้ร่วมค้าและมาร์เก็ตเมกเกอร์เป็นตัวแทนให้ผู้ลงทุนสามารถซื้อขายได้ โดยในการกำหนดราคาของกองทุนอาจจะต่างกัน ตามการเปลี่ยนแปลงของราคา
สำหรับความล่าช้าของกองทุนจากเดิมที่มีแผนจะเข้าจดทะเบียนตั้งแต่ปลายปี 2548 ที่ผ่านมานั้น นางดัยนา กล่าวว่า เนื่องจากกองทุนดังกล่าวเป็นนวัตกรรมการลงทุนแบบใหม่ มีรายละเอียดที่สลับซับซ้อนค่อนข้างมาก อีกทั้งต้องติดต่อกับหลายหน่วยงาน โดยเฉพาะธนาคารกลางของทั้ง 11 ประเทศที่เป็นสมาชิกของโครงการกองทุนพันธบัตรเอเชียระยะที่ 2 ที่ต้องตรวจสอบและแก้ไข ทั้งนี้ เพื่อให้กองทุนออกมาดีที่สุด อย่างไรก็ตาม ในระหว่างนั้นเราก็ได้เตรียมความพร้อมสำหรับนักลงทุนในประเทศ ด้วยการจัดสัมมนาให้ความรู้ทั้งสถาบันและรายย่อยเอง
ทั้งนี้ กองทุนเปิดดัชนีพันธบัตรไทยเอบีเอฟ เป็นกองทุนรวมที่จัดตั้งขึ้นในรูปแบบ Exchange Traded Fund หรือ ETF เป็นครั้งแรกในประเทศไทย โดยจัดตั้งขึ้นภายใต้โครงการกองทุนพันธบัตรเอเชีย ระยะที่ 2 ที่เกิดจากความร่วมมือของธนาคารกลางชาติต่างๆ ในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกและแปซิฟิค (East Asia and Pacific) จำนวน 11 แห่ง ได้แก่ ออสเตรเลีย จีน ฮ่องกง อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น เกาหลี มาเลเซีย นิวซีแลนด์ ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และประเทศไทย เพื่อส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาตลาดตราสารหนี้ และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของนักลงทุน
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|