พิพิธภัณฑ์บ้านแฮรีส

โดย อรวรรณ บัณฑิตกุล บัณรส บัวคลี่
นิตยสารผู้จัดการ( กุมภาพันธ์ 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

เด็กๆ ทุกคนของโรงเรียนปรินส์รอยรุ่นแล้วรุ่นเล่า ต้องเรียนรู้เรื่องราวความเป็นมาย้อนอดีต 100 ปีนามพระราชทาน และ 120 ปี การก่อตั้งโรงเรียนจากอาคารพิพิธภัณฑ์ในโรงเรียน

บ้านแฮรีส ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ.2448 เป็นอาคารหลังแรกที่สร้างด้วยไม้สักทั้งหลังในรูปแบบสถาปัตยกรรมแบบโคโลเนียล เป็นอาคารแห่งประวัติศาสตร์ที่ใช้เป็นสถานที่รับเสด็จสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เมื่อวันที่ 2 มกราคม 2449

เดิมทีเป็นบ้านพักและอาคารอำนวยการของศาสนาจารย์วิลเลียม แฮรีส ต่อมาได้ใช้เป็นอาคารดนตรี และห้องซ้อมดุริยางค์ จนกระทั่งเมื่อวันวิปโยคที่ 24 พฤษภาคม 2523 เกิดอุบัติเหตุเพลิงไหม้บ้านแฮรีส และเครื่องดนตรีดุริยางค์ นับเป็นการสูญเสียครั้งสำคัญ

แต่เป็นที่น่ายินดีอย่างมาก ที่โรงเรียนได้ตระหนักถึงคุณค่าทางด้านสถาปัตยกรรมและประวัติศาสตร์ จึงได้ก่อสร้างบ้านแฮรีสขึ้นใหม่ในบริเวณที่ตั้งเก่า โดยอนุรักษ์สถาปัตยกรรมแบบเดิมไว้ทุกประการ และได้ทำพิธีเปิดบ้านหลังใหม่นี้ เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2536

เสวินทร์ จิรคุปต์ อธิบายให้ฟังว่าเมื่อปี 2540 พงษ์ ตนานนท์ ดำริที่จะก่อตั้งพิพิธภัณฑ์โรงเรียนขึ้นมา เพื่อเป็นสื่อการเรียนรู้ของนักเรียน ตามกฎหมายปฏิรูปการศึกษา และปรินส์รอยได้ทำพิพิธภัณฑ์ในโรงเรียนเป็นแห่งแรกในภาคเหนือ ต่อมาในโรงเรียนดาราวิทยาลัย และโรงเรียนยุพราชวิทยาลัยก็ตั้งขึ้น และตอนนี้ในโรงเรียนวัฒโนทัยกำลังจะมีเช่นกัน เพราะแต่ละโรงเรียนต่างมีประวัติศาสตร์อันยาวนาน

เสวินทร์เป็นครูที่นี่มาประมาณ 35 ปี และเป็นหัวหน้าส่วนของพิพิธภัณฑ์ เป็นศิษย์เก่าปรินส์รอยอีกคนหนึ่งที่มีความผูกพันกับสถานที่แห่งนี้อย่างมาก

หลักฐานทางประวัติศาสตร์ ซึ่งโดดเด่นอย่างมากของบ้านแฮรีสคือภาพเหตุการณ์สำคัญต่างๆ ที่มีมากมายถึง 500 ภาพ รวมทั้งบันทึกประจำวันที่มิชชันนารีรุ่นก่อนได้เก็บรักษาเอาไว้จนเป็นข้อมูลที่สำคัญให้คนรุ่นหลังได้ศึกษา

เรื่องราวในอดีตเริ่มต้นจากการเดินทางของพวกมิชชันนารีอเมริกันที่เข้ามาในเมืองเชียงใหม่ในสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งทรงอนุญาต ให้มิชชันนารีมาเผยแพร่ศาสนาที่หัวเมืองได้ ครอบครัวของศาสนาจารย์ดาเนียล แมคกิลวารี และโซเฟีย (ลูกสาวของหมอบรัดเลย์) และบุตร ได้เดินทางถึงเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2410

ท่านและครอบครัวพักอาศัยศาลา "ย่าแสงคำ" ซึ่งเป็นศาลาที่ข้าราชการและชาวเมืองระแหงผู้หนึ่งสร้างไว้เป็นที่พักร้อนของคนเดินทาง (อยู่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำปิง บริเวณตลาดวโรรสในปัจจุบัน) ศาสนาจารย์แมคกิลวารีได้นำยาควินิน หรือยาขาวแก้ไข้มาลาเรียมาแจกพร้อมเล่าเรื่องคริสต์ศาสนาแก่คนที่มุงดู "กุลวาเผือก" ด้วยความอยากรู้อยากเห็นไม่เว้นแต่ละวัน (จากประวัติโรงเรียนปรินส์ รอยแยลส์ วิทยาลัย โดยประสิทธิ์ พงศ์อุดม นักวิจัยฝ่ายประวัติศาสตร์สภาคริสตจักรแห่งประเทศไทย) ต่อมาประมาณ 1 ปี ครอบครัวของศาสนาจารย์โจนาธาน และมาเรีย วิสสัน ก็ได้ตามมาสมทบ

กิจกรรมหลักอย่างหนึ่งของพวกมิชชันนารีที่เข้ามาคือการจัดการศึกษาแบบตะวันตก ซึ่งบิดาของเจ้าดารารัศมีได้พระราชทานที่ดินตรงวังสิงห์คำให้สร้างโรงเรียนชายวังสิงห์คำขึ้น หรือเรียกกันว่า Chiengmai Boys School ในปี 2431 มีครูคนเมืองรุ่นแรกๆ คือครูโอ๊ะ ครูบุญทา และครูน้อยพรหม การเรียนการสอนใช้ภาษาล้านนาเป็นหลัก โดยมีศาสนาจารย์เดวิด จี คอลลินส์ เป็นผู้รับผิดชอบ

ปี 2442 ศาสนาจารย์คอลลินส์ ได้ออกไปรับผิดชอบโรงพิมพ์ของมิชชันนารีอาจกล่าวได้ว่าท่านเป็นบิดาการพิมพ์ของล้านนา สมัยนั้นจะพิมพ์พระคัมภีร์ คำมนัสการเป็นภาษาพื้นเมือง โดยให้ศาสนาจารย์แฮรีส เป็นคนรับผิดชอบในเรื่องโรงเรียนแทน

ต่อมาเนื่องจากสถานที่โรงเรียนเดิมเริ่มคับแคบ ในขณะเดียวกัน บริษัทอังกฤษได้เสนอขายที่นา 20 ไร่ ตั้งอยู่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำปิงในราคา 2,600 รูปี แฮรีสได้ตัดสินใจซื้อที่ดินผืนนี้ (ที่ตั้งโรงเรียนในปัจจุบัน) และสร้างบ้านพักขึ้นในปี 2448 (ปัจจุบันคือบ้านแฮรีส)

ปี 2449 ได้ขยายมาตั้งโรงเรียนและซื้อที่ดินที่อยู่ติดกันเพิ่มขึ้นอีก 71 ไร่ รวมแล้วโรงเรียนมีที่ดินรวม 90 ไร่ ปัจจุบันมูลนิธิแห่งสภาคริสตจักรในประเทศไทยเป็นเจ้าของและผู้รับใบอนุญาต

ปี 2455 ได้เริ่มใช้ภาษาไทยเป็นหลักในการสอนแทนคำเมือง เพื่อเป็นการตอบสนองต่อกระแสการรวมชาติในสมัยรัชกาลที่ 5-6

ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 (2484-2488) โรงเรียนปรินส์ รอยแยลส์ วิทยาลัย ถูกรัฐบาลยึดครองในฐานะเป็นทรัพย์สินของชาติศัตรู ภายหลังสงครามโลก ดร.แคนเนธ อี แวลล์ รับโรงเรียนคืนจากรัฐบาล และได้เป็นผู้จัดการ ขณะที่อาจารย์หมวก ไชยลังการณ์ เป็นอาจารย์ใหญ่ เป็นยุคที่ปรินส์รอยได้รับความนิยมอย่างมาก เพราะเป็นโรงเรียนที่ก่อตั้งโดยชาวสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นฝ่ายชนะสงคราม

สำหรับพิพิธภัณฑ์บ้านแฮรีสมีทั้งหมด 6 ห้อง ห้องแสดงที่ 1 เริ่มจากเรื่องราวที่เป็นภาพของมิชชันนารีผู้บุกเบิก

ห้องแสดงที่ 2 เป็นห้องจักรีวงศ์ มีภาพพระบาทสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมโรงเรียน

ห้องแสดงที่ 3 เป็นห้องกิจกรรมครูและนักเรียน ภาพกิจกรรมลูกเสือ กิจกรรมกีฬาดนตรี และภาพประวัติศาสตร์ของบุคคลที่มาร่วมกิจกรรมของโรงเรียน

ห้องแสดงที่ 4 เป็นห้องทำงานของวิลเลียม แฮรีส มีโต๊ะทำงาน ถ้วยชา ชุดรับแขก ตู้เก็บเอกสาร ตู้เย็นโบราณ กล้องส่องสำรวจ เป็นต้น

ห้องแสดงที่ 5 ห้องนอนพ่อครู แม่ครูประกอบด้วยเตียงนอน ตู้เสื้อผ้า โต๊ะแต่งกาย ชั้นใส่เอกสารภาพโบราณ ฯลฯ

ห้องแสดงที่ 6 เป็นห้องโถงใหญ่ แสดงภาพเชียงใหม่ในอดีต ประวัติการก่อสร้างอาคาร อุปกรณ์ เครื่องใช้ในครัวเรือน

จากระเบียงชั้น 2 เมื่อมองออกไปจะเห็นต้นจามจุรีที่แผ่ร่มเงาต้นใหญ่ เห็นอาคารเรียนโบสถ์ และโรงละครที่สร้างสมัยพ่อครูแฮรีส ซึ่งสถานที่แต่ละแห่ง ล้วนมีเรื่องเล่าที่เชื่อมโยงร้อยรัดประวัติศาสตร์กับปัจจุบันไว้ด้วยกันอย่างน่าประทับใจ


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.