|
ภาพฝันการพัฒนาร่วมฟันฝ่าไฟใต้
โดย
ปิยะโชติ อินทรนิวาส
นิตยสารผู้จัดการ( กุมภาพันธ์ 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
ท่ามกลางไฟใต้ที่ระอุเดือดระลอกใหม่ ต่อเนื่องมานานกว่า 2 ปีมานี้ จากการตระเวนสนทนากับนักธุรกิจในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ของ "ผู้จัดการ" พร้อมๆ กับได้มีโอกาสลงพื้นที่สำรวจความต้องการของทั้งภาครัฐและเอกชนบางส่วน สามารถประมวลเป็น "ภาพฝัน" แห่งการพัฒนาร่วมกันได้ดังนี้
ภาพฝันร่วมกันของผู้ประกอบการทั้ง 3 จังหวัดที่เพิ่งเกิดขึ้นมาใหม่ และเป็นรูปเป็นร่างชัดขึ้นช่วงต้นเดือนมกราคม 2549 นี้เองก็คือ ต้องการให้รัฐบาลประกาศให้พื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้เป็น "เขตเศรษฐกิจฉุกเฉินพิเศษ" มุ่งเน้นให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่ โดยออกเป็น พ.ร.ก.รองรับ เช่นเดียวกับที่เพิ่งประกาศใช้ พ.ร.ก.บริหารราชการฉุกเฉินที่เน้นทางด้านความมั่นคงเป็นหลัก
นี่คืออีกช่องทางดิ้นรนของผู้ประกอบการในพื้นที่ เพราะก่อนหน้านี้ ครม.รัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ก็เคยประกาศให้ 5 จังหวัดชายแดนใต้เป็น "เขตเศรษฐกิจพิเศษ" มาแล้ว อีกทั้งที่ผ่านๆ มาก็มีเสียงเรียกร้องความเป็นพื้นที่พัฒนาทางเศรษฐกิจแบบ "พิเศษ" มาโดยตลอด
จังหวัดปัตตานี ทั้งภาครัฐและเอกชนเห็นควรกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาไปในทิศทางเดียวกันว่า ให้เป็น "ศูนย์กลางอาหารฮาลาล" ที่จะได้รับการเกื้อหนุนด้วยความเป็น "ศูนย์กลางอิสลามศึกษา" จึงมีการผลักดันโครงการสร้างนิคมอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล ขึ้นมารองรับอย่างเป็นรูปธรรมในเวลานี้
จังหวัดยะลา ยุทธศาสตร์การพัฒนาถูกกำหนดให้เป็น "ศูนย์กลางการคมนาคม" ซึ่งจะรองรับการส่งออกสินค้าจากทั้ง 3 จังหวัด ชายแดนใต้ผ่านทางเบตงสู่ท่าเรือปีนัง ขณะที่เกื้อหนุนด้วยความเป็น "ศูนย์การค้าชายแดน" "ศูนย์กลางอุตสาหกรรมการเกษตร" รวมถึงหนุนส่งด้วย "ศูนย์กลางการศึกษานานาชาติ" ซึ่งในอย่างหลังนี้เน้นใช้เบตงเป็นฐาน
จังหวัดนราธิวาส ยุทธศาสตร์การพัฒนาถูกกำหนดให้เป็น "ศูนย์กลางคมนาคม" เช่นกัน แต่มุ่งการส่งออกทางด้านแว้งสู่ท่าเรือปีนัง โดยปั้น "ศูนย์กลางอุตสาหกรรมการเกษตร" ขึ้นรองรับพร้อมๆ กับดันตั้งนิคมอุตสาหกรรมขึ้นมาใหม่ในสุไหงโก-ลก อีกทั้งให้เป็น "ศูนย์การค้าชายแดน" ที่ใช้สุไหงโก-ลกและตากใบเป็นฐาน ตามด้วย "ศูนย์กลางการศึกษา" ที่มุ่งเน้นในวิชาชีพด้วยการผลักดันตั้งมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ขึ้นมาใหม่
เป็นที่น่าสังเกตว่า ก่อนหน้านี้ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ถูกกำหนดให้เป็นเขตเศรษฐกิจบริวารของจังหวัดสงขลา โดยดูได้จากการเกิดขึ้นของโครงการสามเหลี่ยมเศรษฐกิจ อินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย (IMT-GT) แม้กระทั่งแผนแม่บทการพัฒนาพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ก็ถูกกำหนดขึ้นมาภายใต้กรอบคิดนี้ ด้วยผู้นำภาครัฐสมัยนั้นต้องการใช้สงขลาฉุดรั้งการพัฒนา 3 จังหวัดชายแดนใต้ให้ก้าวพ้นวังวนแห่งปัญหาไฟใต้ให้ได้ในที่สุด
ทว่าภายหลังเกิดเหตุไฟใต้ระลอกใหม่ปะทุขึ้นมาในช่วงกว่า 2 ปีมานี้ รัฐบาลภายใต้การนำของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และพลพรรคไทยรักไทยกลับเปลี่ยนวิธีคิดใหม่ โดยปลดแอก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ออกไปให้พ้นจากจังหวัดสงขลา ส่วนหนึ่งเพราะต้องการสกัดไฟใต้ไม่ให้ลุกลามเข้าสู่เมืองหลวงของภาคใต้ตอนล่างอย่างหาดใหญ่-สงขลา และอีกประเด็นคือต้องการจำกัดวงไฟใต้ให้มีขอบเขตที่ชัดเจนเฉพาะใน 3 จังหวัดชายแดนใต้
ณ วันนี้ 3 จังหวัดชายแดนใต้ จึงรวมตัวกันเป็นกลุ่มจังหวัดภายใต้กรอบคิดการพัฒนาเศรษฐกิจที่เป็นเอกภาพ จึงไม่แปลกที่ภาพฝันของผู้ประกอบการทั้ง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จึงเป็นภาพฝันเดียวกันและแนบแน่นเชื่อมโยงกันในวันนี้
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|