ทางออกไฟใต้ ในสายตา 2 แกนนำองค์กรภาคเอกชน

โดย ปิยะโชติ อินทรนิวาส
นิตยสารผู้จัดการ( กุมภาพันธ์ 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

ทวี ปิยะพัฒนา กรรมการผู้จัดการบริษัท แปซิฟิก แปรรูปสัตว์น้ำ หรือ PFP มีฐานที่ตั้งอยู่ใน จ.สงขลา และยังเป็นประธานสภาอุตสาหกรรมภาคใต้ รวมถึงเป็นกรรมการบริหารสภาธุรกิจชายแดนใต้ กล่าวถึงผลกระทบจากไฟใต้ครั้งใหม่ช่วง 2 ปีที่ผ่านมาต่ออุตสาหกรรมในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า แม้จะไม่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากไฟใต้เหมือนกันกับภาคธุรกิจ ท่องเที่ยวและบริการ แต่ก็มีปัญหาอื่นๆ รุมเร้ามากมาย โดยเฉพาะปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ที่จัดอยู่ในขั้นวิกฤติก็ว่าได้

"ปัญหาเรื่องสถานการณ์ชายแดนใต้ตรงนี้เราชินไปแล้ว แต่สำหรับอุตสาหกรรมนี่จะมีปัญหาจริงๆ ก็คือ เราขาดคน ราคายางมันดี คนก็หันไปกรีดยาง แถมแรงงานต่างถิ่นที่เคยเป็น คนอีสาน ตอนนี้แถวบ้านเขาตั้งแต่ลพบุรี สระบุรี ไปจนถึงโคราช อุตสาหกรรมมันขยายตัวมหาศาล ค่าจ้างแรงงานมันก็เท่าๆ กับบ้านเรา อย่างนี้เขา ก็ย้ายกลับไปทำงานที่รกรากเดิมกันหมด ส่วนเรื่องกลัวปัญหาไฟใต้นี่ก็มีส่วนอยู่บ้าง"

ในส่วนของวิธีการหาทางออกให้กับปัญหานี้ ทวีให้ความเห็นว่า ในเมื่อแรงงานในระบบที่เป็นคนไทยเองขาดแคลน ทางออกที่น่าจะเป็นไปได้ก็คือการดึงแรงงานต่างด้าวเข้ามาทดแทน โดยเฉพาะจากประเทศเพื่อนบ้านอย่างลาว เขมร และพม่า โดยในส่วนของพม่านั้นก็ยังติดปัญหาเรื่องคนกลุ่มน้อยที่ทางการเขาไม่ยอมรับ นอกจากนั้นโดยภาพรวมๆ ขั้นตอนการเคลื่อนย้ายแรงงานก็ยังเป็นปัญหาหนักในประเทศเหล่านั้นอยู่

ในด้านการดึงแรงงานจากประเทศอินโดนีเซียนั้น ภาคธุรกิจของเขาเคยเสนอว่าบ้านเขามีแรงงานอยู่มากสามารถป้อนมาให้ได้ แต่ในส่วนของเราเองยังชะลอไว้ก่อน เนื่องจากเกรงว่า เมื่อนำเข้ามาแล้วอาจจะเกิดปัญหาข้างเคียง กล่าวคือ อาจจะเป็นเสมือนการไปช่วยเติมเชื้อไฟใต้เข้าไปอีกก็เป็นได้

อีกช่องทางหนึ่งในการแก้ปัญหาขาดแรงงาน คือทำโครงการประสานกับสถาบันการศึกษาต่างๆ เพื่อดึงนักศึกษาเข้ามาสู่ระบบแรงงาน ซึ่งมุ่งเน้นการเรียนรู้ประสบการณ์ในการทำงาน ควบคู่ไปกับการสร้างรายได้เลี้ยงตัวเองตั้งแต่สมัยที่ยังศึกษาอยู่ ซึ่งเรื่องนี้ PFP ก็ได้พยายามทำมาจนประสบผลแล้วพอสมควร แต่ก็อยากให้มีการยกระดับจากที่รัฐมุ่งเน้นระดับอาชีวะให้ขึ้นสู่ระดับปริญญาตรีด้วย เพราะ แท้จริงแล้วอุตสาหกรรมต้องการแรงงานระดับกลางกว่า 70% ของแรงงานทั้งระบบ

ทวีให้ความเห็นว่า โดยภาพรวมแล้ว อุตสาหกรรมในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ แม้จะยังไม่กระทบกระเทือนอะไรมากนักจากไฟใต้คราวนี้ แต่ก็เปรียบได้กับเหมือนอยู่ในแดนสนธยาพอสมควร เพราะมีปัญหารุมเร้าหลายทาง การจะขยับขยายการลงทุนก็ทำได้ยาก การจะผลักดันให้เกิดการลงทุนใหม่ๆ เข้าไปในพื้นที่ก็ยิ่งยากเข้าไปใหญ่ ก็ต้องประคองตัวกันอยู่ให้ได้

"ภาคอุตสาหกรรมที่นิ่งอยู่นี่ ถ้ารัฐบาลไม่แก้ปัญหาไฟใต้ให้จบโดยเร็ว มีแต่จะยิ่งได้รับผลกระทบหนักขึ้น และมันอาจจะเป็นเหมือนกับเมืองร้างในที่สุด"

ด้านสุรชัย จิตภักดีบดินทร์ เลขาธิการสภาธุรกิจชายแดนใต้ กล่าวว่า สภาธุรกิจชายแดนใต้ เป็นองค์กรที่เล่นบทบาทการเชื่อมเศรษฐกิจการค้า การลงทุน อุตสาหกรรม การท่องเที่ยว และการบริการระหว่างประเทศในเครือข่ายความร่วมมือโครงการสามเหลี่ยมเศรษฐกิจ อินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย (IMT-GT) ดังนั้นช่องทางหนึ่งที่จะช่วยเหลือผู้ประกอบการในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ได้ ก็คือ การผลักดันให้เกิดการเชื่อมเครือข่ายผู้ประกอบการเป็นกลุ่มคลัสเตอร์ขึ้นในสาขาธุรกิจต่างๆ

"โดยเฉพาะในเรื่องของคลัสเตอร์ของการท่องเที่ยว ถ้าทำให้เกิดขึ้นมาได้ เชื่อว่าจะช่วยเหลือผู้ประกอบการในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ได้มากมายทีเดียว ต่อไปอาจจะมีการขายท่องเที่ยวในพื้นที่ IMT-GT แบบเป็นแพ็กเกจ แล้วก็นำผู้ประกอบการในชายแดนใต้ให้ได้มีส่วนร่วมด้วย ซึ่งก็จะช่วยทั้งภาพลักษณ์และสร้างรายได้ให้เกิดขึ้นจริงในพื้นที่ นอกจากนั้นก็ต้องพยายามผลักดันให้เกิดคลัสเตอร์ในสาขาธุรกิจอื่นๆ ต่อไปเรื่อยๆ"

นอกจากนี้ในส่วนของสภาธุรกิจชายแดนใต้เองก็จะพยายามผลักดันให้มีการเพิ่มจังหวัดที่เข้าร่วมโครงการ IMT-GT ในส่วนของฝ่ายไทยเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากเดิมเริ่มต้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้คือ สงขลา สตูล ปัตตานี ยะลาและนราธิวาส ขณะนี้เพิ่มเป็น 8 จังหวัดแล้ว โดยเพิ่มพัทลุง ตรัง และนครศรีธรรมราช ต่อไปมีเป้าหมายจะให้ครอบคลุมทั้ง 14 จังหวัดในที่สุด

"สิ่งนี้เป็นเหมือนการเปิดพรมแดนให้กับพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้ได้มีช่องทางเพิ่มพันธมิตรขึ้นเรื่อยๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งก็จะเป็นการเพิ่มโอกาสให้กับผู้ประกอบการในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้นั้นเอง" สุรชัยกล่าว


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.