ช่วยไม่ถูกทาง แถมยังซ้ำเติม

โดย ปิยะโชติ อินทรนิวาส
นิตยสารผู้จัดการ( กุมภาพันธ์ 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

เป็นที่ยอมรับกันว่า เหตุการณ์ปล้นปืนค่ายปิเหล็งเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2547 คือจุดเริ่มต้นไฟใต้ที่ถูกทำให้ลุกโชนหนใหม่ ก่อนที่จะถูกเติมเชื้อไฟมาอย่างต่อเนื่องกว่า 2 ปี ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ใหญ่ๆ อย่างกรณีกรือเซะ ตากใบ ดับไฟโจมตีเมืองยะลาและนราธิวาส หรือเหตุระเบิด ฆ่าตัดคอ ยิงรายวัน ฯลฯ ซึ่งล้วนแล้วแต่ขย่มภาวะเศรษฐกิจทั้ง 3 จังหวัดให้ทรุดลงต่อเนื่อง

ขณะที่ผู้ประกอบการธุรกิจส่วนใหญ่ก็ทยอยกันย่ำแย่ลงเรื่อยๆ ทุนหาย กำไรหด และก็มีจำนวนหนึ่งเปิดหมวกลาไปแล้ว ปัญหาสำคัญที่โถมทับคือ จากปัญหาไฟใต้ได้ทำให้ต้นทุนการประกอบการเพิ่มขึ้นในหลากหลายด้านอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน โดยเฉพาะมาตรการรักษาความปลอดภัยของผู้ประกอบการเองที่ต้องเข้มข้นขึ้น ไม่ว่าจะเป็นต้องติดตั้งแสงไฟส่องสว่างเพิ่มติดตั้งทีวีวงจรปิด เพิ่มพนักงานรักษาความปลอดภัย ค่าเบี้ยประกันเพิ่ม ฯลฯ ขณะที่รายได้กลับสวนทางลดลงอย่างน่าเป็นห่วง

ช่วงแรกทั้งภาครัฐและธุรกิจเอกชนในพื้นที่อาจจะยังงุนงงด้วยกันทั้งคู่ แต่เมื่อพ้นระยะหนึ่งย่อมต้องตั้งตัวได้ ภาคธุรกิจเอกชนเริ่มมีเสียงเรียกร้องขอความช่วยเหลือ แต่ก็ถูกกลบด้วยเสียงของคนกลุ่มอื่นที่อาจจะตะโกนได้ดังกว่า หรือรัฐเลือกที่จะได้ยินเสียงของคนกลุ่มอื่นมากกว่า ซึ่งความช่วยเหลือแก่ผู้ประกอบการธุรกิจก็ถูกปล่อยให้ล่วงเลยเป็นเวลากว่า 1 ปี

เกี่ยวกับเรื่องนี้ศิริชัย ปิติเจริญ ประธานหอการค้าจังหวัดปัตตานี ได้ฉายภาพให้เห็นว่า ช่วงแรกรัฐมองความมั่นคงเป็นหลัก ให้หยุดยิงหยุดระเบิดกันก่อนแล้วค่อยว่ากัน แต่เมื่อเวลาล่วงไปนานจึงเริ่มมองเห็นแล้วว่าถ้ารออย่างนั้นนักธุรกิจตายหมด แล้วปัญหาที่ตามมันจะหนักหนาสาหัสกว่าเดิม

การขยับตัวของภาครัฐเพื่อช่วยเหลือภาคธุรกิจชายแดนใต้มาเป็นผลครั้งแรกเอาเมื่อเวลาผ่านไปแล้วกว่าปี คือเป็นผลช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2548 ด้วยมาตรการอัดซอฟท์โลนวงเงิน 2 หมื่นบาท อัตราดอกเบี้ยต่ำเพียง 1.5% ให้กับผู้ประกอบการในพื้นที่ เพื่อต่อลมหายใจจากเงินกู้ก้อนเดิม หรือเป็นการเติมเงินโอดีดอกเบี้ยต่ำให้ได้ไปหมุนเงินเพื่อผ่อนคลายความตึงเครียด

แต่หากพิจารณาจากสถานการณ์แวดล้อมแล้วจะพบว่า วงเงินซอฟท์โลนก้อนนี้ที่ชายแดนใต้ได้มา มีพลังหนุนช่วยอย่างแรงกล้าไปจากเหตุสึนามิถล่ม 6 จังหวัดอันดามัน เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2547 เพราะพลันที่กิจการของนักธุรกิจย่านอันดามันถูกทำลายลง เสียงเรียกร้องความช่วยเหลือก็ก้องกังวาน ขณะที่ภาครัฐก็ตื่นตัวช่วยเหลือเนื่องจากภาพแห่งการทำลายล้างของคลื่นยักษ์ยังไม่จางหาย แถมผลพวงความเสียหายก็ปรากฏเด่นชัดจนน่าหวาดวิตกยิ่ง วงเงินซอฟท์โลนที่รัฐอนุมัติต่อลมหายใจให้ผู้ประกอบการใน 6 จังหวัดฝั่งอันดามันจึงแผ่อานิสงส์ไปถึงผู้ประกอบการ 3 จังหวัดชายแดนใต้ด้วย

"มาช้า ยังดีกว่าไม่มา" ศิริชัยฮัมเพลงท่อนฮุกนี้เมื่อพูดถึงความช่วยเหลือของรัฐ โดยเฉพาะซอฟท์โลนดอกเบี้ยต่ำที่ต้องนับว่าสอดรับความต้องการของบรรดาผู้ประกอบการธุรกิจอย่างมาก

ด้านความช่วยเหลืออื่นๆ นั้น หลายมาตรการดูเหมือนจะดี แต่กลับไปเพิ่มปัญหาใหม่คือ รัฐช่วยหาบริษัทรับประกันภัยให้ 5 แห่งหลังจากที่ถูกปฏิเสธ แต่ผู้ประกอบการกลับต้องจ่ายเบี้ยประกันเพิ่มจากปกติอีก 0.5-1% หรือเสนอให้เพิ่มเงินเดือนให้กับพนักงานเป็น 1 หมื่นบาท และให้นำเงินส่วนที่เพิ่มไปหักค่าใช้จ่ายได้ ซึ่งเป็นการเพิ่มต้นทุนให้กับผู้ประกอบการ เป็นต้น

มาตรการดูเหมือนจะดีแต่ก็มีปัญหาอื่นมาแทรกซ้อน อาทิ ความช่วยเหลือผู้ประกอบการรับเหมาก่อสร้างที่ประสบปัญหาไฟใต้อย่างหนักเช่นกัน งานก่อสร้างของทางราชการในพื้นที่ให้บวกเม็ดเงินเพิ่มจากราคากลางไปอีก 5% และสามารถขอขยายเวลาได้ทันทีแบบอัตโนมัติ 180 วัน แต่มาตรการควบคุมวัตถุระเบิดของโรงโม่หิน ส่งผลให้เกิดภาวะหินขาดแคลนอย่างหนักและราคาก็แพงขึ้นหลายเท่านั้น รวมถึงรัฐยังมีมาตรการดึงแรงงานไปจากภาคเอกชนด้วย

มาตรการที่นอกจากจะไม่ช่วยเหลือผู้ประกอบการเท่าที่ควรแล้ว กลับยังเป็นการซ้ำเติมปัญหาอย่างหนักหน่วงให้อีกด้วยคือ โครงการจ้างงานเร่งด่วน 4 หมื่นอัตรา ให้เงินเดือน 4,500 บาท/เดือน ของกองอำนวยการเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กอ.สสส.จชต.) ที่เริ่มในปี 2548 วัตถุประสงค์ช่วยแก้ปัญหาคนว่างงาน แต่กลับสร้างความเดือดร้อนให้ผู้ประกอบการทั่วถึง เพราะเป็นการดึงแรงงานจำเป็นจากภาคธุรกิจออกไปเป็นแรงงานส่วนเกินของภาครัฐ ซึ่งปัญหานี้หลังหมดโครงการจะมีการทบทวนใหญ่ในปี 2549 นี้

สำหรับความเคลื่อนไหวของภาครัฐก่อนหน้านั้นแม้จะมอบหมายให้รัฐมนตรีคนไหนรับผิดชอบ ก็แทบไม่เคยมองเห็นตัวตนหรือให้ความสำคัญกับผู้ประกอบการภาคธุรกิจ จนล่วงมาช่วงกลางปี 2548 หรือกว่า 1 ปีมาแล้วจึงมีภาพที่ค่อนข้างจะชัดเจนขึ้น เริ่มจากรัฐบาลมอบให้จาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.) ลงพื้นที่เยียวยาผู้เดือดร้อน ส่วนหนึ่งก็ได้มีการประสานกับภาคธุรกิจ

ตามด้วย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ลงมาพบตัวแทนองค์กรภาคเอกชน 3 จังหวัดชายแดนใต้ที่โรงแรม ซี.เอส. ปัตตานีช่วงเดือนสิงหาคม 2548 และเมื่อวันที่ 6 มกราคม 2549 ที่ผ่านมา สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะหัวหน้าทีมเศรษฐกิจได้นัดหารือกับตัวแทนนักธุรกิจ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่สมคิดก็ติดภารกิจไม่สามารถพบได้ โดยขอรับข้อมูลและเลื่อนนัดที่จะพบกันออกไปในเวลานี้

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้สิ่งที่ผู้ประกอบการธุรกิจ 3 จังหวัดชายแดนใต้คาดหวังจากรัฐบาลเพื่อช่วยในการบรรเทาปัญหามาตลอดคือ มาตรการทางด้านภาษี ให้ยกเว้นทั้งในส่วนของภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีเงินได้นิติบุคคล ออกไปประมาณ 3-5 ปี

นอกจากนี้แล้วที่เพิ่งเป็นข้อเสนอใหม่ยื่นให้กับรัฐบาลเมื่อครั้งนัดประชุมกับสมคิด วันที่ 6 มกราคม 2549 ได้แก่ ขอให้ผลักดันพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้เป็นเขตเศรษฐกิจฉุกเฉินพิเศษ ซึ่งขอให้ออกเป็นพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) โดยให้ล้อกับ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินที่รัฐบาลผลักดันจนเป็นผลและประกาศใช้ทับพื้นที่ทั้ง 3 จังหวัดอยู่ในเวลานี้

"ถามว่า รัฐบาลจริงใจไหมในการช่วยเหลือด้านเศรษฐกิจ ผมมองแล้วว่า ไม่จริงใจ อย่างเรื่องมาตรการภาษีพยายามอ้างเรื่องระเบียบ และบอกว่าเนื่องจากเหตุการณ์เราก็ขาดทุนอยู่แล้วก็ไม่ต้องเสียภาษี ปัดโธ่ เวลาปกติกำไรก็เก็บเขา หากเขาจะทำกำไรบ้างในช่วงนี้ก็ควรชดเชยในโอกาสที่เขาเสียไปก่อนหน้านี้บ้าง นี่มันต้องเอาชนะเขาอยู่เรื่อย เอาเป็นว่าตอนนี้เขาเชื่อรัฐเพียงแค่ครึ่งเดียว เหตุผลก็จาก 2 ปีที่ผ่านมาเสนออะไรรัฐบาลไปแทบไม่ได้รับการสนใจ" พิทักษ์กล่าวและเสริมว่า

อย่างกรณีนายกฯ ทักษิณทัวร์นกขมิ้นมาปัตตานี ถามเขากับตัวเลยว่า อยากให้ชาวปัตตานีได้อะไร คำตอบคือขอตัดถนนบายพาส สายใหม่มูลค่า 140 ล้านบาท เพื่อระบายการจราจรเขตเมือง ทำเป็นถนนคนเดินบางครั้ง นายกฯ ทักษิณรับปากให้ 2 ปีงบประมาณ และของบ 300 ล้านบาท สร้างหอดูเดือนประกอบพิธีอิสลาม เป็นประภาคาร รวมถึงศูนย์แสดงแหล่งอารยธรรมและสินค้าโอทอป ซึ่งก็ได้รับอนุมัติด้วยปากอีก

"แต่พอกลับไปไม่กี่วันมีหนังสือแจ้งกลับมาหาผม ตามที่ ฯพณฯ ได้มาตรวจราชการในพื้นที่ภาคใต้ แล้วท่านได้นำเสนอโครงการอย่างนั้นอย่างนี้ ครม.รับทราบแล้ว แต่ว่าไม่มีงบประมาณให้ แล้วอย่างนี้ถามว่าผมเชื่อได้แค่ไหน" พิทักษ์กล่าวเจือเสียงหัวเราะ

"สิ่งที่ต้องการเรียกร้องคือ ความจริงใจในการที่จะแก้ปัญหาของรัฐบาลต่อพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ให้มีรูปแบบ มีความชัดเจน จับต้องได้ ไม่ใช่พูดไปแล้วก็โยกย้ายไปเรื่อยๆ อย่างเปลี่ยนแม่ทัพ เปลี่ยนผู้บัญชาการ โยกผู้ว่าฯ เปลี่ยนนายอำเภอ เปลี่ยนตำรวจ คนบางคนรู้พื้นที่ดีๆ ก็ไปเปลี่ยนเขาออกไป คนใหม่มาต้องศึกษาใหม่ กำลังที่เข้ามาหมุนเวียนในพื้นที่ เมื่อทำท่าจะรู้ปัญหาก็เอาออกไป เอาชุดใหม่มา ไม่รู้เรื่องวัฒนธรรม ศาสนา พื้นที่ ก็ไปกระทบกระทั่งกัน หรือก็ต้องมานั่งนับหนึ่งกันใหม่เป็นอย่างนี้กันอยู่ตลอด แล้วเมื่อไรเหตุการณ์บ้านเมืองจะสงบกันได้เสียที"


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.