สงครามอันยืดเยื้อ


นิตยสารผู้จัดการ( กุมภาพันธ์ 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

จีนยังคงท้าทายความพยายามของสหรัฐฯ และยุโรป ที่ต้องการจะหยุดยั้งการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาในจีน

Burberry แบรนด์แฟชั่นหรูของอังกฤษเป็นหนึ่งในบริษัทต่างชาติ 5 แห่งที่กำลังฟ้องร้อง Silk Street Market ซึ่งเป็นที่รู้กันดีว่า เป็นตลาดขายสินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาอันโด่งดังในกรุงปักกิ่ง และฟ้องร้องผู้ค้า 5 รายในตลาดดังกล่าว รวมทั้งเจ้าของตลาดด้วย ในข้อหาขายสินค้าที่ทำปลอมสินค้าของตน (ส่วนอีก 4 บริษัทคือ Gucci, Chanel, Prada และ Louis Vuitton)

งานนี้ Burberry เรียกร้องค่าเสียหายหลายแสนดอลลาร์ และการเยียวยาความเสียหายในรูปแบบอื่นๆ

Zhang Yongping เจ้าของ Silk Market ยืนยันว่า เขาบริสุทธิ์ และไม่เคยอนุญาตให้มีการขายสินค้าปลอมในตลาดของเขา

สินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาที่ขายเกลื่อนในตลาดดังกล่าว และท่าทีที่ไม่รับรู้ของเจ้าของตลาด ทำให้ผู้เชี่ยวชาญบางรายเห็นว่า การต่อสู้กับการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาในจีนเป็นเรื่องที่สิ้นหวัง

รัฐบาลและบริษัทชาติตะวันตกต่างรู้สึกผิดหวังอย่างมาก กับการเพิกเฉยของรัฐบาลจีนในการปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา แต่แทนที่จะละความพยายาม ชาติตะวันตกกลับยิ่งเพิ่มแรงกดดันให้จีนปราบปรามสินค้าปลอมมากขึ้น

ในเดือนตุลาคมปีที่แล้ว สหรัฐฯ ได้เริ่มรุกจีนผ่านองค์การการค้าโลก โดยเรียกร้องให้จีนเปิดเผยรายละเอียดนโยบายการปราบปรามสินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา และเปิดเผยข้อมูลการปราบปรามแต่ละกรณีรวมทั้งผลของการปราบปรามภายในสิ้นเดือนมกราคม

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าสหรัฐฯ จะเพียรพยายามดำเนินการทางกฎหมายต่อการละเมิดสินค้าของสหรัฐฯ ในจีนมานานหลายปี แต่ปัญหาการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาในจีนกลับยิ่งเลวร้ายลงเรื่อยๆ ในการประชุมโต๊ะกลมว่าด้วยการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งจัดขึ้นที่สถานทูตสหรัฐฯ ในกรุงปักกิ่ง ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักสอบสวนกลางสหรัฐฯ หรือ FBI ระบุว่า บริษัทสหรัฐฯ ได้รับความเสียหายคิดเป็นมูลค่า 4 หมื่นล้านดอลลาร์ในปี 2004 เพียงปีเดียว เนื่องมาจากการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาในต่างประเทศ โดยส่วนใหญ่เกิดในจีน

แทบไม่มีสิ่งใดที่บริษัทจีนจะไม่ลอกเลียนแบบ ตั้งแต่ซอฟต์แวร์ ภาพยนตร์ เสื้อผ้า ชิ้นส่วนรถยนต์ การออกแบบชิปคอมพิวเตอร์ แม้กระทั่งยาปฏิชีวนะ หลายปีก่อนสินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญายังจำกัดวงอยู่เพียงตลาดภายในประเทศจีน แต่ขณะนี้ จีนถึงกับส่งออกสินค้าที่เกิดจากการขโมยความคิดของคนอื่น และมีแต่จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

ตัวเลขจากสำนักงานสิทธิบัตรและเครื่องหมายการค้าของสหรัฐฯ ระบุว่า มูลค่าสินค้าปลอมที่ถูกส่งออกจากจีนไปยังสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 47 ในปี 2004 จากมูลค่าประมาณ 134 ล้านดอลลาร์ในปี 2003 และประมาณร้อยละ 67 ของสินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาทั้งหมดที่ศุลกากรสหรัฐฯ ยึดได้นั้น มาจากจีน

ปัญหาการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาในจีนมีลักษณะเฉพาะที่ไม่เหมือนที่อื่นใดในโลก เพราะรัฐบาลจีนมีมุมมองที่ไม่เหมือนใครว่า ทรัพย์สินทางปัญญาไม่ใช่สิทธิส่วนบุคคล หากแต่เป็นสมบัติของชาติ ซ้ำยังส่งเสริมการ "ขอหยิบยืม" เทคโนโลยี (โดยเฉพาะเทคโนโลยีจากต่างประเทศ) เพื่อนำมาสร้างเศรษฐกิจให้แข็งแกร่ง

อินเทอร์เน็ตซ้ำเติมให้ปัญหาการปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาในจีน ทวีความยุ่งยากซับซ้อนยิ่งขึ้นไปอีกเป็นร้อยเท่า นักศึกษาจีนทั่วประเทศสามารถดาวน์โหลดรายการโทรทัศน์และภาพยนตร์เรื่องใหม่ล่าสุดของตะวันตกผ่านเครือข่ายคอมพิวเตอร์ขนาดใหญ่ โดยเชื่อว่าตนไม่ได้ทำอะไรผิด เพราะพวกเขาใช้เครือข่ายคอมพิวเตอร์ที่ดำเนินงานโดยมหาวิทยาลัย

การขโมยความคิดคนอื่นเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้บริษัทจีนเสียค่าใช้จ่ายน้อยกว่าคู่แข่งจากตะวันตก ในด้านการคิดค้นนวัตกรรมและผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ รายงานปี 2003 ของบริษัทบัญชี PriceWaterhouseCoopers ระบุว่า จีนใช้เงินน้อยกว่าร้อยละ 6 ของค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยพัฒนากับการวิจัยขั้นพื้นฐาน ในขณะที่บริษัทสหรัฐฯ ใช้จ่ายในเรื่องเดียวกันนี้ถึงประมาณร้อยละ 19

บริษัทจีนยังทุ่มเทเวลาและเงินไปกับการปรับแก้เทคโนโลยีที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน เพียงเพื่อให้สามารถหลีกเลี่ยงการจ่ายค่าธรรมเนียมและค่าใบอนุญาต โดยได้รับการสนับสนุนทางอ้อมจากเจ้าหน้าที่ของจีนบางราย ซึ่งระบุว่า ต่างชาติเก็บค่าธรรมเนียมสิทธิบัตรที่ขูดรีดและไม่เป็นธรรม

บริษัทต่างชาติยังคงพยายามจะปกป้องแบรนด์สินค้าของตนในจีนอย่างยากลำบาก อย่างไรก็ตาม Victor Kho เจ้าหน้าที่สอบสวนของฮ่องกง ซึ่งช่วยประสานงานปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาให้แก่บริษัทต่างชาติอย่างเช่น Mercedes และ Ford ชี้ว่า การปราบปรามสินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาในจีน มีความคืบหน้าแต่คงจะไม่ทันใจต่างชาติ เพราะมีคนจำนวนมากในจีนที่ต้องการรวยลัด และการลอกเลียนแบบสินค้าก็เป็นวิธีที่ง่ายดายที่สุด


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.