|

คลังลั่นคุมFTAธุรกิจประกัน
ผู้จัดการรายวัน(25 มกราคม 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
คลังขึงขังเอฟทีเอการเงินไทย-สหรัฐ เผยล่าสุดสหรัฐรับข้อเสนอที่ไทยต้องการจำกัดธุรกิจการเงินไปพิจารณา โดยเฉพาะธุรกิจประกัน ขณะที่มะกันต้องการล็อกสัญญา "นริศ" มั่นใจท่าทีไม่มีกลับลำ เตรียมหารืออีกรอบปลาย ก.พ.นี้
นายนริศ ชัยสูตร ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยถึงความคืบหน้า การเจรจาเปิดเสรีทางด้านการเงินระหว่างไทยกับสหรัฐอเมริกา ว่า ได้มีการหารือถึงเรื่องการเข้าถึงตลาด (Market Access) ซึ่งถือว่ามีความคืบหน้าไประดับหนึ่งแล้ว เพราะมีการยื่นข้อเสนอรายการบริการที่จะเปิดเสรีระหว่างกัน
ทั้งนี้ ในส่วนของสหรัฐฯ ต้องการให้ไทยเปิดเสรีการเงินอย่างเต็มที่ และโดยเร็วที่สุด ขณะที่ไทย ก็จะมีการกำหนดกรอบเวลาของการเปิดเสรีไว้ โดยพิจารณาตามความพร้อมของธุรกิจในประเทศ และรายการบริการที่ตกลงว่าจะเปิด (List Offer) จะเป็นเพียงกรอบการตกลงไว้ก่อน ไม่ใช่ข้อตกลงในลักษณะของข้อสัญญาระหว่างกัน หากจะเปิดรายการใดต้องมาเทียบกับกรอบใหญ่ของการเปิดเสรีการค้าไทย-สหรัฐฯ ก่อน
นอกจากนี้ ทางไทยยังได้ยื่นข้อเสนอ ให้ประเทศไทยสามารถควบคุมเครื่องมือทางการเงินใหม่ๆ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งทางสหรัฐฯได้รับเรื่องไปพิจารณาแล้ว และรอมีกฎหมายกำกับธุรกิจการเงินที่ยังไม่มีกฎหมายกำกับดูแลอยู่ในปัจจุบัน เช่น ธุรกิจ ลิสชิ่ง แฟกตอริ่งเสียก่อน รวมทั้งได้ย้ำให้ทางสหรัฐฯ จัดการเรื่องกฎหมาย หรือ กฎระเบียบ ของมลรัฐต่างๆ เพื่อให้ธุรกิจไทยสามารถเข้าไปดำเนินการในรัฐต่างๆ ของสหรัฐฯได้เช่นเดียวกับรัฐบาลกลาง
นายนริศ กล่าวว่า ธุรกิจที่สหรัฐฯ สนใจ คือ ธุรกิจประกันภัย ประกันชีวิต หลักทรัพย์ และกองทุน แม้ว่าธุรกิจประกันของสหรัฐฯ อย่างเอไอเอได้ครองส่วนแบ่งทางการตลาดในประเทศไทยอยู่แล้วในปัจจุบันก็ตาม แต่ในอนาคตอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นได้ ดังนั้น ทางสหรัฐฯจึงต้องการ ทำข้อตกลงเปิดเสรีเพื่อเป็นการล็อกสัญญา เพื่อไม่ให้มีการเปลี่ยนแปลงในอนาคต
ทั้งนี้ การเปิดเสรีภาคการเงิน จะทำให้ผู้บริโภคในประเทศได้ประโยชน์ เพราะการแข่งขันอย่างเสรี จะทำให้ผู้บริโภคมีทางเลือกที่หลากหลาย อย่างไรก็ตาม ในแง่ของผู้ผลิต อาจจะต้องมีการปรับตัวบ้าง ซึ่งโดยส่วนตัวยังมองว่า ธุรกิจของไทยยังมีข้อได้เปรียบในแง่เป็นเจ้าของภาษา ซึ่งจะทำให้ได้เปรียบในเรื่องของภาษา และมีความเชี่ยวชาญด้านตลาดในประเทศ ตลอดจนความเข้าใจวัฒนธรรมของคนไทยมากกว่า ดังนั้น เชื่อว่า สหรัฐฯ น่าจะเข้ามาในลักษณะผู้ร่วมทุน
สำหรับการเจรจาเปิดเสรีภาคการเงินระหว่างไทย-สหรัฐ ครั้งต่อไป จะมีขึ้นในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2549 นี้ ที่ประเทศสหรัฐฯ
สำหรับท่าทีของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยืนยันว่า ไทยยังไม่มีความพร้อมในการเปิดเสรีทางการเงินไทยสหรัฐ เนื่องจาก ธปท.ต้องการให้ธนาคารเพื่อรายย่อยจัดตั้งขึ้นในไทยและมีความแข็งแรงก่อน เนื่องจากอยู่ระหว่างการจัดตั้งตามแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (มาสเตอร์แพลน) ได้เพียง 1 ปีเท่านั้น โดยเห็นว่าที่ผ่านมาไทยได้เปิดเสรีทางการเงินหลายด้านและมากแล้ว เช่น การอนุญาตให้ต่างชาติเข้ามาถือหุ้นในสถาบันการเงินไทยตอนที่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 หรือขยายสัดส่วนการถือหุ้นในธุรกิจประกันชีวิตจากเดิม 49% เป็น 51% รวมทั้งการเปิดให้ตั้งสาขาธนาคารในไทยได้ถึง 4 สาขา นอกจากนี้ ธปท.เห็นว่า การเปิดเสรีทางด้านเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศจำเป็นต้องเป็นลักษณะค่อยเป็นไป เนื่องจากเรื่องนี้มีผลกระทบต่อค่าเงินบาทให้ผันผวนได้ง่าย
โดยนางธาริษา วัฒนเกส รองผู้ว่าการสายเสถียรภาพสถาบันการเงิน กล่าวว่า ธปท.จะเปิดเสรีทางการเงินเมื่อสถาบันการเงินไทยมีความเข้มแข็งและพร้อมก่อนที่จะเริ่มนับระยะเวลาในการเข้าช่วงเวลานั้น แต่ตามกติกาแล้วต้องเปิดภายใน 3 ปี เช่นเดียวกับ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ผู้ว่าการ ธปท.ระบุว่า จุดยืนของ ธปท.ยังเหมือนเดิม และจะเริ่มนับระยะเวลาการเข้าสู่เสรีทางการเงินตามที่ ธปท.ต้องการเท่านั้น ซึ่งถือว่าเป็นการนับแบบรักชาติ
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|