เผยเลื่อนดีลโออิชิ หวั่นภาษีย้อนหลัง


ผู้จัดการรายวัน(25 มกราคม 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

เผยสาเหตุการเลื่อนดีลซื้อขายหุ้นโออิชิ เป็นวันที่ 26 มกราคมนี้ เพราะ ปัญหาเอกสารไม่พร้อม อีกทั้ง “เจริญ” ยื่นข้อเสนอให้ “ตัน” วางหลักทรัพย์ค้ำประกันเพิ่มขึ้น หลังเซ็นสัญญา หวั่นถูกเรียกเก็บภาษีย้อนหลัง เงินค้ำประกันเดิมที่วางไว้อาจจะไม่พอ พร้อมทั้งเตรียมส่งคนเข้านั่งในบอร์ด 6 คน

แหล่งข่าวจากวงการไฟแนนซ์ กล่าวถึงสาเหตุที่มีการเลื่อนการลงนามการซื้อขายหุ้นโออิชิ ระหว่างกลุ่มของนายตัน ภาสกรนที ให้กับผู้ถือหุ้นรายใหม่ ที่มีกระแสข่าวว่าเป็นกลุ่มนายเจริญ สิริวัฒนภักดี เจ้าของเบียร์ช้าง เป็นผู้ซื้อ รายใหญ่แต่อาจจะใช้บริษัทโฮลดิ้งคัมปานีเข้ามาซื้อไม่ใช่มาซื้อในนามบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ มาร์เกตติ้ง จำกัด รวมกับกลุ่มทุนต่างประเทศที่นำโดยนาย Ma Wah Yan ในฐานะตัวแทนของกลุ่มผู้จะซื้อ จากวันที่ 20 ม.ค. 2548 เป็น วันที่ 26 ม.ค. 2548 ว่า เป็นเพราะเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการแต่งตั้งคณะกรรมการของบริษัทชุดใหม่ยังไม่เรียบร้อยต้องมีการทำในรายละเอียดอีกมาก

นอกจากนี้ยังมีประเด็นสำคัญที่ทำให้ต้องเลื่อนการเปิดเผยดีลซื้อขายครั้งนี้ ก็คือ กลุ่มที่ปรึกษาทางการเงินทั้งในด้านกฎหมายและธุรกิจของฝ่ายผู้ซื้อต้องการให้นายตัน ภาสกรนที ผู้ขายวางหลักทรัพย์ค้ำประกันหลังการเซ็นสัญญาการซื้อขายหุ้นเพิ่มขึ้นจากเดิม ทั้งนี้กลุ่มผู้ซื้อมีความกังวลความเสี่ยงเกี่ยวกับการเรียกเก็บภาษีย้อนหลังหากเกิดขึ้น เกรงว่าจำนวนเงินที่เคยให้วางค้ำประกันเดิมจะไม่พอ เนื่องจากประเมินตัวเลขความเสี่ยงออกมาใหม่ค่อนข้างสูง ทำให้ฝ่ายนายตัน ต้องกลับไปหารือกับทีมที่ปรึกษาทางด้านกฎหมายใหม่อีกครั้งก่อน

นอกจากนี้ยังมีประเด็นทางด้านการแต่งตั้งกรรมการที่เข้ามาบริหารกิจการภายหลังการซื้อขายหุ้นในครั้งนี้ เนื่องจากสัดส่วนการแบ่งจำนวนกรรมการของกลุ่มทุนใหม่อาจจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงหากจะให้มีการวางหลักทรัพย์ค้ำประกันในครั้งนี้

โดยทางฝ่ายนายเจริญต้องการที่จะส่งคนของตัวเองเข้ามานั่งเป็นกรรมการจำนวน 6 คน ซึ่งเป็นไปตามสัดส่วนของการถือหุ้นใหญ่อยู่แล้ว จากเดิมที่บอร์ดบริษัทโออิชิมีทั้งหมด 12 คน โดยมีชาวต่างชาติเพียงคนเดียวเป็นชาวสิงคโปร์ คือ นายเฮสเตอร์ ชิว อดีตผู้บริหารเบอร์หนึ่งของเคเอฟซีและพิซซ่าฮัทในประเทศไทย ซึ่งทางฝ่ายผู้ถือหุ้นกลุ่มเดิมจะต้องลดจำนวนกรรมการลงเหลือ 6 คนเท่ากันเพื่อเปิดทางให้กับคนของนายเจริญ

"เชื่อว่าดีลครั้งนี้น่าจะจบในวันที่ 26 ม.ค. แน่นอน หลังจากที่เลื่อนมาแล้วครั้หนึ่งเพราะทุกฝ่ายกำลังจับตาดูว่าจะมีผลออกมาอย่างไร ฝ่ายคุณตัน น่าจะมีการแถลงข่าวในรายละเอียดดังกล่าวในช่วงเย็นเนื่องจากไม่อยากให้มีปัญหาเกี่ยวกับราคาหุ้นในกระดาน พร้อมทั้งต้องการให้เรื่องนี้จบลงโดยเร็ว” แหล่งข่าวกล่าว

ทั้งนี้หลังจากการขายหุ้นล็อตใหญ่ออกไปแล้วกลุ่มของนายตัน ภาสกรนที จะยังคงเหลือปริมาณหุ้นโออิชิอยู่ทั้งในนามส่วนตัวและกลุ่ม รวมกัน 600-7000 ล้านหุ้นประหรือประมาณ 10%

นายอุดมศักดิ์ ชาครียวณิชย์ กรรมการผู้อำนวยการ บริษัทหลักทรัพย์ เอเซียพลัส จำกัด (มหาชน) หรือ ASP กล่าวว่า ความคืบหน้าในเรื่องของการเซ็นสัญญาการซื้อขายหุ้นให้กับพันธมิตรรายใหม่ของ บมจ.โออิชิ กรุ๊ป หรือ OISHI นั้นในขณะนี้ได้มีการเตรียมเอกสารและรายละเอียดต่าง ๆ ไว้เรียบร้อยหมดโดยที่ต้องมีการเลื่อนการลงนามในดีลดังกล่าวเพื่อเตรียมเอกสารให้มีความรัดกุมมากขึ้นท่านั้น

โดยในวันที่ 26 ม.ค. 48 จะมีการลงนามกับพันธมิตรอย่างแน่นอน โดยบล.เอเชียพลัส เป็นที่ปรึกษาในการซื้อขายหุ้นในครั้งนี้

อนึ่ง เมื่อวันที่ 15 ธ.ค. 48 นางสาวสุนิสา สุขพันธุ์ถาวร รองกรรมการผู้จัดการ ได้แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ว่านายตัน ภาสกรนที ในฐานะผู้จะขายได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจกับ Mr. Ma Wah Yan ในฐานะตัวแทนของกลุ่มผู้จะซื้อ โดยผู้จะขายตกลงที่จะขายหุ้นที่ตนถืออยู่ในบริษัทฯและตกลงจะรวบรวมหุ้นของบริษัทฯ จากผู้ถือหุ้นอื่นเป็นจำนวนรวมทั้งสิ้นไม่น้อยกว่า103,125,000 หุ้น หรือเท่ากับ 55% ของหุ้นที่จำหน่ายทั้งหมดของบริษัทฯ

ทั้งนี้ กำหนดราคาซื้อขายเบื้องต้นที่หุ้นละ 32.50 บาท โดยราคาซื้อขายดังกล่าวอาจมีการปรับลดลงตามผลการตรวจสอบกิจการของบริษัทฯ แต่ทั้งนี้ ไม่ว่ากรณีใดจะไม่ต่ำกว่าหุ้นละ 30 บาท โดยผู้จะขายและกลุ่มผู้จะซื้อตกลงที่จะทำการลงนามในสัญญาซื้อขายหุ้นภายในวันที่ 20 มกราคม 2549


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.