ดีลขายชินฯ ขายชาติ เลี่ยงภาษี - บ่อนทำลายความมั่นคง


ผู้จัดการรายวัน(24 มกราคม 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

"ทักษิณ”ระบุ ลูกเสียสละทำเพื่อพ่อ เบื้องหลังตกลงขายหุ้นชินคอร์ป ให้สิงคโปร์ เดียว หงุดหงิดถูกถามเลี่ยงภาษี “ทนง” การันตีไม่ต้องเสียภาษี ก.ล.ต.ช่วยกระทืบนักลงทุนรายย่อยปล่อยทำเทนเดอร์ออฟเฟอร์ไม่เป็นธรรม ละเว้นสอบอินไซเดอร์ รุมแฉใช้อำนาจรัฐเปิดทางเลี่ยงทุกอย่างเอื้อประโยชน์ตน ตระกูลชินวัตรรับเนื้อๆแต่ประเทศไม่ได้แม้แต่สตางค์แดง รายได้ของรัฐหายวับ 2 หมื่นล้าน ชี้ชัดทุจริตเชิงนโยบาย –ขายชาติ-บ่อนทำลายความมั่นคง

ในที่สุดการซื้อขายหุ้นมูลค่าสูงที่สุดในประวัติศาสตร์ธุรกิจของไทยระหว่างบมจ.ชินคอร์ปอเรชั่น หรือ ชินคอร์ป ของตระกูลชินวัตรของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กับ กองทุนสิงคโปร์ ก็ลงตัวด้วยมูลค่ากว่า 7.3 หมื่นล้านบาท

“เป็นการตัดสินใจของลูกๆ ทำเพื่อพ่อ เพื่อให้พ่ออยู่ในวงการเมืองอย่างสบายใจ” พ.ต.ท.ทักษิณ ยอมรับว่าขายหุ้นของตระกูลชินวัตรให้กับกองทุนเทมาเส็กจากสิงคโปร์เป็นครั้งแรกหลังจากก่อนนี้บ่ายเบี่ยงที่จะตอบคำถามต่อสาธารณะมาตลอดนับตั้งแต่นายสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์ผู้จัดการและผู้ดำเนินรายการเมืองไทยรายสัปดาห์สัญจรได้เปิดประเด็นเป็นคนแรกเมื่อปลายปีก่อน (อ่าน "ทักษิณ"โกหกจนนาทีสุดท้าย ประกอบ)

พ.ต.ท.ทักษิณ กล่าวอีกว่า สาเหตุที่ลูกๆของเขาตัดสินใจขายหุ้นดังกล่าวก็เพื่อไม่ต้องการให้มีข้อครหาว่าตัวเขามีผลประโยชน์ทับซ้อน ซึ่งเลือกจะขายให้เทมาเส็คแม้จะมีผู้เสนอซื้อเข้ามาหลายรายก็เพราะ มองถึงเรื่องการดำรงอยู่การขายให้กองทุนย่อมจะดีกว่าบริษัทโดยเป็นการขายผ่านตลาดหลักทรัพย์ฯ

เมื่อได้เงินมาแล้วลูกๆจะนำเงินไปลงทุนธุรกิจอื่นหรือไม่ พ.ต.ท.ทักษิณ กล่าวว่า เขายังไม่ได้คิด แต่จะทำงานด้านมูลนิธิการกุศลบ้าง

“เขายังอายุน้อย เขายังไม่ใช่เป็นนักธุรกิจรุ่นใหญ่ เขายังไม่คิดที่จะทำธุรกิจใหญ่ๆ โตๆ ยังไม่คิดหรอก” นายกฯกล่าว

**ประเทศไม่ได้แม้แต่สตางค์แดงเดียว

สำหรับประเด็นที่มีข้อสงสัยในหลักการซื้อขายหุ้นชินคอร์ปจะต้องเสียภาษีหรือไม่นั้นพ.ต.ท.ทักษิณ กล่าวย้อนถามว่า ขายผ่านตลาดหลักทรัพย์ใครเสีย

“การลงทุนไปการลงทุนมา ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร การลงทุนเขาไม่ได้มาลงทุนฟรี เขาก็เอาเงินมา เราก็อยากได้เงินลงทุน เศรษฐกิจประกอบด้วยเงินลงทุนจากต่างประเทศ การท่องเที่ยว การส่งออก การก่อสร้าง การเกษตร ทุกอย่างเป็นเศรษฐกิจหมด” พ.ต.ท.ทักษิณ กล่าวและแสดงอารมณ์ฉุนเฉียวทันทีเมื่อถูกถามถึง ความล่าช้าของการตกลงซื้อขายที่ผ่านมาว่าเป็นเพราะรอให้ พ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2549 (ฉบับที่ 2) ซึ่งมีการแก้ไขในสาระสำคัญ คือ การขยายเพดานต่างชาติเข้ามาถือหุ้นได้เกิน 25 % เป็น 49 % และ สามารถเพิ่มสัดส่วนกรรมการบริษัทได้มากกว่าเดิมที่เคยกำหนดไว้แค่ 1 ใน 3 บังคับใช้ โดยกม.ฉบับนี้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันศุกร์ที่ 20 ม.ค.2549 และเริ่มบังคับใช้ตั้งแต่วันเสาร์ที่ 21 ม.ค.2549 ที่ผ่านมา

พ.ต.ท.ทักษิณ กล่าวว่า ไม่เกี่ยวเลย “ถามหาเรื่อง คนละเรื่อง ไม่เกี่ยวเลย ไม่มีอะไร พวกนี้ชอบหาเรื่อง ไม่รู้คิดอะไรไม่รู้แปลก”

ขณะที่ นายทนง พิทยะ รมว.คลัง กล่าวว่า ดีลนี้ถือเป็นการซื้อขายหุ้นมูลค่ามากที่สุดเท่าที่เคยเห็นมา แต่อย่างไรก็ตาม ไม่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับเงินได้จากส่วนต่างของราคาหุ้น(Capital Gain) ซึ่งกฎหมายดังกล่าวเปิดกว้างให้กับบุคคลธรรมดาที่มีการซื้อขายหุ้นผ่านตลาดหลักทรัพย์ฯทุกคน ไม่เฉพาะกรณีของตระกูลชินวัตรเท่านั้น

“ไม่ใช่เรื่องของการยกเว้น หรือไม่ยกเว้น แต่เป็นการซื้อขายผ่านตลาดที่ไม่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จาก Capital Gain อยู่แล้ว ซึ่งกรณีนี้ผมก็แค่รับทราบว่า มีการเทรดผ่านตลาดเป็นล็อตใหญ่ ซึ่งไม่ต้องเสียภาษีตามกฎหมาย”

ส่วนกรณีที่มีข่าวการซื้อขายออกมาก่อนหน้านี้อาจจะเข้าข่ายใช้ข้อมูลภายในหรือ อินไซต์เดอร์เทรดดิ้ง ต้องไปถามนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ฯ เพราะตนเองไม่ทราบ แต่เข้าใจว่าทางผู้ซื้อและผู้ขายต้องการทำให้เรื่องเป็นความลับอยู่แล้ว ซึ่งการเปิดเผยข่าวก็มาจากสื่อมวลชนเองทั้งนั้น และเกิดขึ้นตั้งแต่การเจรจายังไม่แล้วเสร็จ

**เบื้องหลังดีล-ใช้อำนาจรัฐเอื้อประโยชน์ตน

แม้พ.ต.ท.ทักษิณ จะปฎิเสธว่าไม่ได้เตรียมการใช้ช่องทางกฎหมายหรือ หลบหลีกเลี่ยงการเสียภาษี แต่การขายหุ้นให้กับสิงคโปร์ กำลังถูกมองไปถึงข้อครหาเรื่อง"ผลประโยชน์ทับซ้อน-ข้ามชาติ" อีกทั้ง ความไม่โปร่งใส หรือ การมีอภิสิทธิ์ในเรื่องต่างๆเช่น การปกปิดข้อมูลข่าวสาร ความไม่รับผิดชอบต่อผู้ถือหุ้นรายย่อย

น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ (คปส.) กล่าวว่าการขายหุ้นของกลุ่มชินนั้นเป็นเรื่องที่ผิดปรกติมาตั้งแต่ต้นแล้ว มีเงื่อนงำที่ซับซ้อนและมีการวางแผนตะเตรียมการมาเป็นระยะเวลานานเกี่ยวข้องกับการใช้อำนาจรัฐ เพราะหากย้อนกลับไปดูการทำงานของ พ.ต.ท.ทักษิณ ในการเข้ามาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีระยะเวลา 4-5 ปีนี้มีการออกแบบกฏหมายให้สอดรับกับธุรกิจของตัวเองหรือไม่ เหมือนกับปูพื้นฐานมาแล้วเรียบร้อย มีการแปรสัญญาและแก้กฏหมายให้ชาวต่างชาติเข้ามาถือหุ้นสิ่งที่เกิดขึ้นจะทำให้ประชาชนเสียหายทั้งขึ้นทั้งร่อง

เลขาธิการคปส.กล่าวว่า การขายหุ้นชินครั้งนี้ มันไม่ง่ายเหมือนการขายเสื้อผ้า การทำแบบนี้ทำให้เห็นถึงผลประโยชชน์ทับซ้อน เพราะกระบวนการที่ทำการโอนถ่ายหุ้นก็ไม่มีใครอธิบายอะไรได้ โดยเฉพาะคำกล่าวของ พ.ต.ท.ทักษิณที่ว่า “เป็นการตัดสินใจของลูกชาย เป็นการทำเพื่อพ่อ เพื่อให้อยู่ในวงการเมืองได้อย่างสบายใจว่า” นั้นนายกรัฐมนตรีก็พูดไปได้ เพราะการพูดแบบนี้เปรียบเสมือนเอามีดมาทิ่มแทงหัวใจของประชาชน พูดเหมือนไม่รู้ว่าประชาชนรู้ทันตนเองแล้ว และพยายามเบี่ยงเบนประเด็นให้กลายเป็นเรื่องตลกยิ่งเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสม เพราะเงินและผลกำไรที่กลุ่มชินได้ทั้งหมดนั้นมาจากประชาชนที่อุดหนุนและใช้บริการเครือข่ายโทรศัพท์ของกลุ่มชินเป็นแสน ๆ ล้านบาท การที่นายกฯมาดำรงตำแหน่งเป็นระยะเวลานานก็ทำให้กำไรของกลุ่มชินเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก และเป็นประวัติการณ์ดังนั้นเรื่องนี้จึงไม่ใช่ปัญหาของครอบครัวนายกรัฐมนตรีเพียงกลุ่มเดียวเท่านั้น แต่เป็นปัญหาของคนไทยทั้งชาติด้วย

นายโสภณ สุภาพงษ์ ส.ว.กทม. ให้สัมภาษณ์ในรายการ “สภาท่าพระอาทิตย์”ออกอากาศทางASTV ทีวีระบบดาวเทียม เห็นว่า การแก้ไข พ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคม ถือเป็นการขายชาติ ขายอนาคตลูกหลานไทยให้กับต่างชาติอย่างแท้จริง

“คลื่นความถี่ถือว่าเป็นทรัพยากรธรรมชาติ เป็นของสาธารณะ ซึ่งครอบคลุมไปถึงวิทยุ โทรทัศน์ ซึ่งในต่างประเทศไม่ว่าจะเป็นสหรัฐฯ ออสเตรเลีย เป็นต้น ก็กำหนดให้ต่างชาติถือได้ไม่เกิน 25 %เช่นเดียวกัน”

นายโสภณ กล่าวว่า ในฐานะที่เคยคัดค้านกฎหมายฉบับนี้เมื่อปี 2544 ฝ่ายรัฐบาลพยายามเสนอกฎหมายประกอบกิจการโทรคมนาคมมาแล้ว ซึ่งในตอนนั้น ส.ว.และ ส.ส.ต่างมีความเห็นตรงกันอย่างท่วมท้นว่าไม่ควรให้ต่างชาติเข้ามาถือหุ้นเกิน 25 %

“แต่อยู่ดีๆ รัฐบาลก็มาแก้ไขให้ต่างชาติถือหุ้นได้ถึง 49 เปอร์เซ็นต์ มันไม่มีเหตุผลอธิบายเพียงพอ เหมือนมีคำสั่งพิเศษ” ส.ว.กทม.ผู้นี้กล่าว

ถามว่าการแก้กฎหมายฉบับนี้เกี่ยวข้องกับการขายหุ้นชินคอร์ปฯ หรือเปล่านั้น นายโสภณ กล่าวว่า ไม่ทราบ แต่เกิดขึ้นในเวลาเดียวกัน

“ถ้าต่างชาติเข้ามาถือหุ้นถึง 49 % จะทำให้คุณค่าของประเทศเสียไป เพราะมีคนเพียง 1-2 คนไปขายให้ต่างชาติ จะกระทบกระเทือนไปหมด รวมไปถึงความมั่นคงของชาติด้วย” (อ่าน บทสัมภาษณ์"โสภณ สุภาพงษ์"ฉบับเต็ม)

**จวกเห็นแก่ตัวไม่สนความมั่นคงชาติ

นายอาทิตย์ อุไรรัตน์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า ตลาดหลักทรัพย์ควรจะมีการคุ้มครองในเรื่องการขายหุ้นบริษัทจดทะเบียนของไทยให้กับนักลงทุนต่างประเทศ เพื่อป้องกันธุรกิจที่เป็นของประเทศ

ทั้งนี้ แม้ว่าบมจ.ชิน คอร์ปอเรชั่น จะเป็นบริษัทที่ดำเนินธุรกิจแต่ก็ไม่ควรที่จะเห็นแก่ผลประโยชน์ทางธุรกิจเท่านั้นควรจะต้องพิจารณาถึงความปลอดภัยและความมั่นคงของประเทศชาติด้วย เพราะถือได้ว่าบริษัทเป็นบริษัทที่ผูกขายการดำเนินธุรกิจโทรคมนาคม

"ในแง่ของธุรกิจคงต้องปล่อยให้เป็นเรื่องของเค้า แต่ในแง่ของส่วนรวมผมว่าเค้าทำไม่ถูก"นายอาทิตย์กล่าว

นายอนุภาพ ถิรลาภ ผู้อำนวยการสถาบันการบริหารการสื่อสารไทย กล่าวว่า การซื้อขายหุ้นครั้งนี้ที่น่าเกลียดที่สุดมี 2 เรื่องหลักคือ 1.ธุรกิจดาวเทียม ที่วงโคจรซึ่งเป็นสิทธิและทรัพย์สินของคนไทยตกไปอยู่ในมือของต่างชาติ 2.เรื่องของไอทีวี ที่เกิดขึ้นเพราะต้องการมีคอนเทนต์ที่ดี แต่กลับมาแปรเปลี่ยนไปในเชิงธุรกิจ

“คนถ้าไม่รู้จักพอแม้จะมีเงินกี่หมื่นกี่แสนล้านก็ต้องตะเกียกตะกายหาก เพราะไม่รู้จักคำว่าเหลือกินเหลือใช้”

**กรณ์ชี้ภาษีชาติหายวับ 2 หมื่นล้าน

นายกรณ์ จาติกวณิช รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า การขายหุ้นของตระกูลชินวัตรและดามาพงศ์ครั้งนี้ ในส่วนของคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.)นอกจากไม่ปกป้องผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้นหรือนักลงทุนรายย่อย ยังกลายเป็นว่าช่วยตระกูลชินวัตรเลี่ยงภาษี และช่วยให้มีการเลี่ยงการทำเทนเดอร์ออฟเฟอร์(ทำคำเสนอซื้อต่อนักลงทุนทั่วไป)

นายกรณ์ อธิบาย การทำคำเสนอซื้อมี 2 แบบด้วยกัน คือ การครอบงำกิจการแบบบังคับ(Mandatory Tender Offer) กับการครอบงำกิจการโดยสมัครใจ (Voluntary Tender Offer) ซึ่งมีความแตกต่างกันในเรื่องของการกำหนดราคาเทนเดอร์ฯ ทั้งนี้การครอบงำกิจการโดยสมัครใจจะสามารถกำหนดราคาเทนเดอร์ฯต่ำกว่าราคาตลาดได้

เมื่อก.ล.ต.ให้ ซีดาร์ และ เอสเปน หรือ ทามาเส็ก ประกาศเข้าถือหลักทรัพย์เพื่อครอบงำกิจการในบมจ.แอดวานซ์ โดยสมัครใจ (Voluntary Tender Offer) นั้นไม่เป็นธรรมกับผู้ลงทุนรายย่อย ทำให้กลุ่มทามาเส็กฯ สามารถกำหนดราคาเทนเดอร์าคาเสนอซื้อหุ้นที่ 72.31 บาท ซึ่งเป็นราคาที่ต่ำกว่าราคาตลาด(ปัจจุบันอยู่ที่ 104 บาท)

นายกรณ์ กล่าวว่า กรณีนี้ต้องทำคำเสนอซื้อแบบบังคับ เพราะเมื่อพิจารณาสัดส่วนการเข้ามาถือหุ้นในแอดวานซ์ของสิงโปร์เทเลคอม(สิงเทล) รวมกับทามาเส็กฯที่เข้ามาถือแอดวานซ์ผ่านชินคอร์ป จะพบว่ากลุ่มทามาเส็กฯถือหุ้นในแอดวานซ์ถึง 32.6% ดังนั้นเมื่อทามาเส็กฯถือหุ้นแอดวานซ์ก้าวข้าม 25% จึงถูกบังคับให้ครอบงำกิจการแบบบังคับ ซึ่งในการทำเทนเดอร์ออฟเฟอร์ก็จะต้องกำหนดราคาในราคาที่ยุติธรรมกับนักลงทุนรายย่อย

แม้ก.ล.ต.จะบอกว่าราคาเทนเดอร์ที่ 72.31 บาทมาจากการเสนอของที่ปรึกษาทางการเงินซึ่งเสนอตามราคามูลค่าบัญชี (บุ๊กแวลู) ทำให้ก.ล.ต.ต้องรับตามนั้นถือว่าไม่ถูกต้อง เพราะหน้าที่ก.ล.ต.ต้องปกป้องผลประโยชน์ของนักลงทุนรายย่อย

นอกจากนี้ หากนำราคาหุ้นในกลุ่มชินคอร์ปทุกตัวมาคำนวณก็จะพบว่า การซื้อครั้งนี้จะคำนวณราคาหุ้นแอวานซ์ที่ 104 บาท ไม่ใช่ 72 บาทแน่นอน เพราะหากคำนวณที่ราคา 72 บาทจะทำให้ราคาขายหุ้นชินคอร์ปครั้งนี้ไม่ใช่ 49.25 บาท แต่จะเป็นราคาเพียง 30 กว่าบาทเท่านั้น

ที่สำคัญการที่คณะอนุกรรมการวินิจฉัยการเข้าถือหลักทรัพย์เพื่อครอบงำกิจ ก.ล.ต.พิจารณเห็นว่าทามาเส็กมิได้มีความประสงค์ที่จะได้มาซึ่งหุ้น ไอทีวี และหุ้นชินแซทเทลไลท์ และทั้ง 2 บริษัทเป็นทรัพย์สินที่ไม่เป็นสาระสำคัญของบริษัท ดังนั้น จึงผ่อนผันให้ทามาเส็กฯไม่ต้องทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ทั้งหมดของไอทีวี และชินแซทเทลไลท์ นั้นยิ่งเป็นเหตุผลที่ฟังไม่ขึ้น เพราะถ้าหากทามาเส็กไม่ต้องการหุ้นอื่นๆ ที่ชินคอร์ปมีอยู่ แล้วทำไมไม่ซื้อหุ้นแอดวานซ์เพียงบริษัทเดียว หรือไม่ก็ต้องชัดเจนให้ขายคืนกันไปเลย

“ ก.ล.ต.กำลังช่วยตระกูลชินวัตรเลี่ยงภาษี เพราะหากทามาเส็กซื้อหุ้นแอดวานซ์เพียงบริษัทเดียว ก็จะต้องซื้อหุ้นแอดวานซ์จากบมจ.ชินคอร์ป ซึ่งการที่บมจ.ชินคอร์ปเป็นผู้ขายหุ้นแล้วมีกำไรจะต้องเสียภาษี เพราะบมจ.ชินคอร์ปเป็นนิติบุคคลไม่ได้รับยกเว้นภาษี เหมือนบุคคลธรรมดา ซึ่งหากบมจ.ชินคอร์ปเป็นผู้ขายก็จะต้องเสียภาษี ซึ่งประเมินแล้วมูลค่าภาษีครั้งนี้ประมาณ 2 หมื่นล้านบาท”

นอกจากนี้ นายกรณ์ ยังกล่าวว่า รับไม่ได้กับคำกล่าวอ้างที่นายกรัฐมนตรีที่ระบุว่าการขายหุ้นของลูกเพื่อให้อยู่ในวงการเมืองได้อย่างสบายใจหากอนาคตต้องเล่นการเมือง เพราะหากวัตถุประสงค์การขายหุ้นเพื่อความโปร่งใสทางการเมือง ควรมีการขายหุ้นแบบขาดลอยตั้งแต่ปี 2544 ไม่ใช่ตัดสินใจขายเพราะมีผลกำไรสูงถึง 400 เท่า และมีแนวโน้มชัดเจนว่าคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กทช.จะต้องเข้ามาดูแลการแข่งขันทางธุรกิจให้มีความเท่าเทียมกันตามรัฐธรรมนูญ เพราะที่ผ่านมาหุ้นบริษัทในเครือชินคอร์ปอเรชั่นได้เปรียบด้านผลประโยชน์มาโดยตลอด

รองเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ยอมรับว่าการขายหุ้นชินคอร์ป เป็นส่วนหนึ่งของการคอรัปชั่น เพราะมีการแก้กฎหมายเพื่อเอื้อประโยชน์ในการขายหุ้น ซึ่งเข้าข่ายทุจริตเชิงนโยบาย และถือเป็นประเด็นที่ต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด เพราะอาจเป็นกรณีแลกเปลี่ยนการถือทรัพย์สินในลักษณะฟอกหุ้น

**ก.ล.ต.ละเว้นสอบอินไซด์เดอร์

สำหรับดีลการขายหุ้นชินคอร์ปฯครั้งนี้นับว่าเป็นดีลที่ยืดเยื้อและมีข่าวรั่วออกมานานเกือบปี โดยกระแสข่าวเริ่มแพร่กระจายในตลาดหุ้นว่าตระกูลชินวัตรกำลังขายหุ้นชินคอร์ปนับตั้งแต่เมื่อเดือนเมษายน ปี 2548 นั้น และข่าวแพร่ขยายในวงกว้างมากขึ้นในช่วงปลายปี 2548 ต้องมีการตรวจสอบเช่นเดียวกับหุ้นอื่น ๆ

แหล่งข่าวจากวงการค้าหลักทรัพย์ เปิดเผยว่า การเจรจาขายหุ้นที่ยืดเยื้อและมีข่าวรั่วออกมาในทางปฏิบัติตลาดหลักทรัพย์และ ก.ล.ต.จะต้องทำหน้าที่ตรวจสอบในเรื่องของการใช้อินไซเดอร์เทรดดิ้ง (ข้อมูลภายใน) และการเผยแพร่ข่าวสารโดยที่ไม่เปิดเผยให้นักลงทุนได้ทราบข้อเท็จจริงโดยเท่าเทียมกัน

มิหนำซ้ำ บมจ.ชินคอร์ปยังเคยมีการปฏิเสธข่าวการขายหุ้นชินคอร์ปฯ ให้กลุ่มสิงเทลออกมาด้วย แต่ภายหลังเป็นข่าวจริง ทั้งนี้จากข้อมูลการซื้อขายหุ้นชินคอร์ปฯ ย้อนหลังจะพบว่าราคา และมูลค่าการซื้อขายหุ้นชินคอร์ป เพิ่มสูงขึ้นเป็นลำดับ

โดยในเดือน ก.ค.มูลค่าการซื้อขายอยู่ที่ 4,404 ล้านบาท ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 36.89 บาท เดือนส.ค.มูลค่าการซื้อขายอยู่ที่ 4,979 ล้านบาท ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 38.54 บาท เดือนก.ย.มูลค่าการซื้อขายอยู่ที่ 4,082 ล้านบาท ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 40.42 บาท

ส่วน เดือนต.ค.ซึ่งเป็นเดือนที่มีการปฏิเสธข่าวจากบมจ.ชินคอร์ป มูลค่าการซื้อขายอยู่ที่ 2,987 ล้านบาท ราคาเฉลี่ย 38.81 บาท ซึ่งมูลค่าการซื้อขายลดลง เดือนพ.ย.มูลค่าการซื้อขาย 4,495 ล้านบาท ราคาเฉลี่ย 37.96 บาท

จากนั้นกระแสข่าวยังคุกรุ่นว่าจะมีการขายหุ้นชินคอร์ปในเดือนธ.ค.มูลค่าการซื้อขาย 7,166 ล้านบาท ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 40.93 บาท ส่วนเดือนม.ค.2549 มูลค่าการซื้อขาย 11,603 ล้านบาท ราคาเฉลี่ย 45.49 บาท


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.