หม่อมอุ๋ยโล่งดีลชินคอร์ปจบ เชื่อบาทหยุดแข็งค่า-ชี้แนวต้าน38.85


ผู้จัดการรายวัน(24 มกราคม 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

ผู้ว่าฯแบงก์ชาติยันค่าเงินบาทจะมีเสถียรภาพดี หลังการซื้อ ขายหุ้นชินคอร์ปจบ ปัจจัยกดดันไม่มีอีก ด้านผู้เชี่ยวชาญหวั่นสัปดาห์นี้ยัง มีสิทธิเห็นค่าเงิน 38.85 บาทต่อดอลลาร์ ก่อนแบงก์ชาติจะเข้าแทรกแซง ขณะที่ค่าเงินวานนี้ แข็งสุดแตะ 39 บาทต่อดอลลาร์

ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยถึงทิศทางของอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินสกุลบาทว่า จะมีเสถียรภาพ มากขึ้นหลังจากการซื้อขาย หุ้นบริษัทชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ในตลาดวานนี้ (23 ม.ค.) เพราะไม่มีแรงกดดันจากการไหลเข้าของเงินทุนจำนวนมากที่จะทำให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นอีก เนื่องจากการไหลเข้าของเงินก้อนใหญ่หมดลงแล้ว

"เงินลงทุนได้ไหลเข้ามายังตลาดเงินในวันพุธที่ 18 ม.ค. 1 ก้อน และวันศุกร์ต่อเนื่องจนถึงวันจันทร์อีก 1 ก้อน แต่ตอนนี้หมดลงแล้ว โดยถือว่าเป็นเรื่องดีที่การซื้อขายได้จบลง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ลดแรงกดดันที่มีต่ออัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทของไทยไม่ให้แข็งค่าขึ้นไปอีก" ผู้ว่าฯ ธปท. กล่าว

อย่างไรก็ตาม คาดว่าในสัปดาห์นี้เงินบาท จะไม่แข็งขึ้นมากไปกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เพราะแรงกดดันมีน้อยลง ดังนั้น ธปท.จึงไม่มีความจำเป็นต้องเข้าไปดูแลอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทมากเป็นพิเศษแต่อย่างใด เนื่องจากเงินบาทในขณะนี้บาทเริ่มมีเสถียรภาพมากขึ้น และเชื่อว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบธุรกิจภาคการส่งออกของไทยมากนัก เพราะ ธปท.จะดูแลค่าเงินบาทให้อยู่ในระดับที่สามารถแข่งขันได้

ผู้ว่าการธปท. ยังกล่าวต่อว่า จะดูแลอัตราแลกเปลี่ยนตามสถานการณ์เพื่อป้องกันผลกระทบ ที่มีต่อภาวะเศรษฐกิจโดยรวม ซึ่งเชื่อว่าปี 2549 นี้ นอกจากปัจจัยน้ำมันแล้ว เศรษฐกิจของไทยจะราบรื่นมากกว่าปี 2548 เนื่องจาก การส่งออกจะขยายตัวเพิ่มขึ้นจากแรงเหวี่ยงเมื่อช่วงปลายปีที่ผ่านมา ขณะที่ปัญหาภัยแล้งได้รับการแก้ไขเรียบร้อยแล้ว รวมทั้งภาคการท่องเที่ยวในปีนี้ที่จะกลับมาฟื้นตัว

นางสาวอุสรา วิไลพิชญ์ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด ประเทศไทย กล่าวว่า ค่าเงินบาทที่ปรับตัวแข็งค่าขึ้น เหตุผลหลักเกิดจากเงินไหลเข้ามาลงทุนจากต่างประเทศ ที่ทยอยเข้ามาอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการมองถึงอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จะเข้า สูงสุดแล้ว ทำให้ค่าเงินดอลลาร์ปรับตัวอ่อนค่าลง ส่งผลให้ค่าเงินในสกุลอื่นๆ ภูมิภาคแข็งค่าขึ้น รวมถึงค่าเงินบาทของไทยด้วย

นอกจากนี้ การกดดันเงินหยวนของจีนให้เพิ่มค่ามากกว่าปัจจุบันของทางการสหรัฐฯและญี่ปุ่น ซึ่งคาดว่าในครึ่งปีแรกจะเห็นการปรับเปลี่ยนค่าเงินหยวนอีกครั้งทำให้นักลงทุนเข้าเก็งกำไรค่าเงินในภูมิภาคเอเชีย

อย่างไรก็ตาม ในสัปดาห์นี้ค่าเงินบาทอาจแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่องผ่าน ระดับ 39 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐไปได้ โดยแนวต้านที่สำคัญอยู่ที่ 38.85 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เชื่อว่าจะเป็นระดับที่ทางการจะเข้ามาดูแล เนื่องจากเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นในปัจจุบันสูงกว่าเมื่อเทียบกับสกุลอื่น

นายอนิรุตต์ พิมพันธ์ นักค้าเงิน ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ค่าเงินบาท ได้แข็งค่าขึ้นไปถึง 39.13-39.15 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากมีเงินทุนจากต่างประเทศไหลเข้ามาเป็นปริมาณสูง ทั้งกรณีเงินทุนสิงคโปร์ ที่ไหลเข้ามาเตรียมซื้อหุ้นกลุ่มชิน คอร์ปอเรชั่น และเข้ามาซื้อโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ประกอบกับค่าเงินสหรัฐฯอ่อนค่าลง เพราะมีการคาดการณ์ว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯคงจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกเพียงงวดเดียว 0.25% เท่านั้น หลังจากนั้น ก็มีการคาดว่าอัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มปรับลดลง

นักค้าเงิน จากธนาคารกสิกรไทย รายงาน ค่าเงินบาทวานนี้ว่า เงินบาทเปิดตลาดที่ระดับ 39.15/17 บาท/ดอลลาร์ โดยปรับตัวแข็งค่าสุดของวันที่ 39.00 บาท/ดอลลาร์ อ่อนค่าสุดของวันที่ระดับ 39.25 บาท/ดอลลาร์ และปิดตลาดที่ระดับ 39.12/14 บาท/ดอลลาร์

ค่าเงินบาทปรับตัวแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังจากเปิดตลาดจนกระทั่งแข็งค่าสุดของวันและในรอบ 9 เดือนครึ่ง แต่หลังจากที่มีข่าวกรณีของ SHIN ออกมา ก็ทำให้มีแรงซื้อค่าเงินดอลลาร์กลับ ทำให้เงินบาทอ่อนค่าแตะระดับอ่อนสุดของวัน และในช่วงท้ายตลาดค่าเงินบาทก็กลับแข็งค่าขึ้นตามค่าเงินเยนและค่าเงินดอลลาร์สิงคโปร์

สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท หลังจากหมดปัจจัยในเรื่องของ SHIN ไปแล้ว ก็คงจะดูที่ทิศทาง ของเงินทุนว่ายังมีเงินไหลเข้าภูมิภาคนี้หนาแน่นอีกต่อไปหรือไม่


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.