|

แบงก์พาณิชย์ยอมรับสินเชื่อบุคคลยังแข่งรุนแรง
ผู้จัดการรายวัน(23 มกราคม 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เปิดเผยผลสำรวจความเห็นของผู้บริหารธนาคารพาณิชย์ยอมรับการแข่งขันของสินเชื่อบุคคลทั้ง สินเชื่อที่อยู่อาศัย สินเชื่อส่วนบุคคลและบัตรเครดิตยังรุนแรง แม้อัตราดอกเบี้ยจะเริ่มปรับตัวขึ้นเช่นกัน ขณะที่ประเมินหากอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่อยู่อาศัยเริ่มขยับถึงร้อยละ 8 จะเริ่มส่งผลต่อการผ่อนชำระของผู้บริโภคทันที
วันนี้( 22 ม.ค.)ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทีมวิเคราะห์สนเทศธุรกิจ สายนโยบายการเงิน ธปท. รายงานผลโครงการแลกเปลี่ยนข้อมูลเศรษฐกิจและธุรกิจระหว่าง ธปท.และนักธุรกิจ โดยในภาคการเงินธนาคาร ผู้บริหารธนาคารพาณิชย์มีความเห็นว่าการดำเนินธุรกิจธนาคารพาณิชย์มีการแข่งขันให้สินเชื่อที่รุนแรง โดยเฉพาะสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย สินเชื่อส่วนบุคคลและธุรกิจบัตรเครดิต สำหรับการปล่อยสินเชื่อให้แก่ธุรกิจเอสเอ็มอี มีแนวโน้มขยายตัวดีและได้มีการนำระบบบริหารความเสี่ยงเข้าร่วมพิจารณาอนุมัติสินเชื่อด้วย ส่วนสินเชื่อโครงการอสังหาริมทรัพย์เริ่มจะชะลอตัวลง ขณะที่สินเชื่อที่อยู่อาศัยของสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐได้ขยายตัวขึ้นเป็นอย่างมาก เนื่องจากลูกค้าต้องการเงินกู้อัตราดอกเบี้ยคงที่ในช่วง 3 ปีแรกก่อนที่จะเป็นอัตราดอกเบี้ยลอยตัว
ด้านเงินฝากของระบบธนาคารพาณิชย์ที่ขยายตัวในทิศทางชะลอลง เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่แท้จริงติดลบส่งผลให้ภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจชะลอการออมในรูปของเงินฝากธนาคารพาณิชย์และหันมาลงทุนในพันธบัตรออมทรัพย์ของรัฐบาลเพิ่มขึ้นผ่านการลงทุนในพันธบัตร ธปท.ของกองทุนตราสารต่าง ๆ เป็นสำคัญ อย่างไรก็ตาม ในส่วนของการเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยมีผลกระทบต่อฐานะการเงินของภาคธุรกิจไม่มากนัก แต่มีผลกระทบทางด้านจิตวิทยามากกว่า เนื่องจากต้นทุนทางการเงินมีสัดส่วนที่ต่ำเมื่อเทียบกับต้นทุนรวมและบริษัทส่วนใหญ่ได้ลดระดับหนี้ลงมามากแล้ว แต่ผู้ประกอบการยังไม่มั่นใจต่อภาวะเศรษฐกิจและผลตอบแทนการลงทุนที่เพียงพอ จึงยังไม่มั่นใจที่จะลงทุน สำหรับธุรกิจที่มีการระดมทุนผ่านตลาดตราสารที่อ้างอิงกับตลาดจะมีต้นทุนทางการเงินเพิ่มขึ้นบ้าง
สำหรับผลกระทบต่อผู้บริโภคที่กู้ซื้อที่อยู่อาศัยในปัจจุบันยังไม่ส่งผลให้ต้องปรับเพิ่มระยะเวลาหรือจำนวนเงินงวดในการผ่อนชำระ เนื่องจากได้มีการคำนวณเงินงวดผ่อนชำระด้วยอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่าอัตราดอกเบี้ย MLRเพื่อคุ้มครองความเสี่ยงไว้ในระดับหนึ่งแล้ว ซึ่งโดยทั่วไปลูกหนี้จะสามารถชำระหนี้ได้หมดก่อนระยะเวลาที่กำหนดในสัญญา นอกจากนี้ ในช่วงที่ผ่านมาอัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำได้มีการกำหนดอัตราดอกเบี้ยแบบคงที่ในระดับต่ำในช่วง 1-3 ปีแรกของการกู้ยิ่งทำให้ระยะเวลาการผ่อนชำระจริงน้อยกว่าที่ระบุไว้ตามสัญญาเงินกู้ด้วย
อย่างไรก็ตาม หากอัตราดอกเบี้ยปรับขึ้นเกินร้อยละ 8 สถาบันการเงินอาจต้องเจรจากับลูกหนี้เพื่อขอเพิ่มระยะเวลาการผ่อนชำระหรือเพิ่มเงินค่างวดรายเดือน สำหรับผู้กู้รายใหม่จะได้รับผลกระทบมากขึ้น เนื่องจากสถาบันการเงินมีความเข้มงวดในการปล่อยกู้มากขึ้น โดยการปรับอัตราดอกเบี้ยที่ใช้ในการคำนวณค่างวดเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 10 ทำให้อัตราการอนุมัติสินเชื่อลดลง ด้านบัตรเครดิตอัตราการผิดนัดชำระหนี้เพิ่มขึ้นโดยเฉพาะในกลุ่มลูกค้าที่มีรายได้ต่ำและอาจส่งผลกระทบต่อกลุ่มที่มีรายได้ปานกลางในระยะต่อไป
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|