หวั่น “ทีโอที-กสท” ถูกทุนต่างชาติฮุบ ตามรอยชินคอร์ป


ผู้จัดการรายวัน(23 มกราคม 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

ชี้ดีล “ชินคอร์ป-เทมาเส็ก” เปิดช่องต่างชาติครอบงำสื่อและทรัพยากรความถี่ของชาติ ด้านชินคอร์ปเชื่อปีแรกไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงแบบพลิกฝ่ามือ ทุกตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงที่สำคัญอยู่ครบ นักวิเคราะห์ประเมินหุ้นแอดวานซ์ลงทุน 3จี มหาศาล เสี่ยงถือยาวผลตอบแทนลดลง แนะนำระยะสั้นขายทำกำไร ด้านโบรกเกอร์กรุงศรีฯ จี้สร้างเพิ่มความแข็งแกร่งให้ กสท และทีโอที รองรับการแข่งขันยักษ์ใหญ่ต่างชาติ

แหล่งข่าวในบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส หรือเอไอเอส กล่าวว่า ผู้บริหารทุกระดับของเอไอเอสต่างหวังที่จะรับรู้ในรายละเอียดโครงสร้างผู้ถือหุ้นใหม่ ซึ่งคาดว่าภายในวันนี้ (23 ม.ค.) ทุกอย่างจะได้รับการเปิดเผยทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการแจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯ การแถลงข่าวอย่างเป็นทางการในช่วงบ่าย และการชี้แจงให้ผู้บริหารรับทราบ อย่างไรก็ตาม การที่เทมาเส็กเป็นผู้ซื้อไม่ใช่สิงเทล ทำให้บรรยากาศภายในและความรู้สึกของผู้บริหารเอไอเอสผ่อนคลายลงมาก เพราะเทมาเส็กซึ่งเป็นบริษัทโฮลดิ้ง คงไม่ส่งผู้บริหารเข้ามามากเหมือนอย่างกรณีที่ซื้อ Optus ของประเทศออสเตรเลีย ก็มีเพียง อลัน ลิว ซึ่งอดีตเคยเป็นผู้บริหารตัวแทนของสิงเทลในเอไอเอสเข้าไปบริหารเพียงคนเดียวเท่านั้น

ผู้บริหารเอไอเอสยังเชื่อว่า ตราบใดที่ผลประกอบการเอไอเอสยังอยู่ในระดับที่ดี และเป็นผู้นำตลาดเหมือนในปัจจุบัน ก็ไม่มีความจำเป็นที่เทมาเส็กจะต้องเปลี่ยนแปลงโครงสร้างหรือผู้บริหารงาน เพราะถือว่าทีมผู้บริหารระดับสูงเป็นความเข้มแข็งของกลุ่มชินคอร์ป และเอไอเอส การส่งผู้บริหารใหม่เข้ามาก็แค่แทนตำแหน่ง ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กรรมการผู้อำนวยการ ซึ่งเป็นเรื่องที่คาดเดาไม่ยาก ส่วนตำแหน่ง CFO นั้นถ้าไม่เปลี่ยนตัวก็อาจต้องส่งผู้บริหารเข้ามากำกับอีกทอดหนึ่ง เหมือนกรณีเดียวกับเทเลนอร์ยึดดีแทค ที่แทบจะไม่ไปยุ่งโครงสร้างการบริหารงานมากนัก โดยเฉพาะด้านการตลาด ที่ยังต้องให้ผู้บริหารโลคัลเป็นคนดูแลเพราะถือว่ามีความคุ้นเคยและเข้าใจตลาดในประเทศไทยได้ดีกว่าผู้บริหารจากต่างประเทศ

“เทมาเส็กเข้ามามีผลกระทบระดับบอร์ดของชินคอร์ป และการกำหนดนโยบาย จะไม่เข้ามายุ่งระดับการบริหารงานยกเว้นมีปัญหา ถ้าพูดกันให้แฟร์จริงๆ การแทรกแซงด้านบริหารของเทมาเส็กอาจน้อยกว่าผู้ถือหุ้นใหญ่เดิมด้วยซ้ำ”

เขาเชื่อว่าในช่วงปีแรกไม่น่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงชนิดที่เรียกว่าพลิกฝ่ามือในชินคอร์ป หรือเอไอเอส รวมทั้งบริษัทในกลุ่มที่ชินคอร์ปถือหุ้น เนื่องจากเทมาเส็กมาในฐานะนักลงทุนที่ต้องการผลตอบแทนที่ดี และถ้าผู้บริหารชุดปัจจุบันสามารถตอบสนองเทมาเส็กได้ก็ไม่น่าจะเกิดปัญหาหรือการเปลี่ยนแปลงอะไร จะมีก็เป็นการเปลี่ยนประธานบอร์ดของชินคอร์ปใหม่ ส่วนผู้บริหารระดับสูงในตำแหน่งสำคัญๆ น่าจะอยู่ครบทั้งหมด

ด้านน.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ เลขาธิการคณะกรรมการรณณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ (คปส.) กล่าวว่า คปส.ขอตั้งคำถาม 5 ประเด็น ดังนี้

1.การที่นายกฯ อ้างเหตุผลการขายหุ้นชินคอร์ป คือการแก้ข้อครหาเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนนั้น นายกฯ ไม่คิดว่าเป็นการแก้ปัญหาที่สายเกินไปแล้วหรือ เนื่องเพราะปัจจุบันมูลค่าหุ้น และธุรกิจในเครือชินคอร์ปนั้นได้เดินมาถึงจุดสูงสุดอย่างยากที่บริษัทธุรกิจธรรมดาทั่วไปจะทำได้ ดังนั้น การมาแก้ข้อครหาที่ สายเกินไป เช่นนี้มีวาระซ่อนเร้นที่แท้จริงคือสิ่งใดแน่

2.ชินคอร์ป เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ใน 3 บริษัทที่ดำเนินกิจการสื่อสารซึ่งถือเป็นทรัพยากรคลื่นความถี่ของชาติเพื่อประโยชน์สาธารณะ คือ เอไอเอส, สถานีโทรทัศน์ไอทีวี และดาวเทียมไทยคม, ไอพีสตาร์ ซึ่งเป็นกิจการที่ได้รับสัมปทานจากรัฐและกระทบต่อผลประโยชน์สาธารณะ รวมทั้งสิทธิเสรีภาพของประชาชน

“การตัดสินใจขายหุ้นโดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดทางธุรกิจเป็นด้านหลักนั้น อะไรคือหลักประกันเรื่องการครอบงำสื่อในระดับข้ามชาติที่จะกระทบต่อผลประโยชน์ประชาชนในระยะยาว”


3.การขายหุ้นให้กับบริษัทของรัฐบาลสิงคโปร์ซึ่งมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับนายกฯ อย่างแน่นแฟ้นนั้น ท้ายที่สุดจะนำไปสู่ข้อครหาเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนข้ามชาติที่น่ากลัวกว่าอีกหรือไม่

4.ควรชี้แจงสาธารณะให้ชัดเจนเกี่ยวกับข้อครหาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นความโปร่งใสเรื่องภาษี หรือผลประโยชน์ทับซ้อนต่างๆ

5.ถ้านายกฯ อ้างว่าการขายชินคอร์ป เป็นการแก้ปัญหาเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน ดังนั้น เท่ากับเป็นการยอมรับว่าปัญหาเรื่อง “ผลประโยชน์ทับซ้อน” นั้นมีอยู่จริง ถ้าเป็นเช่นนั้นแล้วเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา ชินคอร์ปฟ้องร้องหมิ่นประมาททั้งคดีอาญาและคดีแพ่ง 400 ล้านบาท กับตน และหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ ที่แสดงความคิดเรื่องปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อนทำไม

“นายกรัฐมนตรีต้องตอบคำถามนี้ เพื่อเป็นการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมไทย ทั้งในเรื่องการเมือง ธุรกิจ ทรัพยากรการสื่อสารของชาติ และสิทธิเสรีภาพของประชาชน”

****แนะทิ้งแอดวานซ์

นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ เปิดเผยว่า ไม่ว่าใครจะเข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นใหม่ก็ตาม แต่สำหรับหุ้นเอไอเอส หรือ ADVANC ซึ่งมีระยะเวลาสัมปทานเหลือ 10 ปี เมื่อจะมีการปรับตัวจาก 2จี สู่ 3จี ก็ยังต้องใช้เวลาและใช้เงินลงทุนมหาศาล โดยประเมินการลงทุนในหุ้นแอดวานซ์ว่า ในระยะสั้นแนะนำขายทิ้ง โดยหากราคาหุ้นเคลื่อนไหวอยู่ในระดับ 103-110 บาท ให้เทขายทำกำไรออกไป แต่ระยะยาวสามารถถือลงทุนได้ ซึ่งหากใครต้องการลงทุนแนะให้ซื้อในระดับราคาที่ต่ำกว่า 100 บาทลงไป

ทั้งนี้ เนื่องจากนักลงทุนที่ถือหุ้นแอดวานซ์จะมีความเสี่ยงเกิดขึ้นทันที เพราะการลงทุนใน 3จี ต้องใช้เงินลงทุนมหาศาล (Capital Expenditure) แม้จะเครือข่ายเดิมวางอยู่แล้วแต่ก็ยังต้องลงทุนเพิ่มทั้งในส่วนของการติดตั้งใหม่ และเปลี่ยนอุปกรณ์ใหม่ ดังนั้น เม็ดเงินลงทุนสำหรับแอดวานซ์จะไม่ใช่แค่ที่ระบุ 1.5 หมื่นล้านบาท นอกจากนี้ ยังต้องลงทุนเพื่อซ่อมบำรุงประจำปี (Maintenance Cap.Ex.) ซึ่งจะทำให้ผลตอบแทนจากการลงทุนในหุ้นแอดวานซ์ลดลงทันที และการลงทุนยังต้องใช้ระยะเวลานานจึงจะได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนกลับมา

*****จี้สร้างเกราะให้รัฐวิสาหกิจ

ม.ร.ว.ศศิพฤนท์ จันทรทัต ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บล.กรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า หลังกลุ่มทุนจากสิงคโปร์เข้ามาซื้อกิจการยักษ์ทางด้านสื่อสารของประเทศไทยทั้ง 2 บริษัท ทั้งในส่วนของดีแทค และเอไอเอส เป็นสัญญาณที่น่าเป็นห่วงต่อภาพของธุรกิจสื่อสาร จึงควรสร้างความพร้อมให้กับรัฐวิสาหกิจของไทย ทั้ง กสท และทีโอที เพื่อรองรับการแข่งขันและการสร้างเกราะเพื่อไม่ให้มีการเข้ามาซื้อกิจการได้ โดยในกลุ่มดังกล่าวอาจจะต้องมีการเพิ่มทุน เพื่อเพิ่มศักยภาพและการซื้อเทคโนโลยีต่างๆ เข้ามาช่วยสร้างเกราะป้องกัน


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.