จับตาวัลลีย์นอมินีขาใหญ่เล่นสั้นหุ้นเก็งกำไร


ผู้จัดการรายวัน(23 มกราคม 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

สะกดรอย"วัลลีย์ พิทักษ์" นักลงทุนรายใหญ่เทรดหุ้นสนั่น 2 พันล้านบาทต่อเดือน พบช่วง 2 ปีที่ผ่านมาได้รับการจัดสรรหุ้นจอง 12 บริษัทคิดเป็นเม็ดเงินลงทุน 30.59 ล้านบาท วงการมองเป็นนอมินีให้กับนักลงทุนรายใหญ่ หลังเทขายหุ้นบีเอ็นทีเกลี้ยงพอร์ตจาก

แหล่งข่าวจากวงการโบรกเกอร์ เปิดเผยว่า ปัจจุบันนักลงทุนรายใหญ่ใช้นอมินี(ตัวแทน)เข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์มากขึ้น ซึ่งนักลงทุนรายหนึ่งที่กำลังถูกจับตามองว่าเป็นนอมินีนักลงทุนรายใหญ่ ก็คือ นางวัลลีย์ พิทักษ์ ซึ่งจากการเปิดบัญชี(พอร์ต)ซื้อขายกับโบรกเกอร์หลายแห่งและมีการซื้อขายหุ้นในมูลค่าสูงอย่างมาก จนถูกมองว่าเป็นนักลงทุนรายใหญ่รายหนึ่ง

โดยที่ผ่านมาพบว่าพอร์ตการซื้อขายของนางวัลลีย์ เคยมีการซื้อขายสูงสุดประมาณ 2 พันล้านบาทต่อเดือน และมีการซื้อขายในหุ้นหลายบริษัท ที่น่าสังเกตุคือพฤติกรรมการลงทุนจะนิยมการซื้อขายในลักษณะเก็งกำไรระยะสั้น โดยเฉพาะหุ้นที่มีข่าวลือในด้านต่างๆ บางครั้งก็จะอาศัยการซื้อขายตามผู้ลงทุนรายใหญ่รายอื่น เมื่อมีกำไรเพียงเล็กน้อยก็จะขายออกมา

สำหรับหุ้นที่พบว่านางวัลลีย์ นิยมเข้าไปเก็งกำไร ได้แก่ หุ้น บมจ.อุตสาหกรรมปิโตรเคมีกัลไทย (TPI), บมจ.บีเอ็นทีเอ็นเตอร์เทนเมนท์ (BNT) และ บมจ.อินเตอร์แนชั่นเนิลเอนจีเนียริง (IEC) เป็นต้น

จากลักษณะการลงทุนทำให้ที่ผ่านมามีกระแสข่าวออกมาโดยตลอด ว่า นางวัลลีย์น่าจะเป็นนอมินีให้กับนักลงทุนรายใหญ่คนดังที่ไม่ต้องการเปิดเผยชื่อให้กับสาธารณะชนได้รับรู้ เพราะเกรงว่าจะถูกจับตามอง โดยเฉพาะถูกจับตามองจากตลาดหลักทรัพย์ และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.)ได้

นอกจากนี้ จากการสำรวจข้อมูลที่เปิดเผยของสำนักงานก.ล.ต.เกี่ยวกับการกระจายหุ้นของหุ้ที่เสนอขายแก่ประชาชนครั้งแรก(IPO)ในรอบ 2 ปีที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 2547-2548 พบว่าชื่อของนางวัลลีย์ติดอยู่ในบุคคลที่ได้รับการจัดสรรหุ้นจองสูงสุด 1 ใน 20 อันดับแรก โดยได้รับการจัดสรรจำนวน 12 บริษัทคิดเป็นเงินลงทุนรวมทั้งหมด 30.59 ล้านบาท

สำหรับหุ้นจอง 12 บริษัทที่ได้รับการจัดสรร ประกอบด้วย บมจ. ไทยฮา(KASET) จำนวน 4.5 แสนหุ้นหรือ 0.82% คิดเป็นเงินลงทุน 540,000 บาท, บล.ยูโอบี เคย์เฮียน(ประเทศไทย) (UOBKH) จำนวน 1.3 ล้านหุ้นหรือ 1.73% คิดเป็นจำนวนเงินลงทุน 8.06 ล้านบาท, บมจ. ซุปเปอร์บล๊อก(SUPER) จำนวน 4.27 แสนหุ้นหรือ 0.41% คิดเป็นเงินลงทุน 2.09 ล้านบาท, บมจ.ซี.ไอ.กรุ๊ป(CIG) จำนวน 5.96 แสนหุ้นหรือ1.32%คิดเป็นเงินลงทุน 1.63 ล้านบาท

บมจ.พรพรหม เม็ททอล (PPM) จำนวน 3.97 แสนหุ้น 1.21ล้านบาท คิดเป็น 0.99% บริษัท เชอร์วู๊ด(SWC) จำนวน 1.47 แสนหุ้นหรือ 2.54% คิดเป็นเงินลงทุน 2.94 ล้านบาท, บมจ.กรุ๊ปลีส(GL) จำนวน 5 แสนหุ้นหรือ 5% คิดเป็นเงินลงทุน 6 ล้านบาท, บมจ.โฟคัส แอนด์ คอนสตรัคชั่น(FOCUS) จำนวน 9.09 แสนหุ้นหรือ 3.64% คิดเป็นเงินลงทุน 4.09 ล้านบาท

บมจ.ทีกรุงไทยอุตสาหกรรม (TKT) จำนวน 2.86 แสนหุ้นคิดเป็น 0.72%คิดเป็นเงินลงทุน 1.17 ล้านบาท,บมจ. สามชัย สตีล อินดัสทรี (SAM) จำนวน 1.46 แสนหุ้นหรือ 0.49%คิดเป็นเงินลงทุน 1.46 ล้านบาท,บมจ.ไลท์ติ้ง แอนด์ อีควิปเมนท์ (L&E) จำนวน 6.86 หมื่นหุ้นหรือ 1.11% คิดเป็นเงินลงทุน 8.23 แสนบาทและ บมจ. บิซิเนสออนไลน์(BOL) จำนวน 1.52 แสนหุ้น 5.79 แสนบาท หรือ 0.64%

ก่อนหน้านี้ นางวัลลีย์ ได้เคยแจ้งต่อสำนักงานก.ล.ต.ว่า เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2549 ได้บมจ.บีเอ็นที เอ็นเตอร์เทนเมนท์ จำกัด (มหาชน) จำนวน 1.97% ทำให้ภายหลังการได้มา นางวัลลีย์ ถือหุ้นอยู่จำนวน 5.29% อย่างไรก็ตาม 3 วันต่อมา คือ ในวันที่ 16 มกราคม 2549 นางวัลลีย์ ได้ขายหุ้นบมจ.บีเอ็นที เอ็นเตอร์เทนเมนท์ ที่ถืออยู่ในพอร์ตทั้งหมดจำนวน 5.29%

ทั้งนี้การขายหุ้นดังกล่าวเป็นช่วงเดียวกับที่ตลาดหลักทรัพย์ได้สั่งห้ามการซื้อขาย บมจ.อินเตอร์แนชั่นเนิลเอนจีเนียริง จำกัด (มหาชน)หรือ IEC ตั้งแต่วันที่ 16-20 มกราคม 2549เพราะตรวจพบว่ามีลักษณะการซื้อ ขายเข้าข่ายการสร้างราคาหุ้น ทำให้มีกระแสข่าวว่านางวัลลีย์เกรงว่าหุ้นบีเอ็นทีเอ็นเตอร์เทนเมนท์จะถูกสั่งห้ามซื้อขายเช่นกัน จึงได้ขายหุ้นออกมา


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.