|

แอร์เอเชียชี้ขายชินไม่กระทบ
ผู้จัดการรายวัน(23 มกราคม 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
แอร์เอเชีย ปลื้มปิดบัญชีปี 48’ กำไร 120 ล้านบาท ฝันปีหน้าโตอีกกว่า 40% ตั้งเป้ารายได้ 3.8 พันล้านบาท ลุยเปิดเส้นทางบินเพิ่มทั้งในประเทศและต่างประเทศ ขยายช่องทางจัดจำหน่าย เพิ่มเอเจนในตลาดต่างประเทศ และ พัฒนาระบบอี-ออนไลน์ พร้อมจับมือโออิชิ จัดเมนูอร่อยเสริฟบนเครื่องบินหวังสร้างรายได้จากการขายอาหารให้มีสัดส่วนมากกว่า 10%ของรายได้ ขณะที่ ”ทัศพล” แจง ดีลขายชินคอร์ปให้เทมาเส็ก ยังไม่มีสัญญาณแจ้งจากบริษัทแม่ เชื่อ ไม่น่าจะมีผลกระทบต่อกิจการแอร์เอเชีย
นายทัศพล แบเลเว็ลด์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบิน ไทยแอร์เอเชีย เปิดเผยผลประกอบการว่า ในปีที่ผ่านมา บริษัทมีรายได้รวม 2,300 ล้านบาท โดยมีกำไรประมาณ 120 ล้านบาท โดยรับ-ส่งผู้โดยสารทั้งปีเป็นจำนวนรวม 1.8 ล้านคน ซึ่งนับเป็นที่พอใจ เพราะ ไทยแอร์เอเชีย เริ่มดำเนินธุรกิจมาตั้งแต่ปี 2547 มีผลประกอบการเติบโตมาโดยตลอด โดยช่วงไตรมาส 2-3 ของปี 2548 เริ่มมีผลประกอบการแบบไม่ติดลบ และเมื่อถึงสิ้นปีก็มีผลกำไร ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการบริหารจัดการเรื่องต้นทุนน้ำมัน ที่มีการซื้อเก็บไว้ ลดความเสี่ยงเรื่องราคาน้ำมัน ขณะเดียวกัน ยังแบ่งรายได้ส่วนหนึ่งนำไปซื้อเงินดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนั้นในปีที่ผ่านมา บริษัทยังมีการเปิดเส้นทางบินใหม่ๆเพิ่มเติม และมีรายได้เป็นที่น่าพอใจ โดยเฉพาะเส้นทาง นราธิวาส ซึ่งมีอัตราผู้โดยสารนั่งเฉลี่ย 70%ต่อเที่ยว บินสัปดาห์ละ 3 ไฟลต์ ซึ่งในวันที่ 1 มีนาคมศกนี้ จะเพิ่มเป็นเดลี่ไฟลต์ หรือบินทุกวันๆละ 1 เที่ยวบิน โดยลูกค้าส่วนใหญ่เป็นพ่อค้าและนักธุรกิจ
สำหรับปีนี้ บริษัท ตั้งเป้ารายได้ไว้ที่ 3,800 ล้านบาท เติบโตจากปีก่อน ราว 40% โดยจะรับ-ส่งผู้โดยสารประมาณ 3 ล้านคน ซึ่งการเติบโตจะมาจาก การเปิดเส้นทางบินใหม่ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ได้แก่ เส้นทาง กรุงเทพ-กระบี่ และ กรุงเทพ-สุราษฎร์ธานี โดยกำหนดบิน เส้นทางละ 2 ไฟลต์ต่อวัน นอกจากนั้นบังเพิ่มเที่ยวบินในเส้นทางเดิม เช่น นราธิวาส เพิ่มเป็น เดลี่ไฟลต์ และ อุดรธานี จาก วันละ 1 ไฟลต์ เพิ่มเป็น 3 ไฟลต์ต่อวัน สำหรับเส้นทางต่างประเทศ ขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจาหลายแห่ง และที่คาดว่าน่าจะเปิดได้ในปีนี้ ได้แก่ เวียงจันท์ ย่างกุ้ง โฮจิมินท์ หลวงพระบาง และ ทางจีนตอนใต้ อาทิ เสิ่นเจิ่น กวางเจา คุนหมิง ส่วนที่ ฮานอย กำลังพิจารณาเพิ่มเที่ยวบิน
อย่างไรก็ตาม ในปีนี้ บริษัทยังเน้นเรื่องการพัฒนาบุคคลากร และเพิ่มคุณภาพด้านบริการ เพราะทั้งสองอย่างถือเป็นหัวใจหลักของการทำธุรกิจ โดยในเดือนตุลาคมปีนี้ มีโครงการที่จะส่งนักบินไปอบรมเพิ่มเติม นอกจากนั้น ยังจะเพิ่มเอเจนจัดจำหน่ายตั๋วในต่างประเทศ เพราะลูกค้ากลุ่มหนึ่งยังนิยมจองตั๋วเครื่องบินผ่านเอเจน โดยจะเพิ่มยอดขายจากช่องทางนี้ให้เป็นสัดส่วน 15% จากปีก่อนที่มีไม่ถึง 10% ขณะเดียวกัน ช่องทางจองตั๋วออนไลน์ผ่านอินเทอร์เน็ตก็จะปรับปรุงให้สะดวกยิ่งขึ้น เพราะ 60-70% ของลูกค้าแอร์เอเชีย ก็เป็นกลุ่มที่จองผ่านอินเทอร์เน็ต
ในส่วนของรายได้จากการขายอาหารบนเครื่องบิน ที่มีสัดส่วนไม่ถึง 10% ของรายได้ ปีนี้จะขยายเพิ่มขึ้น ล่าสุดจับมือกับ บริษัท โออิชิ กรุ๊ป จำกัด(มหาชน) เพื่อนำสินค้าของโออิชิ ขึ้นไปจำหน่ายแก่ผู้โดยสารบนเครื่องบินของแอร์เชีย ได้แก่ แซนวิช ไส้ ทูน่า ปูอัด แฮมชีสไก่ และ มังสวิรัติ นอกจากนั้นยังมีเมนูข้าวปั้นสามเหลี่ยมไข่กุ้ง นอกจากนั้นทางสายการบินยังจะมีการเปลี่ยนเมนูใหม่ๆ ในทุกไตรมาส เน้นอาหารที่รสชาติดี และมีคุณภาพ ตรงนี้เชื่อว่าจะสามารถช่วยเพิ่มสัดส่วนรายได้ที่มาจากการขายอาหารในปีนี้ให้อยู่ในสัดส่วนมากกว่า 10% ของรายได้รวม
อย่างไรก็ตาม นายทัศพล ได้กล่าวถึง ข่าวการหุ้นของบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด(มหาชน) ให้กับ เทมาเส็ก โฮลดิ้ง ประเทศสิงคโปร์ ว่า ในส่วนของ บริษัท ไทยแอร์เอเชีย ซึ่งมี กลุ่มชินฯถือหุ้นใหญ่ 51% และ บริษัท แอร์ เอเชีย ประเทศมาเลเซีย ถือหุ้นในสัดส่วน 49% ขณะนี้ยังไม่ได้รับข้อมูลจาก บริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น หรือการติดต่อจากบริษัท แอร์เอเชีย ที่ประเทศมาเลเซียแต่อย่างใด ซึ่งคงเป็นเพราะการเจรจาซื้อ-ขายหุ้น ยังไม่มีข้อตกลงที่แน่นอน และถึงหากดีลดังกล่าวจบลงแน่นอนแล้ว เชื่อว่าจะไม่มีผลกระทบกับบริษัท ไทยแอร์เอเชีย เพราะเราดำเนินธุรกิจมีผลกำไร และ มีแผนการขยายงานที่ชัดเจน ซึ่ง เทมาเส็ก จะเป็นกลุ่มทุนที่ ทำธุรกิจไอทีสื่อสาร ดังนั้น การเจรจา คงมีรายละเอียดปลีกย่อย เพราะ บริษัท ชิน ก็มีการลงทุนในหลายธุรกิจ
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|