ธุรกิจบัตรเครดิตหมุนกลับ

โดย ฐิติเมธ โภคชัย
นิตยสารผู้จัดการ( มกราคม 2546)



กลับสู่หน้าหลัก

การตัดสินใจควบคุมความเป็นไปได้การก่อหนี้ของผู้บริโภค ผ่านกฎเกณฑ์ธุรกิจบัตรเครดิต ส่งผลให้คนหลายล้านคนถูกตัดสิทธิ์ และประสิทธิภาพการสร้างรายได้ของผู้ออกบัตรลดลง

การประกาศกฎเกณฑ์แบบ U-Turn จากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ด้วย การกำหนดระเบียบการควบคุมบนตลาดบัตรเครดิตที่กำลังอยู่ในสภาวะที่เจริญรุ่งเรือง ในประเทศไทย ซึ่งกฎระเบียบดังกล่าว เริ่มมีผลกระทบตั้งแต่กลางเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา โดยมีข้อบังคับหลักๆ อยู่ที่ผู้ออก บัตรคิดดอกเบี้ยสูงสุดไม่เกิน 18% ขณะที่ผู้ถือบัตรต้องมีรายได้ขั้นต่ำต่อเดือน 15,000 บาท

เดือนเมษายนปีเดียวกัน แบงก์ชาติ ตัดสินใจทำให้การแข่งขันธุรกิจบัตรเครดิต ระหว่างธนาคารพาณิชย์กับสถาบันการเงินที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของตนเองมีความเสมอภาคกัน เมื่อ ธปท.ปล่อยเสรีการแข่งขันด้วยการยกเลิกรายได้ขั้นต่ำของ ผู้ที่ต้องการถือบัตร รวมถึงลดอายุขั้นต่ำผู้ถือบัตรจาก 22 ปีเหลือ 20 ปี และปรับปรุง ยอดขั้นต่ำที่ต้องชำระต่อเดือนจาก 10% เหลือ 5% เพื่อให้บริโภคใช้จ่ายมากขึ้นเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ

มีคำถามตามมาว่า แล้วทำไมต้องเปลี่ยนนโยบายหลังจากผ่อนคลายกฎเกณฑ์ ได้ไม่กี่เดือน เหตุผลหนึ่งที่มีความเป็นไปได้ คือตลาดบัตรเครดิตเติบโตอย่างก้าวกระโดด และกะทันหันขณะที่การใช้จ่ายผ่านช่องทาง นี้ของผู้บริโภคไม่มีความจำเป็นมากนัก แต่ การเติบโตได้ระเบิดออกมาจากผู้เล่นที่เป็น ธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงิน เช่น จีอี แคปปิตอล และอิออน ธนสินทรัพย์ ที่มี ลูกค้าผู้มีรายได้กลางถึงต่ำเป็นจำนวนมาก จากข้อเสนอสามารถมีบัตรเครดิตได้เพียงแค่มีรายได้ขั้นต่ำต่อเดือน 7,500 บาท

ผลลัพธ์คือ ตัวเลขจำนวนบัตรเครดิตที่ออกโดยธนาคารพาณิชย์เพิ่มขึ้นอย่างฉับพลัน 30% เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2544 ถึง 2.8 ล้านใบ พร้อมๆ กับเม็ดเงินที่หมุนเวียนในระบบสินเชื่อบัตรเครดิต 44 พันล้านบาท ณ เดือนมิถุนายน 2545 ส่วนบัตรเครดิตออกโดยสถาบันการเงินอื่นๆ ที่เรียกว่า Non-Bank คาดว่ามีประมาณ 1.6 ล้านใบ

เมื่อเป็นเช่นนี้ รัฐบาลจึงมีความกังวลว่าจะเกิดอันตรายต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวม จากการใช้จ่ายของผู้บริโภคมากเกินความจำเป็น และการก่อหนี้เกินความสามารถชำระหนี้ผ่านบัตรเครดิต ดังนั้นการ จำกัดขอบเขตความเสียหายจึงมีความจำเป็น

นโยบายแบบ U-Turn ของธปท. ดังกล่าวส่งผลกระทบต่อธนาคารพาณิชย์ต่างชาติและสถาบันการเงิน Non-Bank เนื่องเพราะคิดดอกเบี้ยสูงมาก ขณะที่อัตรา ดอกเบี้ยจ่ายเฉลี่ยของธนาคารกรุงเทพ, กรุงไทย, กสิกรไทย และไทยพาณิชย์ อยู่ที่ ระดับ 17.25%

ส่วนธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด นครธน คิดดอกเบี้ย 24%, ฮ่องกงเซี่ยงไฮ้ แอนด์แบงกิ้งคอร์ปอเรชั่น (HSBC) อยู่ที่ระดับ 26%, ซิตี้แบงก์คิด 27% ส่วนอิออน และจีอี แคปปิตอล คิดดอกเบี้ยสูงสุด 28%

เมื่อมีกฎใหม่ออกมาทำให้ผู้เล่นทุกรายอยู่ภายใต้เงื่อนไขเดียวกัน สามารถกำจัดความได้เปรียบเสียเปรียบด้านต้นทุน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิทธิพิเศษสุดโต่ง เช่น ฟรีค่าธรรมเนียมตลอดชีพ หรือโปรโมชั่นหวือหวา

อย่างไรก็ตาม ไม่มีใครยืนยันได้ว่าธุรกิจบัตรเครดิตมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา กฎเกณฑ์ที่ออกมาครั้งนี้ในอนาคตไม่มีความแน่นอน เนื่องจากกฎดังกล่าวไม่มีการเปลี่ยนแปลงสำหรับลูกค้าเดิม



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.