|
พลิกคัมภีร์ 'สามพราน กรุ๊ป'ชู 3 กระบวนท่าสู่ความสำเร็จ
ผู้จัดการรายสัปดาห์(23 มกราคม 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
- เปิดคัมภีร์พ่อค้าไทยเชื้อสายจีน 'จังหวะ-โอกาส-ศักยภาพ' ให้รีบกระโดดคว้า
- 3 ปัจจัยความสำเร็จ หลักยึดในแบบฉบับ 'สามพราน กรุ๊ป'
- เปรียบขยายกิจการเหมือน 'เจงกิสข่าน' แต่รอบครอบดูธุรกิจ บริวาร เหมือน ‘เล่าปี่’
- กับแนวคิดผู้นำองค์กร คำว่า 'เสี่ยง' ไม่มีในสารบท!
"ในโลกนี้ธุรกิจมีไม่จบสิ้น ดอกไม้สวยๆ มีบานทุกวัน" วลีดังกล่าว บ่งบอกสะท้อนถึงแนวคิดของนักธุรกิจวัย 60 ปี "สุรสิทธิ์ ติยะวัชรพงศ์"ประธาน สามพราน กรุ๊ป ที่วันนี้มีกิจการกว่า 10 บริษัท ครอบคลุมกลุ่มธุรกิจต่างๆ เช่น เครื่องมือทางการแพทย์ โรงงานผลิตจักรยานแบรนด์ LA ธุรกิจสุขภาพ Hearty Mate สิ่งทอและแฟชั่น อสังหาริมทรัพย์โครงการ Image Place มูลค่ากว่า 2,000 ล้าน
ด้วยความหลากหลายของธุรกิจ จึงเกิดคำถามตามมาว่ามีหลักคิดในการขยายการลงทุน การบริหารจัดการธุรกิจและบุคลากรซึ่งเป็นพลังขับเคลื่อนอันสำคัญอย่างไร? และในแต่ละธุรกิจมีความเหมือนหรือแตกต่างกันหรือไม่ ?
ชู 3 ปัจจัยลุยธุรกิจ สร้างความต่าง
สุรสิทธิ์ กล่าวกับ "ผู้จัดการรายสัปดาห์" ว่า หลักในการลงทุนธุรกิจนั้น อาศัยองค์ประกอบ 3 ส่วนคือ จังหวะ โอกาสและศักยภาพ ด้วยจิตใจที่ฮึกเหิมที่มีอยู่ในตัวพ่อค้าทุกคนต้องการเห็นกิจการเจริญ ก้าวหน้า จึงต้องมองหาโอกาสและการลงทุนใหม่ๆ อยู่เสมอ
เขาขยายความว่าที่ต้องอาศัยองค์ประกอบดังกล่าว เพราะธุรกิจจะมาใช้กับคำว่า "เสี่ยง" ไม่ได้ เพราะนั้นหมายถึงโอกาสการประสบความสำเร็จด้วย เมื่อคิดทำธุรกิจใดธุรกิจหนึ่งขึ้นมานั้นจะสำเร็จหรือไม่ ต้องมองจังหวะ ศักยภาพและโอกาส ความเป็นไปได้อย่างรอบครอบและรวดเร็ว รวมแล้วหมายถึงเงินลงทุน ความเชี่ยวชาญในธุรกิจของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งกรณีร่วมลงทุน ศึกษาศักยภาพพาร์ทเนอร์ รู้เรื่องหลักของธุรกิจที่ทำ หรือมีทีมงานที่ดี ที่สามารถดำเนินธุรกิจได้
หลักเบื้องต้นนี้จะนำไปสู่โอกาสการประสบความสำเร็จได้สูงและไม่มีปัญหากับผู้ร่วมทุน เช่น โครงการล่าสุด Image Place โครงการบ้านจัดสรรริมถนนพุทธมณฑลสาย 4 มูลค่ากว่า 2,000 ล้านบาท ที่ได้ร่วมกับตระกูลคานธี ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจสิ่งทอรายใหญ่ของไทย ด้วยศักยภาพของทำเลที่ตั้งเชื่อมต่อวงแหวนรอบนอก และผู้รับเหมาก่อสร้างซึ่งเป็นลูกเขย
นอกจากการเข้าสู่ธุรกิจใหม่ๆ ด้วยองค์ประกอบที่กล่าวมาข้างต้น ถ้าเปรียบเป็นสินค้าแล้วก็คือการนำเสนอสิ่งที่แตกต่างจากที่มีในตลาด จะเห็นได้จากโครงการ Image Place ที่เขาเริ่มต้นโครงการจากแนวคิดที่ว่าทำอย่างไรให้สินค้าอยู่ในระดับแนวหน้า โดยนำจุดอ่อนของแต่ละหมู่บ้านมาแก้ไข เช่น ต้องถมที่สูงกว่าถนนหลักเพื่อการระบายน้ำที่ดี การเพิ่มกระแสไฟฟ้าในบ้าน ซึ่ง 2 ส่วนนี้เป็นสิ่งที่จับต้องได้เห็นความแตกต่าง โดยยึดหลักที่ว่าของดีในราคายุติธรรม แม้จะเป็นมือใหม่ถ้ามีโลเคชั่นที่ดี และมีต้นทุนที่ถูกกว่าก็สู้กันได้ไม่ว่าจะเป็นมือใหม่หรือมือเก่า
เช่นเดียวกับธุรกิจสุขภาพภายใต้แบรนด์ Hearthy Mate รับกับกระแสสุขภาพที่กำลังมาแรง เน้นวัตถุดิบคุณภาพ โดยให้บุตรสาวเป็นผู้ดูแล
หรือโรงงานผลิตจักรยาน ร่วมทุนกับไต้หวัน ย้อนไปเมื่อ 10 ปีที่ผ่านไทยกำลังบูมด้านการลงทุน นักลงทุนจึงขยายการลงทุนมาในไทยได้ร่วมกันผลิตเพื่อการส่งออก ก่อนที่จะมาตั้งบริษัทเองและผลิตจักรยานภายใต้แบรนด์LA
ซึ่งเขามองว่า การเข้ามาทำธุรกิจที่หลากหลายเป็นโอกาสธุรกิจใหม่ๆ สามารถทดแทนกับธุรกิจหลักคือสิ่งทอ ที่อยู่ในช่วงขาลงหรือหมดยุคทองไปแล้ว แต่นั้นไม่ได้หมายรวมถึงการกระจายความเสี่ยง เพราะเขาเน้นย้ำว่ากับธุรกิจที่ลงทุนทั้งหมดต้องปราศจากความเสี่ยงตราบใดที่พิจารณาอย่างรอบครอบครบทั้ง 3 องค์ประกอบจังหวะ โอกาสและศักยภาพแล้ว
"ผมทำงานมา 38 ปี ขยายงานตลอด โดยยึดหลักการลงทุนเช่นเดียวกับการปักผ้า ปักไปเรื่อยๆ ตรงไหนขาดก็ปัก ปักจนเป็นตัว ซึ่งเป็นแนวคิดการทำธุรกิจของคนจีน ที่ผมว่าแตกต่างจากญี่ปุ่น ที่เขามีทุนเท่าไหร่ก็ลงไปหมดไม่ว่าจะ 100 ล้าน 1,000 ล้าน แต่กับคนจีนจะค่อยๆ ขยับขยาย เช่นเดียวกันครอบครัวผมที่ผ่านมาเริ่มจากสิ่งทอจนมาถึงทุกวันนี้"
เขาให้ข้อคิด ปัจจุบันการทำธุรกิจแตกต่างจากที่ผ่านมา เพราะมีปัจจัยหลายส่วนเป็นตัวแปร ไม่ว่าจะเป็นการเปิดเขตการค้าเสรี (FTA) ต้องดูว่าการลงทุนตัวไหนที่จะชนกับประเทศคู่เจรจาบ้าง เช่น จีน ซึ่งสินค้าทุกประเภทมีต้นทุนที่ถูกกว่าไทยถึง 30% แล้วโอกาสอะไรที่ไทยจะได้รับต้องมองให้ทะลุมองให้ลึกซึ้ง และก่อนที่จะลงทุนขยายกิจการอะไรนั้น ธุรกิจเดิมหรือหลังบ้านมีส่วนสำคัญ
โดยยกตัวอย่างจากเจงกิสข่าน นักรบยิ่งใหญ่ของจีน ที่เหมาเจ๋อตุงได้วิจารณ์ไว้ว่า เป็นนักรบชั้นหนึ่ง ที่เยี่ยมมาก รบที่ไหนไม่เคยแพ้ ตีเมืองไหนไม่เคยไม่ได้ทุกเมืองยึดได้หมด แต่ไม่ใช่นักปกครองที่ดี หลังจากครองเมืองไม่ได้นานก็ตั้งคนมาดูแล เมืองนั้นก็แข็งเมืองหรือแข็งข้อขึ้นมา ถึงรบจนตายก็ไม่มีวันสิ้นสุด ฉะนั้นธุรกิจเหมือนกันที่ต้องดูแลหลังบ้านให้ดี
ยึด "พระเดช พระคุณ"ปกครองแบบไทยๆ
20 กว่าปีที่ผ่านมา จากการขยายธุรกิจสิ่งทอสู่ธุรกิจนำเข้าเครื่องมือแพทย์ สุรสิทธิ์ ยึดหลักการบริหารคนเหมือนคนในครอบครัวเดียวกัน และจากก้าวแรกของธุรกิจทำให้มีโอกาสคลุกคลีกับพนักงาน และถือแนวนโยบายสร้างองค์ความรู้ให้กับพนักงาน โดยส่งฝึกอบรมยังต่างประเทศ
"หลายบริษัท มีสัญญา แต่กับบริษัทผมไม่ทำอย่างนั้นเพราะมองว่าเป็นเพียงกระดาษ โดยถือหลักว่าเป็นวิทยาทานสร้างคนสู่ฟิวธุรกิจ สร้างคนให้ประเทศชาติ ฉะนั้นทุกคนจะอยู่กันด้วยใจ อยู่กันแบบครอบครัว"
พอก้าวสู่การขยายกิจการ หลายบริษัทที่ต้องมี MD หรือกรรมการผู้จัดการดูแลนั้น ที่สุรสิทธิ์ให้ความหมายว่าเปรียบเหมือน "เจ้าภาพ" ที่ต้องรู้ ดูแลขอบข่ายในงานที่รับผิดชอบในบริษัทที่นั่งตำแหน่งอยู่ รวมถึงการมีธรรมนูญของบริษัท ระบุหน้าที่ ความรับผิดชอบของแต่ละหน่วยงานขึ้นมา และยังหมายถึงการมีอำนาจในหน้าที่นั้นๆ ประกอบด้วย 3 ส่วนคือ อำนาจ หน้าที่และความรับผิดชอบ โดยจะแบ่งหน้าที่การบริหารงานแต่ละส่วนอย่างชัดเจน รวมถึงการตัดสินใจภายใต้หน้าที่ที่ดูแล
เช่น อำนาจของ MD สามารถตัดสินใจได้ เช่น แรงงานปกติอย่างเซล รับได้ทันทีตามอัตรากำลังคนถ้ามีคนออก แต่ถ้ารับใหม่ก็ต้องคุยกันมีคำอธิบายถ้าต้องขยายงาน
"แนวคิดการบริหารคน ผมศึกษาจากหลายๆ ท่านผู้รู้ โดยไม่ได้ยึดติดแนวทางใดแนวทางหนึ่ง และผมเรียนรู้จากเทคโนโลยี สิ่งแวดล้อม เพื่อนๆ มากกว่า"
เขายกตัวอย่างละครตัวหนึ่งในสามก๊ก คือเล่าปี่ ว่า เป็นคนที่รู้จักใช้คน นอบน้อม แต่เป็นคนไม่มีเหลี่ยม เพื่อนๆ หรือคนรู้จักล้วนเป็นคนที่เก่ง ยามต้องการความช่วยเหลืออะไรพวกเขาเหล่านี้พร้อมเสมอ ฉะนั้นคนที่เก่ง ปกครองคนได้ต้องอาศัยหลายๆ ส่วนเป็นองค์ประกอบ
กับแนวคิด บริหารจากตะวันตกและตะวันออกนั้น เขายอมรับว่า หลักการบริหารทางตะวันตกนั้นมีจุดดีคือการวัด ประเมินผลคนตามผลงาน แต่กับสังคมหรือวัฒนธรรมองค์กรของไทยนั้นสามารถใช้ได้กับบางธุรกิจเท่านั้น ในบางธุรกิจยังไม่ถึงเวลา
"กับคนไทยผมชอบใช้คำว่าพระเดช พระคุณมากกว่า เมื่อพนักงานทำสิ่งไหนดี สิ่งไหนถูกต้องนายจ้างต้องกล้าจ่าย ถ้าไม่ดีต้องกล้าฟัน ในองค์กรผมเช่นกันยึดหลักพระเดช พระคุณ ผมจะอธิบายกรณีที่ต้องเอาระดับผู้บริหารออก อยู่ด้วยกันไม่ได้จริงๆ อย่าฝืนกันเลย ถ้าเก้าอี้ตัวนี้ผมไม่ให้คุณนั่งผมก็ต้องให้คนอื่นนั่ง ถ้าคุณดีจริง ผมเอาคุณออกทำไม"
"ผมบอกลูกน้องเสมอว่าต้องเข้าใจ บริษัทสร้างขึ้นมาไม่ใช่โรงเลี้ยงเด็ก เลี้ยงคนชรา ต้องร่วมกันหาเงิน สร้างงานขึ้นมาโดยผมลงทุน เพื่อขายเอาผลกำไรมาแบ่งกัน"
สุรสิทธิ์ กล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า ธุรกิจเปรียบเหมือนชีวิตคนที่ไม่สามารถราบรื่นหรือยิ้มแย้มได้ทุกวัน บางวันเศร้าหมอง บางวันรู้สึกสดชื่น ธุรกิจก็เช่นเดียวกัน ต้องกล้าสู่ความจริงกับปัญหา มองให้ออกและมองให้ทะลุถึงวิธีการแก้ไข
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|