2 ปี“อีลิท คาร์ด”ฝันค้างที่ดันทุรังสู้...


ผู้จัดการรายสัปดาห์(23 มกราคม 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

แทบไม่น่าเชื่อเลยว่ารอบปีที่ผ่านมาโครงการที่รัฐบาลชุด พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรีจะสร้างความไม่แน่นอนเกิดขึ้นได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของการท่องเที่ยว เพราะตั้งแต่ปลายปี 47 จนถึงปี 2548 มีการเปลี่ยนรัฐมนตรีที่กำกับดูแลด้านการท่องเที่ยวถึง 3 คน เริ่มตั้งแต่ สนธยา คุณปลื้ม,สมศักดิ์ เทพสุทิน และคนปัจจุบันคือ ประชา มาลีนนท์ ทีมักจะมีข่าวคราวการไม่ลงรอยกันกับรองนายกที่กำกับดูแลด้านการท่องเที่ยวและกีฬาอย่าง สุวัจน์ ลิปตพัลลพ อยู่บ่อยครั้ง

แต่ขณะเดียวกันความพยายามของภาครัฐในการสรรหาโปรเจคใหญ่ๆเข้ามาเพื่อสร้างรายได้ให้เป็นกอบเป็นกำหวังกระตุ้นเม็ดเงินจากต่างประเทศให้หลั่งไหลเข้าสู่ประเทศไทยเพียงเพื่อเพิ่มยอดจีดีพีให้มีตัวเลขที่สวยหรู และชดเชยรายได้จากการท่องเที่ยวที่หายไปในตอนเกิดวิกฤติโรคซาร์ ไข้หวัดนก และ คลื่นยักษ์สึนามิ แต่ทุกอย่างก็ดูจะไม่ถึงฝั่งฝันเสียแล้ว

กรณีศึกษาบัตรไทยแลนด์ อีลิท ดูจะเป็นโครงการเด่นชัดที่สุดที่น่าจับตามอง!!...

ด้วยราคาบัตรต่อใบที่มีค่าสูงถึง 1 ล้านบาท พร้อมกับขายให้กับลูกค้าระดับมหาเศรษฐีชาวต่างชาติผนวกกับเป้าหมายที่รัฐบาลชุดนี้หมายมั่นปั้นมือให้มียอดขายสูงถึง 1 ล้านใบ โดยมีบริษัท ไทยแลนด์ พริวิเลจ คาร์ด จำกัด หรือ ทีพีซี เป็นตัวขานรับนโยบาย แต่สถานการณ์ก็ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย จนในที่สุดก็ต้องออกตัวมายอมรับกับสภาพความเป็นจริงว่าไม่มีทางเป็นไปได้

ปัจจุบันยอดขายบัตรล่าสุดจึนถึงเดือนธันวาคม 2548 ที่ผ่านมา ตั้งเป้าไว้สูงถึง 2,000 ใบแต่สามารถทำได้แค่เพียง 1,749 ใบเท่านั้น จึงเป็นที่มาของการปรับยกเครื่ององค์กรใหม่ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นทีมผู้บริหาร กลยุทธ์การตลาด รวมถึงการทำงานของเอเย่นต์ที่จะนำบัตรไปขายให้กับชาวต่างชาติจนทำให้ระบบขายเดิมต้องอาจถูกเปลี่ยนใหม่ส่งผลทำให้เอเย่นต์รายใหญ่อย่าง แอคทีฟ เกิดความพอใจพร้อมประกาศถอนตัวจากการเป็นเอเย่นต์ทันทีสร้างความฮือฮาส่งท้ายปี 48 ที่ผ่านมา

เพียงเพราะทีพีซีมองว่า รูปแบบของบัตรเดิมที่เก็บเพียงค่าแรกเข้าครั้งเดียวหรือ 1 ล้านบาท สามารถใช้เอกสิทธิ์ต่างๆได้ตลอดชีพ ทั้งในเรื่องของการลงทุน ทำธุรกิจ หรือท่องเที่ยวในมืองไทย อาจส่งผลให้เกิดปัญหาระยะยาวตามมาและไม่คุ้มค่ากับเม็ดเงินที่ได้มาเพียง 1 ล้านบาท การเก็บค่าธรรมเนียมรายปีเพิ่มขึ้นอีก ปีละ 4 หมื่นบาท จึงน่าจะเป็นทางเลือกที่จะถูกหยิบมาใช้ประโยชน์

ขณะเดียวกันการบริหารจัดการของ โชคศิริ รอดบุญพา ผู้จัดการใหญ่ของทีพีซี ในรอบปี 2548 ที่ผ่านมามีการปรับโครงสร้างองค์กรครั้งใหญ่เพื่อตอบสนองการเข้าไปทำตลาดเฉพาะเจาะจงในแต่ละภูมิภาค และสามารถลงรายละเอียดได้ในแต่ละประเทศมากขึ้น เพื่อสร้างความพึงพอใจในกลุ่มลูกค้าในแต่ละพื้นที่ที่มีลักษณะแตกต่างกันทั้งผลิตภัณฑ์และความต้องการจนทำให้เกิด แพ็คเกจ 3 รูปแบบขึ้นมา ซึ่งยังไม่สามารถพิสูจน์ความสำเร็จได้ในเวลานี้

แม้แต่การแก้เกมของทีพีซีในการยกระดับฝ่ายขายให้เข้ามาดูแลงานในส่วนของฝ่ายบริการลูกค้าด้วย เพราะไม่มีใครรู้ถึงความต้องการของกลุ่มลูกค้าได้ดีเท่าฝ่ายขาย ผนวกกับการปรับกลยุทธ์การตลาดด้วยการเปิดตลาดใหม่ๆในเชิงรุก ซึ่งก็ไม่รู้ว่ามีทั้งสองหน่วยงานที่ถูกปรับเปลี่ยนนั้นได้ทำหน้าที่จริงจังหรือไม่ เพราะตัวเลขยอดขายในปัจจุบันก็ยังไม่กระเตื้องขึ้นเท่าที่ควร

นอกจากนี้เอเย่นต์ประมาณกว่า 10 รายที่ทีพีซีแต่งตั้งขึ้นมาทำตลาดเพื่อช่วยขายบัตรไทยแลนด์ อีลิทนั้นต่างฝ่ายต่างก็เร่งทำทุกวิถีทางเพื่อสร้างยอดขายในตลาดเพิ่มขึ้น อาจส่งผลทำให้เกิดปัญหาการขายตัดราคาตามมาในที่สุด

สำหรับรัฐมนตรีที่รับผิดชอบแม้ว่าจะไม่แสดงท่าทีใดๆกับ ทีพีซีมากนัก เพราะอาจจะไม่ใช่โปรเจคขอบตัวเองตั้งแต่เริ่มต้น แต่ยังคงมีหน้าที่ให้การสนับสนุนทีพีซีด้วยการจับมือกับบริษัท ไทยจัดการลองสเตย์(ทีแอลเอ็ม) เพื่อร่วมกันถึงนักท่องเที่ยวในตลาดบนหรือไฮเอนด์ โดยให้ทีพีซีเป็นตัวกลางในการดูแลเนื่องจากตลาดกลุ่มนี้มีศักยภาพสูง และมีโอกาสที่จะสร้างสินค้าบริการร่วมกัน

ความพยามยามของทีพีซีตอนนี้มีทั้งการเตรียมออกสินค้าใหม๋ คือ เวบไซด์ “ไทยแลนด์ อีลิท เอ็กซ์คลูซีฟ วิลล่า”คลับ ออนไลน์ที่จะรวบรวมสถานที่พักผ่อนและรีสอร์ต สปา ระดับ 5 ดาวจากสถานที่ท่องเที่ยวชั้นนำของประเทศไทย โดยมีหน้าที่จับจองห้องพักและจัดโปรแกรมนำเที่ยวแบบเอ็กคลูซีฟโดยเฉพาะ

การทำงานของ ทีพีซี ในวันนี้ยังจัดทำดัชนีชี้วัดความสำเร็จของการบริหารงานของบริษัทอีกด้วย โดยได้กำหนดตัวชี้วัดผลการปฏิบัติงานในทุกส่วนตั้งแต่ระดับประธานกับคณะกรรมการลงไปถึงระดับผู้จัดการฝ่ายด้วยเช่นกัน และแน่นอนทำให้การเซ็นสัญญาเพื่อให้ได้ยอดขายจำนวน 2,000 ใบของโชคศิริบิ๊กบริหารทีพีซีกับบอร์ดต้องเป็นหมันไปในที่สุด

ไทยแลนด์ อีลิท คาร์ด คือโครงการหนึ่งที่รัฐบาลประสบความล้มเหลวมาตั้งแต่ต้น เพราะไม่ได้ศึกษาความเป็นไปได้ กอปรไม่ได้ทำเซอร์เวย์การตลาดแต่กลับนำไปปฏิบัติทันที จึงเป็นเรื่องที่น่าเสียดายสำหรับเม็ดเงินที่ลงทุนไปกับโครงการท่องเที่ยวแบบนี้ สังเกตได้ตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงปัจจุบันยอดขายบัตรเอกสิทธิ์ยังไม่ถึง 2 พันใบ... หากจะให้ยอดพุ่งสูงถึงล้านใบคงต้องใช้เวลาเป็นสิบๆปีกระมัง!...


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.