เทรนด์นิตยสารปรับตัว เพิ่มเนื้อเสริมหน้าเจาะตลาดหญิง


ผู้จัดการรายสัปดาห์(23 มกราคม 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

นิตยสารปีจอพร้อมใจปรับกระบวนยุทธ์สู่ยุครีเฟรชตัวเองเสริมความน่าสนใจเพิ่มเรื่องราวไลฟ์สไตล์ใกล้ตัวมุ่งชัดเป้าหมายหญิงทำงาน หวังช่วงชิงส่วนผู้อ่านพร้อมส่วนแบ่งเม็ดเงินโฆษณามูลค่ากว่า 6 พันล้านบาท เหตุมีเคสสตั๊ดดี้ให้ได้เห็นจากช่วงที่ผ่านมา

ด้วยจำนวนนิตยสารในปัจจุบันที่วางเรียงรายขายอยู่บนแผงหนังสือซึ่งรวมกันแล้วมีไม่ต่ำกว่า 150 หัว มีการใช้เม็ดเงินโฆษณาผ่านสื่อชนิดนี้ราว 6 พันล้านบาทต่อปี มากรองมาจากวิทยุ โดยเฉพาะนิตยสารผู้หญิงซึ่งเน้นเรื่องราวเกี่ยวกับความบันเทิง แฟชั่น และความสวยงาม ถือเป็นเซ็กเมนต์ที่ใหญ่และมีการแข่งขันกันมากที่สุดในบรรดานิตยสารทุกประเภท

ย้อนไปเมื่อปี 2547 ซึ่งถือเป็นช่วงที่วงการนี้ร้อนแรงที่สุด ทั้งปีมีการเปิดตัวนิตยสารรวมแล้วเกือบ 20 หัว จากผู้เล่นทั้งรายเก่าและรายใหม่ มีทั้งนิตยสารหัวนอกและหัวในประเทศ จนเม็ดเงินผ่านสื่อดังกล่าวทั้งปีขยายตัวเติบโตรวมสูงถึง 30%

ส่งผลถึงปี 2548 ที่มีการแข่งขันอย่างต่อเนื่องทั้งในรูปแบบการจัดกิจกรรมโปรโมต ส่งเสริมการตลาด รวมถึงชิงโชคแจกของรางวัล เพื่อกระตุ้นและสร้างการรับรู้ให้กับกลุ่มเป้าหมายโดยเฉพาะนิตยสารผู้หญิงที่มีการเปลี่ยนแปลงมากและเร็วที่สุด ทำให้ตลาดขยายตัวจากปีก่อนหน้าอีก 8% รวมแล้วเป็นมูลค่า 6,638 ล้านบาท

สำหรับในปี 2549 มีแนวโน้มชี้ให้เห็นแล้วว่ารูปแบบการแข่งขันก็จะเปลี่ยนไปอีกโดยเน้นไปที่การปรับปรุงเปลี่ยนแปลงรีเฟรชตัวเองให้ดีขึ้นเพื่อให้สอดคล้องกับ life style ของผู้อ่านมากขึ้น หลังจากที่ได้อยู่ในตลาดเรียนรู้จุดแข็งจุดอ่อนของตนเองและคู่แข่งได้ระยะหนึ่งแล้ว

ณรงค์ ตรีสุชน ผู้จัดการทั่วไป โอเอ็มดี บริษัทซื้อสื่อโฆษณา มองว่าปัจจุบันนิตยสารผู้หญิงหลายฉบับมีการเร่งพัฒนารูปแบบขยายฐานผู้อ่านให้ตรงกับความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ผลสำรวจจากโครงการ “WOW, the Wonders of woman”ระบุด้วยว่า 73%ของผู้หญิงไทยเชื่อมั่นว่าโฆษณามีอิทธิพลต่อการซื้อสินค้าโดยสื่อนิตยสารมีความนิยมเป็นอันดับ 2 ในระดับ88%รองจากโทรทัศน์ที่อยู่ในระดับ 97% และกว่า 46% ของผู้หญิงมีรายได้มากกว่าหรือเท่ากับคู่สมรส รวมทั้งเป็นผู้มีอิทธิพลต่อการใช้จ่ายเงินในครอบครัวอีกด้วย ยังผลให้นิตยสารต้องปรับทิศทางตาม คู่ขนานไปกับการดึงดูดโฆษณาเข้ามาให้ได้มากที่สุดเช่นกัน เนื่องจากรายได้จากค่าโฆษณาถือว่าเป็นช่องทางรายได้หลักของสิงพิมพ์ทุกชนิด กลยุทธ์ที่นำมาใช้ก็คือการเพิ่มหน้าขึ้นมาเพื่อรองรับโฆษณาแทนการขึ้นราคาจากต้นทุนต่างๆที่สูงขึ้นไม่ว่าจะเป็นค่าเชื้อเพลิง ค่าขนส่ง หรือแม้กระทั่งในส่วนวัตถุดิบกระดาษซึ่งในช่วงปีที่ผ่านมาได้ขึ้นราคาไปแล้วเช่นกัน

เพ็ญประภา วัฒนรัตน์ บรรณาธิการบริหาร นิตยสาร Women plus ในเครือ GM บอกว่า การพัฒนารูปของ Woman plus จะเน้นไปที่ภาพของความเป็นผู้หญิงทำงาน ให้มีเรื่องราวเกี่ยวกับไลฟ์สไตล์หรือฮาวทูที่เกี่ยวข้องกับการใช้ชีวิตประจำวันให้มากขึ้นโดยการเพิ่มเซ็กชั่น Woman @ work ขึ้นมาสำหรับผู้หญิงทำงานโดยเฉพาะ จากเดิมซึ่งอาจมีเรื่องดังกล่าวไม่พอเพียงกับความต้องการของผู้อ่าน

ในขณะที่ มนทกานติ รังสิพราหมกุล บรรณาธิการบริหาร นิตยสาร madame FIGARO กล่าวว่ารูปแบบการปรับปรุงนั้นจะเน้นให้มีความเป็นไทยมากขึ้นโดยเฉพาะใน 3 ส่วนสำคัญคือ ความสวย, ความงาม และศิลปะ จากเดิมที่อิงกับเนื้อหาของบริษัทแม่ที่ฝรั่งเศสค่อนข้างมาก เพราะคาดการณ์ว่าในปีนี้แนวโน้มของผู้หญิงเก่งและพึ่งพาตัวเองจะมีมากกว่าเดิม

“เนื้อหาจึงต้องปรับให้เข้ากับพฤติกรรมดังกล่าวในรูปแบบที่เข้าใกล้ผู้หญิงไทยยุคใหม่มากขึ้น แต่ขณะเดียวกัน ก็ไม่หนีห่างไปจากบรรทัดฐานเดิม เทรนด์ต่างๆที่แนะนำไปก็จะไม่เจาะจงชี้เฉพาะแต่จะให้ผู้อ่านได้ตัดสินใจด้วยตนเอง”

ด้าน Cosmopolitan จีรณี จิตตเสวี บรรณาธิการบริหาร ก็บอกเช่นกันว่าจะมีการปรับปรุงนิตยสารโดยจะมีการเพิ่มคอลัมน์ Voice of woman ซึ่งเน้นในเรื่องการพูดถึงสิทธิสตรีและเรื่องราวประสบการณ์อื่นๆเข้าไป โดยจะเป็นเรื่องที่คลอบคลุมในหลายๆกลุ่มอาชีพเพื่อให้รู้สึกถึงความสัมพันธ์เชื่อมโยงและเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ดีขึ้น

ขณะที่ นิตยสาร Volume กลับวางแนวทางการขยายฐานผู้อ่านไปสู่เพศตรงข้าม เอกชญา สุขศิริ บรรณาธิการบริหาร อธิบายว่า จะมีการนำ Volume, Volume X และ Volume plus ที่เคยแยกเป็น 3 เล่มมารวมกันอยู่ในเล่มเดียวโดยทำในลักษณะรอยปรุกลายเป็นส่วนหนึ่งของเล่มใหญ่ที่สามารถฉีกแยกออกมาได้ ทั้งนี้เพื่อขนาดของเล่มดูหนาคุ้มค่าขึ้นเนื้อหาไม่กระจัดกระจาย ทั้งนี้ยังมีการเพิ่มเซ็กชั่นสำหรับผู้ชายมากขึ้นอีกด้วย

“ดังนั้นแม้กลุ่มเป้าหมายหลักของเราจะเป็นผู้หญิงอายุ 20-40 ปี นักศึกษาถึงวัยทำงานแต่ก็มีเนื้อหาที่เหมาะกับผู้ชายเช่นกัน การปรับปรุงครั้งนี้จึงเปรียบเสมือนการขยายฐานผู้อ่านให้กว้างขึ้น


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.