|
วีซ่า New look หวังโดนใจลูกค้ากลุ่มใหม่
ผู้จัดการรายสัปดาห์(23 มกราคม 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
แม้ว่าชื่อเสียงในวงการบัตรเครดิตเพื่อการชำระเงินของวีซ่า จะโด่งดังเป็นที่ยอมรับ และยังไม่มีผู้ประกอบการรายใดที่ทาบรัศมีได้ แต่ผู้บริหารกลับยังไม่พอใจนัก ล่าสุดวีซ่าได้ตัดสินใจปรับเปลี่ยนโลโก้ของกิจการ พร้อมกับการออกแบบตัวบัตรเครดิตใหม่ ให้โฉบเฉี่ยว หรูหรา เพื่อเข้าถึงกลุ่มลูกค้าใหม่ๆ มากขึ้น
การสร้าง New look ในโลโก้ใหม่ของวีซ่าครั้งนี้ ใช้ฐานสีน้ำเงิน ขาว และสีทอง เป็นการปรับเปลี่ยนโลโก้ครั้งแรกในรอบ 30 ปี ของการดำเนินงานของวีซ่า นักการตลาดประเมินว่าการปรับเปลี่ยนครั้งนี้ เป็นการพยายามสร้าง นิว แบรนด์ ที่จะสะท้อนถึงการขยายขอบเขตในด้านความกว้างขวางของผลิตภัณฑ์การชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ที่วีซ่าให้บริการแก่สถาบันการเงินที่เป็นสมาชิก และหาทางขยายขอบเขตพื้นที่การตลาดของกิจการให้มากขึ้นกว่าเดิม
ที่ผ่านมา แบรนด์วีซ่ามีบทบาทสำคัญในการเชื่อมโยงกิจการค้าปลีกและผู้ถือบัตรเครดิตจำนวนหลายล้านรายทั่วโลก จึงต้องทำให้มั่นใจอย่างเพียงพอว่า วีซ่ายังเป็นแบรนด์ที่ได้รับความไว้วางใจและความเชื่อถือจากตลาดอย่างต่อเนื่อง และทำให้ตำแหน่งทางการตลาดของกิจการอยู่ในจุดที่เป็นเป้าหมายของกิจการ
แผนงานทางธุรกิจของวีซ่าในอนาคต หันไปเน้นภาพลักษณ์อย่างอื่น นอกเหนือจากการเป็นผู้ออกบัตรเครดิตเพียงอย่างเดียวไปเป็นภาพใหม่ที่มีความหมายแตกต่างกันออกไป คือ
ประการแรก กิจการที่เป็นผู้นำในตลาดโลกด้านระบบการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ ทั้งเดบิต คอมเมอร์เชียล หรือเชิงพาณิชย์ และเครดิตการ์ดลูกค้ารายย่อย
ประการที่สอง ให้การออกแบบบัตรประเภทต่างๆ สะท้อนและสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมทางธุรกิจของตลาดโลก
ประการที่สาม มอบโมเดลการทำธุรกิจด้านการเป็นตัวแทนและสมาชิกที่รับบัตรเครดิตที่ยืดหยุ่นมากขึ้น เพื่อความสะดวกในการให้บริการของสถาบันการเงิน ตลอดจนร้านค้าปลีกที่เป็นสมาชิก และรับบัตรเครดิตของวีซ่า เพื่อเปิดทางให้มีการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ในอนาคต อย่างเช่น บัตรเครดิตประเภทไม่ต้องมีการทำสัญญา หรือ Contactless cards การชำระเงินผ่านทางโทรศัพท์มือถือ และเทคโนโลยีอื่นๆ ที่อาจเข้ามามีความสำคัญและบทบาทมากขึ้นในอนาคต
ประการที่สี่ นอกเหนือจากผลประโยชน์ที่มาจากการเพิ่มความเชื่อมั่นทั้งต่อผู้บริหารของวีซ่าและของลูกค้าในเรื่องการรักษาความปลอดภัยแล้ว วีซ่ายังหวังว่าจะสร้างสถาปัตย์ของแบรนด์ที่เพิ่มทางเลือกใหม่ๆ ให้กับสมาชิกและลูกค้ามากขึ้นด้วยพื้นที่เพิ่มขึ้นบนด้านหน้าบัตรให้สามารถใส่ลูกเล่นที่แตกต่างกันออกไปได้ง่ายขึ้น
อันที่จริง แบรนด์วีซ่านั้น ถือว่ามีมูลค่าทางด้านการตลาดมหาศาลที่สร้างสินทรัพย์ให้แก่กิจการอย่างมากมาย การปรับแบรนด์ที่ไปในทิศทางที่ถูกต้องย่อมจะเพิ่มคุณค่าของแบรนด์ในสายตาของสมาชิก พ่อค้าปลีก และผู้ถือบัตรมากขึ้น พร้อมกับทำให้การจัดวางตำแหน่งทางการใหม่ ในฐานะของแบรนด์ที่แข็งแกร่งและยืดหยุ่นเคียงคู่กับสังคมในอนาคต มีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จได้โดยง่าย
ปัจจุบันบัตรวีซ่าที่ออกให้กับตลาดในประเทศต่างๆ มีจำนวนผู้ถือบัตรรวมกันไม่น้อยกว่า 488 ล้านใบ ขณะที่จุดที่ยอมรับบัตรวีซ่าเป็นเครื่องมือในการชำระค่าสินค้าและบริการ มีกว่า 6 ล้านจุด แม้ว่าจะผ่านกระบวนการในการปรับแบรนด์มาได้ระยะหนึ่งแล้ว แต่เป็นที่คาดหมายกันว่าการปรับเปลี่ยนตัวบัตรเครดิตจริงๆ น่าจะทยอยเกิดขึ้นในอีก 3-5 ปีที่จะถึง ไม่ได้เกิดขึ้นพร้อมกันในระยะอันสั้น ตามที่มีความเข้าใจกันก่อนหน้านี้
ในการส่งเสริมการจำหน่ายกับบรรดาสมาชิก ร้านค้าปลีกที่รับบัตร บริษัทวีซ่าได้เสนอบริการที่จะสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่คู่ค้าหลายแนวทาง เช่น การเสนอโครงการเพิ่มพูนความรู้ให้แก่พนักงานของคู่ค้า การเสนอหลักสูตรการฝึกอบรมในด้านการบังคับใช้กฎหมายแก่ผู้ที่ทุจริตการใช้บัตร โดยเจ้าหน้าที่ที่เชี่ยวชาญประเด็นทางกฎหมายของบริษัทวีซ่า
สำหรับประวัติความเป็นมาของบริษัทวีซ่า สหรัฐฯนั้นได้พัฒนาธุรกิจจนสามารถเป็นบริษัทที่ให้บริการด้านระบบการชำระเงินอีเล็กทรอนิกส์รายใหญ่ที่สุดของโลก กล่าวคือ 1. ทำให้ธนาคารต่างๆ กว่า 13,420 รายทั่วโลก ให้บริการทางการเงินแก่ลูกค้าให้มีทางเลือกหลากหลายมากขึ้น 2.สามารถสนองความต้องการที่แตกต่างกันของลูกค้าได้ ด้วยการออกบัตรเครดิตที่แยกเป็นแบรนด์ต่างๆ กว่า 488 ล้านแบรนด์ 3. ขอบเขตของพื้นที่ให้บริการทั่วโลก รวมกันกว่า 150 ประเทศ และ 4. สร้างปริมาณการซื้อขายในแต่ละปีกว่า 3 ล้านล้านดอลลาร์
โดยภาพรวมแล้ว กล่าวได้ว่าปัจจัยหลักที่นำความสำเร็จมาสู่วีซ่า จึงมาจากความสามารถในการพัฒนาความสะดวกและความสบายในการชำระเงิน การให้ทางเลือกใหม่ๆ พร้อมกับการสร้างความมั่นใจในด้านการรักษาความปลอดภัยของฐานข้อมูลและรหัสส่วนตัวที่ฝังไว้ในบัตรเครดิตแต่ละใบ
ดังนั้น การสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับแบรนด์ด้วยการปรับเปลี่ยนโลโก้ครั้งนี้ น่าจะทำให้ภาพลักษณ์ของวีซ่าในระยะยาว ปรับเปลี่ยนไปไม่มากก็น้อย
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|