|
7-eleven & OK Cash นำทัพเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคครั้งใหญ่
ผู้จัดการรายสัปดาห์(23 มกราคม 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
-เมื่อบัตรเงินสด ปฏิวัติรูปแบบ พฤติกรรมการใช้เงิน
-เข้าสู่ยุค ไมโครเพย์เมนท์อย่างเต็มรูปแบบ
-ใครจะเป็นผู้กำชัยในศึกใหม่
การเปิดตัว บัตรเงินสดสมารท์เพิร์ส ของค่ายเซเว่นฯ ในช่วงปลายปี 2548 ที่ผ่านมา โดยมีเป้าหมายเพื่อบริการให้ความสะดวกกับผู้ซื้อและเพิ่มความรวดเร็วในการให้บริการ ด้วยระบบไมโครเพย์เมนท์ ซึ่งบัตรดังกล่าวจะช่วยลดขั้นตอนการทอนเงินไปได้ และเข้าสู่ระบบการชำระเงินด้วยเงินตัวเลข รวมทั้งกลยุทธ์การใช้จ่ายที่ได้สะสมแต้มจากการใช้บริการร้านอาหาร ดูหนัง ฟังเพลง และชอปปิ้งทุกแห่งอยู่ในชิพใบเดียว
นอกจากนั้นยังเห็นมองเห็นเทรนด์ของ เพิร์ส หรือการใช้จ่ายผ่านบัตรเงินสดที่หลายๆประเทศทั่วโลกเริ่มนำมาใช้ และเมืองไทยต้องเริ่มต้น เพราะมีจุดขายเรื่องความรวดเร็ว เพียงแค่กดตัวเลขตามจำนวนยอดใช้จ่ายและนำบัตรมาแตะกับเครื่องรับได้ทันทีภายใน 2 วินาที ซึ่งไม่ต้องเสียเวลานับธนบัตร หรือรอเงินทอนจากพนักงาน ซึ่งกระบวนการต่างๆเหล่านี้ต้องใช้เวลาประมาณ 20 วินาที ซึ่งสอดคล้องกับไลฟ์สไตล์คนในกรุงเทพฯและเมืองใหญ่ในจังหวัดต่างๆ
แต่ด้วยข้อจำกัดแรกของการบัตรสมาร์ทเพิร์สซึ่งเป็นนวัตกรรมใหม่ของการใช้จ่ายนั้น ยังต้องเผชิญกับอุปสรรคนานับปราการ นับตั้งแต่การปรับตัวเพื่อเรียนรู้ถึงการใช้งานของเทคโนโลยีใหม่ของพนักงานภายในร้านเซเว่นฯในเรื่องของเติมเงิน ขายบัตรให้คล่อง และการใช้เครื่องและความเข้าใจระบบการทำงานของบัตรให้มีความชำนาญมากขึ้น ซึ่งก็ทำให้การเปิดบริการในระยะแรกมีการปูพรมระบบเฉพาะในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล 1,500 สาขา หลังจากนั้นในวันที่ 15 มกราคม 2549นี้ จึงได้มีเปิดบริการเต็มพื้นที่ทุกสาขา 3,300 สาขาทั่วประเทศ
อย่างไรก็ตาม เป้าหมายของการใช้บัตรสมาร์ทเพิร์สนั้น ไม่ได้วางขอบเขตไว้เพียงใช้กับเชนร้านสะดวกซื้อเซเว่นเท่านั้น เพราะบริษัท ไทยสมาร์ทคาร์ด จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนของ 9 พันมิตรด้วยเงินลงทุน 395 ล้านบาท คือกลุ่มธนาคารถือหุ้น 51% มีธนาคารกรุงศรีอยุธยาฯ ธนาคารกรุงไทยฯ ธนาคารนครหลวงไทยฯ ธนาคารออมสินฯ และบริษัทเซเว่นอีเลฟเว่นฯ บริษัททรูฯ บริษัทล็อกซเลย์ และบริษัทเอสวีโอเอฯ ได้วาดอนาคตให้บัตรสมาร์ทเพิร์สเป็นบัตรเงินสดเพียงใบเดียวที่สามารถใช้จ่ายได้ครอบคลุมการใช้ชีวิตประจำวันของคนเมืองในยุคนี้
ที่สำคัญบัตรเงินสด ยังเป็นเครื่องมือการตลาดในการสร้างลอยัลตี้โปรแกรมกับลูกค้าด้วย โดยมีห้างร้านและธุรกิจถึง 60 แบรนด์ เตรียมที่จะนำบัตรสมาร์ทเพิร์สไปบริการความสะดวกในการจ่ายให้เร็วขึ้น พร้อมการสะสมแต้มให้กับลูกค้าสามารถใช้ร่วมกันได้เช่น เติมน้ำมันที่ปั๊มได้แต้ม มาซื้อสินค้าที่ร้าน 7-11 ซื้อของที่ 7-11 ได้แต้มเอาไปดูหนัง ก็จะวนเวียนใช้กับทุกๆแบรนด์ที่เข้ามาร่วม ทำให้มีคำขวัญว่า “จ่ายง่าย ได้แต้ม” โดยมีไทยสมาร์ทการ์ดเป็นเซ็นเตอร์
ประมาณกลางปีนี้จะมีการขยายขอบเขตการใช้บัตรที่สามารถใช้ได้ร่วมกับเชนร้านหนังสือ ฟาสต์ฟู้ด ที่มีการออกการ์ดสมาชิกของตัวเอง ส่วนในครึ่งปีหลังวางแผนจะนำระบบไปใช้ร่วมกับการเดินทาง รถไฟฟ้าบีทีเอส และรถแท็กซี่ รวมทั้งมีบริการในปั๊มน้ำมัน 1 หมื่นกว่าจุด แ ละเพิ่มเป็น 2-3 หมื่นจุดในปี 2550
เห็นได้ว่าว่าการปฏิวัติระบบการจ่ายเงินด้วยบัตรเงินสดดิจิตอลของร้านเซเว่นฯทั้งหมด จะอยู่บนจุดยืนของความสะดวกผู้บริโภคเป็นหลัก และเสริมกับคอนเซปต์คอนวีเนี่ยนทั้งนั้น จากเดิมที่มีสินค้าในร้านสะดวกซื้อเป็นสะพานเชื่อมถึงผู้บริโภค จากนั้นมีการขยายขอบเขตมาที่เซอร์วิส บิลเพย์เมนท์ หรือการให้บริการชำระค่าสาธารณูปโภค ค่าบัตรเครดิต ฯลฯ ซึ่งเป็นการเพิ่มความสะดวกสบายในการใช้ชีวิตของผู้บริโภค
ล่าสุดการออกบัตรเชื่อมรัก ที่วางบทบาทเป็นไปรษณีย์ส่งธนาณัติหรือตู้เอทีเอ็ม เพื่อให้บริการรับและโอนเงินให้กับลูกค้าที่ร้านเซเว่นฯ และในปัจจุบันกำลังขยับขยายไปอีกขั้นคือ การชำระเงินให้สะดวกขึ้น ก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซีพี อีเลฟเว่น จำกัด (มหาชน) กล่าวกับ “หนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายสัปดาห์”ถึงแผนการตลาดของสมาร์ทเพิร์สว่า
“หากมองถึงรูปแบบการใช้ชีวิตประจำวันของผู้บริโภคในแต่ละวันจะใช้มีการใช้จ่ายเงินเพียงไม่กี่จุด ถ้าสามารถทำให้บัตรเงินสดของเราคลอบคลุมพฤติกรรมตรงนั้นได้ทั้งหมดและคอนวีเนียนหรือความสะดวกสบายเกิดขึ้นแล้วและเมื่อถึงปลายปีนี้ คนกรุงเทพฯจะมีคนละใบแล้ว ”
ขณะเดียวกันการก้าวเข้ามาตรงนี้ เพราะรู้ว่าโลกต้องไปสู่การใช้ชิพการ์ดและเมื่อมีเข้ามาแล้วจะทำให้บัตรเครดิตและเดบิตที่เป็นแถบแม่เหล็กจะตายไปจากโลกนี้ภายใน 2551 ดังนั้นจะส่งผลทำให้ธนาคารทุกแห่งจะเริ่มทยอยปรับเครื่องรับเอทีเอ็ม และออกสมาร์ทการ์ดให้ออกมาเป็นการ์ดชิพภายในปลายปีนี้ ดังนั้นเครื่องเอทีเอ็มก็จะสามารถเลือกถอนเป็นเงินสดหรือตัวเลขลงบนบัตรเงินสดก็ได้
ผู้บริหารซีพีกล่าวอย่างมั่นใจว่า “ด้วยในเมืองไทยมีเราเพียงรายเดียวที่มีระบบรองรับชิพเต็มรูปแบบ เพราะใช้เวลาพัฒนาระบบนี้มากกว่า 4 ปีเต็มๆ ประกอบกับพฤติกรรมของคนที่เข้ามาใช้จ่ายในร้านคอนวีเนี่ยนสโตร์ทุกคนจะมีไลฟ์สไตล์บนพื้นฐานของความสะดวก ด้วยเหตุผลทั้งสองประการจะทำให้สมาร์ทเพิร์สแจ้งเกิดได้ไม่ยาก”
ทั้งนี้การจับจุดในเรื่องความสะดวกสบายของร้านเซเว่นฯเป็นตัวจุดประกายเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้จ่ายผู้บริโภคดังกล่าวนั้น ก็มีตัวอย่างของความสำเร็จในช่วงเวลาที่ผ่านมา ตั้งแต่การเปิดบริการ 24 ชั่วโมง ในปัจจุบันนี้มีร้านเซเว่นอีเลฟเว่นที่จังหวัดเล็กๆหลายสาขา และแสงไฟหน้าร้านยังทำให้เกิดตลาดโต้รุ่งเล็กๆ มีแผงขายของ ร้านขายอาหารราคาค่อนข้างถูก ซึ่งแสงสว่างจากหน้าร้านที่เปิดทุกเวลา ทั้งวันทั้งคืนก็ได้เข้าไปสร้างสีสันและปรับเปลี่ยนวิถีการใช้ชีวิตทำให้คนไทยมีความสะดวกขึ้น
ในจุดนี้ ก่อศักดิ์ กล่าวถึงที่มาของการทำร้านสะดวกซื้อ เซเว่น อีเลฟเว่น ให้เปิดบริการมีจำนวนหลายสาขาครอบคลุมทั่วประเทศ “หากย้อนเวลากลับไป 15 ปี ตอนที่เซเว่นอีเลฟเว่นเพิ่งเปิดให้บริการในปี 2533 ในช่วงนั้นได้มีโอกาสเข้าไปสัมผัสกับวิถีชีวิตในของอำเภอจังหวัดเล็กๆ ซึ่งส่วนใหญ่ร้านค้าจะตลาดจะปิดในเวลาทุ่มกว่า ทำให้มีความคิดที่จะเปิดร้านสะดวกซื้อให้บริการ 24 ชั่วโมงในต่างจังหวัด
ในระยะแรกยังไม่มีใครเชื่อว่าธุรกิจจะไปได้ ไม่น่าจะไปได้ในเมืองไทย เพราะแม้แต่การเปิดให้บริการร้านสะดวกซื้อเพื่อตอบสนองวิถีชีวิตคนในเมืองอย่างเช่นกรุงเทพฯ เชียงใหม่ และหาดใหญ่ ส่วนใหญ่คาดกันว่าจะเปิดบริการได้เพียงไม่กี่จุด และคงขยายสาขาได้เฉพาะย่านที่มีคนใช้ชีวิตในเวลากลางคืนเท่านั้นเช่นแถวพัฒน์พงษ์ เพราะผู้บริโภคต้องการการบริการตลอด 24 ชั่วโมง แต่ในที่สุดการบริการให้ความสะดวกกับผู้ซื้อ ก็เป็นจุดขายของร้านสะดวกซื้อที่ผู้บริโภคต้องการ
ทว่า การใช้เครือข่ายของเซเว่นฯนำทางมาเพื่อปฏิวัติการใช้จ่ายให้ผู้บริโภคเปลี่ยนมาใช้บัตรเงินสดดิจิตอลอาจจะต้องใช้ระยะเวลาที่ยาวนานกว่าทุกครั้ง นอกจากการวางระบบซอฟท์แวร์ เปลี่ยนพฤติกรรมให้คนยอมรับการใช้จ่ายบัตรเงินสดแล้ว สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการEducated ให้ผู้บริโภครู้คุณค่าของความสะดวกที่จะได้รับจากบัตรเงินสด โดยจะใช้วงบการตลาด 100 ล้านบาทเพื่อสร้างแบรนด์สมาร์ทเพิร์ส ให้ผู้บริโภคได้รับรู้ถึงประโยชน์สูงสุดที่ได้รับและยอมรับกับการซื้อบัตรครั้งแรกในราคา 250 บาท ซึ่งในจุดนี้ ก่อศักดิ์ กล่าวว่า การที่มีผู้เล่นหน้าอีกค่ายลงมาจับตลาดบัตรเงินสด ดิจิตอล แม้จะต่างรูปแบบเพราะเป็นบัตรที่ใช้แถบแม่เหล็ก แต่ก็มีข้อดีที่จะเข้ามช่วยกันให้ความรู้เกียวกับบัตรเงินสดและทำให้ตลาดเติบโตเร็วมากขึ้น โดยสมาร์ทเพิร์สจะเริ่มออกแคมเปญการตลาดครั้งแรก เพื่อให้เป็นของขวัญกับคนรักในวันวาเลนไทน์ที่ 14 กุมภาพันธ์นี้
2 ขั้วธุรกิจ ชิงดำบัตรเงินสด
สุมาส วงศ์สุนพรัตน์ ผู้เชี่ยวชาญทางการตลาด กล่าวให้มุมมองว่า บัตรเงินสดเป็นเทรนด์ที่กำลังมาแรง โดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่นถ้าเพื่อนมี ถ้าไม่มีใช้จะเสียหน้า ที่สำคัญเทรนด์การ์ดใบเดียว ที่ไม่พกเงินยังเป็นแฟชั่นและค่านิยมที่คนรุ่นใหม่ทั้งผู้ใหญ่และเด็กในยุคสมัยนี้ให้ความสนใจกันมากขึ้น
ส่วนการเข้ามาในธุรกิจบัตรเงินสดของค่ายมือถือ เป็นการต่อยอดทางธุรกิจที่มองเห็นโอกาสพฤติกรรมการใช้บัตรพรีเพดโทรศัพท์มือถือของลูกค้ากลุ่มวัยรุ่นที่มีการแข่งขันกันนั้นได้รับความนิยมมาก และเทรนด์กำลังไปทางนี้
ที่สำคัญ ค่านิยมที่เกิดขึ้นจากการโหมโฆษณายังช่วยสร้างปรากฏการณ์นวัตกรรมกาใช้จ่ายผ่านเงินสดได้รับความนิยมเร็วขึ้น ซึ่งก็ไม่น่าแปลกใจนักที่นวตกรรมบัตรเงินสด จะกลายเป็นดาวรุ่งที่ห้างร้านนำมาใช้เป็นเครื่องมือการทำตลาด ซีอาร์เอ็ม ลอยัลตี้โปรแกรมกับลูกค้า
ในอนาคตหลายๆค่ายจะมีการออกบัตรเงินสดมาในตลาดจำนวนมาก เนื่องจากธุรกิจการปล่อยเครดิตที่ลูกค้าไม่ชำระหนี้ ทำให้มีเอ็นพีแอลสูงขึ้น ซึ่งก็ทำให้ผู้ประกอบการเริ่มมองไม่เห็นช่องทางในการดำเนินธุรกิจดังนั้นกลุ่มผู้บริโภคที่ไม่มีบัตรเครดิตจึงเป็นโอกาสใหม่ที่จะขยายฐานลูกค้าต่อไป
การแข่งขันระหว่างคู่แข่งที่ต่างกันสุดขั้ว ระหว่างมุมแดง กับ มุมน้ำเงิน ซึ่งทั้งสองค่ายมีการปักฐานที่ลงรากที่ฝังลึกในธุรกิจคนละด้าน ในขณะที่ไทยสมาร์ทการ์ด ออกสมาร์ทเพิรส์โดยมีเชนร้านสะดวกซื้อเซเว่นอีเลฟเว่นเป็นเครือข่ายในการีเคลื่อนขบวน แต่ทางฝั่งแคปิตอล โอเคแคช ก็มีฐานลูกค้าของโทรศัพท์มือถือค่ายเอไอเอส ที่มีดีกรีเป็นเบอร์หนึ่งของตลาด ซึ่งจะเป็นตัวชักใยให้บัตรเงินสดเข้ามามีอิทธิพลต่อชีวิตประจำวันของคนเมือง แต่ก่อนที่จะเข้าสู่การชิงชัยในสนามจริงนั้น ช่วงเวลาของการสร้างตลาด แม้ว่า สมาร์ทเพิร์ส ของเซเว่นฯจะได้วางโปรเจคดังกล่าวมาเป็นเวลากว่า 8 ปี แต่โอเคแคช เปิดเกมชิงเปิดตัวก่อน โดยนวัตกรรมทางการเงินตัวใหม่ที่แตกหน่อมาจากธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลของบริษัท แคปิตอลโอเค ซึ่งถือเป็นธุรกิจนอนแบงก์ที่เข้ามาทีหลังค่ายอื่นๆ และมีกลุ่มลูกค้าโทรศัพท์มือถือพรีเพดคนรุ่นใหม่
ดังนั้น การจะก้าวสู่การเป็นผู้นำจึงต้องสร้างความแตกต่างซึ่งก่อนหน้านี้ในตลาดบ้านเรามีทั้งบัตรเครดิตและบัตรเดบิต โดยคาดการณ์กันว่าบัตรเครดิตที่ใช้กันอยู่ทั่วประเทศมีประมาณ 9.4 ล้านใบ แต่ผู้ที่มีคุณสมบัติผ่าน สามารถทำบัตรเครดิตได้มีเพียง 3.5 ล้านคนเท่านั้น เฉลี่ยแล้วเป็นการถือบัตรคนละ 3 ใบ ซึ่งจะว่าไปแล้วโอกาสที่ผู้บริโภคจะทำบัตรเครดิตเพิ่มขึ้นคงมีน้อยลง ในขณะที่การแข่งขันค่อนข้างสูงเพราะมีผู้ออกบัตรเครดิตมากกว่า 15 ราย
ส่วนผู้ถือบัตรเดบิตก็ต้องเสียค่าใช้จ่ายต่อปีประมาณ 250-300 บาทต่อปี อีกทั้งเวลาที่บัตรหายก็เสี่ยงต่อเงินทั้งหมดในบัญชี ดังนั้นแคปิตอล โอเค ในเครือชินครอป จึงพยายามหาช่องว่างทางการตลาดโดยเลือกที่จะทำธุรกิจบัตรเติมเงินออกมาตอบสนองต่อไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภครุ่นใหม่อายุประมาณ 15-25 ปี ซึ่งมีไม่ต่ำกว่า 10 ล้านคน และส่วนใหญ่ยังไม่สามารถทำบัตรเครดิตได้
แคปิตอล โอเค ได้ตั้งบริษัทลูกเพื่อทำธุรกิจบัตรเงินสดโดยใช้ชื่อบริษัทว่า เพย์เมนท์ โซลูชั่น ซึ่งก่อตั้งเมื่อในช่วงต้นปี 2548 แต่มีการออกบัตรเติมเงินจริงจังในช่วงปลายปีที่ผ่านมา โดยมี ธานินทร์ อังสุวรังษี เป็นผู้จัดการทั่วไป
"ความโดดเด่นของบัตรโอเคแคชเมื่อเทียบกับบัตรเครดิตและบัตรเดบิตอื่นๆคือลูกค้าที่ใช้บัตรของเราจะได้รับส่วนลด และยังสามารถโอนเงินจากบัตรใบหนึ่งไปสู่อีกใบหนึ่งได้ หรือจะใช้เป็นบัตรเติมเงินโทรศัพท์มือถือระบบพรีเพดของวันทูคอลล์ก็ได้ โดยเป้าหมายหลักคือกลุ่มคนอายุ 15-25 ปี นอกจากนี้ยังจะมีการขายควบระหว่างผู้ปกครองกับบุตรหลานซึ่งมีการโอนเงินระหว่างกัน โดยบัตรเติมเงินดังกล่าวจะจำหน่ายผ่านร้านค้าในเครือชินครอป และเคาน์เตอร์โอเคแคช และยังมีการรับจ้างผลิตหรือเป็นเอาท์ซอร์สให้กับหน่วยงานอื่นๆโดยใช้แบรนด์ของผู้จ้าง เช่น ห้างสรรพสินค้า หรือ สถานศึกษา" ธานินทร์ กล่าว
ปัจจุบัน เพย์เมนท์ โซลูชั่น มีบัตรเงินสด 3 รูปแบบคือ บัตรโอเคแคช บัตรโคแบรนด์เป็นการทำบัตรร่วมกับพันธมิตรรายอื่นๆ และ บัตรของขวัญ ทั้งนี้ผู้บริโภคจะต้องเสียค่าบัตร 200 บาท โดยบัตรจะมีอายุ 3 ปี เสียค่าธรรมเนียมปีละ 100 บาท และยังมีค่าธรรมเนียมการใช้อื่นๆอีกเช่นค่าธรรมเนียมการเติมเงินผ่านธนาคารครั้งละ 10-20 บาท ถ้าถอนเงินสดจากตู้เอทีเอ็มเสีย 100 บาท หรือขอคืนเงินที่เหลือในบัตรต้องเสีย 30 บาท แต่ทั้งนี้ผู้บริโภคก็จะได้รับส่วนลดจากร้านค้าพันธมิตรซึ่งมีอัตราส่วนลดที่แตกต่างกันไป
โอเคแคช ผนึกพันธมิตร ขยายฐานบัตรเติมเงิน
โอเคแคชมีร้านค้าพันธมิตรที่เป็นเครือข่ายของวีซ่า และมาสเตอร์การ์ดกว่า 250,000 ราย และร้านค้าในเครือข่ายของโอเคแคชเกือบ 1,000 ราย สำหรับบัตรที่ออกโดยเพย์เมนท์โซลูชั่นจะมีการทำเป็นคอลเล็คชั่นให้ผู้บริโภคได้สะสม เช่น บัตรแมนยู บัตร Bad Badtz Maru บัตร คิตตี้ การ์ด รวมถึงบัตรเงินสดของวีซ่า และมาสเตอร์การ์ด
การออกบัตรโดยลำพังนั้นทำให้การขยายฐานลูกค้าค่อนข้างยาก ดังนั้นเพย์เมนท์โซลูชั่นจึงมีการทำบัตรโคแบรนด์โดยร่วมกับเซ็นทรัลพัฒนาออกบัตร เซ็นทรัล พลาซ่า พลัส การ์ด เพื่อใช้เป็นบัตรเงินสดสำหรับซื้อสินค้าในพื้นที่เช่าของศูนย์การค้าเซ็นทรัล ไม่รวมห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล โดยผู้ถือบัตรจะได้รับส่วนลด 5-20% และสามารถซื้อสินค้านอกศูนย์การค้าเซ็นทรัลได้กว่า 91,300 ร้านค้าทั่วประเทศที่มีเครื่องหมาย วีซ่า และโอเคแคช หน้าร้าน
ซึ่งนอกจากโอเคแคชจะได้ฐานลูกค้าเพิ่มแล้วเซ็นทรัลพัฒนาก็ยังได้ข้อมูลการใช้จ่ายของลูกค้าจากการใช้บัตรเงินสดโอเคแคช ทำให้สามารถทำ CRM ได้ง่ายขึ้น เช่น การจัดกิจกรรมคอนเสิร์ตให้กับลูกค้าที่นิยมซื้อสินค้าในร้านเทปและซีดี
"เซ็นทรัล พลาซ่า พลัส การ์ด ถือเป็นการพัฒนารูปแบบการตลาดใหม่ของศูนย์ฯเรา ซึ่งบัตรเติมเงินดังกล่าวกำลังเป็นที่นิยมและประสบความสำเร็จอย่างมากในกลุ่มวัยรุ่นและวัยเริ่มทำงาน อีกทั้งบัตรดังกล่าวจะทำให้เราสามารถวางแผนการตลาดได้ตรงใจผู้บริโภคมากที่สุด" ประวิช จรรยาสิทธิกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ฝ่ายการตลาด เซ็นทรัลพัฒนา กล่าว
และเพื่อไม่ให้ผู้บริโภครู้สึกว่าจะต้องเสียค่าบัตรเปล่า เซ็นทรัลพัฒนาจึงได้ทำเป็นแพกเกจเพื่อให้ผู้บริโภครู้สึกว่าการใช้บัตรดังกล่าวคุ้มค่า โดยผู้ที่ซื้อบัตร 500 บาท จะได้เงินสดในบัตร 200 บาท ตั๋วดูภาพยนตร์ 120 บาท คูปองส่วนลดจากร้านค้าต่างๆ 300 บาท และ ตุ๊กตามูลค่า 290 บาท
นอกจากนี้ เพย์เมนท์ โซลูชั่น ยังร่วมกับฟิวเจอร์ พาร์ค รังสิต ออกบัตร ฟิวเจอร์ โอเค การ์ด ซึ่งสามารถใช้เป็นส่วนลด 5-50% ในการซื้อสินค้าจากร้านค้าที่ตั้งอยู่ในฟิวเจอร์ พาร์ค รังสิต ซึ่งมีร้านค้ากว่า 70% ที่ร่วมรายการดังกล่าว ซึ่งทางฟิวเจอร์ พาร์ค ก็จะใช้ประโยชน์จากบัตรดังกล่าวในการศึกษาข้อมูลการใช้จ่ายของผู้ถือบัตรเพื่อที่จะได้จัดกิจกรรมให้สอดคล้องกับไลฟ์สไตล์และความต้องการของลูกค้า ทั้งนี้บัตร ฟิวดจอร์ การ์ด ยังสามารถใช้กับร้านค้านอกศูนย์ที่มีเครื่องหมายมาสเตอร์การ์ด และโอเคแคช โดยในอนาคตบัตรเงินสดของฟิวเจอร์จะสามารถใช้กับร้านค้าในต่างประเทศที่มีเครื่องหมายมาสเตอร์การ์ดได้ ซึ่งจะมีการกำหนดมาตรฐานการแปลงค่าเงินตราต่างประเทศกันอีกที
"ฟิวเจอร์ พาร์ค รังสิต ต้องการที่จะให้ผู้บริโภคได้สัมผัสกับประสบการณ์ที่ดีในการมาใช้บริการที่ศูนย์ของเรา ดังนั้นเราก็ควรจะรู้ข้อมูลเกี่ยวกับการใช้จ่ายของผู้บริโภคว่าเขาซื้อสินค้าแบรนด์ใด โซนใด เมื่อร้านค้าเหล่านั้นมีโปรโมชั่นพิเศษเราก็จะแจ้งลูกค้าเหล่านั้นทราบเป็นการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างลูกค้าและห้างฟิวเจอร์ ทำให้ลูกค้าเกิดความประทับใจ ท้ายที่สุดก็ลดโอกาสในการสวิตชิ่งแบรนด์ไปยังห้างอื่นๆ ซึ่งปัจจุบันผู้บริโภคก็ไม่ค่อยมีเวลาเดินศูนย์การค้าหลายๆแห่ง ดังนั้นห้างใดตอบสนองความต้องการได้ดีและครบถ้วนก็จะเป็นห้างในดวงใจของลูกค้า" สุมาส วงศ์สุนพรัตน์ รองกรรมการผู้จัดการสายวางแผนกลยุทธ์และพัฒนาธุรกิจ รังสิตพลาซ่า กล่าว
เพย์เมนท์โซลูชั่นตั้งเป้าว่าจะสามารถขยายฐานลูกค้าของตัวเองได้ 100,000 รายในปีแรก และจะเพิ่มเป็น 1,000,000 รายในปีถัดไป การมีพันธมิตรเพิ่มขึ้นจะสามารถทำให้โอเคแคชมีฐานลูกค้ามากกว่าที่ตั้งเป้าไว้ โดยเซ็นทรัลพัฒนาก็ตั้งเป้าว่าจะสามารถสร้างฐานสมาชิกบัตรพลัสการ์ดได้ 1.5 แสนใบ และภายใน 3 ปีจะเพิ่มเป็น 5 แสนใบ ส่วน ฟิวเจอร์ พาร์ค รังสิต ตั้งเป้าว่าจะมีสมาชิกผู้ถือบัตร 100,000 ใบในปีนี้
นอกจากการออกบัตรของตัวเองและทำบัตรโคแบรนด์แล้ว เพย์เมนท์ โซลูชั่น ยังมีการทำบัตรเติมเงินเป็นบัตรของขวัญซึ่งจะช่วยสร้างประสบการณ์ให้ผู้บริโภคที่ได้รับบัตรดังกล่าวรู้จักการใช้งานบัตรโอเคแคชได้ดีขึ้น และหากเป็นที่ถูกใจก็จะมีการเติมเงิน หรือซื้อบัตรของขวัญส่งต่อให้คนอื่นอีกทีเป็นการกระจายฐานลูกค้าให้กับโอเคแคช คล้ายกับการบอกปากต่อปาก และเมื่อความนิยมมากขึ้นก็จะมีพันธมิตรต่างๆเข้าร่วมเป็นเครือข่ายมากขึ้นจนกระทั่งบัตรเติมเงินดังกล่าวสามารถใช้แทนเงินสดอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้นเพราะใช้ได้อย่างไม่มีขอบเขต แต่จะประสบความสำเร็จเพียงใด นอกจากจะขึ้นอยู่กับความสามารถของเพย์เมนท์โซลูชั่นเองแล้ว ยังต้องดูด้วยว่าคู่แข่งอย่างร้านสะดวกซื้อเซเว่นอีเลฟเว่นที่มีสาขากว่า 3,000 แห่งทั่วประเทศจะประสบความสำเร็จในการทำบัตรสมาร์ทเพิร์สเพียงใด เพราะบัตรเงินสดระบบใครระบบมันไม่สามารถอ่านข้ามระบบกันได้ ซึ่งเซเว่นฯก็หวังไกลถึงขนาดที่จะติดต่อธนาคารต่างๆให้มาร่วมกับระบบของสมาร์ทเพิร์สซึ่งถ้าทำสำเร็จหมายความว่าฐานลูกค้าของธนาคารทั่วประเทศจะกลายเป็นฐานลูกค้าของสมาร์ทเพิร์ส รวมถึงแนวคิดในการติดตั้งระบบเข้ากับรถแท็กซี่ซึ่งช่วยลดความยุ่งยากในการทอนเงิน อีกทั้งยังเป็นการป้องกันมิจฉาชีพที่จะมาจี้ปล้น ซึ่งคาดว่าจะได้รับการตอบรับอย่างดี
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|