ปิดดีลชินฯ-เทมาเส็ก ทรัพย์สินเอี่ยว-ทักษิณรับ7หมื่นล.


ผู้จัดการรายวัน(20 มกราคม 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

ดีลขายชินคอร์ปลงตัวแล้ว ขายให้เทมาเส็กฯ เผยงานนี้ตระกูลชินวัตรของ "ทักษิณ" ฟันเหนาะๆ 7 หมื่นล้าน จับตาสำนักทรัพย์สินฯสนใจร่วมถือหุ้น โยงใยผ่าน "ชุมพล ณ ลำเลียง" ปัจจุบันนั่งประธานสิงเทล ลุ้นเทนเดอร์ออฟเฟอร์หรือไม่ เผยเบื้องหลังทักษิณอยากได้ถึง 60 บาท ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติเผยปัจจัยเงินบาทแข็งทำสถิติ เกิดจากดีลชินฯ ไม่เกี่ยวขึ้นดอกเบี้ย ขณะที่ รมว.คลังบอกไม่เกี่ยวกับชินฯ แต่เป็นเพราะแบงก์ชาติขึ้นดอกเบี้ย

รอยเตอร์รายงานโดยอ้างแหล่งข่าวอาวุโสในวงการธนาคารในประเทศสิงคโปร์ว่า ทามาเส็กโฮลดิ้ง ซึ่งเป็นบรรษัทการลงทุนของประเทศสิงคโปร์ได้ตัดสินใจเข้าถือหุ้นใหญ่ บมจ.ชินคอร์ป หรือ SHIN ของตระกูลชินวัตรของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ในสัดส่วน 49% คิดเป็นมูลค่า 1.7-1.8 พันล้านเหรียญสหรัฐซึ่งราคาขายจะต่ำกว่าหุ้นละ 50 บาท

รอยเตอร์ยังระบุว่า สำหรับความล่าช้าในการประกาศผลการขายหุ้นครั้งนี้สืบเนื่องจากทางเทมาเส็กฯหาทางที่จะเลี่ยงการทำคำเสนอซื้อหุ้นเป็นการทั่วไปจากนักลงทุนรายย่อย (เทนเดอร์ออฟเฟอร์) นอกจากนี้รอยเตอร์ยังอ้างแหล่งข่าวการเงินรายหนึ่งว่าสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์อาจเข้าร่วมซื้อหุ้นครั้งนี้กับทามาเส็กฯด้วยเพื่อเข้าเป็นผู้ถือหุ้นชินฯส่วนหนึ่ง โดยระบุอีกว่า สำนักงานทรัพย์สินฯสนใจจะซื้อหุ้นชินฯ เพราะการขายหุ้นครั้งนี้ต้องมีคนไทยเข้าร่วมเพื่อกันครหาที่ว่าครอบครัวชินวัตรกำลังขายบริษัทคนไทยให้กับต่างชาติ ซึ่งนักวิเคราะห์หลายคนมองประเด็นดังกล่าวว่ามีความเป็นไปได้ว่าทรัพย์สินอาจเป็นผู้ซื้อรายหนึ่งในดีลนี้

รอยเตอร์ยังได้โยงสายสัมพันธ์ระหว่างสำนักงานทรัพย์สินฯ โดยนายชุมพล ณ ลำเลียง อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย (SCC) ว่า ขณะนี้ ชุมพล นั่งเป็นประธานกรรมการ บมจ. สิงเทลอยู่ ซึ่งปัจจุบันสิงเทลก็ถือหุ้นชินฯอยู่แล้วประมาณ 20%

ด้านแหล่งข่าวจากตลาดหุ้นไทย ระบุว่า หากราคาขายหุ้นชินฯจบลงที่ต่ำกว่า 50 บาท แสดงว่าไม่เป็นไปตามที่พ.ต.ท.ทักษิณ ต้องการ เนื่องจากก่อนหน้านี้ความพยายามจะยื้อก็เพื่อหวังจะขายที่สูงสุดที่ 60 บาท และต้องไม่ต่ำกว่า 50 บาท ทำให้ที่ผ่านมานักลงทุนในตลาดหุ้นไทยเข้าไปซื้อขาย หุ้นชินฯ เพื่อรอผลดีลสรุป และทำเทนเดอร์ฯ

ด้านราคาหุ้นชินฯวานนี้ปิดที่ 46.25 บาท ลดลง 0.50 บาท ขณะที่สัดส่วนหุ้นชินฯที่จะขายให้กับกลุ่มทามาเส็กฯครั้งนี้ประมาณ 50% คิดเป็น 2,997 ล้านหุ้น ราคาขายตกหุ้นละ 49.25 บาท รวมมูลค่า 7 หมื่นล้านบาท (1.8 พันล้านเหรียญสหรัฐ)

สำหรับบริษัทหลักทรัพย์หรือ โบรกเกอร์ที่จะเป็นผู้ทำรายการซื้อขาย (บิ๊กล็อต) ในกระดานซื้อขายขนาดใหญ่ ซึ่งคาดว่าจะเป็นวันนี้ (20 ม.ค.) คือ บล.ภัทร และบล.ธนชาต อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังต้องจับตาการทำเทนเดอร์ฯจากกลุ่มผู้ซื้อว่าจะทำหรือไม่โดยจะต้องดู โครงสร้างการเข้าถือหุ้นและลักษณะการทำดีลอีกครั้ง

ผู้ว่าฯธปท.แฉชินฯตัวการบาทแข็ง

ม.ร.ว. ปรีดิยาธร เทวกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยถึงการที่เงินบาทแข็งค่าขึ้นสูงสุดในรอบ 9 เดือน เมื่อวานนี้ (19 ม.ค.) ว่า เกิดจากมีเงินทุนไหลเข้าจากต่างประเทศ เพื่อนำมาซื้อหุ้นบริษัทชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (SHIN) โดยมีโบรกเกอร์ที่ดูแลเรื่องการซื้อขายหุ้นครั้งนี้ เป็นคนนำเงินดอลลาร์ออกมาเทขายเพื่อแลกเป็นเงินสกุลบาทในตลาดเงิน ส่งผลให้ค่าเงินบาทวานนี้ เปิดตลาดที่ระดับ 39.44/46 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ ปรับตัวแข็งค่าสุดของวันที่ระดับ 39.28 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าสุดของวันที่ระดับ 39.53 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ปิดตลาดที่ระดับ 39.38/41 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

นักบริหารเงินจากธนาคารกสิกรไทยกล่าวว่า ค่าเงินบาทมีความผันผวน และทำสถิติแข็งค่าที่สุดในรอบ 9 เดือนครึ่ง โดยปัจจัยที่ส่งผลต่อค่าเงินบาทในช่วงนี้ ยังคงต้องจับตาต่อไปเป็นส่วนของเงินทุนไหลเข้า ซึ่งมีส่งผลให้ค่าเงินบาทอ่อนตัวลงได้ยาก และแนวรับถัดไปหากผ่านแนวรับที่ 39.27 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ คือ 39.05 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ผู้ว่าฯ ธปท.เปิดเผยเหตุการณ์วันที่ 19 ม.ค.ว่า มีเงินเข้ามาล็อตใหญ่ทำให้บาทแข็งค่าขึ้น แต่พอเงินล็อตนี้เข้ามาแล้ว ตลาดเงินของไทยก็เริ่มสงบค่าเงินบาทได้อ่อนค่าลงมา โดยเงินบาทได้กลับมาเคลื่อนไหวเป็นปกติ ดังนั้น ธปท.จึงไม่ต้องเข้าไปทำอะไร แต่จะจับตาดูอย่างใกล้ชิด แต่ในส่วนที่ว่า เงินซื้อหุ้นชินจะเข้ามาเท่าไร และจะทยอยเข้ามาอีกหรือไม่ หรือเข้ามาล็อตนี้ครั้งเดียวนั้นไม่สามารถบอกได้ เพราะไม่ทราบว่ามีการตกลงซื้อขายหุ้นจำนวนเท่าไร และตกลงกันราคาเท่าไร

ผู้ว่าการ ธปท. กล่าวต่อถึงการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย หรือดอกเบี้ยในตลาดซื้อคืนพันธบัตรระยะ 14 วัน (อาร์พี 14 วัน) ซึ่งทำให้อัตรา ดอกเบี้ยของไทยเท่ากับอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด ฟันด์ เรต) ที่ระดับ 4.25% ว่า ไม่ได้ส่งผลกระทบกับการเคลื่อนย้ายเงินทุนระหว่างประเทศ เพราะการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นเรื่องที่ตลาดรับรู้ และคาดการณ์ไว้ล่วงหน้า ทำให้ตลาดเงินมีการปรับตัวไปก่อนแล้ว จึงไม่ใช่สาเหตุของการไหลเข้าอย่างแรงของค่าเงินบาท

ทั้งนี้ การปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายขึ้นอีก 0.25% ในช่วงที่ผ่านมา คณะกรรมการนโยบายการเงินได้พิจารณาจากปัจจัยภายในประเทศ และคำนึงถึงเสถียรภาพด้านราคาเป็นหลัก ไม่ได้ปรับขึ้นเพราะคาดการณ์ว่าดอกเบี้ยของเฟดจะปรับขึ้นต่อไปอีก

รมว.คลังมองต่างผู้ว่าฯธปท.

นายทนง พิทยะ รมว.คลัง เปิดเผยถึงค่าเงินบาทที่ปรับตัวแข็งขึ้นสูงสุดในรอบ 9 เดือนครึ่ง ว่า ต้องดูเหตุผลที่ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นเป็นเพราะอะไร ซึ่งอาจจะเป็นการเกิดจากปัญหาในภูมิภาคและปัญหาเฉพาะหน้าซึ่งปัญหาในภูมิภาคนั้นได้เกิดจากการที่ค่าเงินในภูมิภาคมีการปรับตัวแข็งค่าไปในทิศทางเดียวกัน

นายทนง กล่าวว่า ค่าเงินบาทที่แข็งขึ้นนั้นส่วนหนึ่งคงเกิดจากปัจจัยภายนอกที่เข้ามากระทบ คือการที่ค่าเงินในภูมิภาคมีการปรับตัวแข็งค่าไปในทิศทางเดียวกันประกอบกับธปท.มีการประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย R/P 14 วัน ขึ้นอีก 0.25%เป็น 4.25% จึงทำให้ค่าเงินบาทมีการปรับตัวแข็งค่าขึ้นไปด้วยซึ่งก็ถือว่าเป็นสภาวะปกติ ไม่น่ามีปัญหาแต่อย่างใด อย่างไรก็ตามคิดว่าที่ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นนั้นไม่ได้เกิดจากเงินทุนไหลเข้าแต่อย่างใดเพราะอัตราการไหลเข้าของเงินทุนไม่ได้เพิ่มขึ้นมากนัก

ด้านราคาหุ้นชินคอร์ปวานนี้ปิดที่ 46.25 บาท ลดลง 0.50 บาท หรือ 1.07% มูลค่าการซื้อขาย 593,304 ล้านบาท โดยนางสาวโสภาวดี เลิศมนัสชัย รองผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ข่าวการซื้อหุ้นของ บมจ.ชินคอร์ปอเรชั่น ตลาด หลักทรัพย์ได้มีการติดตามการซื้อขายหลักทรัพย์ดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง แต่ยังไม่พบความผิดปกติและยังไม่พบว่ามีการเสนอขายบิ๊กล็อตจากนักลงทุน ต่างชาติทำให้ไม่มีความจำเป็นที่จะเข้าไปตรวจสอบ

ทั้งนี้ ในช่วงที่ผ่านมาตลาดหลักทรัพย์ได้รับการยืนยันจากบริษัทอย่างต่อเรื่องว่าไม่มีการซื้อขาย หุ้นของบริษัทให้กับกลุ่มเทมาเส็กโฮลดิ้ง นักลงทุนจากประเทศสิงคโปร์ในส่วนของเงินที่ไหลเข้ามาของนักลงทุนต่างชาติหากพิจารณาตั้งแต่ต้นปีเม็ดเงินในส่วนดังกล่าวเข้ามาในช่วงประมาณ 2 สัปดาห์รวมแล้วกว่า 59,000 ล้านบาท

"เรายังไม่พบความผิดปกติในหลักทรัพย์ ยังไม่มีข้อมูลการซื้อขายบิ๊กล็อต เราก็ยังไม่จำเป็นที่จะต้องเข้าไปตรวจสอบ"นางสาวโสภาวดีกล่าว


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.