|
นครหลวงไทยลั่นรุก"ครบวงจร"กำไรปี48ลด-แนวโน้ม49เหนื่อย
ผู้จัดการรายวัน(19 มกราคม 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
แบงก์นครหลวงไทยประกาศปี 49 เน้นบริการครบวงจร เพิ่มฐานลูกค้าเอสเอ็มอีและรายย่อย เสริมรายได้จากค่าธรรมเนียม โต 30% สินเชื่อตั้งเป้าโต 17% เผย 48 กำไรลด เหตุจำหน่ายเงินลงทุน เพียง 777 ล้านบาท แถมขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยน 199 ล้านบาท ส่วนปีนี้กำไรจะลดลงอีกเพราะต้องจ่ายภาษีนิติบุคคลเป็นปีแรกหลังจาก วิกฤตฟองสบู่ ยัน AMC Note งวดสุดท้าย 6 หมื่นล้านเดือน มิ.ย. ไม่ กระทบรายได้ เล็งนำเงินไปลงทุนในตลาดเงินหาผลตอบแทนกว่า 4%
นายอรุณ จิรชวาลา กรรมการ ผู้จัดการใหญ่ ธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) (SCIB) เปิดเผยว่า การดำเนินธุรกิจธนาคาร พาณิชย์ในปีนี้ยังคงมีการแข่งขันสูง ทั้งด้านสินเชื่อและเงินฝาก โดยเฉพาะธุรกิจรายย่อย เพราะนอกจาก จะแข่งขันกับธนาคารพาณิชย์ไทยกันเองแล้ว ยังมีธนาคารพาณิชย์ต่างชาติและธนาคารลูกครึ่ง ที่เข้ามา ลงทุน พร้อมลุยแข่งขันเต็มที่ โดยธนาคารนครหลวงไทยใช้นโยบายเดิมคือแผนระยะกลาง 3-4 ปี ที่จะมุ่งให้บริการที่ครบวงจร ขยายธุรกิจเอสเอ็มอี และรายย่อยมากยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ ในปี 2549 นี้ ธนาคารมี เป้าหมายจะขยายสินเชื่อเพิ่มขึ้น 45,000 ล้านบาทหรือเติบโต 17% โดยจะเน้นในส่วนของสินเชื่อธุรกิจ ขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ซึ่งคาดว่าจะปล่อยสินเชื่อเอสเอ็มอีได้เพิ่มขึ้นจำนวน 26,500 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 28-30% ส่วนสินเชื่อธุรกิจ รายใหญ่ 13,500 ล้านบาทจะเพิ่ม ขึ้น 12% และสินเชื่อรายย่อย 5,000 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 17-18% ซึ่งฐานลูกค้าเอสเอ็มอีและลูกค้ารายย่อยจะช่วยสนับสนุนให้ธนาคารมีรายได้ จากค่าธรรมเนียมที่เพิ่มขึ้นในปีนี้ ประมาณ 30%
ส่วนผลการดำเนินการของธนาคารในปี 49 นี้ คาดว่าน่าจะปรับลดลงจากปี 48 เนื่องจากธนาคารต้องเสียภาษีนิติบุคคลเต็ม อัตราที่ 30% ซึ่งธนาคารพยายาม ที่จะหารายได้ส่วนต่างๆ เข้ามาทดแทน โดยเฉพาะธุรกิจอื่นๆที่ยังมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยในปีนี้ธนาคารจะเริ่มดำเนินธุรกิจลีสซิ่งหลังจากที่ได้ศึกษาแนวทางการทำธุรกิจมาระยะหนึ่งแล้วโดยจะเน้นลูกค้ารายย่อย
สำหรับผลกระทบรายได้ของธนาคารจากกรณีการไถ่ถอน AMC Note ของบบส.สุขุมวิทจำนวน 55,080 ล้านบาทนั้นจะไม่กระทบต่อผลการดำเนินงานของธนาคารมากนัก เนื่องจากธนาคารสามารถนำเงินที่ได้รับจากการไถ่ถอนดังกล่าวไปปล่อยสินเชื่อต่อได้ซึ่งจะมีดอกเบี้ยที่ดีกว่าจากที่ได้รับจาก AMC Note ในระดับ 2% รวมทั้งในงวดสุดท้ายของ AMC Note ที่จะหมดภายในเดือนมิถุนายนนี้อีกประมาณ 60,000 ล้านบาท เชื่อว่าไม่กระทบต่อรายได้ของธนาคาร เพราะสามารถนำเม็ดเงินไปหารายได้จากตลาดเงินที่มีผลตอบแทนสูงประมาณ 4% เมื่อเทียบกับ รายได้จาก AMC Note ประมาณ 2%
ด้านหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ของธนาคารมีแนวโน้ม ลดลงได้ในกลางปีนี้ เนื่องจากเชื่อว่า บมจ.อุตสาหกรรมปิโตรเคมีกัลไทย จำกัด (ทีพีไอ) จะสามารถชำระหนี้ ที่เหลืออยู่ได้ทั้งหมดประมาณ 2,500 ล้านบาท หลังจากที่ได้ชำระมาแล้วส่วนหนึ่ง โดย ณ สิ้นปี 48 เอ็นพีแอลของธนาคารอยู่ที่ 2.54% แต่ถ้า ไม่นับรวมหนี้ของทีพีไอ แล้ว เอ็นพีแอลของธนาคารจะอยู่ที่ 1.76%
นายอรุณกล่าวถึงแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยของธนาคารในปีนี้ว่า จะเป็นไปตามทิศทางการส่งสัญญาณ ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยในปีนี้ยังเป็นขาขึ้นและคาดว่าตลอดทั้งปีนี้ดอกเบี้ยจะปรับขึ้นอีก 1% โดยต่าง ประเทศเริ่มชะลอการปรับดอกเบี้ย แล้วขณะที่อัตราเงินเฟ้อในประเทศ เริ่มชะลอการขยายตัวลงเช่นกัน ส่วนอัตราดอกเบี้ยออมทรัพย์นั้น เชื่อว่ายังไม่น่าจะได้รับผลกระทบจากแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นมากนัก เนื่องจากผู้ฝากต้องการความสะดวกมากกว่าผลตอบแทนแต่เป็นไปได้ที่จะต้องปรับขึ้น บ้าง ซึ่งธนาคารคงจะพิจารณาจากทิศทางของธนาคารขนาดใหญ่ เป็นหลัก
สำหรับกรณีที่พันธมิตรที่ จะเข้ามาซื้อกิจการของธนาคาร นั้นถือว่าเป็นเรื่องของผู้ถือหุ้นใหญ่ คือกองทุนเพื่อการฟื้นฟู และพัฒนาระบบสถาบันการเงินใน สัดส่วน 47% ที่จะเป็นผู้พิจารณาและตัดสินใจว่าจะขายหุ้นของธนาคารหรือไม่ ในส่วนของธนาคารแล้ว ได้มีนักลงทุนต่างชาติ ที่สนใจเข้ามาหารือกับธนาคารบ้าง เพียงขอข้อมูลเบื้องต้น ซึ่งธนาคารจะต้องขึ้นอยู่กับกองทุนฟื้นฟูเท่านั้น
ส่วนการที่จะมีพันธมิตรเข้ามา ใหม่นั้นไม่ใช่เป็นเรื่องที่ธนาคารมีปัญหาเรื่องเงินทุน โดยปัจจุบันมีเงินกองทุนที่แข็งแกร่งเพียงพอ ต่อการขยายธุรกิจ ดังนั้น ในระยะ สั้นๆ ธนาคารยังไม่มีแผนเพิ่มทุนจดทะเบียน โดย ณ สิ้นปีธนาคารมีเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงในระดับ 11.84% ซึ่งเป็นเงินกองทุนขั้นที่ 1 ที่ 10.88%
ผลประกอบการปี 48 กำไรสุทธิลดลง
สำหรับผลประกอบการในปี 2548 ธนาคารมีกำไรสุทธิรวมทั้งสิ้น 6,265 ล้านบาทลดลงจากปีก่อน 1.6% ที่มีกำไรสุทธิ 6,367 ล้านบาทขณะที่มีรายได้จากดอกเบี้ยและเงินปันผล 17,834 ล้านบาทเพิ่ม ขึ้น 14% มีค่าใช้จ่ายจากดอกเบี้ย 6,412 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 11% เป็นผลให้รายได้ดอกเบี้ยสุทธิ 11,422 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 15% สาเหตุที่กำไรสุทธิลดลงเนื่องจากในปีก่อน ธนาคารมีกำไรจากการจำหน่ายเงิน ลงทุนเพียง 777 ล้านบาท ลดลง 53% จากปี 2547 และในไตรมาส ที่ 3 ธนาคารปรับปรุงระบบบันทึกบัญชีมูลค่าทรัพย์สินสาขาต่างประเทศ (เคย์แมน) จากสกุลดอลลาร์สหรัฐเป็นสกุลเงินบาททำให้มีผลขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยน 199 ล้านบาทและในปี 2548 มีกำไรจากการปริวรรตเพียง 17 ล้าน บาทจากที่เคยกำไรสูงถึง 192 ล้านบาทในปีก่อนหน้า
นอกจากนั้นธนาคารยังตั้งสำรองขาดทุนจากการด้อยค่า อสังหาริมทรัพย์ที่ไม่ได้ใช้งานทรัพย์สินรอการขาย และทรัพย์สิน อื่นๆ 544 ล้านบาทและสำรองหนี้สูญอีก 300 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 47 ที่มีจำนวน 501 และ 95 ล้านบาท ตามลำดับ อีกทั้งช่วงไตรมาส 4 ยังได้กันสำรองสำหรับภาระผูกพันนอกงบดุลตามเกณฑ์ใหม่ 208 ล้านบาท
ด้านสินเชื่อนั้น ในปี 2548 ธนาคารได้อนุมัติสินเชื่อเป็นจำนวน เงินทั้งสิ้น 165,000 ล้านบาท มียอดสินเชื่อคงค้างไม่รวม AMC Note ณ วันที่ 31 ธ.ค.48 จำนวน 231,145 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2547 ประมาณ 20,000 ล้านบาท หรือ 10% ต่อปี ยอดเงินฝาก ณ วันที่ 31 ธ.ค.48 ทั้งสิ้น 382,000 ล้านบาท เป็นสัดส่วนเงินฝากกระแสรายวันและออมทรัพย์ รวมกัน 32% และเงินฝากประจำ 68%
ส่วนฐานะทางการเงิน ณ วันที่ 31 ธ.ค.2548 ธนาคารมีสินทรัพย์รวม 451,826 ล้านบาท หนี้สินรวม 416,186 ล้านบาท และส่วนของ ผู้ถือหุ้น 35,640 ล้านบาท โครงสร้าง สินทรัพย์ของธนาคารมีสัดส่วนเงินให้สินเชื่อเพิ่มขึ้น 51% จาก สิ้นปี 2547 โดยสินทรัพย์รวมที่ลดลงจากปี 2547 จำนวน 19,998 ล้านบาท เนื่องจากมีการไถ่ถอน AMC note ของ บบส.สุขุมวิทจำนวน 55,000 ล้านบาท
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|