|
เทเลนอร์จูงแทคเข้าSET
ผู้จัดการรายวัน(19 มกราคม 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
รมว.คลังเผยกลุ่มเทเลนอร์ยักษ์ใหญ่ด้านธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคม ผู้ถือหุ้นใหญ่ในแทค สนใจเพิ่มการลงทุนในไทยพร้อมย้ายบริษัทจดทะเบียนจากตลาดหุ้นสิงคโปร์มาตลาดหุ้นไทย ทนงยันไม่เกี่ยวเบียร์ช้างไปสิงคโปร์ เซ็ง "โต้ง" ยื้อเก้าอี้เอ็มดี ตลท. ด้านเลขาฯ ก.ล.ต. ตื่นเร่งหน่วยงานรัฐพิจารณา พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หาทางออกให้เบียร์ช้าง เตรียมประสาน ก.ล.ต.สิงคโปร์ หวังเคลียริ่งราคาหุ้นในไทย
นายทนง พิทยะ รมว.คลัง เปิดเผยภายหลังการเข้าพบของ นายจอน เฟรดริค บัคซาส (Jon Fredrik Baksaas) ประธานและประธานเจ้าหน้าที่บริหารของกลุ่มเทเลนอร์ จากประเทศนอร์เวย์ ว่า กลุ่มเทเลนอร์ได้ยืนยันชัดเจนที่จะลงทุนอยู่ในเมืองไทยในระยะยาว และพร้อมที่จะขยายการลงทุนในไทย โดยเทเลนอร์อยู่ระหว่างศึกษารายละเอียดที่จะนำบริษัทเข้ามาจดทะเบียนใน ตลาดหุ้นไทย (SET) พร้อมสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับกฎระเบียบต่างๆ
รมว.คลังกล่าวว่า ถือเป็นเรื่องที่ดี และไทยก็พร้อมที่จะให้บริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่อย่างเทเลนอร์ เข้ามาจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทย เพื่อทำให้อุตสาหกรรมการสื่อสาร หรือเทเลคอมของไทยแข่งขันได้ ซึ่งสุดท้ายแล้วประชาชนจะได้รับประโยชน์มากที่สุด
"การย้ายฐานจากสิงคโปร์เข้ามาจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทยน่าจะทำให้กลุ่มเทเลนอร์และตลาดหุ้นไทยดีขึ้น แต่เรื่องนี้ไม่ได้เกี่ยวข้องใดๆ กันกับกรณีของเบียร์ช้าง เพราะขณะนี้เบียร์ช้างเองยังไม่ได้ ออกไปจดทะเบียนในตลาดหุ้นสิงคโปร์"นายทนง กล่าว
นายบัคซาสให้เหตุผลของการเดินทางมาเอเชีย ครั้งนี้ว่า มีจุดประสงค์เพื่อรับรู้การทำตลาดของโอเปอเรเตอร์ที่เทเลนอร์ลงทุนในแต่ละประเทศว่าเป็นอย่างไร มีความแตกต่างกันหรือไม่ เพื่อสามารถนำข้อมูลด้านการตลาดไปแชร์กับประเทศอื่นๆ ที่เทเลนอร์ลงทุนได้ใน 12 ประเทศ ด้วยงบกว่า 6 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยมีประเทศในเอเชีย 4 ประเทศคือ ไทย มาเลเซีย บังกลาเทศ และปากีสถาน ส่วนอีก 3 ประเทศอยู่ในกลุ่มสแกนดิเนเวียที่เหลืออยู่ในยุโรป
ทั้งนี้ เทเลนอร์ นอร์เวย์ เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (แทค) ซึ่งอยู่ในตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ ดังนั้น การย้ายตลาดครั้งนี้น่าจะเป็นการย้ายแทคจากสิงคโปร์มาตลาดหุ้นไทย โดยการลงทุนในแทคล่าสุด เทเลนอร์ เตรียมลงเงินอีก 1.2 หมื่นล้านบาท โดยเน้นเรื่องของ การพัฒนาเครือข่ายเป็นหลัก
นายทนงยังให้ความเห็นกรณีของนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง กรรมการผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ที่จะขอลาออกจากตำแหน่ง เพราะไม่สามารถทำให้เบียร์ช้างจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทยได้ว่า เป็นเรื่องของนายกิตติรัตน์ อย่าไปให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากนักเพราะเรื่องยังไม่จบ
"ต้องขอถามว่าถ้าไปห้ามนายกิตติรัตน์ แล้วจะยอมทำตามที่บอกหรือไม่ นอกจากนี้ ตนเองยังไม่ได้รับการติดต่อจากนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ ที่จะมาหารือเรื่องของนายกิตติรัตน์ แต่อย่างใด"
ธีระชัยตื่นหาทางออกให้เบียร์ช้าง
นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล เลขาธิการคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวถึงข้อสรุปเบื้องต้นในการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ของบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) หรือเบียร์ช้างว่า หลังจากที่บริษัทได้ยื่นหนังสือเพื่ออนุญาตกระจายหลักทรัพย์ในตลาดสิงคโปร์ ซึ่งคณะกรรมการ ก.ล.ต. อนุมัติตามที่บริษัทได้ยื่นเรื่อง ขณะที่เรื่องการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยยังต้อง รอให้การพิจารณาพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของกระทรวงสาธารณสุขจากสภาผู้แทน ราษฎรก่อน
ทั้งนี้ ก.ล.ต.ในฐานะหน่วยงานที่กำกับดูและพัฒนาตลาดทุน ต้องการให้หน่วยงานทางฝ่ายการเมืองและฝ่ายที่เกี่ยวข้องเร่งพิจารณา พ.ร.บ. ดังกล่าวให้เสร็จโดยเร็ว เนื่องจากหากการพิจารณาล่าช้า จะทำให้ตลาดทุนไทยเสียประโยชน์ในการพัฒนาตลาดทุนไทยในส่วนของกรณีที่บริษัทจะยื่นขอเพื่อจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ทั้งในไทยและสิงคโปร์ หรือ Dual Listing ซึ่งหากบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ไทยได้ก่อนก็จะเกิดความได้เปรียบ
ก.ล.ต.จะทำการประสานงานกับสำนักงาน ก.ล.ต.สิงคโปร์เพื่อขอให้มีการเคลียร์ริ่งราคาหุ้นของบมจ.ไทยเบฟเวอเรจดำเนินการในไทย สำหรับธุรกิจ ของบริษัทซึ่งเป็นบริษัทของคนไทย ผู้บริโภคสินค้าของบริษัทส่วนใหญ่ก็เป็นไทย ดังนั้น สภาพคล่องของการซื้อขายหุ้นก็ควรจะอยู่ในประเทศไทยมากกว่าสิงคโปร์
"ในแง่ของความรับผิดชอบต่อตลาดทุนไทย เราก็ทำได้แค่การเอาใจช่วยให้เรื่องดังกล่าวได้ข้อยุติโดยเร็ว แต่ขณะนี้คงต้องรอจนกว่าร่าง พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จะผ่านสภาฯ จึงจะพิจารณาอีกครั้ง ตอนนี้ที่ทำได้คืออย่าเพิ่งไปคิด เพราะคิดไปก็ปวดหัวเปล่าๆ"นายธีระชัยกล่าว
อย่างไรก็ตาม การซื้อขายหลักทรัพย์ใน 2 ประเทศมีปัจจัยประกอบหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยการเมือง อัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งปัจจัยต่างๆ ก็มีผลต่อราคาหุ้นของ บมจ.ไทยเบฟเวอเรจ เนื่องจากตลาดหุ้นทั้ง 2 ประเทศมีส่วนที่ต่างกัน ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อนักลงทุนรายย่อยในช่วงแรกๆ แต่เชื่อว่าในระยะยาวเมื่อมีการควบคุมเงินทุนไหลเข้าและการไหลออกของออกประเทศ เชื่อสุดท้ายจะเริ่ม คลายตัวลง และจะทำให้เกิดสภาพคล่องที่สูงขึ้น
สำหรับเรื่องการประท้วงของกลุ่มแกนนำที่คัดค้านการเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทยของบมจ.ไทยเบฟเวอเรจ ที่มีพลตรีจำลอง ศรีเมือง เป็นแกนนำ ที่ผ่านมาเคยมีการพูดคุยกันมาแล้วเมื่อประมาณปลายปีที่แล้ว ซึ่งผ่านหลังคณะกรรมการ ก.ล.ต.ได้มีการประชุมกันเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2548 โดยได้มีการชะลอการพิจารณากรณีการขายหุ้นให้ประชาชนของ บมจ.ไทยเบฟเวอเรจ จนกว่าจะมีการผ่านร่าง พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
"โดยส่วนตัวก็ไม่เข้าใจว่าทำไมจุดยืนของกลุ่ม แกนนำในการคัดค้านจึงได้เปลี่ยนไป โดยได้มีการเปลี่ยนแปลงข้อเรียกร้องเป็นให้ ก.ล.ต.ออกมาประกาศให้ชัดเจนว่าจะไม่รับบมจ.ไทยเบฟเวอเรจเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทย ซึ่งภายหลังที่บอร์ด ก.ล.ต.ได้มีการออกแถลงการณ์เมื่อ 16 ม.ค. กลุ่มผู้ชุมนุมซึ่งมาจากหลายกลุ่มก็แสดงความพอใจต่างกันซึ่งส่วนใหญ่ก็พอใจ เหลือเพียงส่วนน้อยที่ยังอยู่กดดัน"นายธีระชัยกล่าว
ทั้งนี้ยืนยันว่า รมว.คลังให้อิสระกับการทำงาน ของคณะกรรมการอย่างเต็มที่ โดยจะไม่เข้าร่วมประชุมคณะกรรมการเพื่อไม่ให้เกิดข้อสงสัยว่า มีความกดดันทางทางการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งเดิมที่แม้ว่าคณะกรรมการตั้งใจจะบรรจุวาระการพิจารณากรณีบริษัทไทยเบฟเวอเรจ เมื่อวันที่ 14 ธ.ค. 48 ที่ผ่านมา รัฐมนตรีก็แสดงความคิดเห็นว่าไม่สนับสนุนให้พิจารณาเรื่องดังกล่าวในช่วงเวลานั้น จึงได้เลื่อนการพิจารณาออกมาเป็นวันที่ 16 ม.ค. 49 โดยการประชุมวาระพิเศษ โดยเน้นไปที่การพิจารณาคำเสนอขายหุ้นในต่างประเทศของบริษัทไทยเบฟเวอเรจ เป็นหลัก
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|