ธปท.ขึ้นดบ.สกัดเงินเฟ้อ ลั่นกลางปีดอกเบี้ยแท้จริงเป็นบวก


ผู้จัดการรายวัน(19 มกราคม 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

แบงก์ชาติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% หรือจาก 4% เป็น 4.25% หวังลดแรงกดดันอัตราเงินเฟ้อที่ชะลอลงแต่แรงกดดันด้านราคายังอยู่ ลั่นกลางปีนี้ดอกเบี้ยที่แท้จริงเป็นบวกจากปัจจุบันที่ติดลบ 1.17% คาดปี 2549 อาจเห็นแบงก์พาณิชย์ขึ้นดอกเบี้ยเงินฝากสูงกว่าอาร์/พี หากสภาพคล่องมีแนวโน้มลดลงมาก

นางอัจนา ไวความดี ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยถึงผลการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ว่า ที่ประชุมมีมติให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยตลาดซื้อคืนพันธบัตรระยะ 14 วัน (อาร์พี 14 วัน) หรืออัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% ต่อปี เป็น 4.25% จากเดิมที่อยู่ในระดับ 4% เนื่องจากต้องการลดแรงกดดัน ที่มีต่ออัตราเงินเฟ้อ

ทั้งนี้ แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไป ในเดือนธันวาคมที่อยู่ในระดับ 5.8% ซึ่งปรับตัวลดลงจากเดือนพฤศจิกายน ที่อยู่ในระดับ 5.9% ก็ตาม แต่แนวโน้มที่อัตราเงินเฟ้อจะเร่งตัวยังคงมีอยู่ตามราคาน้ำมันดิบที่อาจปรับสูงขึ้น ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยในเดือนธันวาคมปี 2548 อยู่ในระดับ 2.6% เพิ่มขึ้นจากเดือนพฤศจิกายน ที่อยู่ในระดับ 2.4%

"อาจได้เห็นอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานปรับตัวสูงขึ้น มากกว่าเป้าหมายสูงสุดของ ธปท.ที่ตั้งไว้ 3.5% ในไตรมาสที่ 2 ถึงไตรมาสที่ 4 ของปีหน้า ธปท.จึงจำเป็นต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อลดความเสี่ยงดังกล่าว แม้ว่าความเสี่ยงของการเกินเป้าของอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในการประชุมครั้งนี้ต่ำกว่าครั้งที่ผ่านมาก็ตาม"

ทั้งนี้ ในช่วง 11 เดือนแรกของปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยยังโตได้ต่อเนื่องแม้ว่าอุปสงค์ในประเทศอาจชะลอลงบ้างในไตรามาส 4 แต่อุปสงค์ต่างประเทศยังอยู่ในเกณฑ์ดีและมีแนวโน้มที่จะดีต่อเนื่องจนถึงปี 2549 นี้ ซึ่งเชื่อว่าแรงส่งให้เศรษฐกิจ ขยายตัวต่อไปจากแนวโน้มการส่งออกและการลงทุน ภาคเอกชน ดังนั้น คณะกรรมการฯ จึงมองว่าการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายจะไปกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ

นอกจากนี้ ธปท.ยังต้องการให้อัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่แท้จริงเป็นบวกจากปัจจุบันที่ติดลบอยู่ 1.17% ซึ่งแม้ว่าธนาคารพาณิชย์จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยแล้วก็ตาม แต่อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง หรืออัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำประเภท 12 เดือน ลบอัตราเงินเฟ้อยังคงติดลบอยู่ ดังนั้น ธปท.จึงเห็นว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายและอัตราดอกเบี้ยของธนาคาร พาณิชย์ควรจะเป็นขาขึ้นต่อเนื่องเพื่อให้อัตราดอกเบี้ย ที่แท้จริงเป็นบวกได้ภายในกลางปี 2549

อย่างไรก็ตาม หากอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงจะเป็นบวกในระยะต่อไป แต่ยังสรุปไม่ได้ในขณะนี้ว่า ธปท.จะไม่ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก เพราะการปรับเปลี่ยนนั้นต้องพิจารณาภาวะเศรษฐกิจจากหลายปัจจัยในขณะนั้น เช่น ความร้อนแรงของการขยายตัวของเศรษฐกิจ การปรับตัวของราคาน้ำมัน และแนวโน้มการเพิ่มขึ้นหรือลดลงของอัตราเงินเฟ้อ เป็นต้น

"ไม่จำเป็นว่าเพื่อให้อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงเป็นบวก ธปท.จะต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 1.17% แต่จะขึ้นอีกเท่าไร ขึ้นอยู่กับการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของแบงก์พาณิชย์ในระยะต่อไปตามสภาพคล่องของแบงก์และการปรับลดลงของเงินเฟ้อ ซึ่งเท่าที่ดูพบว่าสภาพคล่องของแบงก์พาณิชย์ในปัจจุบันลดลงอย่างต่อเนื่องแล้ว ส่งผลให้แบงก์พาณิชย์ต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อระดมเงินเพิ่ม และหากสภาพคล่องลดลงเร็วมากเขาก็อาจจะขึ้นดอกเบี้ยเร็ว และมากกว่า 1.17% ที่ ธปท.ต้องการก็ได้"นางอัจนากล่าว

นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะกรรมการนโยบายการเงิน กล่าวว่า กนง.ยังคงให้น้ำหนักเรื่องอัตราเงินเฟ้อเป็นประเด็นหลัก แม้การเร่งตัวจะลดลงจากปีก่อนที่มีปัญหาเรื่องของราคาน้ำมันและเหตุการณ์ร้ายต่างๆ ซึ่งขณะนี้ได้คลี่คลายลงแล้ว แต่ไทยยังคงมีปัญหาการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด แต่เป็นการขาดดุลลดลง

ด้าน นายอรุณ จิรชวาลา กรรมการผู้จัดการ ธนาคารนครหลวงไทย กล่าวว่า การที่ ธปท.ปรับขึ้น ดอกเบี้ยนโยบายในครั้งนี้อีก 0.25% ยังไม่มีผลให้ธนาคารพาณิชย์ปรับขึ้นดอกเบี้ยทันที เนื่องจากสัปดาห์ที่ผ่านมาธนาคารพาณิชย์ได้มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยไปก่อนหน้าแล้ว

อย่างไรก็ตาม ในปีหน้าธนาคารมีเป้าหมายที่จะรักษาส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยของธนาคารให้อยู่ที่3% จากปี 2548 ที่ปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 2.59% ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารในช่วงที่ผ่านมาไม่มีผลกระทบต่อส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย ของธนาคาร แม้ว่าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากมากกว่าสินเชื่อ เพราะธนาคารสามารถหารายได้จาก ช่องทางอื่นได้เป็นอย่างดี


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.