|
เมเจอร์ฯวางเป้าแสนที่นั่งในอีก3ปี ดึงคนเอไอเอสเสริมทัพไอทีรองรับ
ผู้จัดการรายวัน(18 มกราคม 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
เมเจอร์ซี นีเพล็กซ์ เสริมทัพด้านไอที ดึงมือดีจากเอไอเอสร่วมวงเพียบ พ่วงด้วยลูกหม้อเก่าแมคโดนัลด์หวังพัฒนาระบบ ไอทีด้านการขายตั๋วหนัง รองรับการ ขยายตัวที่จะเพิ่มเป็น 1 แสนที่นั่งภายใน 3 ปีนี้ คาดรายได้ปีจอเติบโต 20%
นายวิชา พูลวรลักษณ์ ประธาน กรรมการบริหาร บริษัท เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า นโยบายจากนี้ไปของ เมเจอร์ฯจะยึดหลัก 4 แนวทาง คือ 1. การขยายธุรกิจด้วยการหาทำเลใหม่ๆ เนื่องจากธุรกิจนี้ยังเติบโตได้ อีกมาก 2. การพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ เข้ามาบริการผู้บริโภคตลอดเวลา 3. การทำงานแบบทีมเวิร์กด้วย การเปิดโอกาสให้แก่ผู้บริหารมืออาชีพใหม่ๆ 4. การพัฒนาระบบทางด้านไอที บริษัทฯมีเป้าหมายที่จะพัฒนาระบบไอทีให้กับธุรกิจโรงภาพยนตร์เพื่อความเป็นผู้นำในธุรกิจนี้ โดยเฉพาะการสร้างความสะดวกสบายให้แก่ผู้บริโภคในการชมภาพยนตร์ เช่น การซื้อตั๋วหนังที่สะดวก การจองตั๋วล่วงหน้าโดย พึ่งพาระบบเทคโนโลยี ซึ่งเดิมรูปแบบการซื้อตั๋วเหล่านี้มีประมาณ 4-5% จากยอดขายตั๋วทั้งหมดของปีที่แล้วที่มีประมาณ 20 กว่าล้านบาท
อีกทั้งยังมีแผนที่จะขยายธุรกิจ อย่างต่อเนื่อง ดังนั้นระบไอทีจึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีความพร้อมเพื่อรองรับการขยายงานด้วย โดยมีเป้าหมายที่จะเพิ่มจำนวนที่นั่งให้ได้ครบ 100,000 ที่นั่ง จากปัจจุบันที่คาดว่าภายในสิ้นปีนี้จะมีประมาณ 75,000 ที่นั่ง ซึ่งปัจจุบันมีจำนวนสาขา 30 แห่ง แบ่งเป็นเมเจอร์ฯ 19 แห่ง จำนวน 162 โรง และอีจีวี 11 แห่ง จำนวน 96 โรง และภายในปีนี้จะเพิ่ม จำนวนโรงอีกมากกว่า 45 โรง ซึ่งระบบบุ๊กกิ้งซิสเต็มต้องมีความแข็ง แกร่งและพร้อมในการรองรับการขยายตัว ด้วยสาเหตุนี้ทำให้บริษัทฯได้ปรับโครงสร้างการบริหารงานใหม่ เพื่อให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นในการรุกธุรกิจจากนี้ไป โดยเฉพาะในเรื่องของระบบไอทีต่างๆ ที่จะมีความ จำเป็นอย่างยิ่งในโลกธุรกิจ
ทั้งนี้ ทีมผู้บริหารใหม่ประกอบ ด้วย 1. นายกฤษณัน งามผาติพงศ์ ดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ซึ่งเดิมทำงานอยู่ที่เอไอเอสแต่ลาออกมาประมาณปีกว่าแล้ว 2. นางอรวรรณ กอวัฒนา ดำรงตำแหน่งรองกรรมการผู้อำนวยการ ดูแลรับผิดชอบในส่วนงานให้บริการ ของธุรกิจโรงภาพยนตร์ ซึ่งล่าสุดลาออกมาจากแมคโดนัลด์ประเทศไทย 3. นายอาทร เตชะตันติวงศ์ ดำรงตำแหน่งรองกรรมการผู้อำนวย- การ ดูแลรับผิดชอบโบว์ลิ่งทั้งหมด ซึ่งล่าสุดลาออกมาจากเอไอเอส 4. นายจิรเดช นุตสถิตย์ ตำแหน่งรองกรรมการผู้อำนวยการ ฝ่ายวางแผนกลยุทธ์และนักลงทุนสัมพันธ์ ล่าสุดลาออกมาจากเอไอเอสเช่นเดียวกัน
นอกจากนั้นแล้ว ก่อนหน้านี้ ทางเมเจอร์ฯยังได้ร่วมกับนาย กฤษณัน เพื่อจัดตั้งบริษัทใหม่ชื่อว่า บริษัท เอ็ม โอ แอล จำกัด โดยฝ่าย เมเจอร์ฯถือหุ้น 40% และฝ่ายนาย กฤษณันถือหุ้น 40% เพื่อทำเป็นซอฟต์แวร์เฮาส์ให้กับกลุ่มเมเจอร์ฯ
"ในอเมริกา ยอดการขายตั๋วมา จากระบบการจองล่วงหน้ามากกว่า 40% เมืองไทยไม่ต้องมากเท่านั้นก็ได้ ขอแค่ 10% ก็พอแล้ว ซึ่งถ้าหากเพิ่ม ความสะดวกให้แก่ผู้บริโภคได้มากเท่าใด โอกาสในการที่จะเข้ามา ดูหนังก็เพิ่มมากขึ้นเท่านั้น"
นายกฤษณันกล่าวเพิ่มเติมว่าขณะนี้เมเจอร์ฯได้ทุ่มทุนประมาณ 30 ล้านบาทเพื่อลงทุนทางด้านไอทีและเทคโนโลยีต่างๆ และจะยังมีการ ลงทุนต่อเนื่อง "เป้าหมายของผมที่เข้ามาบริหารที่เมเจอร์ซีนีเพล็กซ์คือ จะสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ โดยใช้ไอที เข้ามาเป็นส่วนเสริม ตัวอย่างเช่น สาขาสยามพารากอน ที่กำลังจะเปิดบริการจะมีพริตตี้ที่เดินขายตั๋วหนังในสยามพารากอนจำนวน 5 คน เข้ามาเสริมจุดขายตั๋วที่บ็อกซ์ ออฟฟิศที่มีประมาณ 12 ช่อง และจะยังมีระบบบริการใหม่ๆ ที่จะ เกิดขึ้นอีกมาก เช่น ดีไอวายทิคเก็ต จากเดิมที่มีหลายระบบแล้ว เช่น โมบายทิคเก็ต ออนไลน์ เว็บ ซึ่งก็จะมีการพัฒนาให้แข็งแกร่งขึ้น เช่น พรินต์ตั๋วหนังจากที่บ้านได้เลย หรือเลือกที่นั่งจากที่บ้านได้เลย หรือจองตั๋วหนังล่วงหน้าเป็นอาทิตย์ ได้"
นอกจากนั้นยังมีแผนที่จะแบ่งเซกเมนต์กลุ่มเป้าหมายของ โรงหนังด้วย เช่น มีแผนที่จะทำ โรงหนังที่ฉายหนังคุณภาพที่ไม่ได้เป็นหนังตลาด เพื่อเปิดโอกาสให้แก่ ผู้ที่สนใจหนังคุณภาพไม่สามารถหาดูได้ หรือแม้แต่หนังฮอลลีวูด ที่ผู้บริโภคไม่สามารถดูได้ทันในช่วงโปรแกรมปกติก็สามารถดูได้ที่โรงหนังเฉพาะนี้ คาดว่าจะเลือกทำเลที่อยู่ใจกลางเมืองมาทำในเซกเมนต์นี้
นายวิชากล่าวด้วยว่า การขยายธุรกิจต่อเนื่องของเมเจอร์ฯคาดว่าในปีนี้จะมีอัตราการเติบโตทางด้านรายได้ไม่น้อยกว่า 20-25% จากเดิมปีที่แล้วมีรายได้รวมมากกว่า 4,000 ล้านบาท โดยแบ่งสัดส่วนเป็น รายได้จากการขายตั๋วหนังกว่า 60% รายได้จากโบว์ลิ่ง 15% รายได้จากสื่อโฆษณาในโรงหนัง 10-15% และรายได้ จากพื้นที่ค้าปลีก 10%
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|