บ.ปูนฯขึ้นราคาหั่นส่วนลดลูกค้าอีก200บาท/ตัน


ผู้จัดการรายวัน(18 มกราคม 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

บริษัทผู้ผลิตปูนซีเมนต์ลักไก่ ดึงกลับส่วนลดของผู้ประกอบการ 650 บาท ลงมาเหลือ 450 บาทต่อตัน ส่งผลให้ราคาขายปูนฯ ขยับขึ้นแล้ว 200 บาทต่อตัน ด้านสมาคมคอนกรีตไทยหามาตรการป้องกันเพื่อรับมือกับต้นทุนที่พุ่งขึ้น ขณะที่ผู้ผลิตปูนฯยันแบกรับต้นทุนไม่ไหว หลังกำไรเริ่มหดลง "ปราโมทย์ ธีรกุล" นายกฯรับสร้างบ้าน ชี้ครึ่งปีแรกยังไม่กระทบ ระบุหากมีเงินสดเยอะก็จ่ายไวขึ้น

แหล่งข่าววงการวัสดุก่อสร้าง เปิดเผยว่า ทางสมาคมคอนกรีตไทยได้มีการหารือเพื่อรับมือกับทางบริษัทผู้ผลิตปูนซีเมนต์ทั้งหมดในตลาดที่ได้ดึงส่วนลดราคาการจำหน่ายปูนซิเมนต์ ให้แก่ผู้ผลิต โดยส่วนลดคงเหลือขณะนี้อยู่ที่ 450 บาทต่อตัน ซึ่งเป็นระดับราคาที่ผู้ผลิตปูนซีเมนต์ ยึดราคาส่วนลดนี้ไว้ จากก่อนหน้านี้ ทางผู้ผลิตได้ดึงส่วนลดจากระดับ 1,000 บาทต่อตัน และลงมาเหลือ 650 บาทต่อตัน จนมาถึงราคาส่วนลดล่าสุด นั่นแสดงว่าผู้ผลิตปูนซีเมนต์ได้ปรับราคาขายปูนขึ้นทางอ้อม แม้จะไม่มีการประกาศขึ้นราคาปูนหน้าโรงงาน

ต่อประเด็นดังกล่าว นายวิทวัส พรกุล ประธานกรรมการบริหารบริษัท ดีคอนโปรดักส์ ผู้ผลิตและจำหน่ายแผ่นพื้นสำเร็จรูป และเสาเข็มอัดแรงภายใต้ยี่ห้อ "DCON" กล่าวว่า ทาง บริษัทฯรวมถึงสมาชิกในสมาคมคอนกรีตไทย ได้รับการแจ้งด้วยวาจาพร้อมๆกันว่า ทางบริษัทปูนซีเมนต์จะมีการดึงราคาส่วนลดที่ให้แก่ผู้ประกอบการ โดยมีผลตั้งแต่เมื่อวันที่ 4-5 ม.ค. ที่ผ่านมาส่งผลให้ราคาขายปูนซีเมนต์ต้องขยับขึ้นไปอีก 200 บาทต่อตัน ซึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผู้ผลิตปูนซีเมนต์ต้องดึงส่วนลด เนื่องจากได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้น ซึ่งปัญหาที่เห็นชัด คือ การปรับขึ้นค่าขนส่งไปก่อนหน้านี้เป็น 85 บาทต่อตัน และราคาขายทรายอยู่ระหว่างการปรับขึ้นราคาเช่นกัน

"กระทบแน่ ซึ่งทางสมาคมคอนกรีตไทย กำลังหารือด่วนถึงปัญหาและหามาตรการป้องกัน ขณะที่ในส่วนของบริษัทในแต่ละเดือนต้องรับปูนมาผลิตเป็นสินค้าประมาณ 5,000 ตันต่อเดือน หากราคาปูนซีเมนต์ขึ้นไป 200 บาทต่อตัน ต้นทุนการซื้อปูนของบริษัทจะเพิ่มขึ้น 1 ล้านบาทต่อเดือน"นายวิทวัสกล่าว

แหล่งข่าวจาก กลุ่มอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ กล่าวว่า การปรับส่วนลดราคาให้แก่ผู้ประกอบการต่างๆหรือที่เคยให้แก่เอเยนต์ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล และต่างจังหวัด เป็นกลยุทธ์หนึ่งเพื่อรักษาระดับกำไรของบริษัทผู้ผลิตปูน ซีเมนต์ และเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าเท่านั้น ซึ่งก่อนหน้านี้ผู้ผลิตปูนซีเมนต์ ได้พยายามควบคุมค่าใช้จ่ายต่างๆ แล้ว แต่ก็ยังมีภาระต้นทุนที่ต้องแบกรับเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะต้นทุนทางด้านพลังงาน ที่เพิ่มขึ้นจากช่วงปลายปี 2547 ประมาณ 30% ซึ่งเป็นผลมาจากราคาเชื้อเพลิง อาทิ น้ำมันเตา, ถ่านหิน และลิกไนต์ จะปรับเปลี่ยนไปตามราคาน้ำมัน อย่าง ราคาลิกไนต์ได้ปรับขึ้นมาแล้ว 30% ดังนั้น เมื่อสัญญาซื้อขายล่วงหน้าระหว่างผู้ผลิตปูนซีเมนต์กับผู้ประกอบการหมดลงในช่วงกลางปีที่ผ่านมา จึงได้มีปรับสัดส่วนลดราคากับผู้ประกอบการ

ทั้งนี้ ในช่วงปลายปี 2548 ที่ผ่านมา กลุ่มอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ได้เข้าพบอธิบดีกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ เพื่อเสนอขออนุมัติการปรับราคาปูนซีเมนต์ขึ้น เนื่องจากผู้ผลิตปูนซีเมนต์ต้องแบกรับภาระต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น จากผลกระทบของราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้นมาตลอดในปี 2548

โดยต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้นนั้นผู้ประกอบการในตลาดเริ่มได้รับผลกระทบตั้งแต่ปลายปี 2547 มาแล้ว ซึ่งทางกลุ่มอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ ยื่นขอปรับราคาไปแล้วตันละ 100 บาท เมื่อปลายปี 2547 แต่กรมการค้าภายใน ขอความร่วมมือให้ยืนราคาเดิมไปก่อน ส่วนการเข้าพบครั้งล่าสุดที่ผ่านมากลุ่มอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ได้นำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับภาระต้นทุนที่ผู้ผลิตปูนซีเมนต์ต้องแบกรับภาระเพิ่มขึ้น เพื่อขอให้กระทรวงพาณิชย์อนุมัติปรับราคาปูนซีเมนต์ ซึ่งก็ได้รับคำตอบว่า ให้ช่วยยืนราคาเช่นเดิม โดยทางกรมการค้าภายในให้หาวิธีลดต้นทุนการผลิต และลดค่าใช้จ่ายลง

ทั้งนี้ สมาชิกกลุ่มอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ มีความเห็นตรงกันว่า ควรจะมีการปรับราคาปูนขึ้น เพราะแม้ว่าจะพยายามหาลดต้นทุน แต่ก็ไม่สามารถรักษากำไรไว้ได้ เนื่องจากราคาน้ำมันได้ปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งถือเป็นความเสี่ยงทางธุรกิจ เพราะผู้ประกอบการจำเป็นต้องมีกำไรจากการดำเนินการ เพื่อนำมาใช้การลงทุน ทำกิจกรรมการตลาดเพื่อให้บริษัทก้าวหน้า

หวังจ่ายเงินเร็วขึ้นต่อรองซื้อปูนซีเมนต์

ด้านนายปราโมทย์ ธีรกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท โฟร์พัฒนา จำกัด ในฐานะนายกสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน กล่าวถึงภาวะการปรับตัวของราคาวัสดุก่อสร้างว่า ในส่วนของสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้านได้มีการหารือและหามาตรการป้องกัน โดยได้เจรจากับผู้ประกอบการ วัสดุก่อสร้างให้มีการยืนราคาปูนซีเมนต์และทราย ไว้แล้ว ซึ่งผู้ประกอบการวัสดุเองก็ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี ทำให้ได้รับผลกระทบจากภาวะดังกล่าวค่อนข้างน้อย โดยทางผู้ประกอบการวัสดุก่อสร้างได้เสนอให้กลุ่มสมาชิกในธุรกิจรับสร้างบ้าน กำหนดปริมาณความต้องการใช้วัสดุก่อสร้างที่แน่นอน และจ่ายเงินสดในระยะเวลาที่เร็วกว่าเดิม ซึ่งการตัดจ่ายเป็นเงินสดนี้เองก็จะช่วยให้ผู้ประกอบการวัสดุก่อสร้างสามารถสั่งซื้อปูนซีเมนต์ที่ได้รับส่วนลดเงินสดจากผู้ประกอบการปูนซีเมนต์ และในส่วนของสมาชิกรับสร้างบ้านก็ยินดีจะจ่ายให้ ทำให้ได้ปูนซีเมนต์ในราคาเดิม เพราะสภาพคล่องของสมาชิกมีอยู่

อย่างไรก็ตาม มีผู้ประกอบการหรือบริษัทจัดสรรบางส่วน รวมถึงบริษัทรับเหมาก่อสร้างรายย่อยที่อาจจะได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก เนื่องจากสั่งซื้อในปริมาณค่อนข้างน้อย ทำให้ไม่มีอำนาจต่อรองในการซื้อปูนหรือทรายได้ในราคาเดิม

แม้จะมีผลกระทบกับผู้ประกอบการรับสร้างบ้านบ้าง แต่ก็ยังถือว่าเป็นส่วนน้อยอยู่ โดยรวมแล้วผลกระทบดังกล่าว มีผลต่อต้นทุนการก่อสร้างบ้านเพียง 2-3% เท่านั้น ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับราคาบ้านที่ขายแล้ว ถือว่ามีผลกระทบน้อยมาก

"เรามั่นใจว่า ในช่วงระยะครึ่งปีแรกนี้ ผลกระทบจากการปรับขึ้นของราคาปูนซีเมนต์ ค่าขนส่งที่ขึ้นมาแล้ว 85 บาทต่อตัน และราคาทราย ที่จ่อคิวปรับขึ้นนั้น จะยังไม่ส่งผลต่อผู้ประกอบการรายใหญ่หรือกลุ่มสมาชิกที่สั่งซื้อสิ้นค้าจำนวน มากๆ แต่อย่างใด" นายปราโมทย์กล่าว


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.