|

สธ.จ้องเชือดโฆษณาเหล้า ห้ามเผยแพร่ในสื่อทุกชนิด
ผู้จัดการรายวัน(17 มกราคม 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
คกก.ควบคุมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เตรียมบังคับใช้กฎหมาย ห้ามโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิดในสื่อทุกแขนง หรืออาจขยับเวลาการอนุญาตโฆษณาจาก 7 ชั่วโมง เหลือเพียง 3 ชั่วโมงในช่วงที่คนนอนแล้ว คาดมีผลใช้กลางปีนี้ ผลวิจัยล่าสุดพบว่าประเทศที่มีการห้ามโฆษณาเหล้า สามารถลดนักดื่มลง 16% ลดอุบัติเหตุได้ 23% พร้อมทั้งจับมือ 29 หน่วยงานราชการ ประกาศเป็นเขตปลอดควันบุหรี่ ห้ามขายบุหรี่ในสถานที่ราชการ
วานนี้(16 ม.ค.) ที่ รร.มิราเคิล แกรนด์ กทม. นายพินิจ จารุสมบัติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดการประชุมคณะกรรมการควบคุมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ (คบอช.) เพื่อพิจารณามาตรการควบคุมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และร่างพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
นายพินิจกล่าวว่า คณะกรรมการควบคุม การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ ได้เตรียมวางมาตรการควบคุมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปี 2549 ทั้งระยะสั้นและระยะยาว โดยระยะสั้น มี 2 แนวทาง คือการเตรียมออกกฎหมายห้ามโฆษณาเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ทางวิทยุ โทรทัศน์ และสื่อต่างๆ อย่างเด็ดขาด
หรือแนวทางที่ 2 อาจใช้วิธีจำกัดการโฆษณาเพิ่มเติม โดยลดเวลาอนุญาตให้โฆษณา เหล้าทางวิทยุ โทรทัศน์จากเดิม ตั้งแต่ 22.00 -05.00 น. รวม 7 ชั่วโมง แต่เวลาโฆษณาใหม่นี้จะลดเหลือเพียง 3 ชั่วโมง ตั้งแต่ 02.00 น. - 05.00 น. และจะมีการตัดข้อความโฆษณาแอบแฝงที่บริษัทสุรามักใช้เลี่ยงนำมาโฆษณาแฝงในลักษณะต่างๆ ซึ่งมาตรการนี้จะช่วยลดการดื่มสุราลงได้อีกทางหนึ่ง
การศึกษาขององค์การอนามัยโลก พบว่า การห้ามโฆษณาเหล้ามีผลต่อนักดื่มหน้าใหม่ โดยปริมาณการดื่มแอลกอฮอล์ในกลุ่มประเทศที่มีการห้ามโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ น้อยกว่ากลุ่มที่ไม่มีการห้ามหรือจำกัดการโฆษณา ถึง 16% และที่สำคัญคือ อัตราการตายจากอุบัติเหตุจราจร ในกลุ่มประเทศที่มีการห้ามการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต่ำกว่าประเทศที่ไม่มีการห้ามหรือจำกัดการโฆษณาถึง 23%
นายพินิจกล่าวต่อว่า สำหรับมาตรการระยะยาว จะผลักดันพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งขณะนี้ยังเป็นร่างกฎหมายอยู่ มี สาระสำคัญทั้งเรื่องการควบคุมผลิต และนำเข้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มาตรฐานผลิต-ภัณฑ์อุตสาหกรรม การออกใบอนุญาตขายและการจำกัดพื้นที่ในการดื่มเครื่องดื่ม จะไม่ให้ออกใบอนุญาตขายและดื่มแอลกอฮอล์ในสถานที่ 10 ประเภท ได้แก่ วัดและศาสนสถาน สถานพยาบาล ร้านขายยา สโมสรเยาวชน สถานศึกษา ยานพาหนะขนส่งมวลชน ปั๊มน้ำมัน ร้านค้าที่เปิดบริการทั้งวันหรือเกินกว่า 16 ชั่วโมง สวนสาธารณะและทางสาธารณะ โดยเฉพาะห้ามขายในหอพัก และห้ามดื่มในขณะขับขี่ยานพาหนะทุกชนิด
นอกจากนี้ ยังห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แก่บุคคลที่มีอายุต่ำกว่า 21 ปี ซึ่งเดิมห้ามขายเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี หรือผู้ที่ยังอยู่ในอาการมึนเมา จนแสดงพฤติกรรมวุ่นวาย ห้ามขายเหล้าเบียร์โดยเครื่องอัตโนมัติ การเร่ขาย การแจกแถม หรือแจกจ่ายรางวัล การควบคุมการโฆษณาทางสื่อต่างๆ
ทั้งนี้ คาดว่าร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้จะแล้วเสร็จภายในเดือนก.พ. 2549 และใช้เวลาในการทำประชาพิจารณ์กับประชาชน และผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียทั่วประเทศอีกประมาณ 2 เดือน ก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรี คณะกรรมการกฤษฎีกา รัฐสภา และประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อให้มีผลบังคับใช้ต่อไป
ขณะเดียวกันในการดำเนินการควบคุมลดปัญหาการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จะมีการจัดตั้งกองทุนสนับสนุนการควบคุม ลด และเลิกการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เนื่องจากขณะนี้ขาดแคลนงบประมาณในการดำเนินการ เช่น อาจใช้ 2% ของภาษีสรรพสามิตสุรา หรือใช้ 5-10% ของงบประมาณสำนักงานกองทุนสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส.
วันเดียวกัน นายพินิจยังได้เป็นประธานพิธีลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการจัดเขตปลอดบุหรี่ ตาม พ.ร.บ. คุ้มครองสุขภาพผู้ไม่สูบบุหรี่ 2535 ที่กำหนดให้สถานที่ราชการหรือรัฐวิสาหกิจเป็นสถานที่ที่ให้มีการคุ้มครองผู้ไม่สูบบุหรี่ โดยมีปลัดกระทรวงและผู้แทนจาก 29 หน่วยงาน ร่วมลงนาม เพื่อให้สถานที่ทำงานจัดเขตปลอดบุหรี่ โดยเฉพาะสำนักงานส่วนกลาง เป็นแบบอย่างที่ดีของสถานที่สาธารณะอื่นๆในการปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมาย
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|