|
คลังเร่งปฏิรูปโครงสร้างภาษียึดหลักรายได้เพียงพอ-รับเปิดเสรี
ผู้จัดการรายวัน(16 มกราคม 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
คลังแจงแนวทางปรับโครงสร้างภาษีระยะยาว หลังนายกฯประกาศปฏิรูประบบภาษีของประเทศเพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ชี้หลักการปรับยึด 3 ปัจจัย คือ รายได้เพียงพอ รับกระแสเปิดเสรี และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของภาคเอกชน ระบุยังพึ่งรายได้ภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นหลัก ย้ำเก็บไว้ปรับเป็นอันดับสุดท้าย ขณะที่รายการภาษีที่ปรับแน่ คือภาษีเงินได้นิติบุคคล-บุคคลธรรมดา ศุลกากรนำเข้า และการเพิ่มพิกัด-อัตราภาษีสรรพสามิต
นายสมชัย สัจจพงษ์ รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) ในฐานะประธานคณะทำงานย่อย ปรับปรุงโครงสร้างภาษี เปิดเผยว่า หลังจากที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ประกาศปฏิรูประบบภาษีเพื่อส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันของประเทศให้นักลงทุนภาคเอกชนรับฟัง เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2548 ที่ผ่านมา ทางสภาที่ปรึกษาธุรกิจได้เรียก สศค.เพื่อสอบถามถึงแนวทางการปรับโครงสร้างภาษี
ทั้งนี้ ทาง สศค.ได้ชี้แจงว่าปัจจัยที่จะกำหนดกรอบโครงสร้างภาษีใหม่จะมีอยู่ 3 ประการหลัก ประกอบด้วย 1.ความจำเป็นในการใช้จ่ายเงินงบประมาณของรัฐบาล และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) 2.กระแสการเปิดเสรีการค้า ซึ่งในอีก 10-15 ปีข้างหน้า อัตราภาษีศุลกากรน้ำเข้าจะลดลงจนเป็น 0% ทั้งหมด ซึ่งจะส่งผลให้รายได้ของกรมศุลกากรจนเป็นศูนย์ 3.เมื่อจำเป็นต้องปรับระบบภาษีตามเหตุผล 2 ข้อดังกล่าวแล้ว ก็ปรับปรุงเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคเอกชนไปพร้อมๆ กันเลย ไม่ใช่เฉพาะปรับเพื่อชดเชยรายได้กรมศุลกากรเท่านั้น
“เราบอกกับสภาที่ปรึกษาฯ ว่าจะเพิ่มมิติในการพิจารณา อย่างไรก็ตาม ต้องคำนึงว่า การจัดเก็บภาษีแต่ละประเภท มีวัตถุประสงค์เฉพาะเจาะจงอยู่ เช่น ภาษีสรรพสามิต เพื่อจำกัดการบริโภคสินค้าหรือบริการที่เป็นโทษต่อสังคม หรืออย่างภาษีศุลกากร ก็เพื่อเป็นกำแพงป้องกันการนำเข้าสินค้า เป็นต้น ไม่อยากใช้ภาษีตัวเดียวบรรลุวัตถุประสงค์หลายอย่าง ซึ่งจริงๆ แล้วก็ไม่สามารถเป็นไปได้ในทางเศรษฐศาสตร์ด้วย”นายสมชัย กล่าว
นายสมชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า จาก 3 ปัจจัยข้างต้น ทำให้ได้ 4 เป้าหมายในการปรับปรุง คือ 1.การปรับภาษีจะต้องอยู่ในกรอบที่สามารถจัดเก็บรายได้ได้เพียงพอกับรายจ่ายของรัฐบาลและ อปท. อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีการฟันธงว่าจะปรับเพิ่มอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือ ภาษีอื่นๆ 2.เพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ด้วยการลดต้นทุนของผู้ประกอบการ 3.จัดการกับผลกระทบภายนอก เช่น การดูแลทรัพยากรให้มีประสิทธิภาพ ลดปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นพิษทั้งหลาย และ4.เพิ่มมิติการเก็บภาษีเพื่อดูแลสังคม สาธารณสุข
ทั้งนี้ หลังจากศึกษาโครงสร้างภาษีของประเทศเพื่อนบ้าน และกลุ่มประเทศที่พัฒนา(OECD) ย้อนหลัง 10 ปี สศค.ได้วางกรอบแนวทางการปฏิรูประบบภาษีเบื้องต้นเป็นกรอบกว้างๆ ดังนี้ 1.ในส่วนของภาษีสรรพากร วจะมีการปรับปรุงภาษีเงินได้นิติบุคคล และภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาไปในทิศทางที่สอดคล้องกัน พิจารณาความจำเป็นในการมีอยู่ของการจัดเก็บภาษีอากรแสตมป์ และการปรับปรุงภาษีเงินได้ธุรกิจเฉพาะต่างๆ ส่วนภาษีมูลค่าเพิ่มจะยังคงไว้ก่อน เพราะถือว่าเป็นภาษีที่สร้างรายได้หลักเป็นอันดับแรกของไทยในปัจจุบัน
ในส่วนของภาษีสรรพสามิต จะมีการปรับปรุง 3 ส่วน คือ การเพิ่มอัตราภาษีสินค้าหรือบริการที่อยู่ในปัจจุบัน โดยเฉพาะสินค้าและบริการที่มีผลกระทบต่อสังคม(Sin Tax) การเพิ่มพิกัดภาษี เช่น ภาษีสิ่งแวดล้อม และการพิจารณาความจำเป็นในการยกเลิกจัดเก็บภาษีบางรายการที่รายได้จัดเก็บไม่คุ้มกับต้นทุนในการจัดเก็บ รวมถึงการปรับปรุงกฎหมายต่างๆ ที่ยุ่งยากซับซ้อนให้ง่ายขึ้น
สำหรับภาษีศุลกากรนั้น ในอนาคตจะลดลงจนเป็น 0% อย่างแน่นอน ดังนั้น จึงต้องระบุอุตสาหกรรมดาวรุ่งให้ชัดเจนเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งอุตสาหกรรมที่ปรับปรุงไปแล้ว ได้แก่ อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์ สำหรับในปี 2549 นี้จะปรับโครงสร้างภาษีอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ และอุตสาหกรรมอาหารแปรรูป
นอกจากนี้ จะมีการเพิ่มฐานภาษีใหม่ๆ เช่น ภาษีบนฐานทรัพย์สิน อาทิ ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่อยู่ระหว่างการรอกระบวนการทางกฎหมาย หรือ ภาษีมรดก รวมถึงการปฏิรูปภาษีท้องถิ่น เช่น ภาษีป้าย ซึ่งปัจจุบันเก็บตามขนาด และภาษี ส่งผลให้มีการใช้เทคนิคเพื่อหลบเลี่ยงจ่ายภาษีแพง
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|