|

โซลาร์ตรอนปรับแผนรับน้ำมันพุ่ง
ผู้จัดการรายวัน(16 มกราคม 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
โซลาร์ตรอน ปรับแผนการดำเนินงานเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ราคาน้ำมันที่ปรับสูงขึ้น บอร์ดอนุมัติปรับปรุงการออกแผน Concept Design ของโรงงานผลิตแผ่นเซลล์แสงอาทิตย์จาก 20MW เป็น 40MW ระบุมูลค่าการลงทุนเพิ่มจาก 910 ล้านบาท เป็น 1,100 ล้านบาท
นางสาววันดี กุญชรยาคง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โซลาร์ตรอน จำกัด (มหาชน) หรือ SOLAR กล่าวถึง กรณีที่บริษัทรายงานการใช้เงินที่ได้จากการขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนล่าช้ากว่าที่ระบุในหนังสือชี้ชวน ว่า บริษัทได้มีการปรับปรุงแผนการดำเนินงาน โดยฝ่ายบริหารได้ขออนุมัติจากคณะกรรมการบริษัทให้ปรับปรุงการออกแบบ Concept Design ของโรงงานผลิตแผ่นเซลล์แสงอาทิตย์จาก 20 MW เป็น 40MW ซึ่งจะส่งผลทำให้ต้นทุนการผลิตลดลงในอนาคต
จากการปรับปรุงแผนการดำเนินงานข้างต้น จะต้องมีการออกแบบให้ตัวอาคารและระบบสนับสนุนการผลิตสามารถรองรับสายการผลิตที่ 2 ได้ ซึ่งจะมีค่าใช้จ่ายของโครงการเพิ่มขึ้นจากที่ระบุไว้ในหนังสือชี้ชวน 910 ล้านบาทเป็น 1,100 ล้านบาท แต่ค่าใช้จ่ายของการขยายกำลังการผลิตในกรณีนี้จะน้อยกว่าการสร้างโรงงานใหม่อีก 1 โรงงาน ดังนั้นคณะกรรมการจึงอนุมัติ ซึ่งทำให้การทำ Concept Design ต้องขยายระยะเวลาแล้วเสร็จออกไปจากแผนเดิมเพื่อรองรับการขยายกำลังการผลิตและเพิ่มประสิทธิภาพในการลดต้นทุนการก่อสร้าง และการผลิตแผ่นเซลล์แสงอาทิตย์
สำหรับสาเหตุการปรับปรุงแผนการดำเนินงานจากที่ระบุไว้ในหนังสือชี้ชวน สืบเนื่องจากปัญหาวิกฤตพลังงานโลกมีความรุนแรงมากขึ้นในปัจจุบัน ส่งผลให้การผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานทดแทนเป็นทางเลือกที่ทั่วโลกให้การสนับสนุนอุตสาหกรรมการผลิตเซลล์แสงอาทิตย์มีแนวโน้มการเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด เพี่อเป็นการลดต้นทุนการดำเนินงาน
หลังจากปรับปรุง Concept Design แล้ว บริษัทได้นำรายละเอียดที่ปรากฏใน Concept Design เกี่ยวกับกำลังการผลิต ชั่วโมงการทำงาน จำนวนเครื่องจักร จำนวนวัตถุดิบ แผนป้องกันปัญหาสิ่งแวดล้อม เพื่อยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนเสนอต่อคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) โดยทางบริษัทต้องใช้เวลาในการรอ BOI อนุมัติสายการผลิตและเครื่องจักร ทาง BOI มีมติอนุมัติให้การส่งเสริมการลงทุนแก่บริษัท ในวันที่ 17 ตุลาคม 2548 ทำให้บริษัททำการปรับแผนการซื้อเครื่องจักรให้สอดคล้องกับเงื่อนไขของ BOI และต้องประเมินและตรวจสอบแผนการก่อสร้างและสั่งซื้อเครื่องจักรอย่างรอบคอบ เพื่อประโยชน์สูงสุดแก่บริษัทจึงต้องขยายเวลาการก่อสร้างออกไปเป็นต้นปี 2549
พร้อมกันนี้ บริษัทได้ส่งทีมผู้เชี่ยวชาญของโรงงานผลิตแผ่นเซลล์แสงอาทิตย์ไปต่างประเทศ เพื่อประเมินผลของเทคโนโลยีที่จะใช้ในการผลิตแผ่นเซลล์แสงอาทิตย์ เพื่อให้เกิดความมั่นใจก่อนจะลงมือก่อสร้างโรงงาน ดังนั้นเมื่อฝ่ายบริหารได้ตรวจสอบและประเมินผลการก่อสร้างและซื้อเครื่องจักรสำหรับโครงการผลิตแผ่นเซลล์แสงอาทิตย์อย่างละเอียดรอบคอบแล้ว โดยมีมูลค่าลงทุนรวมทั้งสิ้น 1,102,453,183 บาท ซึ่งคาดว่าจะสามารถบริหารการก่อสร้างและติดตั้งเครื่องจักรได้ภายในกำหนดการเดิม คือสามารถเริ่มผลิตแบบ Mass production ได้ภายในไตรมาส 2 ปี 2550
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|