เอส.อี.ซี.กรุ๊ปแผ่อณาจักรเกรย์มาร์เก็ตระดมทุน-ขยายเครือขาย-ขายรถทุกเซ็กเมนท์


ผู้จัดการรายสัปดาห์(16 มกราคม 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

-เอส.อี.ซี.กรุ๊ปสยายปีธุรกิจยานยนต์เต็มรูปแบบ ยึดแนวนำเข้ารถยนต์ได้ทุกรุ่นทุกยี่ห้อ
-เตรียมนำบริษัทเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ ตุนกระสุนรุกสร้างเครือข่าย
-ผู้ผลิตรถยนต์ไม่หวั่นมองเป็นการช่วยสนับสนุนสร้างแบรนด์ทางหนึ่ง ยืนยันแม้นำเข้าอิสระแต่ก็ต้องให้บริการตามหน้าที่

ในปี 2549 นี้ เอส.อี.ซี. กรุ๊ป น่าจะมีความโดดเด่นมากที่สุดในตลาดรถยนต์ไทย โดยเฉพาะในตลาดรถยนต์นำเข้าอิสระหรือเกรย์ มาร์เก็ต ซึ่งมีการตั้งเป้ายอดขายปีนี้ไว้ 1,200 คัน จากรถยนต์ในกลุ่มเอ็มพีวี และเอสยูวี ที่น่าสนใจคือ แนวการทำตลาดรถยนต์ของเอส.อี.ซี.ตั้งแต่ช่วงปลายปีที่ผ่านมา และน่าจะเป็นแนวโน้มในปีนี้คือ การเริ่มขยายตลาดสู่กลุ่มรถยนต์ในแบรนด์ยุโรปที่มีบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ทำตลาดในเมืองไทยมากขึ้น ตั้งแต่เมอร์เซเดส เบนซ์, บีเอ็มดับเบิลยู หรือแม้แต่รถยนต์ญี่ปุ่นบางรุ่นของหลายๆ แบรนด์ที่บริษัทเหล่านี้ต่างก็นำรถรุ่นเดียวกันเช้ามาทำตลาดเช่นกัน

นั่นเป็นสัญญาณอันที่หนึ่งแสดงให้เห็นว่า บริษัทผู้ผลิตรถยนต์นอกจากจะต้องแข่งกับบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ด้วยกันเองแล้ว ยังต้องแข่งขันกับบริษัทผู้นำเข้ารถยนต์อิสระอีกด้วย

ปรากฏการณ์ที่ว่านี้ แม้ไม่ใช่เรื่องใหม่ของตลาดเกรย์นัก เพราะในอดีตที่ผ่านมาบริษัทผู้นำเข้ารถยนต์อิสระหลายๆ แห่งก็มีการนำเข้ารถยนต์ ทับรุ่นกับบริษัทผู้ผลิตที่นำเข้ามาทำตลาด จนทำให้เกิดข้อพิพาทระหว่างบริษัทผู้ผลิตและเกรย์ มาร์เก็ต ช่วงหนึ่ง แต่เหตุการณ์เหล่านี้เงียบหายไประยะหนึ่ง

สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากผู้บริโภคส่วนใหญ่ยังนิยมซื้อรถจากผู้ผลิตรถยนต์มากกว่า เนื่องจากข้อได้เปรียบในเรื่องของการซ่อมบำรุงในระยะยาว ซึ่งบริษัทผู้ผลิตรถยนต์มีความพร้อมมากกว่าในเรื่องเครือข่ายศูนย์บริการ

แต่การเริ่มขยายตลาดของ เอส.อี.ซี.ฯ ในระยะหลังนี้น่าจับตามองมากขึ้น เมื่อเริ่มนำเข้ารถยนต์แบรนด์ยุโรปอย่างบีเอ็มดับเบิลยู จนถึงรถยนต์ระดับซูเปอร์คาร์อย่าง ปอร์เช่ จนถึงการนำเข้ารถยนต์เข้ามาชนกับผู้ผลิตอย่าง นิสสัน มูราโน่ ,มาสด้า เอ็มเอ็กซ์ 5 และเลกซัส เป็นต้น

ข้อได้เปรียบของเอส.อี.ซี.ในการนำเข้ารถยนต์เหล่านี้ คือความรวดเร็ว และออฟชั่น เอส.อี.ซี.จะมีความได้เปรียบเหนือกว่าบริษัทรถยนต์มาก เพราะมีขั้นตอนการบริหารงานที่ไม่ยุ่งยาก สามารถจัดส่งรถยนต์ให้ลูกค้าได้ตามความต้องการ ขณะที่ออฟชั่นบางอย่างก็แตกต่างจากรถยนต์ที่นำเข้าจากบริษัทผู้ผลิต เช่น ซัน ลูฟ เป็นต้น

ไพบูลย์ สุขสุธรรมวงศ์ กรรมการผู้จัดการ เอส.อี.ซี. กรุ๊ป บอกว่า ในปีนี้มีแผนใช้เงินงบประมาณ 150 ล้านบาท เพื่อดำเนินการเปิดสาขาและโชว์รูมเพิ่มอีกอย่างน้อย 2 แห่ง ได้แก่ สาขาพระราม 2 ใช้งบลงทุน 50-60 ล้านบาท และสาขาขอนแก่น ซึ่งเป็นของดีลเลอร์ด้วยงบลงทุน 30-40 ล้านบาท ซึ่งจะทำให้มีสาขารวมทั้งหมด 8 แห่ง

ทั้งนี้ในช่วงครึ่งปีแรก เอส.อี.ซี.มีแผนจะนำเข้ารถยนต์อีกราว 3-4 รุ่น อาทิ โตโยต้า รุ่นเอสติม่า เครื่องไฮบริดจ์ รวมถึงรถยนต์ที่มีเครื่องยนต์ระดับ 2000 ซีซี. ลงมาเป็นต้น เนื่องจากปัจจุบันผู้บริโภคชาวไทยหันมานิยมรถขนาดเล็กมากขึ้นนั่นเอง

วิทย์ สิทธิเวคิน ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารกิจการองค์กร บริษัท บีเอ็มดับเบิลยู (ประเทศไทย) จำกัด มองสิ่งที่เกิดขึ้นว่า เป็นเรื่องปกติทั่วไปของการแข่งขันในตลาดเสรี เมื่อรถยนต์ไม่ว่าจะเป็นแบรนด์ไหนที่ได้รับความนิยมจะมีผู้นำเข้าหลายราย ไม่จำกัดเฉพาะบริษัทผู้ผลิตเท่านั้น และด้วยความรับผิดชอบในฐานะบริษัทผู้ผลิตก็ต้องมีหน้าที่ในการให้บริการรถยนต์นำเข้าเหล่านั้น แม้จะนำเข้าจากผู้นำเข้าอิสระก็ตาม

“ผมมองในมุมที่เป็นบวก สำหรับบีเอ็มฯ แล้วเป็นเรื่องที่ดี เพราะเป็นการแสดงให้เห็นว่ารถยนต์บีเอ็มฯ กำลังเป็นที่ต้องการของตลาดมากขึ้น เพียงแต่เราต้องทำงานให้เร็วขึ้นเพื่อแข่งกับเกรย์มาร์เก็ตด้วย ซึ่งปัจจุบันเราถือว่าสามารถส่งรถให้ลูกค้าได้รวดเร็วตามความต้องการของลูกค้ามากขึ้น ส่วนในเรื่องออฟชั่นนั้น ความแตกต่างจะเป็นสิ่งที่ลูกค้าเป็นผู้เลือกว่าจะซื้อรถจากใคร เพราะออฟชั่นบางอย่างผู้นำเข้าอิสระก็มีไม่เหมือนเรา” วิทย์กล่าว

สิ่งที่น่าสนใจสำหรับเอส.อี.ซี. อีกประการหนึ่งคือ เรื่องของเครือข่าย เพราะล่าสุดได้มีการเซ็นสัญญาตั้งตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ของเอส.อี.ซี.ในจังหวัดขอนแก่น ซึ่งถือเป็นผู้แทนจำหน่ายในต่างจังหวัดรายแรกของเอส.อี.ซี.ฯ และมีแนวโน้มว่าจะมีการตั้งตัวแทนจำหน่ายลักษณะเดียวกันในอีกหลายๆ จังหวัด ทำให้เห็นว่าเครือข่ายธุรกิจเกรย์มาร์เก็จของเอส.อี.ซี.กำลังขยายตัวมากขึ้น ทั้งในเรื่องการขายและการให้บริการ

นอกจากนี้การที่ บริษัทเอส.อี.ซี.ออโต้เซลส์ แอนด์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของเอส.อี.ซี.กรุ๊ป รวมถึงบริษัทเอส.อี.ซี.เอ็กคลูซีฟ คาร์ จำกัดและบริษัทเพชรบุรีตัดใหม่ เอส.อี.ซี. กรุ๊ป จำกัด เตรียมเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัยพ์แห่งประเทศไทย โดยจะมีการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้กับประชาชนทั่วไปจำนวน 100 ล้านหุ้นหรือคิดเป็น 25% จากของหุ้นสามัญจำนวน 400 ล้านบาท เป็นการส่งสัญญาณว่า เอส.อี.ซี.ฯ กำลังเดินหน้าเต็มตัวกับการรุกตลาดรถยนต์นำเข้าอิสระ โดยเฉพาะหากในอนาคตผู้นำเข้ารถยนต์อิสระรายนี้สามารถสร้างเครือข่ายได้ครอบคลุมหัวเมืองใหญ่ๆ ได้ บริษัทผู้ผลิตรถยนต์คงต้องทำงานกันหนักขึ้น และอาจต้องเหลียวมองและให้ความสำคัญกับความเคลื่อนไหวนี้


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.