ลูกหนี้ ธอส.ติดหล่มดอกเบี้ยสูงกู้นาน-วงเงินสูงเตรียมตัวรีไฟแนนซ์


ผู้จัดการรายสัปดาห์(16 มกราคม 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

ลูกบ้าน ธอส.รับโชคปีใหม่ แบงก์ปรับดอกเบี้ยกู้อีก 0.25% สูงกว่าแบงก์พาณิชย์ 0.75% คนวงการแนะให้รอภาวะดอกเบี้ยขาขึ้นให้นิ่งก่อนตัดสินใจ ชี้ดอกเบี้ยที่ปรับขึ้น 1% จ่ายเงินเพิ่มอีก 7.5% จะรีไฟแนนซ์คุ้มหรือไม่ขึ้นกับวงเงินและระยะเวลากู้ ส่วน "ไชยยศ" ระบุชัดดัน บตท.หนุนคนมีรายได้น้อยมีบ้านแทน ธอส.

เปิดศักราชปี 2549 ผู้ที่เป็นลูกค้าของธนาคารอาคารสงเคราะห์(ธอส.) คงต้องมีภาระเพิ่มขึ้นอีก หลังจากธนาคารที่มีหน้าที่ช่วยเหลือให้ประชาชนที่มีรายได้น้อยถึงปานกลางมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง ได้มอบขวัญพิเศษให้โดยมีผลตั้งแต่ 4 มกราคม โดยปรับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้สำหรับลูกค้าทั่วไปขึ้นอีก 0.25% เป็น 7.25% สูงสุดในบรรดาดอกเบี้ยเงินกู้สำหรับผู้ซื้อบ้าน

ที่ผ่านมา ธอส.ปรับอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ 1 กันยายน 2548 จนถึง 4 มกราคม 2549 ปรับอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นทั้งหมด 4 ครั้ง ครั้งละ 0.25% จากดอกเบี้ยลูกค้าทั่วไปที่ 6.25% ขยับเป็น 7.25% หรือปรับเพิ่มขึ้น 1% ภายในระยะเวลา 4 เดือน

ขณะที่อัตราดอกเบี้ยสินเชื่อที่อยู่อาศัยของธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ ที่เป็นดอกเบี้ยลอยตัวอยู่ที่ 6.5% เท่ากับว่าดอกเบี้ยกู้ยืมของ ธอส. สูงกว่าแบงก์พาณิชย์ถึง 0.75% ยิ่งเมื่อเปรียบเทียบกับสถาบันการเงินของรัฐที่มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย ด้วยการรับซื้อสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์จากสถาบันการเงิน ซึ่งกำหนดอัตราดอกเบี้ยกู้ยืมที่ต่ำกว่า ธอส. โดยดอกเบี้ยลอยตัวใช้ดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี(MLR) ของธนาคารกรุงไทยเป็นหลักคิดที่ 6.5%

ดอกขึ้น 1% จ่ายเพิ่ม 7.5%

แหล่งข่าวจากวงการธนาคารพาณิชย์กล่าวว่า ดอกเบี้ยเงินกู้ที่เพิ่มขึ้นมา 1% ย่อมทำให้ค่าใช้จ่ายในการผ่อนชำระสูงขึ้น โดยยกตัวอย่างวงเงินกู้ 1 ล้านบาท กำหนดผ่อนชำระ 20 ปี อัตราดอกเบี้ยลอยตัวที่ 6.25% จะผ่อนชำระต่อเดือนที่ 7,309 บาท ครบกำหนดจะต้องจ่ายเงินทั้งสิ้น 1.75 ล้านบาท หากดอกเบี้ยขยับขึ้นเป็น 7.25% วงเงินกู้ 1 ล้านบาท ระยะเวลา 20 ปี ต้องผ่อนชำระเดือนละ 7,903 บาท ครบกำหนดต้องจ่ายเงินทั้งสิ้น 1.9 ล้านบาท มีส่วนต่างกันถึง 142,675 บาท หรือต้องจ่ายมากกว่าเดิมคิดเป็น 7.5%

"ตอนนี้ตอบยากว่าควรจะรีไฟแนนซ์บ้านหรือไม่ เพราะถ้าส่วนต่างยังมีแค่ 1% อาจจะไม่คุ้มกับการย้ายสถาบันการเงิน ทั้งนี้ต้องขึ้นกับวงเงินกู้และระยะเวลาที่ผ่อนชำระ ที่สำคัญคือขณะนี้อัตราดอกเบี้ยยังไม่นิ่ง หากมองในแง่ดีมีความเป็นไปได้ที่ธนาคารพาณิชย์เอกชนอาจจะปรับอัตราดอกเบี้ยสูงกว่า ธอส.ในระยะยาว"

เขาแนะนำว่า ลูกค้าของ ธอส.ขณะนี้คงต้องยอมรับสภาพดอกเบี้ยเงินกู้ที่สูงกว่าสถาบันการเงินอื่นไปก่อน รอให้ตลาดดอกเบี้ยนิ่งกว่านี้ก่อน คาดว่าดอกเบี้ยในปีนี้คงปรับขึ้นได้อีกไม่มากนัก อาจจะไม่ถึง 1% อย่างที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้ หลังจากดอกเบี้ยนิ่งแล้วค่อยมาพิจารณากันอีกครั้ง

สำหรับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นสำหรับผู้กู้ยืม แยกเป็นผู้กู้ยืมที่เลือกผ่อนชำระนานที่สุด กรณีนี้หากอัตราดอกเบี้ยปรับขึ้นคงไม่สามารถขยายระยะเวลาผ่อนชำระออกไปได้อีก ดังนั้นธนาคารจะปรับยอดเงินผ่อนชำระต่อเดือนเพิ่มขึ้น ส่วนผู้ขอกู้ที่เลือกระยะเวลาผ่อนชำระเช่น 20 ปี การผ่อนชำระจริงก็อาจจะเลยกำหนดไปหากผู้กู้ยังผ่อนชำระเท่าเดิม เช่นเป็น 22 หรือ 23 ปีเป็นต้น

คนจนติดภาพ ธอส.

แหล่งข่าวจากวงการอสังหาริมทรัพย์กล่าวว่า ลูกค้าของเราส่วนใหญ่เป็นผู้มีรายได้น้อยถึงปานกลาง บ้านที่เลือกจึงมักเป็นทาวเฮ้าส์เป็นหลัก แม้ว่าเราจะมีสถาบันการเงินอื่นเสนอให้กับลูกค้า แต่เกือบร้อยละ 90 ยังคงเชื่อมั่นใน ธอส. แม้ว่าอัตราดอกเบี้ยจะสูงกว่าสถาบันการเงินอื่น เขามั่นใจเพราะว่าเป็นธนาคารของรัฐ เราก็ต้องให้สิทธิลูกค้าเป็นผู้เลือกสถาบันการเงินเอง

ลูกค้าที่เลือกผ่อนชำระกับ ธอส. คงเป็นหน้าที่ของลูกค้าเองที่จะต้องคำนวณว่าจะผ่อนชำระกับ ธอส.ต่อไปหรือจะเปลี่ยนสถาบันการเงิน โดยเฉพาะหลังจากเข้าสู่เงื่อนไขอัตราดอกเบี้ยลอยตัวและผู้กู้ไม่มีสวัสดิการมาช่วยลดดอกเบี้ย ถือว่าโชคไม่ดี ทางที่ดีที่สุดคงเป็นการเลือกอัตราดอกเบี้ยคงที่กับ ธอส.อีกครั้ง

ที่ผ่านมาภาพของ ธอส. เป็นธนาคารที่ผู้มีรายได้น้อยเลือกใช้บริการสำหรับการผ่อนชำระบ้านมากที่สุด เช่น บ้านการเคหะแห่งชาติ บ้านมั่นคง บ้านเอื้ออาทร บ้านธนารักษ์ แต่ถึงวันนี้ ธอส.มีภาระกิจที่ต้องตอบสนองนโยบายของรัฐบาล ต้องระดมทุนกว่า 1 แสนล้านบาท ต้นทุนในการปล่อยสินเชื่อจึงต้องสูงตามไปด้วย

ปัจจุบันบทบาทของธนาคารอาคารสงเคราะห์ได้เปลี่ยนไปจากเดิมมาก ถึงวันนี้ ธอส.อาจจะไม่ใช่ธนาคารที่สนับสนุนผู้มีรายได้น้อยถึงปานกลางให้มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง ในความหมายนี้คืออัตราดอกเบี้ยต่ำอีกต่อไป เห็นได้จากอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เพื่อที่อยู่อาศัยที่สูงที่สุดในระบบเวลานี้ อีกทั้งไชยยศ สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ได้เข้าไปแก้ปัญหาในบรรษัทตลาดรองสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย(บตท.) ได้เตรียมหาปรับบทบาทของ บตท. ให้มุ่งเน้นสนับสนุนผู้มีรายได้น้อยถึงปานกลางให้มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.